posttoday

ลดอำนาจ "กกต." ไม่แก้ทุจริตเลือกตั้ง

15 กุมภาพันธ์ 2558

ถ้ามีการเลือกตั้งครั้งหน้า กกต.พร้อมที่จะทำให้ดีขึ้น เพราะเรามีบทเรียนจากวันที่ 2 ก.พ.2557 มาแล้ว

โดย...เจษฎา จี้สละ

คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เป็นองค์กรอิสระที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบการเมืองไทย โดยเฉพาะบทบาทในการจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม รวมถึงการสอบสวนและวินิจฉัยชี้ขาดการทุจริตการเลือกตั้ง ซึ่งอาจให้มีการเลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) หรือการเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของผู้สมัครเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ใบแดง) อำนาจหน้าที่เหล่านี้จึงทำให้ กกต.เป็นองค์อำนาจสำคัญที่จะคัดกรองนักการเมืองน้ำดีเข้าสู่ระบบการเมือง

ทว่า ในปัจจุบัน กกต.กำลังจะถูกลดทอนอำนาจบางส่วนลง ภายหลังคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีแนวทางที่แน่วแน่ให้ กกต.มีอำนาจแค่การพิจารณาคดีเลือกตั้ง ส่วนอำนาจจัดการเลือกตั้งที่เป็นอำนาจเดิมของ กกต. จะตกเป็นของ คณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.)

ศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. มีมุมมองกับโพสต์ทูเดย์ต่อเรื่องดังกล่าวที่แสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูป กกต.ในบริบทอย่างชัดเจน

“ผมอยากจะขอให้ กมธ.ยกร่างฯ คิดทบทวนใหม่ให้รอบคอบว่า การตั้ง กจต.ขึ้นมา ผลประโยชน์ที่จะเกิดแก่ประเทศชาติและประชาชน จะทำให้การทุจริตการเลือกตั้งหมดไปจากการเลือกตั้งได้จริงหรือไม่ กกต.ปฏิบัติงานมาตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 จนถึงขณะนี้เกือบ 17 ปี ย่อมมีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งหากมอบหมายให้ กจต.เป็นผู้ดำเนินการ จะต้องมีการศึกษาอบรมใหม่ ต้องใช้ระยะเวลาในการเรียนรู้ ขณะที่ปัญหาการทุจริตจะทวีความซับซ้อนยิ่งขึ้น ฉะนั้นจะส่งผลให้หน่วยงานที่รับผิดชอบการเลือกตั้งไม่เท่าทันกับปัญหาที่เกิดขึ้น”

ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติ หาก “กกต” และ “กจต.” ต้องทำงานร่วมกันจริงๆ ประธาน กกต. มองว่า มีบางประเด็น กกต.ไม่สามารถไปก้าวก่ายหรือควบคุมการบริหารจัดการของ กจต.ได้ ซึ่งจะกลายเป็นความยุ่งยากในการจัดการเลือกตั้ง เช่น ถ้า กกต.สั่งย้าย กจต. แล้วเจ้ากระทรวงที่ กจต.สังกัดเขาไม่ย้ายแล้วจะทำยังไง

“ขณะที่ปลัดกระทรวงถูกแต่งตั้งโดยรัฐมนตรี สมัยนี้การโยกย้ายแต่งตั้งมีนักการเมืองควบคุมอยู่ ปลัดกระทรวงจะโยกย้ายแต่งตั้งผู้อาวุโสด้วยตนเองได้หรือไม่ ก็ต้องมีคำสั่งจากนักการเมือง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วปลัดกระทรวงก็ไม่สามารถแต่งตั้งได้”

อย่างไรก็ตาม ประธาน กกต.ก็ยอมรับถึงปัญหาการทำงานในการไต่สวนคดีที่มีความล่าช้า และเป็นเรื่องที่ กกต.ต้องปรับปรุงโดยด่วน

