posttoday

"ทนายอานนท์" ปลุกพลเมืองสู้ความกลัว

22 กุมภาพันธ์ 2558

ก็ไม่เป็นไร ถ้าติดคุกก็ติดคุก ยังมีทนายคนอื่นอีกเยอะ แล้วผมติดคุก ก็ยังว่าความได้

โดย...เจษฎา จี้สละ/สุภชาติ เล็บนาค

ชื่อของ อานนท์ นำภา โดดเด่นขึ้นมาในช่วง 2-3 เดือนให้หลัง เพราะนอกจากจะเป็น “ทนายความ” ดูแลคดีของกลุ่มต่อต้านรัฐประหารแล้วทนายอานนท์ยังถูกเรียกว่าเป็น “แกนนำ” จัดกิจกรรมต้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยเฉพาะการจัดรวมตัว  “เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก” เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่หอศิลป์ กทม. จนทำให้ทนายอานนท์ถูกจับข้อหาผิดกฎอัยการศึก และกลายเป็นอีกหนึ่งผู้ต้องหาที่ต้องรอขึ้นศาลทหาร เช่นเดียวกับเพื่อนๆ อีก 3 คน ที่มีสถานะเดียวกัน

หลังถูกจับกุมได้ 1 สัปดาห์ อานนท์เปิดใจกับโพสต์ทูเดย์ ถึงการทำหน้าที่ทนายด้านสิทธิมนุษยชน และการทำหน้าที่นักเคลื่อนไหว ซึ่งมีหมุดหมายสำคัญ คือ การ “เปิดพื้นที่” ให้กับคนเล็กคนน้อยได้ใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน หลังจากรัฐบาล คสช.ปิดช่องว่างเหล่านี้มานานเกือบ 1 ปี

ทนายอานนท์ ยืนยันว่า เขาไม่ใช่แกนนำชุมนุมทางการเมือง และกิจกรรมที่เขาจัดก่อนหน้านี้ ก็ไม่ใช่การชุมนุมเพื่อล้มล้าง คสช. แต่คือการต่อสู้โดยชอบธรรมเพื่อต่อต้านอำนาจที่ไม่ชอบธรรม ซึ่งเกิดจากการรัฐประหาร และหากสังคมไม่กดดัน การรัฐประหารก็จะเกิดได้ซ้ำๆ และทุกครั้งก็จะใช้วิธีเดิมๆ มาจัดการกับผู้เห็นต่างอีก

“การจะมีอำนาจได้ต้องอาศัย 2 ส่วน คือ 1.ปืน 2.อำนาจทางกฎหมาย การรัฐประหารในประเทศไทยทุกครั้ง จะมีการออกกฎหมายแบบนี้ เช่น ในสมัยรัฐบาลสฤษดิ์ (จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) ก็ออกรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 17 ให้อำนาจนายกฯทำอะไรก็ได้ คราวนี้ก็มีมาตรา 44 ทุกอย่างมันเกิดใต้เงื่อนไขเดิมๆ คือคุณต้องฉีกรัฐธรรมนูญ มีเนติบริกรมาร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว ให้หัวหน้า คสช.ทำอะไรก็ได้ ไม่ผิดกฎหมาย ก็ต้องถามว่าจะอยู่กันแบบนี้เหรอ” อานนท์ แสดงความคิดเห็น

“ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยกับการรัฐประหารหรือเปล่า แต่การให้ผู้บริหารสูงสุดใช้อำนาจอย่างไรก็ได้ นี่เป็นปัญหาแน่นอน อย่าว่าแต่ คสช.เลย ทักษิณ ยิ่งลักษณ์ อภิสิทธิ์ ถ้าใช้อำนาจแบบนี้ก็เป็นปัญหา”

อานนท์ บอกว่า ที่ผ่านมาเขาจัดกิจกรรม “เชิงสัญลักษณ์” มาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเล่นดนตรีเปิดหมวกหารายได้ช่วยนักโทษการเมือง จัดกินลาบร่วมกัน รวมถึงจัดงานเคาต์ดาวน์ปีใหม่ “เค้าดาวน์ เรารุ่ง” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยเป็นจุดมุ่งหมายเพื่อรวมคนที่เห็นต่าง ได้จัดกิจกรรมแสดงความคิดเห็นของตัวเอง

