posttoday

"ยางอาย" ของคนซื้อถุง ไม่สะดวกซื้อหน้าเคาน์เตอร์

12 กุมภาพันธ์ 2558

ถึงเวลาที่ต้องจัดระเบียบการขายถุงยางให้เหมาะกับสภาพสังคมไทย และหาทาง “ป้องกัน”การติดเชื้อจากต้นทาง

โดย...วีรทัศน์ อิงคภัทรางกูร

เรื่องเพศในสังคมไทยเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาช้านาน ขณะเดียวกันเรายังเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดสูงเป็นอันดับต้นๆ ในเอเชีย

ถุงยางอนามัยเป็นอีกส่วนที่ช่วยแก้ไขปัญหาการคุมกำเนิด

ทว่า การเลือกซื้อแม้จะง่ายเพราะวางหน้าเคาน์เตอร์ แต่สภาพความเป็นจริงในสังคมไทย ชายหนุ่มกลัดมันหลายคนยังคงเคอะเขินที่ต้องมาซื้อถุงยางท่ามกลางสายตาผู้คนจำนวนมาก

“ตำแหน่งหน้าเคาน์เตอร์อาจสะดวกก็จริง แต่มันโจ่งแจ้งเกินไปที่จะหยิบ” เจฟ กวินท์ หนุ่มหล่อวัย 23 เล่าความรู้สึกต่อสินค้าที่เขาใช้อยู่บ่อยครั้ง

เขาบอกว่า แม้ทุกวันนี้ความขัดเขินจะน้อยลงไปแล้ว แต่บางครั้งก็ยังเกร็งๆ

“ปกติถ้าใช้ตัวเดิมเราก็จะหยิบแล้วจ่ายเลย แต่ถ้าจะเปลี่ยนบางทีเราก็ต้องเดินวนมองอยู่หลายรอบ เพราะจะไปยืนเลือกก็ไม่ได้ หรือบางครั้งมีคนรอจ่ายเงินอยู่บริเวณนั้นเยอะ เราก็ต้องเดินรอจังหวะอีก”

แยม ธงธวัช วิศวกรหนุ่มวัย 24  บอกว่า แม้ราคาจะแพงแต่เขายังคงต้องพึ่งร้านสะดวกซื้อ เนื่องจากไม่มั่นใจในคุณภาพของถุงยางอนามัยตามตู้กด เพราะไม่รู้ถึงแหล่งที่มาและไม่เป็นที่รู้จัก ซึ่งเขาเลือกที่จะซื้อครั้งละมากๆ เพื่อมาเก็บไว้ ที่สำคัญจะได้ไม่ต้องอายบ่อย

“อย่างเวลาเข้าร้านก็เลือกซื้ออย่างอื่น พอยืนรอจ่ายหน้าเคาน์เตอร์ก็เหลือบมองหา แล้วหยิบขึ้นมาวางจ่ายพร้อมกันทีเดียว”

แยมบอกว่า ถึงแม้ผ่านด่านตำแหน่งที่วางได้ ก็ต้องเจอกับสายตาของพนักงานแคชเชียร์อีกทอดหนึ่ง

“เคยเจอเหมือนกันที่พอเราซื้อแล้วเขาเห็นคนที่มากับเรา เขาก็แอบซุบซิบกัน ตรงนี้เป็นเรื่องเสียมารยาทที่ห้ามยาก สู้ให้มีร้านเซ็กซ์ช็อปพร้อมรูปแบบสินค้าที่หลากหลาย ให้เดินเลือกซื้อได้อย่าง
เปิดเผยยังจะดีกว่า”

วางขายกันโจ่งแจ้งหน้าเคาน์เตอร์ก็ไม่สะดวกซื้อ ตู้หยอดเหรียญก็ตอบโจทย์ไม่ได้

คิม เรวัต นักศึกษาหนุ่มวัย 24 เล่าจากประสบการณ์ว่า ถุงยางอนามัยที่แจกฟรีหรือได้มาจากการหยอดตู้นั้นเหมือนกับการสุ่ม เพราะเขาไม่สามารถเลือกขนาดหรือ
รูปแบบที่ต้องการได้

“ไซส์ส่วนใหญ่จะมาแบบมาตรฐาน แต่ขนาดคนเราก็ไม่ได้เท่ากันหมด และการหยอดตู้ก็ไม่มีสิทธิเลือกขนาดได้เลย ส่วนถ้าจะให้ซื้อตามร้าน ด้วยตำแหน่งที่วางก็ทำให้บางคนไม่กล้าเลือก ก็อาจจะมีบ้างที่หยิบผิดแต่ก็ต้องยอม
ซื้อไป”