“บางที กกต.ก็กำจัดคนทุจริตไม่ทัน บางกรณีล่าช้าจริง แต่ กกต. ก็เร่งทำสำนวนคดีอย่างเต็มที่ สมมติมีการร้องเรียน กกต.ก็จัดตั้งกรรมการทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนทันที แต่เมื่อเรียกผู้ถูกร้องเข้ามาสอบสวน ก็ไม่มาภายใน 30 วัน ท้ายสุด กกต.ก็ต้องประกาศผลการเลือกตั้งรับรองก่อน จึงค่อยมาพิจารณาให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิภายหลัง ซึ่งบางกรณีผู้สมัครที่ผ่านการเลือกตั้งเข้าสู่อำนาจไปแล้ว อาจจ้างพยานมาให้การในชั้นศาล จนทำให้ศาลยกคำร้องของ กกต. สุดท้ายก็ไม่สามารถลงโทษได้ ขณะที่ผู้ทุจริตเมื่อเข้าสู่อำนาจก็ไปถอนทุน”

“กมธ.ยกร่างฯ คงเชื่อมั่นในศาลมากกว่า กกต. แต่ในการทำสำนวนของ กกต. นอกจากจะมีพนักงานสืบสวนสอบสวนจังหวัดแล้ว ยังมี กกต.จังหวัดพิจารณาอีกรอบหนึ่ง จึงจะส่งความเห็นมายังสำนักงานเลขาธิการ กกต. ก่อนจะเข้าสู่อนุกรรมการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย เมื่ออนุกรรมการฯ ยืนยันแล้ว ก็จะส่งให้ กกต.พิจารณา ฉะนั้นเมื่อมีการพิจารณากันหลายชั้นก็อาจจะล่าช้าบ้าง”

สาเหตุสำคัญที่ กกต.ถูกผ่าอำนาจออกให้กับองค์กรอื่น สืบเนื่องมาจากความผิดพลาดในการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 2557 หรือไม่? ประธาน กกต. ตอบชัดเจนว่า “อันนี้จะเป็นตัวชี้วัดไม่ได้ เพราะตอนนั้นมันมีวิกฤตทางการเมือง คือ ถ้าเป็นเหตุการณ์ปกติ แล้วเราทำไม่สำเร็จ กกต.ก็ควรที่จะถูกพิจารณาปรับลดอำนาจ เพราะขนาดเหตุการณ์ปกติแล้วยังทำไม่สำเร็จ แล้วต่อไปจะจัดการเลือกตั้งได้ยังไง แต่วันที่ 2 ก.พ. 2557 มีการขัดขวางการเลือกตั้ง”

“ก็ขอเรียนเลยว่า กกต.จังหวัด หรือหน่วยจังหวัดที่ถูกปิดล้อมเนี่ย เราประชุมกันเขารู้เขาก็ล้อมแล้ว ทำงานด้วยความยากลำบากแล้วก็เวลาสมัครทำไมไม่ไปสมัครในค่ายทหาร ซึ่งปลัดกระทรวงกลาโหมว่าพร้อม ที่จริงแล้วพอไปจริงๆ ทหารก็บอกว่าไม่ยุ่งการเมือง ต้องไปถามผู้บังคับบัญชา 2 ก.พ. เราต้องไปตั้งหน่วยริมถนน เพราะไม่มีใครให้ใช้ที่ เพราะเขาก็กลัวถูกล้อมแล้วมาเผา”

“ได้มีการประสานไปยังเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ควบคุมการเลือกตั้ง ก็ได้แต่เพียงยืนดูอยู่เฉยๆ ไม่กล้าต่อต้านมวลชนที่ขัดขวางการเลือกตั้ง เพราะเกรงจะเกิดความรุนแรง ซึ่งสภาวะปกติ หาก กกต.ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ จะต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่”

สำหรับปัญหาการทุจริตเลือกตั้งและแนวทางการแก้ไขปัญหา ประธาน กกต. คิดว่า การซื้อสิทธิ ขายเสียง ในภาพใหญ่ระดับประเทศลดน้อยลง แต่ทวีความรุนแรงขึ้นในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น แม้มีความพยายามในการวางกฎระเบียบ กำชับ กกต.จังหวัด ให้ตรวจตราอย่างเข้มงวด รวมถึงมีการวินิจฉัยให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือการเพิกถอนสิทธิจำนวนมาก แต่ก็ยังมีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จน กกต.ต้องพิจารณาสำนวนคดีรายสัปดาห์ ซึ่งมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ

