posttoday

ควบรวม กสม. ผู้ตรวจการแผ่นดิน

29 มกราคม 2558

การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้พิจารณาเรื่ององค์กรตามรัฐธรรมนูญอย่างเข้มข้น

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้พิจารณาเรื่ององค์กรตามรัฐธรรมนูญอย่างเข้มข้น ถึงขั้นต้องดำเนินการตั้งคณะทำงานศึกษาการควบรวมขององค์กรตามรัฐธรรมนูญบางองค์กร

องค์กรที่คณะ กมธ.ยกร่างฯ ใช้เวลาถกเถียงอย่างดุเดือด คือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน

ในส่วนของ กสม.นั้นทางฝ่ายเลขานุการยกร่างฯ บัญญัติไว้ในตัวร่างรัฐธรรมนูญว่าให้มีจำนวน 7 คนมีวาระ 6 ปี ทั้งนี้มี กมธ.ยกร่างฯ จำนวนไม่น้อยท้วงติงในสาระสำคัญว่าทำไมถึงไม่กำหนดสัดส่วนของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง กสม.ให้ชัดเจนระหว่างชายและหญิง เพราะภารกิจของ กสม.ไม่เหมือนกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นๆ โดยเฉพาะการเป็นองค์กรที่ให้หลักประกันในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งฝ่ายเลขานุการยกร่างฯ จะปรับถ้อยคำให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ต่อไป

มาถึงการพิจารณาผู้ตรวจการแผ่นดิน ฝ่ายเลขานุการยกร่างฯ ได้อธิบายถึงวิวัฒนาการของผู้ตรวจการแผ่นดินในประเทศไทยว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินถูกก่อตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มีต้นแบบมาจากประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษใคร จากนั้นในปี 2550 ได้ถูกยกระดับให้เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ภายหลังจากได้มีคนของผู้ตรวจการแผ่นดินเข้ามาทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลนี้เองจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ถึงไม่ให้บุคคลในองค์กรตามรัฐธรรมนูญเข้ามาทำหน้าที่ใน กมธ.ยกร่างฯ เพราะไม่ต้องการให้เกิดการผลัดกันเกาหลัง

กมธ.ยกร่างฯ สลับกันอภิปรายเพื่อให้ทบทวนสถานะของผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะมีข้อสงสัยว่าที่ผ่านมาผู้ตรวจการแผ่นดินได้ทำงานสมกับเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ประกอบกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 35 วรรคสอง บัญญัติให้ให้คณะ กมธ.ยกร่างฯ พิจารณาถึงความจำเป็นและความคุ้มค่าที่ต้องมีองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือองค์กรที่ก่อตั้งขึ้น

ที่สุดแล้วทุกฝ่ายเห็นควรให้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาถึงความเหมาะสมเกี่ยวกับการควบรวมกันระหว่าง กสม.และผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยอาจเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะกรรมการผู้พิทักษ์สิทธิ” และเพิ่มจำนวนกรรมการเป็น 9 หรือ 10 คน มีอำนาจหน้าที่หลัก 2 ประการ คือ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและการให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ

ต่อมาในที่ประชุมได้ถกเถียงถึงการคงอยู่ของ “สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” (สป.) เนื่องจากในตัวร่างรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายเลขานุการยกร่างฯ ไม่ได้บัญญัติถึงการให้มี สป.เอาไว้ ซึ่งหมายถึงการยุบ สป. ทั้งนี้ในที่ประชุมไม่ได้ติดใจกับการยกเลิกองค์กรดังกล่าว พร้อมกับได้มอบหมายให้ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธาน กมธ.ยกร่างฯ ไปศึกษาเรื่องการโอนย้ายเจ้าหน้าที่และบุคลากรของ สป.ต่อไป โดยอาจนำไปเป็นฝ่ายธุรการให้กับสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ

ขณะที่การประชุมคณะ กมธ.ยกร่างฯ ในวันที่ 29 ก.ค. จะพิจารณาใน 3 ประเด็นใหญ่ ประกอบด้วย 1.การเงินการคลัง 2.การกระจายอำนาจ และ 3.ความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการ นักการเมือง
และประชาชน

ด้าน คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า การสรรหาบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือ ตัดสัดส่วนของประธานศาลฎีกาออกไป โดยให้มีผู้ทรงคุณวุฒิเป็นคณะกรรมการสรรหา 12 คนจาก5 ด้าน ได้แก่ 1.จากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุด 4 คน 2.จากพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองฝ่ายรัฐบาล 1 คน และพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองฝ่ายค้าน 2 คน 3.จากคณะรัฐมนตรี 1 คน 4.จากอธิการบดีสถาบันอุดมศึกษา 2 คน และ 5.เลือกโดยสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ 2 คน