ในฐานะนักกิจกรรม เขาเห็นว่า สภาพสังคมที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัวแบบนี้ ไม่ได้มีผลดีอะไร จึงเริ่มต้นทำกิจกรรมเพื่อแสดงออกทางการเมืองให้สังคมได้เห็นว่า ในหลักการสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน คนไทยทุกคนสามารถแสดงออกได้

“เราพยายามทำให้สังคมไม่เกิดความกลัว เพราะเวลาที่กลัวมากๆ มันจะกดดันจนกลายเป็นความเครียด ผมอยากให้ทุกคนรู้สึกว่า ในสภาวะแบบนี้เราควรใช้ชีวิตกันตามปกติ เพราะถ้าอะไรที่ไปกดมากๆ หากปล่อยให้มันระเบิดทีเดียวมันจะแรง คนมันมีความอดทนจำกัด เราไม่ควรทำให้มันตึง รัฐเองต้องปล่อยให้ชาวบ้านได้แสดงออกความเห็นทางการเมือง อย่างผม อย่างเพื่อนๆ รวมตัวกัน ก็เพื่อทำลายบรรยากาศความกลัวให้มันเป็นปกติที่สุด กิจกรรมของเรายืนยันว่าไม่เคยไปต่อต้านอะไร คสช.” อานนท์ระบุ

เขายกตัวอย่างการจัดกิจกรรม “เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก” ว่าจัดขึ้นในวาระพิเศษของการครบรอบ 1 ปี การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. 2557 เพื่อรำลึกเหตุการณ์ที่ กปปส.ล้มการเลือกตั้ง ในบรรยากาศของวันวาเลนไทน์ เพื่อให้เห็นว่า ต่อให้ขัดแย้งกันขนาดไหน ก็ต้องยังอยู่ในสังคมเดียวกัน

“เราก็เอาหีบเลือกตั้งมาจัดซุ้ม จัดให้เซลฟี่ถ่ายรูป รำลึกการเลือกตั้ง เพราะเราต้องการให้มีการเลือกตั้ง และ คสช.ก็ต้องการให้มีการเลือกตั้ง เพราะพล.อ.ประยุทธ์ พูดตลอดว่าโรดแมปของ คสช.จะมีการเลือกตั้งต้นปีหน้า เราก็ยกหีบบัตรไป บอกว่าเราพร้อมจะมีการเลือกตั้งแล้วนะ แต่ก็น่าผิดหวังที่เจ้าหน้าที่รัฐที่ดูแลพื้นที่กลับไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาสิทธิของประชาชน”

เขาบอกอีกว่า ไม่เคยเห็นด้วยกับการชุมนุมที่มีแกนนำเป็นทางการ ต้องระดมชาวบ้านออกมายืนกลางถนน ก่อความวุ่นวาย ซึ่งอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้อีก ซึ่งการชุมนุมที่ผ่านมาทั้งของ นปช.และของ กปปส. ยืนยันชัดว่า ไม่ใช่โมเดลที่ประสบความสำเร็จ และยังมีความเสี่ยงที่อาจถูกทหารล้อมปราบอีกครั้ง เพราะฉะนั้นแนวทางของทนายอานนท์และเพื่อนก็คือ การชุมนุมที่ไม่ต้องมีแกนนำ แต่เป็นแค่การจิกกัด ซึ่งจะเปลี่ยนความสงบนิ่งให้เป็นการแสดงออกซึ่งสิทธิของพลเมือง

