posttoday

ไทยกลับมาเป็นผู้นำอาเซียน

03 กุมภาพันธ์ 2558

ในโอกาสพิเศษครบรอบ 12 ปี ก้าวสู่ปีที่ 13 นสพ.โพสต์ทูเดย์สัมภาษณ์พิเศษ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม ถึงทิศทางประเทศไทย

โดย....ทีมข่าวเศรษฐกิจภาครัฐโพสต์ทูเดย์

ความวุ่นวายทางการเมืองและผลพวงจากการนำนโยบายประชานิยมมาสร้างฐานเสียงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บั่นทอนบทบาทของไทยในฐานะที่เป็นผู้นำอันดับต้นๆ ในอาเซียนลงอย่างมาก โดยเฉพาะยามนี้ไทยต้องเผชิญกับความขัดแย้งบนเวทีการเมืองโลก

“จีนกำลังมองหาตลาดให้สินค้าของเขา เช่น การขายรถไฟ จีนต้องการหาพวก ต้องการหาพันธมิตร ซึ่งนอกจากเรื่องเศรษฐกิจ เขาต้องการหาเพื่อนทางการเมือง อีกอย่างทุกวันนี้เศรษฐกิจของไทยผูกกับเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจโลกผูกกับการเมืองโลก มันเลยยุ่ง อย่างกรณีรัสเซียมันเป็นเรื่องการเมืองโลก ถามว่าสหรัฐต้องการบีบรัสเซียกรณียูเครนขนาดไหน ก็ต้องบอกว่าบีบสุดๆ ซึ่งถ้ามองในแง่การยึดครองมันก็ไม่ดี เพราะรัสเซียมีอิทธิพลในยูเครนค่อนข้างมาก และคนอาจจะสะใจที่ล้มรัสเซียได้ แต่ก็ไม่ได้เป็นผลดี แม้ว่ากรณีนี้จะไม่ลุกลามจนกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลก” อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์พิเศษ

อาคมยกตัวอย่างว่า จากสงครามราคาน้ำมันที่เกิดขึ้น หากถามว่าตอนนี้สหรัฐสะเทือนหรือไม่ ก็บอกว่าไม่สะเทือน เพราะสหรัฐยังมีเครื่องมือในการดูแลตัวเอง มีออยล์เชลและมีน้ำมันดิบสำรองอยู่ แต่อาจไม่ขุดขึ้นมาเพราะไม่คุ้มทุน แต่ผลกระทบจากสงครามราคาน้ำมัน แม้ว่าจะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าในกลุ่มประเทศผู้นำเข้าน้ำมันลดลง แต่ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรของไทยอยู่ในระดับต่ำตลอดทั้งปี เช่น ยางพารา ได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะจะมีการเปลี่ยนไปใช้ยางสังเคราะห์ที่มีต้นทุนถูกกว่า

“ถ้าพูดถึงการเมืองระหว่างประเทศ มันไม่มีจุดจบ มันมีปัญหาทั่วทุกมุมโลก เพียงแต่ว่ามันจะประคองปัญหาไปได้อย่างไร เราต้องดูแลตัวเอง เราต้องมองเศรษฐกิจและปากท้องประชาชนของเรา ก็อย่างที่บอกการเมืองระหว่างประเทศมันไม่มีจุดจบ แต่อยู่ที่ว่าจะปะทุเมื่อไหร่ ประคองได้อย่างไร อย่างปัญหาข้อพิพาทหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ที่ทะเลาะกัน แต่มันก็ประคองกันไปได้” อาคมบอก

ทว่า ท่ามกลางภาวะความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจโลก อาคมมองว่า ทางรอดเดียวของไทย และเป็นทางที่ดีที่สุดของเรา คือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการค้าชายแดนและการค้าขายในอาเซียน เพราะคนของเราเก่ง สินค้าเราดี และหากสังเกตให้ดีคนอาเซียนชอบมาเมืองไทย ไทยเป็นจุดหมายปลายทางหนึ่งในอาเซียน ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ไทยกลับมาเป็นผู้นำของอาเซียน เพราะอย่าลืมว่าไทยเป็นผู้ก่อตั้งอาเซียน ช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่ดีที่สุดในการส่งเสริมนวัตกรรมต่างๆ เพิ่มคุณภาพสินค้า ตลอดจนเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เรากลับมาเป็นแกนนำอาเซียนได้อีกครั้ง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำเรื่องนี้มาตลอด

อย่างไรก็ตาม อาคมยอมรับว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะที่อ่อนแอมาก เพราะโครงการลงทุนภาครัฐ เช่น สุวรรณภูมิเฟส 2 รถไฟ และเรื่องน้ำ ถูกตั้งคำถามว่าจะมีการลงทุนเมื่อไหร่ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงปัจจัยภายนอกที่กระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทยมาแล้วหลายปี เนื่องจาก 70% ของรายได้ประชาชาติของไทยมาจากการส่งออก ในขณะที่สิ่งที่ทุกฝ่ายกังวลมาโดยตลอด นั่นคือขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยและสินค้าไทยที่ลดน้อยถอยลงทุกที อย่างการลดต้นทุนโลจิสติกส์พูดกันมาตั้งแต่ปี 2549 มีการบอกว่าไทยต้องลงทุนระบบรางเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง แต่วันนี้ยังไม่เกิด ซึ่งรัฐบาลนี้ก็ตระหนักดี