“กกต.พยายามทำทุกวิถีทาง แต่อย่าลืมว่าคนที่จะทำผิด ก็ต้องแสวงหาวิธีที่จะทำ เมื่อมีกฎกติกาอย่างนี้ ก็เลี่ยงไปทำอย่าง ฉะนั้นแนวทางที่จะขจัดการทุจริตเลือกตั้งให้สำเร็จ คือ การปลูกฝังประชาธิปไตยตั้งแต่รากหญ้า เริ่มตั้งแต่นักเรียนให้รู้หน้าที่พลเมืองตามวิถีประชาธิปไตย”   

ประธาน กกต. เสนอว่า หากส่งเสริมให้คนมีความรู้หรือข้อมูลต่างๆ ก็จะช่วยลดปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงได้ระดับหนึ่ง เราบอกไม่ได้ว่าจะหมดไปเมื่อไหร่ แต่ถ้าเราช่วยกัน สื่อมวลชน ประชาชน ข้าราชการ ทุกภาคส่วนร่วมมือช่วย กกต.อีกทางหนึ่ง โดยให้เบาะแสหรือข้อมูลอื่นๆ ก็จะสามารถทำให้ลดน้อยลงได้ แต่ก็ไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าจะลดลงได้กี่เปอร์เซ็นต์

“การเพิ่มโทษให้หนักขึ้นก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจจะช่วยได้ แต่ก็ไม่ได้ผล 100% อย่างค้ายามีโทษประหาร เขาก็ยังค้ากันอยู่ การลงโทษตัดสิทธิตลอดชีวิตก็เป็นวิธีการหนึ่งที่น่าจะใส่ลงไป ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญสั่งตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี แต่ก็ปรากฏว่าคนที่ถูกตัดสิทธิก็ยังเป็นที่ปรึกษาพรรคการเมืองได้ ยังอยู่เบื้องหลังได้สบายเลย”

การลดอำนาหน้าที่ของ กกต. โดยที่ไร้เสียงต่อต้านแนวคิดของคณะ กมธ.ยกร่างฯ ถือเป็นการสะท้อนวิกฤตศรัทธาของสังคมที่มีต่อ กกต.หรือไม่? ศุภชัย ตอบว่า ไม่ใช่มติของคนส่วนใหญ่ บางคนก็ยังคงสนับสนุน กกต.ให้ทำหน้าที่ต่อไป อย่างการจัดตั้ง กจต.มาจัดการเลือกตั้งแทน กกต. มีหลายเสียงเห็นด้วย แต่ตนคิดว่าเสียงอีก 80% ไม่ได้เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว 

“ผมว่าเป็นความคิดของ กมธ.บางท่าน ว่าจะให้การจัดการเลือกตั้งกลับไปสู่กระทรวงมหาดไทย โดยไม่คิดว่าผลประโยชน์เกี่ยวเนื่องกับประเทศชาติหรือไม่ ผมถึงวิงวอนครับว่าควรทบทวนดูใหม่ กกต.ไม่ได้หวงอำนาจ ใครจะจัดก็ได้ แต่การเลือกตั้งต้องปราศจากการทุจริต ได้คนดีเข้าสู่สภา”

หากรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ประกาศใช้ โดยยึดโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของ กกต.ตามที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้พิจารณาไว้เบื้องต้น จะเท่ากับรัฐธรรมนูญถอยหลังเข้าคลองหรือไม่? ประธาน กกต.นิ่งพิจารณาแล้วกล่าวว่า “ขอไม่ตอบดีกว่านะ แต่เข้าใจว่า กมธ.ยกร่างฯ จะกลับไปทบทวนอีกครั้ง ถ้าอยากจะให้ถอยหลัง ลงคลองอย่างที่คุณว่ามา ก็ถือว่าเราต้องทำกันไป”

