posttoday

"เลือดหมดสต๊อก"... วาระแห่งชาติที่ใครๆก็ช่วยได้

05 มีนาคม 2558

วิกฤตขาดแคลนเลือดทั่วประเทศ นอกจากจะกระตุ้นให้ทุกฝ่ายเล็งเห็นความสำคัญของการบริจาคเลือด ยังตอกย้ำให้รู้ว่าสังคมไทยยังเปี่ยมล้นด้วยน้ำใจ

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล / ภาพ...วิศิษฐ แถมเงิน 

ใบหน้าอิ่มเอม ก้อนสำลีที่แปะบนแขนขวา และคิวอันยาวเหยียดของประชาชนนับพันชีวิตที่เดินทางมาบริจาคเลือด ณ ศูนย์บริจาคโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย สะท้อนให้เห็นว่า วิกฤตการณ์ขาดแคลนเลือดครั้งใหญ่นี้ ถือเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ทว่าขณะเดียวกันก็ตอกย้ำให้รู้ว่า ในยามที่บ้านเมืองคับขัน คนไทยก็มิได้นิ่งเฉยดูดาย

เลือดหมดสต๊อก

ไม่กี่ชั่วโมง หลังจากที่สภากาชาดไทยออกมาประกาศว่า ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติกำลังประสบภาวะเลือดสำรองขาดแคลน พูดง่ายๆคือเลือดกำลังจะหมดสต๊อก ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อโรงพยาบาลทั่วประเทศ สร้างความตื่นตระหนกตกใจให้แก่ผู้ที่ทราบข่าวยิ่งนัก

ภาพน่าสลดหดหู่พลันปรากฎขึ้นในหัว

ไม่ว่าจะเป็นผู้ประสบอุบัติเหตุอาการร่อแร่ ต้องเข้ารับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน หรือผู้ป่วยนอนหายใจรวยรินอยู่บนเตียงกำลังรอคอยความช่วยเหลืออย่างมีความหวัง ถุงเลือดที่ได้รับบริจาคจากประชาชน อาจเป็นตัวช่วยเพียงตัวเดียวที่จะต่อลมหายใจพวกเขาได้

นาวาโทหญิง แพทย์หญิงอุบลวัณณ์ จรูญเรืองฤทธิ์ รองผู้อำนวยการศูนย์บริจาคโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย บอกว่านี่ถือเป็นเรื่องซีเรียสมากๆ

"การขาดแคลนเลือดไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อย ต้องวิกฤตจริงๆถึงจะประกาศให้สาธารณชนได้รับทราบ ยกตัวอย่างช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 54 หรือช่วงสถานการณ์บ้านเมืองวุ่นวาย เมื่อปลายปี 2556 คนไม่สามารถเดินทางไปบริจาคเลือดได้อย่างสะดวก ทำให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงเดือดร้อนมาก ช่วงนั้นหาได้แค่วันละ 1,000 ยูนิตเท่านั้น ขณะที่ความต้องการเลือดของโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ สูงถึง 3,000 ยูนิตต่อวัน

ปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งนี้คือ การจัดหาเลือดไม่ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้คือ วันละ 1600-2000 ยูนิต อีกทั้งพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ที่มักบริจาคเลือดเฉพาะช่วงที่มีกิจกรรม หรือเทศกาลสำคัญๆ ทำให้เกิดความขาดแคลนสะสมต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาลทั่วประเทศที่ต้องการเบิกถุงเลือดไปรักษาผู้ป่วยมากถึง 8,000 ยูนิตต่อวัน แต่จ่ายโลหิตได้เพียง 2,000 ยูนิต หรือ 25% เท่านั้น วันนี้จึงจำเป็นกระตุ้นให้ประชาชนออกมาบริจาค เพื่อให้มีในสต๊อกเพียงพอที่จะสามารถปฐมพยาบาลได้ เลือดสำรองคงคลังเพียงพอ ควรจะอยู่ที่แบ่งจ่ายได้ 3,000-5,000 ยูนิตต่อวัน แบบนี้อุ่นใจได้เลย"

พฤติกรรมการบริจาคโลหิตของคนไทย แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ครึ่งหนึ่งเป็น ขาประจำ หรือผู้ที่มาบริจาคอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องทุก 3 เดือน อีกครึ่งเป็น ขาจร ทั้งผู้ที่บริจาคครั้งเดียวแล้วหยุดไปเลยและบริจาคเฉพาะเทศกาลสำคัญอย่างวันคล้ายวันเกิด วันพระ แตกต่างจากในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย หรือสิงคโปร์ ที่ประชาชนถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กว่าการบริจาคเลือดถือเป็นภาระหน้าที่ที่พึงกระทำ