”ผมชอบมากที่ฝั่ง กปปส.แสดงออกทางการเมือง เช่น มีการนัดรวมตัวกันของ กปปส.ของพระสุเทพ หรือว่าคนที่ต่อสู้ด้านพลังงาน การรวมตัวมันทำลายบรรยากาศความกลัว ถามว่ามันชอบด้วยกฎหมายไหม มันชอบ เพราะประชาธิปไตยมันก็ต้องเป็นแบบนี้ ไม่ใช่อีกฝั่งหนึ่งที่อยู่ตรงข้ามกับทหาร หรือถูกมองว่าอยู่ตรงข้ามกับทหารออกมาทำบ้าง ก็โดนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติอีกแบบ มีการจับดำเนินคดี ขึ้นศาลทหาร”

“เราไม่ได้เรียกร้องว่าไปจับพวกนั้นสิ แต่บอกตำรวจอย่ามาจับผม ถามว่าผมทำอะไรต่างจากพวกนั้นบ้าง เวลาพูดเรื่องสิทธิจะต้องทำแบบเปิด ต้องรักษาสิทธิของสองฝ่าย ไม่ใช่จำกัดสิทธิของสองฝ่าย ไม่ใช่”

สิทธิเสรีภาพที่จะเลือกกิน

แม้ว่า คสช.จะครองอำนาจมานานกว่า 1 ปี แต่อานนท์ก็ยังไม่ยอมรับสภาพ “รัฐาธิปัตย์” เพราะเขาต้องการหักล้างสิ่งที่นักกฎหมายเชื่อว่า “คำสั่งคณะปฏิวัติ” ถือเป็น “กฎหมาย” ผ่านการยื่นให้ศาลฎีกาตีความคำสั่งทั้งหมดอย่างละเอียด

“เราสู้ว่าคำสั่งมันไม่ใช่กฎหมาย คนที่มีปืนไม่สามารถมาล้มล้างกฎหมายได้ เพราะฉะนั้น คสช.อยู่ในฐานะกบฏ ถามว่า สุเทพ (สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกปปส.) สั่งให้คนไปรายงานตัว ทำไมคนไม่ไป เพราะเขาเป็นกบฏไง แล้วมันต่างกันอย่างไร พอมันเป็นทหาร มันก็เลยต่างกับสุเทพ หลักการสำคัญที่เราต้องยึดถือก็คือ อำนาจอธิปไตยจะต้องมาจากปวงชนชาวไทยเท่านั้น ซึ่งมันก็สะท้อนออกมาผ่านการเลือกตั้ง จะดีจะชั่วนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมันมีวาระของมัน 4 ปี มันเลวก็ไม่ต้องไปเลือก”

“อย่างยิ่งลักษณ์ ผมก็ไม่เลือก เพราะเขาไปออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้พี่ชายตนเอง อย่างนี้มีที่ไหน แต่นักการเมืองสุดท้ายเขาก็ยังมีระบบรัฐสภาให้ตรวจสอบ โอเค มันอาจจะมีขว้างเก้าอี้กันหน่อยก็ถือเป็นสีสัน หรือถ้าคุณบอกว่าเขาทุจริตจำนำข้าว มันก็ยังมี ป.ป.ช.ตรวจสอบ แก้รัฐธรรมนูญ เขาก็ยังมีระบบอื่นตรวจสอบ เพราะฉะนั้นไม่มีความจำเป็นอะไรเลยที่จะให้ทหารเข้ามา” อานนท์ ระบุ

ถามถึงอดีตมิตรร่วมรบอย่างกลุ่มคนเสื้อแดง อานนท์บอกว่า การเคลื่อนไหวของ นปช.นั้นชัดเจนว่าแนบแน่นกับพรรค และแนบแน่นกับ ทักษิณ ชินวัตร เพราะฉะนั้นเมื่อทักษิณสั่งให้หยุด ทั้ง นปช.และพรรคก็หยุด เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหวของ นปช. จึงไม่ได้เป็นอิสระอย่างแท้จริง

