posttoday

"ชีวิตนี้ขอพลีเพื่อช้าง" กัญจนา ศิลปอาชา

13 มีนาคม 2558

หลังวางมือทางการเมือง "กัญจนา ศิลปอาชา" อุทิศแรงกาย แรงใจ และเวลาแทบทั้งหมดของชีวิตหันมาทำงานด้านอนุรักษ์ช้างอย่างจริงจัง

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล / ภาพ...กิจจา อภิชนรจเลข

เพราะชื่นชอบการดูสารคดีเกี่ยวกับสัตว์เป็นชีวิตจิตใจ และรู้สึกทึ่งกับวีรกรรมช่วยเหลือช้างไทยที่ถูกกระทำทารุณกรรมของแสงเดือน ชัยเลิศ ผู้ก่อตั้งศูนย์บริบาลช้าง (Elephant Nature Park) ต.กึ๊ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ท้ายที่สุดจึงเกิดความซาบซึ้งถึงขั้นลุกขึ้นมาไถ่ชีวิตช้างผู้น่าสงสารให้เป็นอิสระตัวแล้วตัวเล่า 

วันนี้ หลังวางมือทางการเมืองได้เพียงแค่ปีเศษ  กัญจนา ศิลปอาชา อดีตรองหัวหน้าพรรคชาติไทยและส.ส.หลายสมัย ก็เบนเข็มเข้าสู่บทบาทนักอนุรักษ์อย่างเต็มตัว 

"ปกติชอบดูสารคดีเกี่ยวกับสัตว์อยู่แล้ว จำได้ว่าดูสารคดีช่อง Animal planet เป็นเรื่องราวของผู้หญิงชาวฮอลแลนด์คนหนึ่งชื่อ อองตัวเนต ที่เข้ามาช่วยเหลือช้าง 2 เชือกที่ถูกทารุณในเมืองไทย กว่าจะช่วยมาได้ยากลำบากมาก สุดท้ายก็สามารถนำช้างทั้ง 2 เชือกนั้นไปเลี้ยงดูที่ศูนย์บริบาลช้าง (Elephant Nature Park หรือ) อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ภาพที่เห็นทำให้เราประทับใจ ทุ่งหญ้ากว้างๆ ภูเขาเขียวๆ ช้างจำนวนกว่า 30-40 เชือกซึ่งส่วนใหญ่เคยถูกทารุณกรรม ไม่ก็ถูกปลดระวางเพราะแก่ชราทำงานไม่ไหว บ้างตาบอด สะโพกหลุด หลังหลัก ขาพิการ แต่ทุกตัวถูกเลี้ยงดูอย่างดี มีอาหารการกินเหลือเฟือ เดินไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องมีโซ่ตรวน ไม่มีตะขอเหล็ก ไม่มีคนมาคอยบังคับให้ทำอะไรที่ฝืนธรรมชาติ"

"ชีวิตนี้ขอพลีเพื่อช้าง" กัญจนา ศิลปอาชา

ขึ้นๆลงๆกรุงเทพ-เชียงใหม่บ่อยครั้ง ซึมซับพฤติกรรมของช้างอย่างใกล้ชิดจนเข้าใจถ่องแท้ว่าสังคมช้างก็มิต่างจากสังคมมนุษย์ ไม่ว่าจะการรวมฝูงอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ถ่ายทอดปลูกฝังภูมิปัญญาการดำเนินชีวิตให้แก่กัน บุคลิกอันเฉลียวฉลาด ใจดี ขี้เล่น ได้รับรู้ถึงเส้นทางความทุุกข์ยากของช้างแต่ละเชือก ตลอดจนเห็นการทำงานหนักชนิดที่เรียกว่าอุทิศทั้งชีวิตให้ช้างของแสงเดือน ชัยเลิศ ส่งผลให้กัญจนาปวารณาตัวเองว่า จากนี้ไปจะขอมีส่วนช่วยอนุรักษ์ช้างไทยอย่างจริงจัง

"คนไทยส่วนใหญ่ปากบอกว่ารักช้าง แต่ไม่รู้ว่าเบื้องหลังของความสุขยามได้นั่งดูการแสดงของช้างตัวโตโชว์ความสามารถด้วยการยืนสองขา วาดรูป เตะฟุตบอล พาขี่หลังบุกป่าฝ่าดงให้เราได้ชื่นชมกับธรรมชาติ ล้วนต้องแลกมาด้วยเลือด น้ำตา และความเจ็บปวด กว่าที่ช้างจะมาทำแบบนี้ได้ ต้องถูกพรากจากอกแม่มาตั้งแต่อายุยังไม่หย่านม จับมาขังในคอกก่อนถูกรุมทำร้ายทุบตีให้เลือดตกยางออกในพิธีกรรมที่เรียกว่า "ผ่าจ้าน" เพื่อให้เจ็บและเชื่อฟัง การทรมานร่างกายและสร้างความเจ็บปวดอย่างที่สุดจะทำให้ช้างลืมอดีต ลืมความทรงจำ ลืมความผูกพันต่อทุกสิ่งทุกอย่าง จดจำได้เพียงแต่ความเจ็บปวด ตะขอเหล็ก และเจ้าของช้างเท่านั้น จำแค่ว่าถ้าไม่ทำตามที่"คนสั่ง" จะโดนทำให้"เจ็บปวด"ด้วย"ตะขอ" นับจากนั้นก็จะกลายเป็นทาสไปตลอดชีวิต"

