posttoday

โลกไซเบอร์ สังคมที่ขาดการกลั่นกรอง

25 มกราคม 2558

คดีนี้จะเป็นตัวอย่างสำหรับสังคมที่มีการแชร์เผยแพร่โดยไม่ระงับยับยั้งชั่งใจ สังคมต้องมีสติ เคสนี้จะเตือนสังคมว่าคุณต้องมีสติ

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

เข้าตำรา “หมองูตายเพราะงู” เมื่ออยู่ดีๆ “ประธานชมรมนักรบไซเบอร์” ที่เป็นหัวหมู่ทะลวงฟันไล่ล่ากวาดล้างบรรดาเว็บหมิ่นฯ เว็บโป๊ มานักต่อนัก กลับเจอย้อนศรต้องจุกกับ “คลิปหน้าเหมือน” ที่ ติ่ง-มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข  ​ยืนยันว่าไม่ใช่ตัวเธอ และประกาศเดินหน้าลุยกัดไม่ปล่อย เอาผิดทุกคนที่เกี่ยวข้องให้เป็นบรรทัดฐานของสังคมต่อไป

มัลลิกา ออกตัวว่า สังคมไซเบอร์เป็นสังคมที่ขาดการกลั่นกรอง ถ้ามีอคติต่อกันก็พร้อมจะทำร้ายกันได้ตลอดเวลา  พร้อมยืนยันอีกครั้งชัดๆ ว่า คนหน้าเหมือนในคลิปไม่มีทางใช่เธอแน่นอน  เพราะ 1.เท่าที่ทราบ คลิปนี้มีมานานแล้ว คนในวงการที่เขาดูเห็นว่ามีมานานแล้วปล่อยกันมาเป็นปีๆ ​อยู่ในคลาวด์ชุดหนังโป๊ คลิปแม่ค้าอะไรสักอย่าง ซึ่งทีมไซเบอร์ได้วิเคราะห์หมดแล้ว

2.โครงสร้างหน้าอาจมีบางมุมเหมือนกัน แต่ดูรายละเอียดปุ๊บคุณจะเห็นว่าไม่ใช่ พอดูคลิปชุดที่สองจะเห็นไม่ใช่ แต่พอชุดอื่นที่เบลอๆ อาจจะชวนสันนิษฐานได้ว่าเหมือน 3.บริเวณไหล่ของผู้หญิงคนในคลิปมีรอยสัก แต่คำว่าสักไม่สามารถมายุ่งกับมัลลิกาได้ เพราะเราไม่มีรสนิยมแบบนั้น

“ไหล่นี่เราเป็นคนโชว์ไหล่มาตลอด เพราะเราเป็นคนไหล่ใหญ่ เวลาใส่ชุดราตรีเราโชว์ไหล่มาตลอด  บนไอจีเรามีรูปโชว์ไหล่มาทุกระยะเมื่อ 2 ปีก่อน 4 ปีที่แล้ว 8 ปีที่แล้ว หรือรูปเมื่อตอนแต่งงานรูปล่าสุดเราไม่มีรอยสัก” 

4.แหวน มัลลิกาไม่เคยใส่แหวน ยกเว้นแหวนชัตดาวน์ นอกนั้นไม่เคยใส่แหวนอยู่แล้ว เราข้อมือใหญ่ ใส่แหวนไม่ได้  5.รูปร่างไม่ใช่ เราเป็นนักกีฬา มีกล้ามเนื้อ รูปร่างจะไม่เผละ ส่วน “ไส้ใน” คงไม่มีใครมาเห็นของเรา  และเราไม่ได้ไปแหกพิสูจน์ให้ใครเห็น  แต่กับโครงสร้างหน้าคนอาจเอาไปตีขลุมได้