“เป็นเรื่องของพลเมืองโดยแท้ เราต้องการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หลายคนที่เคลื่อนไหวกับเรา ก็เคยต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อย่างน้องนิว (สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มสภาหน้าโดม) ก็ไปประท้วงที่หน้าพรรคเพื่อไทย นี่คือพลเมืองแท้ เป็นพลเมือง คือฝ่ายไหนผิดก็ผิด ฝ่ายไหนถูกก็ถูก ไม่มีอะไรลึกลับซับซ้อน แล้วพวกเราไม่ใช่แกนนำ เราแค่เป็นประชาสัมพันธ์ ว่าเราจะมีกิจกรรมตรงนี้ เหมือนนัดกันไปดูบอลไม่เห็นจะต้องมีแกนนำ ถึงเวลาก็รวมกัน มีกิจกรรมกัน” ทนายเสื้อแดง แสดงความคิดเห็น

ถามว่ารู้สึกอย่างไรกับที่ถูกเรียกว่าเป็น “ผู้ขัดขวางความสงบ” ซึ่งไม่ยอมร่วมกระบวนการปฏิรูปกับรัฐบาล คสช. และเรียกหาเวทีของตัวเองในการแสดงออก

“ถ้ารัฐบาลบังคับให้คุณกินอาหารเม็ด คุณกินหรือเปล่า ไม่กิน ไม่ตายนะ แต่เป็นสิทธิเสรีภาพที่คุณจะเลือกกินเองได้ สิทธิเสรีภาพที่จะเลือกแสดงออกยังไงก็ได้ เพียงแค่คุณไม่ไปปล้นอาหารใครเขา คุณจะประกอบเองก็ได้ เราจะแสดงออกอย่างไรก็ได้ ที่อยู่ในกรอบที่ไม่สร้างความรุนแรง ไม่ใช่ว่าทำเฉพาะที่เขาเลือกไว้ มันไม่ใช่ข้อสอบปรนัย แต่เป็นอัตนัย เหตุการณ์บ้านเมืองเรามีสิทธิเขียนของเราไป ไม่ใช่ไปเลือกคำตอบเขา” อานนท์ สะท้อนจุดยืน

"ทนายอานนท์" ปลุกพลเมืองสู้ความกลัว

หน้าที่เราคือต้องทำลายวงจร!

หนึ่งในกลุ่มที่แสดงออกต่อต้านรัฐประหารชัดเจน และกลายเป็นแนวร่วมสำคัญในการชุมนุมกับอานนท์ ก็คือ นักศึกษามหาวิทยาลัย สิ่งที่ปรากฎชัดก็คือ ภาพสัญลักษณ์การล้อเลียน “ท่านผู้นำ” ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เมื่อต้นเดือน  ก.พ.ที่ผ่านมา รวมไปถึงการติดป้ายผ้า “ต้านเผด็จการ” ในหลายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จนกำลังทหารต้องเข้าไป “ดูแล” ในมหาวิทยาลัย เพื่อไม่ให้มีความเคลื่อนไหวเหล่านี้

เมื่อความเคลื่อนไหวต่อต้านแรงเข้าเรื่อยๆ ชื่อของ “อานนท์” ก็ถูกพ่วงว่าเป็นขบวนการเดียวกับนักศึกษา รวมถึงถูกพาดพิงจากทหาร ว่ามีเบื้องหลังสำคัญที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวต้าน คสช.

“ถามว่านักศึกษาล้อการเมืองที่ธรรมศาสตร์มันทำทุกปีหรือเปล่า ก็ทำกันทุกปี สมัยทักษิณก็มีการล้อเลียน แต่พอเป็นทหาร ทำไมต้องมาจำกัด แล้วเด็กนักศึกษาเนี่ย มีความคิดเป็นของตัวเองสูงมาก ทำกิจกรรม ก็ต้องอึดอัดกับสภาพที่ถูกควบคุม แล้วมีความห้าว เป็นไปไม่ได้หรอกที่จะมีเบื้องหลัง ยิ่งบอกว่ามีเบื้องหลังเขายิ่งสู้นะ เพราะคำว่าศักดิ์ศรีมันค้ำคอ” ทนายอานนท์ โต้ข้อกล่าวหา          

เขาบอกว่า การต่อสู้กับอำนาจที่เหนือกว่านั้น ย่อมต้องมี “ความหวัง” เสมอ และหากวันนี้ทำไม่สำเร็จ ก็ยังสามารถส่งไม้ต่อให้กับนักศึกษาเหล่านี้เคลื่อนไหวต่อ แบบเดียวกับที่คน “เดือนตุลา” และ “เดือนพฤษภา” ส่งไม้ต่อให้กับคนรุ่นต่อมา

