posttoday

"ยาสลบ" ก่ออาชญากรรม...แบบไหนที่ควรระวัง?

22 กุมภาพันธ์ 2558

ยาสลบที่คนทั่วๆไปควรระมัดระวังมากที่สุด น่าจะเป็นยาสลบที่แฝงมาในรูปแบบของ "การกิน ดื่ม อาหาร" จากคนแปลกหน้า

โดย...นรินทร์ ใจหวัง

หลายครั้งที่ข่าวการก่ออาชญากรรมในหลายๆเคส ผู้เสียหายมักระบุว่า คนร้ายได้ใช้ "ยาสลบ" เข้ามาเป็นเครื่องมือในการทำให้เหยื่อขาดสติก่อนที่จะลงมือ

ทว่าแท้จริงแล้ว ยาสลบที่ตรวจพบว่าถูกนำมาใช้ก่ออาชญากรรมมีเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น และเหตุการณ์จำนวนไม่น้อยที่ ผู้เสียหายเชื่อว่าถูก "ป้ายยา" หรือไม่ก็ "รมยา" นั้น กลับเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ และมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่นที่ไม่ได้มาจาก "ยา" แต่อย่างใด

"ยาสลบ"ที่คนร้ายใช้...แบบไหนนควรระวัง 

ศ.นพ.สมรัตน์  จารุลักษณานันท์ หัวหน้าภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ  อดีตประธานราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่ายาที่ทำให้ความรู้สึกลดลง ซึ่งนิยมใช้ในประเทศไทยนั้น จะถูกแบ่งออกได้ 3 จำพวก คือ 1.ยากิน เช่น ยานอนหลับ ซึ่งถือเป็นยาที่ราคาถูกและหาซื้อง่ายที่สุด 2.ยาฉีด ถือว่าเป็นที่นิยมในวงการแพทย์มากที่สุด มีทั้งแบบที่ฉีดเข้าหลอดเลือด และกล้ามเนื้อ 3.ยาชนิดไอระเหย ที่มีทั้งคุณสมบัติที่ระเหยกับออกซิเจนได้ และต้องอาศัยเทคนิคอื่นๆ ร่วม โดยยาส่วนใหญ่ จะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาฉีดและชนิดระเหย ที่ต้องสั่งเข้ามาทั้งสิ้น เพราะไทยไม่สามารถผลิตเองได้  จึงมีราคาสูง

กรณีข่าวเรื่องการมอมยาผู้โดยสารบนรถแท็กซี่นั้น ศ.นพ.สมรัตน์ให้ทัศนะว่า การมอมยาสลบ บนแท็กซี่ ที่ไม่ได้มีที่กั้นแยกระหว่างผู้โดยสารและคนขับ อย่างที่ใช้ในประเทศไทยนั้น อาจจะเป็นไปได้ แต่ก็น้อยมากที่จะทำสำเร็จโดยที่คนขับไม่สลบไปด้วย แถมราคายาสลบแบบสูดดมนั้น ก็ยังมีราคาสูงมากถึงขวดละ 8,000 บาท เป็นอย่างต่ำ

หัวหน้าภาควิชาวิสัญญีวิทยา ให้รายละเอียดอีกว่า การจะทำให้ใครสักคนสลบได้ด้วยวิทยาการแพทย์นั้น ต้องมีเทคนิคหลายอย่างที่ยุ่งยาก รวมทั้งความเข้มข้นของยาที่เหมาะสมก็มีความสำคัญอย่างมากอีกด้วย ดังนั้นยาสลบหรือยาลดความรู้สึกที่คนทั่วๆ ไปควรระมัดระวังมากที่สุด น่าจะเป็นยาสลบ ที่แฝงมาในรูปแบบของ "การกิน ดื่ม อาหาร" จากคนแปลกหน้ามากกว่า 

"ยาชนิดไอระเหยนั้น   น้อยชนิดที่ทำให้เหยื่อไม่รู้สึกตัว หรือหลับไปอย่างราบรื่น เพราะส่วนใหญ่ จะให้ระคายระบบหายใจ มีกลิ่นเหม็น ทำให้ไอ หรือสำลัก แถมต้องใช้อุปกรณ์อย่าง หน้ากาก และวงจรยาสลบเข้าช่วย ต้องใช้เวลาและความเข้มข้นพอสมควรกว่าเหยื่อจะหมดสติได้"  

ขณะที่ความเชื่อเรื่องยาสลบแบบป้ายบนผิวหนังนั้น ศ.นพ.สมรัตน์กล่าวว่า ในวิทยาการด้านการแพทย์ยังไม่มี เพราะคงต้องใช้ตัวยาความเข้มข้นสูงมาก ทว่าในการทำอาวุธเพื่อใช้ในสงคราม ยาสลบก็เป็นหนึ่งในศาสตร์ที่บรรดาประเทศมหาอำนาจ พยายามผลิตยาสลบความเข้มข้นสูงมาใช้ในการปราบผู้ก่อกบฏ  ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าไม่มีช่องทางในการซื้อหากันได้ง่ายๆ