“แต่ประเด็นคือ เราไม่ซีเรียส  ไม่ใช่ก็คือไม่ใช่ ส่วนใครจะไปจินตนาการให้มันใช่เรื่องของมึงแล้ว  ก็ไม่เกี่ยว การระมัดระวังตัวมีมาตลอด ไม่ว่าใครจะมีคลิปอะไรก็ตาม ไม่มีทางที่จะมีมัลลิกา  เพราะ ไม่ใช่เป็นคนมีรสนิยมถ่าย  ไม่ได้เป็นคนมีรสนิยมแปลกๆ แบบนั้น  ขนาดจะถ่ายรูปปกติ เซลฟี่ ถ่ายกับเพื่อน ถ่ายกับแฟน  เรายังมีความระมัดระวังตลอดเวลา เพราะเราเป็นบุคคลสาธารณะ แล้วการระมัดระวังตัวมีมาตั้งแต่สมัยอยู่ไอทีวี เป็นผู้ประกาศแล้ว” 

เราใช้ชีวิตลำบากกว่าคนอื่นอยู่แล้ว เราไม่มีทางที่จะต้องมานั่งเผลอไผลอะไรอย่างนั้น ไม่มีทาง  แต่กับคนที่ไม่รู้จักเราบางมุมคลับคล้ายคลับคลา  เขาอาจจะตีความได้  ใช่-ไม่ใช่ ตีความว่าใช่ไว้ก่อน  ​เพราะฉะนั้นก็มีความรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดาของสังคมไซเบอร์ปัจจุบัน แต่การควบคุมทางกฎหมาย เราก็ต้องให้กฎหมายจัดการ ทางตำรวจทำงานเต็มที่เพราะเขาถือว่าเป็นกรณีตัวอย่าง และจะเป็นบรรทัดฐานที่จะทำให้เคสนี้สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาโดยการออก พ.ร.บ.ไซเบอร์ อย่างที่นายกฯ ทำอยู่ ออกกฎหมายเพิ่ม หรือกฎกระทรวง หรือไปควบคุมไอเอสพี ที่เป็นผู้ให้บริการกลุ่มของไซเบอร์ทั้งหลายให้มีจิตสำนึกกลั่นกรอง”    

มัลลิกาวิเคราะห์ที่มาที่ไปของการปลุกกระแส “คลิปหน้าเหมือน” ว่า เรื่องการตัดต่อภาพนิ่งมีความพยายามมาตลอดอยู่แล้วตั้งแต่ทำเรื่อง ​กลุ่มพลเมืองไซเบอร์ภาคอธรรม  ซึ่งเป็นกลุ่มพลเมืองไซเบอร์ที่ทำงานกันเป็นทีม มีความจงใจล้มสถาบัน มีโจทย์ มีออฟฟิศ มีคนซัพพอร์ต มีอุดมคติ ​เขามีครบเป็นองค์ประกอบ ส่วนเราทำแบบพลเมืองอาสา ไม่มีองค์กรขนาดนั้น

ทั้งนี้ การทำงานตรงนี้ เรากลายเป็นโลโก้ที่เห็นได้ชัด เขาพยายาม ไปปั้นข่าวลือ ไปตัดต่อภาพนิ่ง พยายามหลายสิ่งมาก​ การอัพโหลดเป็นใครก็แล้วแต่เจ้าหน้าที่ต้องไปสืบอยู่แล้ว  แต่ที่เราบอกว่าเป็นกลุ่มนี้​ เพราะการอัพโหลดถ้าเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่กลุ่มการเมือง หรือกลุ่มพวกนี้ จะไม่มีทางอัพโหลดคำว่าติ่ง  ซึ่งเป็นคำที่จิกเรียกเราแบบนี้  เขาไม่ได้สนิทกับเรา  เขาไม่ได้รู้จักกับเรา ปกติคนในวงการเรียกเราว่ามัลลิกา และจะไม่มีการจิกแบบนี้ คนที่เป็นเพื่อนเราที่เป็นกลุ่มนักข่าวเท่านั้น ที่จะเรียกเราว่าติ่ง กลุ่มพวกนี้เขาจะจิกคำนี้มานานแล้ว