ถามอานนท์ว่ารู้สึกอย่างไรที่ “วงจรอุบาทว์” กลับมาวนซ้ำอีกครั้ง และกังวลหรือไม่ ที่จะต้องเจอเรื่องแบบเดิมอีกในอนาคต อานนท์ บอกว่า หน้าที่ของเขาคือทำลายวงจรให้สิ้นซาก มากกว่าจะเชื่อมกับวงจร

“ลองคิดดูว่า ถ้ามีบรรทัดฐานว่าคณะรัฐประหารเป็นกบฏ และประชาชนมีเสรีภาพต่อต้านด้วยความสงบ จะกลายเป็นหลักหมุดสำคัญมากในระบอบประชาธิปไตย เราจะเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบอังกฤษ ที่ไม่มีรัฐประหาร และอเมริกาที่มีเสถียรภาพมากๆ ต้องเป็นอย่างนั้น แล้วประชาชนนั่นแหละที่จะเป็นคำตอบ อย่าไปคิดว่าทหารจะรบกันเอง ผมเชื่ออยู่อย่างว่า ในที่สุดเราจะชนะกันด้วยเหตุผล เหตุผลดีกว่าชนะเสมอ แม้จะล้มคณะรัฐประหารไม่ได้ แต่เราจะชนะใจมวลชน”

ส่วนกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของ คสช.นั้น อานนท์ แสดงความเห็นว่า รัฐธรรมนูญที่ไม่มีส่วนร่วมและเกิดจากร่างเผด็จการนั้น ถึงอย่างไรก็ล้มเหลวและต้องรอวันฉีกอยู่ดี ซึ่งการรอวันฉีกก็ยิ่งอันตราย

“ผมว่ามันมีทางออก เพียงแค่คุณเอารัฐธรรมนูญฉบับเดิมมาใช้ ไม่ว่าจะรัฐธรรมนูญ 2540 หรือ 2550 ก็ได้ นำมาใช้ แล้วให้มันมีการเลือกตั้งมาก่อน ให้คนที่มาจากเสียงประชาชนมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อปฏิรูปประเทศ นี่คือทางออกเดียว แต่ถ้ายังกุมอำนาจอยู่ แล้วคิดว่าตัวเองทำถูก ก็รอฉีกอย่างเดียว แล้วคนที่ฉีกหลังจากนี้ก็มีความชอบธรรมด้วย เพราะเขาอ้างได้ว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้มาจากกูนี่หว่า” 

ขณะที่การร่างรัฐธรรมนูญให้มีคณะกรรมการล็อกไว้ ไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญ 5 ปี จนกว่าจะปรองดองสำเร็จ อานนท์ บอกว่า ยิ่งทำอย่างนี้ยิ่งทำให้คนที่ไม่พอใจอยากฉีกมากขึ้น ซึ่งหาก คสช.ทำแบบนี้จริง แรงต้านจะมากขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อถึงวันหนึ่งที่แรงต้านปะทุออกมา พลังจะแรงมาก จนอาจจะกระทบโครงสร้างสำคัญของประเทศได้

“ยุคนี้เขารู้แล้วว่าอะไรเป็นอะไร ซึ่งถ้าปล่อยไว้จุดนั้น แน่นอนว่าอันตรายกับมวลชนและระบอบเอง ผมก็อยากจะพูดด้วยความเป็นห่วงไว้เพียงว่า จะอย่างไร ก็ต้องมีการผ่อนคลายสถานการณ์ให้คนออกมาแสดงออกทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมา” ทนายอานนท์ กล่าว

ภูมิใจสูงสุด หากได้ติดคุก

หลังรัฐประหาร 22 พ.ค. อานนท์ในหมวก “ทนาย” เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน” สำหรับดูแลคดีของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับความมั่นคง รวมถึงคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเกือบทุกคดี คู่ความของเขา ล้วนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และบิ๊กทหาร ซึ่งครองอำนาจสูงสุดอยู่ในรัฐบาล