ทุกวันนี้ ปัญหาการนำช้างไปใช้งานอย่างไม่เหมาะสมยังถือเป็นหนึ่งในวิกฤตใหญ่ที่ช้างไทยต้องเผชิญ

"ช้างบางตัวถูกนำไปขายให้ปางไม้ ต้องลากซุงหนักตั้งแต่เด็กจนโตจนหลายตัวขาหัก หลังหัก สะโพกหลุด ช้างบางตัวถูกปล่อยให้นายทุนเช่าไปเดินเร่ร่อนขอทานตามถนน ซึ่งไม่ใช่ที่ที่เหมาะกับช้าง พื้นถนนร้อนระอุ เดินทั้งกลางวันกลางคืนจนเท้าเป็นแผล ทั้งยังเสี่ยงต่อการถูกรถชน บางตัวถูกนำไปบริการบรรทุกนักท่องเที่ยว ถูกจับใส่แหย่งซึ่งก็คือเก้าอี้เหล็กหนักๆที่มีไว้ให้นักท่องเที่ยวนั่ง ยิ่งฤดูท่องเที่ยว ยิ่งไม่ได้พัก ช้างขาพิการเดินโขยกเขยกยังต้องเดินรับนักท่องเที่ยว ถึงขนาดล้มลงตายคาที่ก็มี"

"ชีวิตนี้ขอพลีเพื่อช้าง" กัญจนา ศิลปอาชา

กัญจนา เสนอว่าภาครัฐจัดระเบียบปางช้างครั้งใหญ่ โดยยึดหลักสวัสดิการของสัตว์ว่าภายใต้เงื่อนไขว่าต้องมีสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ที่ดี น้ำท่าเพียงพอ มีชั่วโมงทำงานจำกัด มีตรวจสุขภาพเป็นประจำ และมีวันเกษียณอายุด้วย

"เจ้าของปางช้างทั้งหลายควรทบทวนรูปแบบการท่องเที่ยวเสียใหม่ โดยพิจารณาตัวอย่างจากศูนย์บริบาลช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ที่ไม่มีการขี่ช้าง ไม่มีการบังคับช้างแสดง นักท่องเที่ยวต้องจ่ายเงินเพื่อเข้าไปดูวิถีชีวิตช้างตามธรรมชาติ ทำได้แค่ป้อนอาหาร เตรียมอาหารให้ช้าง อาบน้ำให้ช้างในแม่น้ำ เดินเล่นไปกับเขา แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว

ยกตัวอย่างกรณีหนึ่งน่าสนใจมากที่ละครสัตว์เก่าแก่ชื่อดังระดับโลกของอเมริกา Ringling Brothers and Barnum & Bailey ประกาศว่าอีก 3 ปีนับจากนี้จะถอดช้างออกจากการแสดงทั้งหมด นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ แล้วประเทศไทยเราล่ะ เราบอกว่าเรารักช้างยิ่งกว่าชาติไหนๆ แต่ทำไมยังปล่อยให้มีการแสดงแบบนี้อยู่"

"ชีวิตนี้ขอพลีเพื่อช้าง" กัญจนา ศิลปอาชา

ล่าสุด เธอเพิ่งออกผลงานหนังสือเล่มใหม่ชื่อ "บันทึกของลูกช้าง" สำหนักพิมพ์อินสปายร์ หนังสือเล่มบางๆที่ตีแผ่เรื่องจริงของช้างไทยที่คนไทยไม่เคยรู้ สำนวนเรียบง่ายสละสลวย พร้อมภาพวาดการ์ตูนลายเส้นน่ารัก เป็นเรื่องราวของลูกช้างชื่อน้องดอกไม้ที่เกิดและเติบโตขึ้นในศูนย์บริบาลช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ถือเป็นช้างที่มีบุญที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่เคยถูกกักขัง ไม่เคยเห็นตะขอเหล็ก ท่ามกลางโขลงช้างผู้ใหญ่ที่เคยผ่านประสบการณ์ถูกทารุณอย่างโหดเหี้ยม

"เราค้นพบแล้วว่าวิธีการไถ่ช้างทีละตัวละตัวมันยากยิ่ง วิธีที่ดีที่สุดคือการถ่ายทอดประสบการณ์ที่เรารู้ให้แก่สังคมได้ทราบ ทำยังไงให้คนไทยทั้งปวงรู้เหมือนที่เรารู้ ทุกครั้งเวลาเล่าเรื่องช้างถูกจับมาฝึกทรมานเพื่อแสดงให้นักท่องเที่ยวชม มีแต่คนบอกว่าเป็นเรื่องที่เขาไม่เคยรู้มาก่อนเลย ยังนึกว่ารักช้างต้องไปดูช้างแสดง ให้เงินช้าง อย่าลืมนะคะว่าช้างพูดไม่ได้ จะไปแจ้งความ หรือร้องเรียนกระทรวงแรงงานก็ไม่ได้ ประท้วงก็ไม่ได้ สิ่งที่ต้องการตอนนี้คือทำยังจะให้สังคมรู้มากที่สุด ทุกวันนี้พยายามพูดให้มากที่สุดในที่ที่ตัวเองพูดได้"

นี่คือภารกิจ "พูดแทนช้าง" ของกัญจนา ศิลปอาชา อดีตนักการเมืองผู้ผันตัวเองสู่นักอนุรักษ์ช้าง