“ทีมไซเบอร์ของเรา สืบลิงก์ การแชร์ระยะแรกเป็นการแชร์จากกลุ่มคนล้มเจ้า 112   เช่น เจ๊ขก ภาคพิสดาร มิติพิศวง ที่ล้มเจ้าอยู่แล้ว เอาลิงก์นั้นมาโพสต์ แล้วเขียนเป็นสตอรี่  คนมาเมนต์ ก็จะไม่รู้ว่าส่อถึงเรา คนมาเมนต์ก็เป็นกลุ่มเดียวกัน เข้าทำนองชงเอง ตบเองกันในกลุ่ม เลยเริ่มจากตรงนั้น ​เคยมีคำเตือนเราอยู่แล้วก่อนหน้านี้ว่าอย่าไปยุ่งกับงานเขา”

มัลลิกา เล่าว่า เรื่องที่เกิดขึ้น  ณัฐพล มหาสุข สามี ย่อมรู้ดีกว่าคนอื่นๆ  ว่ามันไม่ใช่อยู่แล้ว สองเขาบอกว่าไม่ต้องไปซีเรียส พวกนี้ก็อย่างนี้ เดี๋ยวก็มีหน้าเหมือนอั้ม หน้าเหมือนชมพู่ เดี๋ยวนี้ก็มีหน้าเหมือนคนนั้นคนนี้มาเยอะแยะ  หน้าเหมือนกว่าเราอีกเยอะแยะเขายังไม่เดือดร้อนเลย มันไม่ใช่ก็คือไม่ใช่จบ  จริงๆ เขาไม่ได้อยากให้ยืดเยื้อ  ​ไม่ใช่เราคือจบ ถ้าไม่ใช่เราก็ไม่ควรต้องมานั่งถกกับใครเรื่องอย่างนี้  ไม่ได้ซีเรียส ผู้ใหญ่ในพรรคก็ให้แจ้งความ เรื่องนี้เป็นเรื่องน่าเห็นใจ

จุติ ไกรฤกษ์​ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์  บอกว่า เวลาทำงานการเมืองการ์ดอย่าตก ​การ์ดตกไม่ได้ ต้องทำการเมืองตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นคนจะรังแกเราได้  แต่ในฐานะเป็นประธานชมรมนักรบไซเบอร์ เราต้องเอาเรื่องนี้ให้เป็นบรรทัดฐานในการจัดการให้ได้ เป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง

สำหรับขั้นตอนการดำเนินการไล่ล่าคนผิดมาลงโทษนั้น อยู่ระหว่างการออกหมายเรียกคนแชร์มาชี้แจง ซึ่งเป็นคนทำให้เกิดการกระจายแชร์ในไลน์ หนึ่งในนั้นเป็นระดับ พล.อ.อ. ไปจนถึงคนที่อัพโหลด​ไปถึงคนสองคนในคลิปล้วนแต่เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ต้องไปสืบสวน 

“อย่างเจ๊ขกนี่โดนหมด ​บางคนที่แชร์ ไอพีแอดเดรสอยู่ต่างประเทศ กลุ่มพวกนี้อยู่ในกลุ่มหมิ่นฯ 112 อยู่แล้ว ซึ่งคนแชร์โดนหมดอยู่แล้ว เขาต้องโดนสองกรรมสองวาระ  และมีสองข้อหา หนึ่ง คือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โทษจำคุก  5 ปี และหมิ่นประมาท จำคุก ​2-3 ปี การที่คุณใช้คอมพิวเตอร์แชร์เว็บผิดกฎหมายอันนั้นโดน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ยิ่งหากคอมเมนต์ยืนยันว่าเป็นคนนั้นคนนี้ จะถือว่าเป็นการหมิ่นประมาทด้วยการเผยแพร่

...บางคนมีความผิดหนักเพราะเอาลิงก์คลิป แล้วแปะชื่อประกบไปด้วย  ถ้าส่งเฉพาะลิงก์หนังโป๊ก็ผิดข้อหาอนาจารอยู่แล้ว  แต่ส่งแล้วแปะชื่อ คอนเฟิร์มว่าเป็นคนนั้นคนนี้ คุณก็ผิดสองเท่า โดนทั้งหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์  สองกรรมสองวาระ​​งานนี้โดนหลายคนแล้วแต่จะสืบไปถึงไหน ​แต่ที่เราส่งชื่อไปนั้นเป็นตัวใหญ่ ​