"ยาป้ายเข้าทางผิวหนังคงมีน้อยมาก  ด้านความรู้ทางวิชาการยังเป็นไปได้น้อย ส่วนใหญ่จะถูกหลอกให้กิน ก่อน เขาจะมาแตะเรา เพื่อตรวจดูว่ายาที่ให้กินได้ผลมั้ย คนเลยคิดว่ายาป้าย พอคนร้ายเห็นว่าเหยื่อเริ่มไม่มีสติก็พาไปที่ลับตาคน หรือตัวเราเองอาจจะออกมาขึ้นรถแล้ว อาการค่อยๆ เริ่มออกที่หลัง ก็เป็นไปได้"

ศ.นพ.สมรัตน์ แนะนำว่า  การป้องกันที่ดีของคนทั่วๆ ไป คือต้องระวังในการรับประทานสิ่งต่างๆ หากรสชาติไม่ปกติ  มีกลิ่น รสขม แปลกไป ก็ควรเลี่ยง แต่อย่างไรก็ตาม ยานอนหลับบางชนิดก็ไม่มี ทั้งรส กลิ่นและสี สำหรับคนที่คาดว่ารับประทานยานอนหลับเข้าไปจริงๆ   และยังพอมีสติอยู่ ก็พยายามหนีออกมาที่ปลอดภัยในเร็วที่สุด  ถือเป็นการช่วยตัวเอง เบื้องต้นที่ดีที่สุด

"แท็กซี่มอมยา" เรื่องจริงหรือแค่มโน

กรณีหญิงสาวโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ถูกมอมยาบนรถแท็กซี่ ทำให้เกิดคำถามว่า เหตุการณ์เช่นนี้เป็นจริงได้มากน้อยเพียงไร

ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันว่า กรณีการมอมยาสลบผ่านเครื่องปรับอากาศของรถไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ เพราะมอมยาสลบโดยสารระเหยนั้น  มีขั้นตอนที่ยุ่งยากมากมาย  ขนาดแพทย์วิสัญญี ซึ่งเป็นผู้เชียวชาญด้านใช้ยาสลบ ยังไม่สามารถทำได้โดยง่าย 

อาจารย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เชื่อว่าเรื่องดังกล่าวน่าจะเป็นความเข้าใจผิดที่เล่าต่อๆ กันมา แบบปากต่อปากมากกว่า

"ประธานของวิสัญญีแพทย์ราชวิทยาลัย ก็เคยออกมาพูดว่า ไม่สามารถทำยาแบบนี้ ขึ้นมาได้ ขั้นตอนมันวุ่นวายกว่านั้น เพราะต้องอุปกรณ์ เช่น หน้ากากเข้ามาช่วย และคนไข้ก็ต้องหายใจลึกๆ อีก แต่ถ้าเรามองว่า ปกติแล้ว ที่คนนั่งรถแท็กซี่ มันมีโอกาสสูงมากที่จะเมารถได้ จากที่เราอาจจะก้มหน้าเล่นโทรศัพท์ อ่านหนังสืออยู่  หรือในรถบางคันอากาศภายในก็ถ่ายเทไม่สะดวก  มีกลิ่นไม่พึ่งประสงค์ เช่นกลิ่นเบาะ กลิ่นใบเตย หรืออะไรก็ตามแต่ที่ทำให้เรามึนได้ รวมทั้งรถที่ขับเหวี่ยงไปมา ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง"อาจารย์เจษฎาตั้งข้อสังเกต

"คาร์บอนมอนอกไซด์" สาเหตุสำคัญสร้างอาการมึนหัว

อาจารย์เจษฎา ตั้งข้อสังเกตอีกว่า หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนเราเกิดอาการมึนศีรษะขณะนั่งอยู่บนรถได้ก็คือ การรับก๊าซ คาร์บอนมอนอกไซด์  จากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงรถ แบบไม่รู้ตัว เพราะเป็นก๊าซชนิดนี้ นอกจากไม่มีกลิ่นแล้ว ยังทำให้ผู้โดยสารสูญเสียออกซิเจน โดยอาการจะเริ่มจากรู้สึกมึนหัวและสลบไปในที่สุด ขณะที่คตนขับแท็กซี่ มักคุ้นเคยกับกลิ่นและปรับสภาพร่างกายได้ จึงไม่ค่อยแสดงอาการ

"ถ้าเรารู้สึกตัวว่า มึนหัว ขณะนั่งอยู่ในรถ ก็ขอลงมานั่งพักข้างนอก สูดอากาศบริสุทธิ์ จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้ เรื่องนี้ต้องขอฝากสื่อด้วย ว่าอย่าไปลงข่าวว่า โดนแท็กซี่มอมยาอีกแล้ว ช่วยสืบสาวให้มั่นใจก่อนว่าอาการมึนจริงๆ เกิดจากอะไรแน่  ถ้าลงข่าวแบบนี้ แท็กซี่ก็จะเป็นโจทก์ของสังคมอยู่เรื่อยๆ ถามว่าที่ผ่านมาเคยจับแท็กซี่ที่ก่อเหตุแบบนี้สักคนไหม"อาจารย์เจษฎากล่าว

ภาพจาก www.usnews.com/