“หลังจากโครงการลงทุน 2 ล้านล้านพับไป ในปีงบ 2558 รัฐบาลจัดสรรงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น และปี 2559 ก็จะมากขึ้นไปอีก ตรงนี้คือสิ่งที่รัฐบาลมองเห็น หากจะว่าไปแล้วเศรษฐกิจมันเดินโดยภาคเอกชนเป็นส่วนใหญ่ ภาครัฐมีหน้าที่ช่วยวางพื้นฐานให้ต้นทุนประกอบการต่ำ และดูแลสวัสดิการของประชาชน ดังนั้นในช่วงปีนี้ภาครัฐจะมีบทบาทมากในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินเพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ว่าจะทำให้รัฐบาลมีหนี้มากขึ้น แต่ก็ต้องถามกลับว่าเราจะเอารถไฟฟ้าไหม เอาเงินเดือนข้าราชการไหม เรื่องน้ำเอาไหม เมื่อเราจ่ายเยอะขนาดนี้จะไม่ให้ขาดดุลได้อย่างไร แต่รัฐบาลดูวินัยการคลังแน่นอน ยกเว้นการกู้เงินมาจ่ายหนี้ข้าว ซึ่งไม่ยุติธรรมกับรัฐบาลนี้เท่าไหร่ แต่ถ้าปล่อยไว้หนี้ก็พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ”อาคม กล่าว

อาคม กล่าวว่า ในขณะที่ภาคเอกชนเจอปัญหาทางด้านเศรษฐกิจข้างนอก รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในด้านการสนับสนุนการค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน และการค้าชายแดน รัฐบาลจึงต้องทำเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะการทำให้ไทยได้ประโยชน์จากการเป็นประตูในการค้าขายและขนส่งสินค้าภายในอาเซียน ตลอดจนสนับสนุนให้เอกชนไทยขยายฐานผลิตออกไปในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากๆ ก็ย้ายไป ด้านการผลักดันการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ นายกฯ จะมีการประกาศเชิญชวนเอกชนมาลงทุนอย่างเป็นทางการใน 5 พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่กำหนดสิทธิประโยชน์ไว้เต็มที่และได้ประกาศไปแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าประกาศวันนี้แล้วพรุ่งนี้ไป เพราะต้องเริ่มจากการสร้างความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานก่อน ซึ่งรัฐบาลก็เร่งทำอยู่ และหากไทยเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ซึ่งรวมถึงการเชื่อมกับนิคมทวายที่พม่าได้ งานศึกษาบอกว่าจะทำให้จีดีพีของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น 1-2% ต่อปี

“เรากำลังจะพลิกโฉมประเทศ เช่น การลงทุนรถไฟหนองคาย-กรุงเทพฯ และมาบตาพุดที่ไทยร่วมมือกับจีนและเริ่มในปีนี้ ส่วนญี่ปุ่นเราเสนอไป 2 เส้น คือ เส้นแม่สอดตาก-พิษณุโลก-ขอนแก่น-มุกดาหาร ซึ่งจะเชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด และเขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร ส่วนอีกเส้นหนึ่ง คือ เริ่มจากทวาย-กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-อีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งจะทำให้ไทย ลาว เวียดนาม และพม่าได้ประโยชน์ ในขณะที่การพัฒนาท่าเรือในภาคใต้ ส่วนตัวเห็นว่าท่าเรือน้ำลึกปากบาราน่าจะเลิกพูดถึงได้แล้ว เพราะคนพื้นที่ไม่ยอมรับ แต่ถ้าทำเป็นท่าเรืออเนกประสงค์รับนักท่องเที่ยว อย่างนี้ชาวบ้านเขาเอาด้วยแน่”

อาคม ยืนยันว่า พื้นฐานเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งอยู่แล้ว เช่น นักลงทุนยังมาลงทุนในไทย นักลงทุนต่างชาติมองว่าไทยมีเสถียรภาพการเมืองมากขึ้น เพราะเรื่องทะเลาะเบาะแว้งที่มากระทบต่อความมั่นใจของเอกชนไม่มีแล้ว ไม่ต้องมานั่งพะวงว่าจะประท้วงกันที่ไหน ราชการจะหยุดหรือไม่หยุดอย่างไร ใบอนุญาต ร.ง. 4 ก็ออกมาหมด บีโอไอเดินต่อ ส่วนสถานการณ์การเมืองปีนี้ดีกว่าปีที่แล้วแน่ ขณะที่ภาคเอกชนก็บอกไม่ได้กังวลกฎอัยการศึก ยกเว้นประเทศตะวันตกที่เขาต่อต้านรัฐบาลที่ไม่มาจากการเลือกตั้ง แต่คนเอเชียเขาไม่กลัวกฎอัยการศึก คนจีนที่มาเที่ยวเมืองไทย เขาบอกว่ามาเที่ยวเมืองไทยแล้วคุ้มค่าเงินที่จ่าย จึงเชื่อว่าปีนี้ท่องเที่ยวจะดีกว่าปีที่แล้ว สำหรับสินค้าที่แข่งขันไม่ได้ต้องปรับ ทั้งด้านการดีไซน์และวิจัยพัฒนา

“รัฐบาลให้ความสำคัญในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมาก และมองระยะยาวไม่ได้มองสั้น เราต้องเริ่มวันนี้ เพราะไม่เช่นนั้นเมื่อการเมืองมา ก็ไม่มีใครบอกได้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ และถ้าเราอนุมัติโครงการได้หมด เราจะเห็นรถไฟฟ้าทยอยเปิดทุกปี” อาคม ฉายภาพประเทศไทย