มัลลิกา ชี้แจงว่า บุคคลระดับ พล.อ.อ. เท่าที่เราทราบ เขาเป็นคนส่งลิงค์ สำทับชื่อเรา สำทับภาพนิ่งมัลลิกาเข้าไป  แปลว่าส่ง 3 ครั้ง  ความผิดสมบูรณ์   และส่งคำสารภาพกลับเข้ามาในกลุ่มอีก พนักงานสอบสวนไปดูว่าไอพีแอดเดรสใช้ใน วปอ.  ​หน้าแอ็กเคาต์ก็เป็นรูปหน้าเขาอยู่แล้ว แม้จะไม่มีการติดต่อขอให้ยอมความโดยตรง แต่ทราบว่าเห็นเขาไปวิ่งเต้นผู้ใหญ่อยู่ 

“แต่เราก็โพสต์เฟซบุ๊กไปแล้วว่ากับมัลลิกาใครก็คุยไม่ได้ ​เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับใคร ไม่ได้เกี่ยวกับจะต้องมาปรานีคุณหรือใคร ส่วนกรณีนี้เราให้ตำรวจดำเนินการอย่างเต็มที่ที่สุด และทนายพิจารณาคดีแพ่ง คดีแพ่งเรียกค่าเสียหายไปทางธุรกิจ เสียหายชื่อชั้น กระทบการทำงานทางการเมือง จะคิดเป็นมูลค่าเท่าไหร่ก่็เท่านั้น ฝ่ายกฎหมายยังคิดไม่เสร็จ จะ 50 ล้าน 100 ล้าน ก็ว่าไป ​​

คดีนี้จะเป็นตัวอย่างสำหรับสังคมที่มีการแชร์ เผยแพร่โดยไม่ระงับยับยั้งชั่งใจ บางคนที่แชร์ๆ ถามๆ เขาไม่เกี่ยวข้อง แต่สังคมต้องมีสติ เคสนี้จะเตือนสังคมว่าคุณต้องมีสติ เพราะถ้าไม่มีสติ หนึ่ง คุณอาจจะทำผิดเอง  สอง คุณอาจจะไปทำคนอื่นเดือดร้อน สาม คุณอาจจะไปสร้างบาปเป็นกรรม เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรา ผู้หญิงคนไหนเขาจะมีความเข้มแข็งพอที่จะมารับเรื่องแบบนี้”​

มัลลิกา ระบุว่า ​กรณีนี้ยังเป็นการเตือนสติ สำหรับคนที่มีรสนิยมชอบมีเพศสัมพันธ์แล้วถ่ายคลิป เทคโนโลยีในมือถือทำให้ง่ายขึ้นในปัจจุบัน หากขาดความรู้ ขาดสติกลั่นกรอง ขาดการระงับยับยั้งและชั่งใจ ก็จะเกิดกระแสใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิด เกิดกระแสการแชร์ข้อมูล บั่นทอนตัวเอง แม้คุณจะเก็บของคุณไว้เป็นรสนิยมส่วนตัวแต่มันพลาดได้ นี่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่มีผลต่ออนาคต

โลกไซเบอร์ สังคมที่ขาดการกลั่นกรอง

ชมรมรักรบไซเบอร์ภาคคุณธรรมบนโลกออนไลน์

จากตำแหน่งที่ปรึกษา รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาจนถึงตำแหน่งรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์แล้วควบคู่กับตำแหน่ง ประธานชมรมนักรบไซเบอร์ (Fight Bad Web) อีกหนึ่งในงานหลักที่มัลลิกาได้รับมอบหมายจาก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และกรณ์ จาติกวณิช ให้ดูแลรับผิดชอบงานป้องปรามเว็บหมิ่น เว็บโป๊และสนับสนุนงานไซเบอร์ด้านคุณธรรมที่ทำมาตั้งแต่ปี 2554