เช่นเดียวกับ แอ้น นักศึกษาสาววัย 22 บอกว่า แม้ตำแหน่งการวางจะอยู่จุดใดก็ตาม สุดท้ายก็ต้องเดินไปจ่ายเงินที่แคชเชียร์อยู่ดี

“ถ้าให้ซื้อตามตู้หยอดเหรียญหรือพวกที่เขาแจกฟรีก็ไม่กล้าใช้นะ เพราะเราไม่รู้ว่าก่อนหน้านี้มันผ่านอะไรมาบ้าง ประสิทธิภาพจะยังอยู่เหมือนเดิมหรือเปล่า เลยไว้ใจพวกที่วางขายในห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อมากกว่า หลังจากนั้นค่อยดูที่ราคาอีกที ยอมอายดีกว่าเพื่อความสบายใจ”

นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ แสดงทัศนะว่า คนส่วนใหญ่ยังคงมองว่าถุงยางอนามัยเป็นสิ่งที่ใช้ในการกระทำผิดศีลธรรม คนจำนวนมากรวมถึงเยาวชนจึงกลัวที่จะถูกมองเมื่อต้องซื้อถุงยาง

การรณรงค์ใช้ถุงยางอนามัยเพื่อแก้ปัญหาติดเชื้อเอดส์ และเรื่องเพศที่ภาครัฐและเอกชน ระดมมาตรการมาแก้อย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปี ทว่าตัวเลขของผู้ติดเชื้อปัจจุบันทั้งกลุ่มเยาวชน หรือกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน ยังคงสูงขึ้น ขณะเดียวกัน อายุของเด็กสาวที่
ตั้งครรภ์ก็ต่ำลงเรื่อยๆ อย่างน่าเป็นห่วง

ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ยืนยันว่า คนส่วนใหญ่ตระหนักถึงการใช้ถุงยางอนามัย  แต่ปัญหาอาจเกิดจากการเข้าถึงมากกว่า ทำอย่างไรเขาถึงจะมีใช้ในเวลาที่ต้องการใช้ได้  ขณะที่นโยบายการแจกถุงยางก็ยังไม่คลอบคลุม สัดส่วนที่แจกให้เยาวชนก็น้อยกว่าที่แจกให้พนักงานขายบริการ รวมถึงที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่เคยมีการควบคุมราคาถุงยางอนามัย ที่ส่วนใหญ่ราคาสูงเกินไปมาก

“เรื่องของคุณภาพจะถูกหรือแพงล้วนไม่ต่างกันมากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่มาจากโรงงานเดียวกันที่มีผลิตอยู่เพียงไม่กี่แห่ง แต่บางครั้งตู้หยอดเหรียญก็ไม่มีการดูแลที่สม่ำเสมอ ปล่อยพังบ้างหรือของหมดบ้าง”

ข้อเสนอของ นิมิตร์ คือ รัฐบาล รวมถึง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ  ควรแจกถุงยางอนามัยให้ประชาชนฟรี ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่แก้ปัญหาการติดเชื้อได้ ทั้งนี้ หน่วยงานรัฐต้องเคาะงบประมาณที่จะนำมาจัดให้เพียงพอต่อการป้องกันโรค วางแผนการจัดซื้อหรือประมูลให้มากพอ

รัฐอย่าคิดว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่หน้าที่ อย่าคิดว่าการที่คนจะไปมีเพศสัมพันธ์กันเป็นเรื่องของเขา เอชไอวีนั้นเป็นโรคหนึ่งที่รัฐจะต้องป้องกัน และการนำงบประมาณมาจัดหาอุปกรณ์ป้องกัน อย่างเช่น ถุงยางอนามัย คงจะเข้าท่ากว่าการนำงบประมาณไปลงกับการรักษาผลที่ตามมา เช่น ผู้ป่วยติดเชื้อเพียงอย่างเดียว

ถึงเวลาที่ต้องจัดระเบียบการขายถุงยางให้เหมาะกับสภาพสังคมไทย และหาทาง “ป้องกัน”การติดเชื้อจากต้นทางมากกว่า แก้ปัญหาปลายเหตุที่รัฐต้องทุ่มงบประมาณไม่น้อย...