“ผมรับใช้ศาลมากว่า 30 ปี ช่วงเวลา 5 ปี ก่อนเกษียณ จึงอยากจะทำอะไรเพื่อชาติ เรานึกถึงประเทศชาติ อยากทำประโยชน์ให้ชาติในบั้นปลายของชีวิต ปัญหาที่เกิดขึ้นต่างๆ เรารู้อยู่แล้ว ถามว่าท้อไม่ ก็ไม่ท้อ เราต้องอดทน เพราะเราอาสาเข้ามาเอง ไม่มีใครเอาปืนมาจี้ให้เราทำหน้าที่นี้ ก็ทำไปให้ดีที่สุด” อดีตผู้พิพากษารุ่นใหญ่ กล่าวทิ้งท้าย

ลดอำนาจ "กกต." ไม่แก้ทุจริตเลือกตั้ง

ข้องใจกมธ.ยกร่างฯ มีธงปฏิรูปกกต.

การถูกลดทอนอำนาจของ กกต.ที่กำลังเกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นบทสนทนาหลักระหว่างโพสต์ทูเดย์กับประธาน กกต. โดยในตอนหนึ่งของการสัมภาษณ์ประธาน กกต. สงสัยถึงการทำงานของคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่ามีความสมบูรณ์ในเรื่องการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านหรือไม่

ศุภชัย อธิบายว่า เรื่องการแยกอำนาจจัดการเลือกตั้งของ กกต.ออกมา ทางคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญมีความคิดอยู่แล้ว โดยไม่มีการสอบถาม กกต.ก่อนจะทำการบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ในอีกแง่หนึ่งการที่คณะ กมธ.ยกร่างฯ ไปสอบถามความคิดเห็นของประชาชนในต่างจังหวัดนั้น น่าจะเป็นเพียงพิธีการ เพราะไม่ว่าประชาชนให้ความเห็นอย่างไรก็ไม่ได้นำมาบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญ สรุปคือ คณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญมีธงไว้แล้ว

“สมาชิก สปช. (สภาปฏิรูปแห่งชาติ) บางท่านก็มาบอกว่าคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้มาถาม สปช.เลยว่าควรจะมี กจต.หรือไม่ ดังนั้นผมอยากขอให้ทางคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญลองคิดทบทวนมันจะเกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างไร ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณไปโดยใช่เหตุหรือไม่”

“หน้าที่หลักของ กกต. คือ การจัดและควบคุมการเลือกตั้ง จะตั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่ซ้ำซ้อนให้เปลืองงบประมาณแผ่นดินไปทำไม สู้ให้ กกต.จัดการเลือกตั้งต่อไป แต่ช่วยกันคิดวิธีการที่จะทำให้การเลือกตั้งโปร่งใส ทำให้พวกที่ทุจริตการเลือกตั้ง ซื้อสิทธิขายเสียงหมดไป”

ถึงอย่างไรไม่ว่าที่สุดแล้ว กกต.จะได้อำนาจจัดการเลือกตั้งกลับคืนมาหรือไม่ แต่ในอนาคต กกต.ก็ต้องทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมการเลือกตั้งอยู่ดี ซึ่งมีประเด็นที่สำคัญว่าการเลือกตั้งที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2559 กกต.ชุดนี้มีความพร้อมมากน้อยขนาดไหน

ประธาน กกต. ยืนยันเสียงหนักแน่นว่า “กกต.พร้อมปฏิบัติหน้าที่ เดินหน้าจัดการเลือกตั้งต่อไป”

“เราพร้อมตลอดเวลา เพราะการจัดการเลือกตั้งนั้น เราจัดการตลอดปี โดยเฉพาะเลือกตั้งระดับท้องถิ่นมีทุกเดือนทุกสัปดาห์ เจ้าหน้าที่เราพร้อมหมด ระบบ ขั้นตอนต่างๆ เราไม่ต้องมานั่งสับสนเลย ตอนนี้เราก็มีปัญหาเรื่องกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง เราก็วางแผนไว้ว่าจะต้องอบรมให้เกิดความเข้มข้น อบรมแล้วก็ขึ้นบัญชีคนที่ผ่านการอบรม รวมถึงอาจจะมีเงื่อนไข เช่น คุณเป็นคนหมู่บ้านนี้ คุณไม่มีสิทธิประจำที่นี่ แต่ต้องไปประจำที่อื่น เป็นต้น” 