ปัจจุบันมีสมาชิกนักรบไซเบอร์อยู่ประมาณ 50 คน ทั้งหมดเป็นอาสาสมัครที่มีหลากเพศ หลายวัย ทำงานด้วยใจ ไม่มีค่าตอบแทน บางคนเป็น กปปส. บางคนมีงานประจำทำ บางคนเป็นยุวประชาธิปัตย์ กลุ่มพลเมืองอาสา บางคนเป็นแฟนคลับแต่ละคนมาด้วยใจ หน้าที่ของมัลลิกาคือ เข้ามาออร์แกไนซ์ จัดการทำให้การทำงานเป็นระบบ และดีไซน์ว่าเราจะทำงานอะไร

“เราเป็นเหมือนพี่ใหญ่ เวลาเรานัดกลุ่ม เจอกัน 3-10 คน เดือนครึ่งสองเดือนเจอกันครั้ง เราจะเป็นคนเลี้ยงกาแฟ เลี้ยงข้าว หรือใครมีเรื่องจำเป็นเราก็จ่าย ส่วนราชการขาดตกบกพร่องเราเสริมให้ หรือสายสืบต้องการค่าน้ำมันเราก็จ่าย ตามจับเป็นหน้าที่ของเขา เขาไม่ได้มาร้องขอเพียงแต่เขาจะรายงานให้ทราบว่า ลิงก์นี้จับอยู่ ข้อมูล เราในฐานะคนออร์แกไนซ์งาน เราจะไม่ไปชิงผลงานราชการ เราจะกระตุ้นเสริมเขา”​​

จากเรื่องคลิปที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เราได้รับผลกระทบก็จริง แต่ขณะเดียวกันก็ปรับไม่มองว่าเป็นความทุกข์ แต่เป็นเรื่องเชิงนโยบายที่ท้าทายงานของเราข้างหน้าอีกงาน หลังจากนี้จะมีทิศทางแนวทางทำงานสาธารณะด้านไซเบอร์อย่างไร ต่อไปทีมงานจะได้พัฒนาประสิทธิภาพเขา ท้ั้งวางแผนจัดการสกัดกั้นเรื่องพวกนี้โดยร่วมงานกับเจ้าหน้าที่ ล่าสุดได้มีการประสานกระทรวงไอซีที โดยผ่านเลขานุการรัฐมนตรีเพื่อจะแลกเปลี่ยนเชิงนโยบาย

ทั้งนี้ งานที่ผ่านมาจะเป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่มีฐานความผิด 4 ฐาน ที่ต้องสกัดกั้น โดยการที่เราให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่ 1.หมิ่นสถาบันตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 2.เว็บลามกอนาจาร 3.ยาเสพติด การพนัน และ 4.หมิ่นประมาท เราจะมีอีเมล [email protected] รับเรื่องร้องเรียน ที่เริ่มทำตั้งแต่สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นอกจากนี้ยังมีการเก็บลิงก์หมิ่นสถาบันฯ ซึ่งถือเป็นงานที่ให้ความสำคัญ ลำดับแรกๆ รองล งมาก็จะ เป็นงานที่สร้างความเสียหายทางสังคม เด็ก สตรีและยาเสพติดพนันบอลมีความเสียหายต่อเยาวชน หลังจากรวบรวมลิงก์ได้สัก 50-100 ลิงก์ ก็จะจดว่าอยู่เว็บไหน เขียนยูอาร์แอลหน้าเว็บเราเอาใส่ทัมบ์ไดรฟ์ ใส่แผ่นปิดผนึกไปยื่นตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เริ่มตั้ งแ ต่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ซึ่งยื่นไปแล้ว 3 ครั้ง กระทรวงเทคโนโ ลยีสารสนเท ศ และการสื่อสารสำนักน ายกรัฐมนตรี ยื่นไป 2 ครั้งยื่นกับ สำนั กงานเลขานุการกองทัพบก (สลก.ทบ.) ตอนสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ทุกครั้งที่ยื่ น ก็จะมี หนังสือตอบกลับมาประมาณว่า ตามที่ท่านได้ส่งหนังสือเราอยู่ระหว่างการดำเนินการ เราต้องเช็กว่าลิงก์ปิดไปหรือยัง