ขณะที่หมวก “นักกิจกรรม”ของเขา ทำให้อานนท์เปลี่ยนสถานะจากทนายผู้ต้องหา กลายเป็นผู้ต้องหาเสียเอง จนถึงขณะนี้ เขาต้องรอไปรายงานตัวกับตำรวจ และต้องรอขึ้นศาลทหารต่อไป หากตำรวจเลือกสั่งฟ้องในข้อหาผิดกฎอัยการศึก จากการชุมนุมเกิน 5 คน

“ก็ไม่เป็นไร ถ้าติดคุกก็ติดคุก ยังมีทนายคนอื่นอีกเยอะ แล้วผมติดคุก ก็ยังว่าความได้ ศาลต้องไปเบิกความผม ใส่เสื้อสีน้ำตาลออกมา มีโซ่ลามเท้า มาว่าความ ก็ลองดูสิจะดูจืดหรือเปล่าล่ะ”  อานนท์ตอบคำถาม ที่ว่า ‘หากทนายติดคุกจะว่าความต่อได้หรือไม่’

เขายืนยันว่าหากเขาติดคุก ก็จะกลายเป็นความ ‘ภูมิใจ’ สูงสุดในอาชีพอย่างหนึ่ง ที่ได้ต่อสู้กับอำนาจที่ไม่ชอบธรรมจนตัวเองต้องกลายเป็นเหยื่อเอง

“คือทนายมันก็เป็นวิชาชีพอื่น เหมือนทำไมหมอไปรักษาอีโบลาที่อเมริกา มันเสี่ยง แต่เขาก็ไป เพราะมันเป็นเรื่องจรรยาบรรณของวิชาชีพ ที่ได้ขับเคลื่อนสิทธิให้กับคนที่ถูกละเมิดสิทธิ์ วันนี้หลังรัฐประหาร คดีที่ได้เงินแน่นอน มันหายหมด (หัวเราะ) วันนี้เรามีคดีที่ต้องดูแลหลังรัฐประหารคนเดียว 7-8 คดี เสียเวลาพอสมควร ผมต้องเพิ่มเข็มนาฬิกาให้กว้างขึ้นอาจจะนอนน้อยลงหน่อย”

นับตั้งแต่เคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ปี 2553 จนถึงวันนี้ อานนท์ยอมรับว่าวันนี้เขารู้สึกเครียดที่สุด เพราะแรงกดดันที่ส่งผ่านรอบตัวเขานั้นหนักหน่วงมาก

“ผมเครียดมากนะ ทุกวันนี้ผมกินเหล้าเกือบทุกคืน คุณต้องเข้าใจว่า หลายเดือนที่ผ่านมา เพื่อนผมครึ่งหนึ่งหายไปเลยนะ ครึ่งหนึ่งหายเข้าคุก ส่วนอีกครึ่งหนึ่งหายไปนอกประเทศ”

อย่างไรก็ตาม อานนท์ บอกว่า เขายังไม่คิดออกนอกประเทศ เพราะเชื่อว่าการต่อสู้จะเปลี่ยนแปลงได้จากภายในเท่านั้น และต้องเป็นการต่อสู้ในระบบ มากกว่าจะใช้หลักการอื่น

“เขาสร้างปราสาทราชวัง สร้างเจดีย์ เริ่มจากอิฐก้อนเดียว ไม่ได้สร้างเสร็จในครั้งเดียวหรอก แต่ผมว่ามันเป็นส่วนเล็กๆ สำคัญและจำเป็นที่จะสร้างส่วนอื่น อย่างน้อยสังคมตระหนักแล้วว่าประเทศนี้ปกครองโดยทหารที่อยากให้มีการแสดงออกทางการเมือง หลังจากนี้ยิ่งทหารใช้กฎหมายที่ไม่ชอบธรรมเท่าไหร่ ยิ่งทำลายตัวเขาเอง” อานนท์ กล่าวทิ้งท้าย