สอดคล้องกับผลวิจัยหัวข้อ “พฤติกรรมการบริจาคโลหิตของผู้ที่มาบริจาคโลหิต ณ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย” โดยดร.สิทธิพงศ์ วัฒนานนท์สกุล" นักวิชาการด้านจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่ระบุว่า คนไทยมาบริจาคเลือดน้อยมาก หรือ 1 % เท่านั้น ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วจะมีถึง 5-10% ของประชากรที่บริจาคเลือดได้

"เลือดหมดสต๊อก"... วาระแห่งชาติที่ใครๆก็ช่วยได้ นาวาโทหญิง แพทย์หญิงอุบลวัณณ์ จรูญเรืองฤทธิ์ รองผู้อำนวยการศูนย์บริจาคโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย

"เลือดหนึ่งถุงจะถูกแยกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วยเม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือด และน้ำเหลือง (พลาสม่า) โดยเม็ดเลือดแดงจะมีอายุ 30-40 ต้องเก็บไว้ในตู้แช่เย็น ก่อนจะนำไปใช้กับคนไข้ที่มีภาวะซีด ขาดเลือด ผ่าตัด เกล็ดเลือดมีอายุ 5 วัน นำไปใช้กับคนไข้ที่มีเลือดออก เช่น ไข้เลือดออก เกล็ดเลือดต่ำ ส่วนน้ำเหลือง จะส่งต่อให้ผู้ป่วยโรคเลือดออกไม่หยุด หรือกลุ่มโรคฮีโมฟีเลีย บางส่วนสามารถนำไปผลิตยาเสริมโปรตีนได้ด้วย

การเบิกใช้เลือด แต่ละโรงพยาบาลจะต้องทำเรื่องขอเบิกมาว่าใช้กี่ถุง ประเภทใดบ้าง แล้วจะส่งรถมารับตอนเช้า เราก็จะเอาถุงเลือดที่ผ่านการตรวจสอบแล้วแบ่งจ่ายให้แต่ละโรงพยาบาลไปในลักษณะที่เรียกว่ามาก่อนได้ก่อน (First-come, first-served) ยกเว้นในกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน อีกส่วนหนึ่งจะส่งไปที่ภาคบริการโลหิตของสภากาชาด 12 แห่งทั่วประเทศ"

รองผู้อำนวยการศูนย์บริจาคโลหิตแห่งชาติ ใช้โอกาสนี้ตอบคำถามเรื่องข้อสังสัยเกี่ยวกับการบริจาคเลือดไว้อย่างน่าสนใจ

บริจาคเลือดแล้วอาจติดเชื้อเอดส์ ไม่มีแน่นอน เพราะอุปกรณ์ที่ใช้ในการบริจาคโลหิต ทั้งสำลี ผ้าก๊อตช์ เข็มเจาะปลายนิ้ว เข็มเจาะเลือด จนถึงแก้วน้ำ ทุกอย่างใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ไม่ปะปนกับใคร

ไม่รับบริจาคเลือดจากเพศที่สาม ขอยืนยันว่าไม่มีนโยบายแบ่งแยกเพศ เพียงแต่การคัดกรองผู้ที่จะมาบริจาคโลหิตโดยดูจากปัจจัยเสี่ยงที่มีโอกาสไปติดเชื้อโรค เช่น กลุ่มเพศสัมพันธ์ชายรักชายพบว่ามีประวัติติดเชื้อเอดส์สูงมาก จึงต้องของดรับบริจาค รวมถึงใครก็ตามที่มีเพศสัมพันธ์ไม่ปลอดภัย ก่อนมาบริจาค ควรรู้ตัวเองและมีสำนึกไม่ให้เป็นอันตรายต่อผู้อื่น ซึ่งบางประเทศถึงขั้นมีโทษทางกฎหมาย

จดหมายลูกโซ่ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทุกครั้งที่โลกออนไลน์มีการแชร์ภาพผู้ป่วย พร้อมรายละเอียด เพื่อขอรับบริจาคเลือด จะมีการเช็คเสมอ หากเป็นเรื่องจริงก็จะตรวจสอบแล้วจัดหาเลือดให้โดยด่วน แต่อีกมากกว่าครึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นนานหลายปีแล้ว

ถูกโยงเข้าเรื่องการเมือง คนที่เข้ามาบริจาคโลหิตเป็นผู้ที่คิดดี ทำดี อยากจะช่วยเหลือผู้อื่น เพราะเหตุผลเดียวคือเป็นคนไทย เป็นเพื่อนมนุษย์เหมือนกัน โดยไม่สนใจเรื่องสีเสื้อหรือฝักฝ่ายใดๆ

คนไทยไม่ทิ้งกัน

วันนี้ บรรยากาศภายในตึกศูนย์บริจาคโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ถนนอังรีดูนังต์ เนืองแน่นไปด้วยผู้คน บ้างมาบริจาคเลือดเป็นครั้งแรก บ้างพาครอบครัว จูงมือคนรักมาเพื่อต้องการทำบุญทำทาน หวังให้เลือดหยดเล็กๆในร่างกายของเขาจะช่วยต่อชีวิตให้เพื่อนร่วมโลก