“ที่ผ่านมามีทั้งปิด ทั้งจับ แต่ที่จับ เจ้าหน้าที่อาจไม่ได้เปิดเผยมากเพราะเป็นเรื่องเซนซิทีฟกระทบไปถึงสถาบัน ส่วนที่จับมีจับอยู่ทุกวัน ส่วนที่บล็อก บางส่วนก็ขยายพันธุ์ เช่น เอาลิงก์ไปเปลี่ยนสกุล เอาไป
ลงแอบไว้ในบล็อกในพันทิป เสิร์ชเอนจิ้นก็หาไม่เจอ หรือหายากกว่าจะเจอ ตรงนี้เป็นโจทย์ของนักรบไซเบอร์ในการให้ข้อมูลซึ่งที่ผ่านมามีการส่งลิงก์ไปแล้ว 200 กว่าลิงก์ มีการสกัดได้ไม่ทั้งหมด แต่ก็สกัดไปได้เยอะ เขาจะไม่ประชุมสรุปสถิติ เพราะหากผลออกมามากก็จะเซนซิทีฟกับสถาบันหรือหากน้อยก็จะกระทบต่อผลงาน

โลกไซเบอร์ สังคมที่ขาดการกลั่นกรอง

 

 

พักยกการเมือง ลุยธุรกิจพันล้าน 

หลังรัฐประหาร มัลลิกา จำใจต้องยุติบทบาททางการเมืองไว้ชั่วคราว ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ หรืองานใน กปปส. ที่ไปเคลื่อนไหวอยู่ข้างถนนหลายเดือน เหลือเพียงแค่งานในสถานะประธานชมรมนักรบไซเบอร์ที่ยังทำต่อเนื่อง 

ควบคู่ไปกับงานในพื้นที่ จ.พะเยา ที่มีสาขาพรรคช่วยดูแล โดยเธอเป็นคนคอยออกค่าใช้จ่ายแม้จนถึงปัจจุบันนี้จะยังไม่มีความชัดเจนว่าเลือกตั้งครั้งหน้าจะลงในระบบบัญชีรายชื่อหรือระบบเขต แต่เธอก็ยังทำพื้นที่จัดกิจกรรมต่อเนื่องผ่านมูลนิธิมัลลิกา ที่จดทะเบียนมาแล้ว 7 ปี

อีกบทบาทหนึ่ง มัลลิกา ผันตัวมาจับธุรกิจส่วนตัว ทั้งธุรกิจผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  “ท็อปซีเคร็ต บาย มัลลิกา”ที่ร่วมทุนกับ นพ.ประดิษฐ์ เจริญพงษ์  ซึ่งเปิดตัวผ่านไอจี เฟซบุ๊กไปบ้างแล้ว อยู่ระหว่างการทำการตลาด และมีแผนที่จะส่งออกไปยังประเทศจีน และเวียดนาม  

สาเหตุที่หันมาทำธุรกิจความงามนี้  มัลลิกา เล่าว่า เริ่มจากการใช้เอง  พออายุมากขึ้นการจะทาครีมเริ่มไม่ซึมซับ จึงต้องหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาดูแลสุขภาพเมื่อมาปรึกษาหมอประดิษฐ์ ก็คิดสูตรนี้ออกมา มีส่วนผสมทั้งเปลือกผลส้ม ​กลูตาไธโอน ฯลฯ  เมื่อเห็นว่าดีจึงทำออกขาย

