posttoday

มองต่างมุมสมัคร สส.อิสระ "ระวังกลุ่มทุนแปลงร่าง"

02 มีนาคม 2558

ประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ กลุ่มทุนการเมืองใหญ่จะแปลงร่างจัดกลุ่มมาเป็นแนวร่วมหรือไม่

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เปิดโอกาสให้กลุ่มการเมือง หรือคณะบุคคล ที่รวมกันเป็นสมาคม ซึ่งมีวัตถุประสงค์ทางการเมือง สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ภาคประชาชนเข้าทำงานการเมืองและพัฒนาเป็นพรรคการเมือง อีกทั้งสอดรับกับรูปแบบการเลือกตั้งแบบผสมที่รองรับกลุ่มการเมืองและพรรคขนาดเล็กให้มีส่วนร่วมได้ แต่มีข้อแม้ คือ ต้องจดทะเบียนกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้เกิดเป็นรูปธรรม

เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษกคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ยอมรับว่า เป็นอันตรายต่อระบบการเลือกตั้งและพรรคการเมือง เนื่องจากยังเปิดช่องให้กับกลุ่มนายทุนเข้ามาแทรกแซงกอบโกยผลประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงประชาชนได้ง่ายกว่าเดิม รวมถึงการตรวจสอบกลุ่มการเมืองยังทำได้ยากอีกทั้งไม่มีการกำหนดระบบของกลุ่มการเมืองให้ชัดเจน เช่น ฐานสมาชิก

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การชุมนุมของ กปปส.ที่ผ่านมา เป็นการเคลื่อนไหวภาคประชาชน แม้ขณะนี้จะเปลี่ยนสถานะเป็นมูลนิธิ เพื่อใช้เป็นองค์กรสาธารณะของประชาชน ดังนั้นจะไม่มีการใช้เป็นฐานนี้มาดำเนินกิจการทางการเมือง และในอนาคตแม้รัฐธรรมนูญกำหนดให้กลุ่มการเมืองส่งตัวผู้สมัครได้ ก็จะไม่ส่งแน่นอน

วรชัย เหมะ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ให้ความเห็นว่า ประเด็นนี้สอดรับกับนายกรัฐมนตรีที่ไม่ต้องมาจาก สส. หรือการเลือกตั้ง โดยให้ผู้ที่เลือกตั้งแพ้ หรือกลุ่มทุนมีเงินสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ด้วยการเอาเงินไปซื้อ สส.ทรยศ ซื้อเสียงเข้ามาก

นอกจากนี้ ยังทำให้ประชาธิปไตยเกิดความอ่อนแอ และจะตามมาด้วยวัฏจักรถอนทุน จนการเมืองประเทศเกิดความล้าหลัง เป็นประชาธิปไตยเสี้ยวใบ เพราะอำนาจไม่ได้อยู่ในมือประชาชน แต่กลับไปอยู่ในมือผู้ดี กดปุ่มล้มรัฐบาลตลอดเวลา โดยผ่าน สว. ผ่านสภา ทำให้สถานการณ์ประเทศแย่ไปอีก

อย่างไรก็ตาม หากมีการใช้จริง ยืนยันว่าคนเสื้อแดงไม่มีเป้าหมายลง สส. แต่ต้องการสู้เพื่อประเทศเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ได้ต้องการอำนาจ แค่ต้องการรัฐบาลมาจากประชาชน และประชาธิปไตยแท้จริง

ด้าน สุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มการเมืองใหม่ หรือกลุ่มการเมืองสีเขียว (Green Politics) ให้ทัศนคติต่อเรื่องนี้ว่า ส่วนตัวเข้าใจเจตนารมณ์ของกรรมาธิการยกร่างฯ ที่ต้องการให้ สส.อิสระจากพรรคการเมือง หรือกลุ่มทุนที่อยู่เบื้องหลังพรรคการเมือง ดังนั้นการกำหนดเชิงโครงสร้างดังกล่าวคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องดี ในการเปิดกว้างให้กลุ่มการเมืองที่สนใจงานด้านการเมืองที่รับไม่ได้กับระบบพรรค หรือถูกครอบงำจากพรรค ตัดสินใจเข้ามามากขึ้น

สุริยะใส ระบุว่า ประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ ไม่แน่ใจกลุ่มทุนการเมืองใหญ่จะแปลงร่างจัดกลุ่มมาเป็นแนวร่วมหรือไม่ ซึ่งต้องดูประเด็นนี้ หากมีลักษณะตามระบุจะทำให้โอกาสคนเข้าการเมืองน้อย จึงต้องดูว่าความเป็นอิสระของผู้สมัครที่ได้เป็น สส. หรือกลุ่มการเมืองที่ได้ สส.มา คำว่า อิสระพิสูจน์ได้อย่างไร ไม่ใช่แค่ชื่อ

“กลุ่มกรีนไม่ได้คุยเรื่องนี้จริงจัง แต่มีการหารือกันบ้าง ซึ่งคนในกลุ่มมีความสนใจบ้างระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ได้คุยชัดเจน เพราะ 1.ต้องดูหน้าตาของรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และ 2.กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญด้วย”

ประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารภาคใต้ หรือ “กลุ่มขาหุ้น” บอกว่า กลุ่มไม่มีแนวคิดเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับทางการเมือง ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากลุ่มขาหุ้นเชื่อในเรื่องอำนาจรัฐน้อยมาก เพราะเชื่อเรื่องกลุ่มพลังมาจากประชาชนที่เข้ามาทำหน้าที่กำกับการทำงานของรัฐบาล

“ไม่ได้สนใจแม้กระทั่งเรื่องส่งตัวแทนเข้าลงสมัครรับเลือกตั้ง ในส่วนขาหุ้นกรุงเทพจะคิดกับเรื่องนี้อย่างไร ไม่สามารถตอบแทนได้ แต่ยืนยันว่าทางกลุ่มขาหุ้นภาคใต้ไม่สนใจเรื่องดังกล่าว”