"มาด้วยใจครับ พอผมเห็นข่าวว่าเลือดหมดสต๊อก ขาดแลคนเลือดอย่างหนักก็รู้สึกได้ทันทีว่าเรื่องใหญ่แน่ๆ ค่อนข้างน่าตกใจเลยแหละ เมื่อคิดภาพอุบัติเหตุบนถนน คนป่วยใกล้ตายที่ต้องผ่าตัดอย่างเร่งด่วน หากเป็นญาติพี่น้องเรา เราก็ต้องอยากให้เขาได้รับความช่วยเหลือ วันรุ่งขึ้นผมขับรถมาเลย โดยไม่ต้องคิดนาน"

คำบอกเล่าของ เปรมวุฒิ ศิริบุญมานนท์ นักศึกษาหนุ่มวัย 24 ผู้ไม่เคยบริจาคโลหิตมาก่อน แต่อดทนยืนรอคิวเพื่อยื่นแขนให้หมอเจาะเลือด ใช้เวลาทั้งสิ้นกว่า 3 ชั่วโมง

นัยนา คำผาอ้น พนักงานบริษัทเอกชน วัย 47 ยิ้มซีดเซียวแต่แววตาสดใสเป็นประกาย ขณะนั่งดื่มน้ำแดง ท่อนแขนขวาเธอมีก้อนสำลีแปะติดอยู่คล้ายจะบอกว่าฉันทำสำเร็จแล้วนะ

"พี่คิดว่าการบริจาคเลือดเป็นการทำบุญอย่างหนึ่งที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ เลือดเราไปช่วยชีวิตคนอื่นในชาตินี้เลย  ไม่ต้องไปหวังถึงชาติหน้าอะไรทั้งนั้น"

ไม่ต่างจาก กฤษฏิณัฐ วิชชาบุญศิริ ที่บอกว่า การช่วยชีวิตคนเป็นกุศลที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

"การบริจาคเลือดเป็นการให้ที่ง่ายและสะดวกที่สุด แต่ผลที่ได้มันมากมายเกินกว่าจะประเมินได้ครับ"

สุรจิตต์ ปรีชาสุทธินันท์ หนุ่มใหญ่วัยเฉียดครึ่งศตวรรษ บอกว่าอยากเห็นคนหนุ่มๆสาวๆเข้ามาบริจาคเลือดกันเยอะๆอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

"ผมว่าคนกลุ่มนี้สำคัญที่สุด เพราะช่วงวัย 17-25 ปีเป็นช่วงที่ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงมากๆ เม็ดเลือดจะมีคุณภาพสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ ไม่ยากเลยแค่รักษาร่างกายให้แข็งแรง แล้วมาบริจาคเลือดทุก 3 เดือน ทำให้มันเป็นนิสัย ควรรณรงค์ให้เป็นวาระแห่งชาติด้วยซ้ำ"เขายิ้มร่า ก่อนเดินหายไปในฝูงชน

"เลือดหมดสต๊อก"... วาระแห่งชาติที่ใครๆก็ช่วยได้

ปลูกฝังค่านิยมใหม่

ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากข่าวแพร่สะพัดไปทั่ว ปรากฎว่ามีประชาชนเดินทางมาบริจาคโลหิตเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า แม้จะเป็นภาพที่น่าชื่นอกชื่นใจ แต่ขณะเดียวกันหลายฝ่ายก็แอบหวังลึกๆให้มาบริจาคกันอย่างสม่ำเสมอทุก 3 เดือน ก็จะมีสามารถช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนเลือดสำรองได้ในอย่างยั่งยืน

"แน่นอน หากบ้านเราปลูกฝังประชาชนตั้งแต่เด็กๆว่าการบริจาคเลือดคือการช่วยเหลือสังคม ทำให้เป็นค่านิยมใหม่ของคนไทยเลย คิดว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ ขอให้ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องทำของชีวิต โดยเริ่มได้ตั้งแต่อายุ 17 ปีบริบูรณ์ รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ไม่เป็นโรคประจำตัว ไม่เป็นโรคปอด โรคหัวใจ หรือติดเชื้อที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้รับบริจาค หมั่นหาเวลามาบริจาคทุก 3 เดือน สามารถบริจาคได้จนถึงอายุ 60 ปีโน่นเลย"รองผู้อำนวยการศูนย์บริจาคโลหิตแห่งชาติ ฝากทิ้งท้าย

ในวิกฤตย่อมมีโอกาส ปัญหาการขาดแคลนเลือดสำรองครั้งนี้ หากไม่แห่กันมาแล้วผ่านไปเหมือนสายลมฉาบฉวย ทว่าตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญของการบริจาคเลือด น่าจะส่งผลดีต่อไปยังภายภาคหน้า นี่สิถึงจะเป็นทางออกที่จริงแท้และยั่งยืน