แต่อีกธุรกิจที่ มัลลิกา ทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่มาช่วยทำงานเวลานี้ คือ การรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาโครงการช็อปปิ้งมอลล์ อินสแควร์เดิม ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น “ดีดีมอลล์” ซึ่งมีมูลค่ากว่า 8,000 ล้านบาท  โดยเธอเล่าว่า เดิมเคยถูกเชิญให้มาเป็นซีอีโอบริหารโครงการอินสแควร์ แต่ด้วยความที่ผู้ถือหุ้นเดิมเขาขาดสภาพคล่อง จึงเจรจาให้ผู้ถือหุ้นรายใหม่เข้ามาเทกโอเวอร์ แฟร์ด้วยกันทัั้งสองฝ่าย

“ผู้ถือหุ้นรายใหม่เป็นกลุ่มบริษัท ไดมอนด์แกรนด์  ทางคุณอาที่เป็นเจ้าของบริษัททำจิวเวลรี่ เป็นญาติกับสามี อยากให้เรามาช่วยดูโครงการ จึงมาเป็นที่ปรึกษาโครงการนี้  ทำหน้าที่วางแผนธุรกิจ เสนอแบงก์ เสนอการรถไฟฯ เจ้าของพื้นที่ เจ้าของหนี้ เคลียร์กลุ่มผู้ค้า วางแผนที่จะเดินหน้าเป็นช็อปปิ้งมอลล์ต่อไป ต้องหาคอนเนกชั่นที่ปรึกษาใหญ่ๆ มาช่วยแผนธุรกิจ จะทำเป็น 3 ส่วน คือ ​เซ้งยาว เช่าสั้น กลุ่มลูกค้าเดิม”

มัลลิกา เล่าว่า  แม้จะทำงานการเมืองหรืองานด้านอื่นๆ มาหลายด้าน แต่ประสบการณ์ด้านธุรกิจนั้นมีอยู่ไม่น้อย ตั้งแต่สมัยทำงานอยู่ในกรรมาธิการเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร และเคยผ่านงานเป็นที่ปรึกษาโปรเจกต์ต่างๆ มาไม่น้อย เคยทำแผนเสนอธนาคาร ​มีการล็อบบี้อะไรต่างๆ ซึ่งเป็นงานที่ต้องอาศัยคอนเนกชั่นและความเชี่ยวชาญในการมองแผนทะลุ

“เรื่องนอกเหนือจากนี้เราก็ใช้ผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านมาทำ เราจะเป็นที่ปรึกษาและดูแล ซึ่งธุรกิจที่ขาดสภาพคล่องอยู่แล้ว มันจะทำให้ธุรกิจดำเนินไปไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็มีทางออกอยู่ 2 ทาง คือ ปรับโครงสร้างหนี้ ปรับธนาคาร แล้วก็รันแผนธุรกิจใหม่ แต่ปรากฏว่าในช่วงที่เรามาบริหารจัดการ กลุ่มคนที่จะเข้ามาเป็นหุ้นส่วนเขาไม่เอาแบบครึ่งๆ จึงต้องคุยกับเจ้าของโครงการเดิมด้วยการเทกโอเวอร์หุ้นเพื่อเปลี่ยนแผนธุรกิจทำเป็นช็อปปิ้ง โดยจะเปิดให้ได้ 3 ชั้น ภายใน 3 เดือนนี้ ส่วนที่เหลือก็ต้องรีโนเวทต่อไป”

ส่วนปัญหาเกี่ยวกับผู้ค้า เนื่องจากผู้ค้ามีปัญหากับผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งต้องยอมรับว่าเขาขาดสภาพคล่อง โดยตอนนี้กำลังอยู่ในระหว่างการเคลียร์ ซึ่งตกลงไปแล้ว 60 คน โดยผู้ค้าไม่ต้องการอะไรมาก นอกจากต้องการเปิดทำการค้า และต้องการเงินคืนหากเปิดร้านไม่ได้ ทั้งสองสิ่งนี้เรากำลังจัดการให้ในฐานะผู้ถือหุ้นใหม่ อาจจะมีค่าชดเชยฟรีค่าส่วนกลางสำหรับคนที่ยังอยากค้าขาย สำหรับคนที่ต้องการเงินคืนก็จะมีทีมที่คอยดูแต่ละเคสและมาเคลียร์กัน บางเคสก็เป็นผู้ลงทุนบริษัท เอาพื้นที่ไปลงทุนโดยที่เงินไม่เข้าตึก อันนั้นก็เป็นคดีความ ระหว่างที่ดำเนินคดีเราก็เคลียร์ให้ลูกค้าเข้ามาเปิดร้าน