ขณะเดียวกัน ศุภชัย ยังขยายความเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมอีกว่า ขณะนี้ กกต.กำลังจัดทำทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีฐานข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ต้องอาศัยข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทยอีกต่อไป โดยได้มอบหมายให้ฝ่ายเทคโนโลยีของ กกต.จัดทำข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ส่วนฐานข้อมูลการลงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในประเทศและนอกราชอาณาจักร จะมีการจัดทำเป็นวาระตามที่มีการเลือกตั้ง ต่างจากอดีตที่หากลงทะเบียนไว้แล้ว โดยไม่มีการแจ้งเปลี่ยนแปลงบัญชี จะทำให้ฐานข้อมูลไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จนทำให้สถิติของผู้ที่มาลงคะแนนน้อยลง

ประธาน กกต. ระบุว่า ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนไม่ได้มีชื่อในหน่วยเลือกตั้งดังกล่าวแล้ว เนื่องจากย้ายโรงเรียนหรือเปลี่ยนแปลงที่อยู่ แต่ยังมีชื่อเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งนั้น เมื่อมีการลงคะแนนเลือกตั้ง ส่งผลให้ยอดผู้มาใช้สิทธิน้อย เป็นต้น ฉะนั้นการจัดทำบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่สอดคล้องกับข้อมูลที่เป็นปัจจุบันจะลดปัญหาในส่วนนี้

“หากมีการจัดการเลือกตั้งครั้งหน้าจะต้องดีและมีบริสุทธิ์ยุติธรรมกว่าเดิม พร้อมที่จะแก้ไขปัญหาที่เคยเกิดขึ้นอดีต แม้จะเป็นการเลือกตั้งในสถานการณ์พิเศษก็พร้อมปฏิบัติหน้าที่ เราเตรียมพร้อมแล้วครับ เราจะเสนอว่าควรใช้เครื่องลงคะแนน เราพร้อมหมด แต่ต้องรอแก้กฎหมายก่อน ถ้ามีกฎหมายให้ใช้เครื่องก็ต้องซื้อเครื่อง”

“ถ้ามีการเลือกตั้งครั้งหน้า กกต.พร้อมที่จะทำให้ดีขึ้น เพราะเรามีบทเรียนจากวันที่ 2 ก.พ. 2557 มาแล้ว แล้วก็บทเรียนจากอดีต สิ่งไหนที่เป็นข้อบกพร่องเราก็จะมาแก้ไข อันไหนที่จะทำให้ดีขึ้น เราก็เพิ่มเติมเข้าไป ขอยืนยันเลยว่าต้องดีขึ้น และเราก็จะให้ภาคประชาสังคมมาร่วมตรวจสอบอย่างเข้มข้น จากเดิมที่มีพรรคการเมืองเข้าตรวจสอบเราอยู่แล้ว ตรวจสอบเรา ฟ้องเรา ตอนนี้ผมก็ถูกฟ้องอยู่หลายคดี”

อีกประเด็นหนึ่งที่ กกต.ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม คือ ความเป็นกลางทางการเมือง คำถามนี้มีคำตอบจากประธาน กกต.ว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องเหตุผลทางการเมืองของทั้งสองฝ่ายในอดีต ฝ่ายหนึ่งขอปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ส่วนฝ่ายรัฐบาลก็ยืนยันที่จะเลือกตั้งก่อนปฏิรูป เราถูกทั้งสองฝ่ายด่า ถ้าเราไม่เป็นกลางก็ขาดคุณสมบัติ เราไม่เคยเข้าข้างใคร

“ผมเคยเป็นผู้พิพากษาศาลมาก่อน ถ้าเราตัดสินให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะ ก็บอกว่าศาลให้ความเป็นธรรม ส่วนฝ่ายที่แพ้ก็บอกว่าเราลำเอียง น้ำเดือดเราก็เปิดฝาให้ระบาย ไม่ใช่ปล่อยให้ระเบิดเอง ให้เขาได้ระบาย ได้ด่าเราบ้าง ผมก็ไป เขาก็ด่าสารพัด ก็ต้องฟังและอดทน”