อย่างไรก็ตาม จะมีลูกค้าอีกส่วนที่ยังไม่เข้ามา เพราะอาจจะยังไม่มั่นใจ มีคนพยายามชักจูงไปร้องที่นั่นที่นี่  ส่วนนี้เราจะเชิญเขามาคุย เขาอาจไม่เข้าใจว่าเราเทกโอเวอร์หุ้น คิดว่าเป็นเพียงแค่การเทกฯโครงการ เขาเข้าใจว่าทางการรถไฟฯ จะมายึดสิทธิไปเพราะว่าเปลี่ยนไม่ได้ แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเราซื้อหุ้นไม่ได้ซื้อโครงการ ความจริงทั้งการรถไฟฯ และธนาคาร เราได้คุยกันแล้วตามหลักกฎหมายสิทธิการครอบครอง

มัลลิกา ยอมรับว่าต้องปรับตัวพอสมควรกับบทบาททางด้านธุรกิจ ​แต่ในส่วนของการบริหารเคยผ่านการบริหารโครงสร้างอื่นมาแล้ว อย่างเช่นอยู่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที  ก็บริหารโปรเจกต์ธุรกิจใหญ่ๆ ทั้งนั้น ที่มีทั้งแผนการลงทุน แผนธุรกิจ แผนการจัดโครงสร้างต่างๆ มีประสบการณ์ มีคอนเนกชั่น 

“ส่วนตัวชอบบทบาททางการเมืองมากที่สุดแล้ว เพราะการเมืองเป็นเรื่องที่อยู่ในวิญญาณ และอยู่ในจิตสำนึก ในช่วงที่ตัดสินใจทิ้งสิ่งที่เราชอบ คือการเป็นนักสื่อสารมวลชนที่มีชื่อเสียง เพื่อที่จะมาทำงานการเมือง โดยมีความคิดแค่สองอย่าง คือ 1.ตอบโจทย์จิตสำนึกสาธารณะของเรา ที่เรามีความรู้สึกว่า ทำงานทีวีได้แค่ทีละเรื่อง ช่วยคนได้เพียงทีละกลุ่ม แต่ในสำนึกของเรารู้สึกว่าปัญหาบางเรื่องสามารถแก้ได้ด้วยวิธีการออกกฎหมายฉบับเดียว และนโยบาย บางครั้งสามารถแก้ปัญหาใหญ่ๆ เพื่อคนเป็นล้านได้

“ตอนสมัยอยู่รายการร่วมมือร่วมใจ เราเจอคนแก่ลำบากหลายเคส ​สิ่งที่เราคิดก็คือว่าคนแก่ในประเทศนี้มีประมาณ 10 ล้านคน โดยคนแก่เหล่านี้ทำไมต้องมีที่พึ่ง เราก็เลยคิดถึงเรื่องการออกกฎหมายคุ้มครอง และการให้สวัสดิการคนสูงวัย เป็นต้น เพื่อเสนอกับนักการเมือง เราจึงอยากเป็นนักการเมืองเพราะเรื่องแบบนี้

“คือเราคิดว่าการเป็นนักการเมืองที่สามารถผลักดันสิ่งที่เป็นสำนึกสาธารณะให้สำเร็จ ถือว่าเป็นเรื่องที่สุดแล้วสำหรับการเป็นนักการเมือง แม้ว่าคนจะมีมุมมองต่อนักการเมืองในแง่ลบ ซึ่งรู้สึกได้ แต่สำหรับมัลลิกา เรามั่นใจว่าเป็นคนดี มีสำนึกที่ดีไม่เปลี่ยน เราจึงไว้วางใจตัวเองในการผลักดันสิ่งดีๆ”