posttoday

“จุดบอด”การศึกษาไทยผลลัพธ์สวนทางคุณภาพ

14 มิถุนายน 2553

ผลสัมฤทธิ์ของการจัดการในระบบศึกษาของเด็กไทยถือเป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้น และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรถูกหยิบยกขึ้นมาพิเคราะห์กันอย่างจริงจัง

ผลสัมฤทธิ์ของการจัดการในระบบศึกษาของเด็กไทยถือเป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้น และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรถูกหยิบยกขึ้นมาพิเคราะห์กันอย่างจริงจัง

โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

ผลสัมฤทธิ์ของการจัดการในระบบศึกษา ถูกสะท้อนผ่านผลการประเมินคุณภาพเฉลี่ยรายมาตรฐาน ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ.ที่ระบุว่า เด็กไทยมีความสามารถในการวิเคราะห์สังเคราะห์ คิดไตร่ตรองอย่างสร้างสรรค์ มีวิจารณญาณและวิสัยทัศน์อยู่ในระดับต่ำ

ถือเป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้น และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรถูกหยิบยกขึ้นมาพิเคราะห์กันอย่างจริงจัง ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดประชุมระดมความคิดเรื่อง แนว ทางการปฏิรูปการศึกษาในการสร้างคน และสร้างความรู้เพื่อพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดรับกับการแก้ไข ปัญหาดังกล่าว

นายพรชัย มาตังคสมบัติ กรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า โจทย์ใหญ่ที่จำเป็นทำการวิจัยคือจะเตรียมคนอย่างไรเพื่อให้เกิดสังคมที่ สันติสุข ซึ่งคำตอบคือต้องทำให้เด็กมีทั้งความเก่งและความดี โดยความเก่งนั้น ประเด็นสำคัญคือจะทำอย่างไรเพื่อให้ผู้ซึ่งผ่านการศึกษาขั้นพื้นฐานสามารถ เรียนรู้เองได้ตลอดเวลา คิดว่าการส่งเสริมตามธรรมชาติของเด็ก เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยได้

“จุดบอด”การศึกษาไทยผลลัพธ์สวนทางคุณภาพ ภาพประกอบข่าว

“ผมคิดว่าวิธี การสอนของเรามุ่งเน้นแต่เรื่องความจำ ไม่สอนให้คิดวิเคราะห์ ดังนั้นคำถามที่เกิดขึ้นคือตลอดเวลาที่ผ่านมาว่า เหตุใดเด็กไทยยังเชื่อง่ายถูก หลอกง่าย ประเด็นอยู่ที่การวัดผลซึ่งไม่ได้วัดทักษะด้านวิเคราะห์สังเคราะห์ มีแต่การวัดว่าใครจะจำได้มากแล้วสำรอกออกมาได้เร็วที่สุดเท่านั้น”ดร.พรชัยกล่าว

นายพรชัย กล่าวอีกว่า สำหรับความดี จะต้องส่งเสริมด้านจิตใจ โดยให้ยึดตามหลักคำสอนของทุกศาสนา เน้นไปที่การมีศีล สมาธิ ปัญญา ทั้งนี้เชื่อว่าโรงเรียนมีส่วนสำคัญในการผลักดันสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น ดังนั้นจำเป็นต้องมีการวิจัยว่าจะพัฒนาสิ่งเหล่านี้อย่างไรในบริบทของท้อง ถิ่น หรือธรรมชาติทางวัฒนธรรม

ด้าน นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า หากมองระบบการศึกษาไทย โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือปัจจัยนำเข้า กระบวนการจัดการ และผลลัพธ์ จะพบว่าในส่วนของปัจจัยนำเข้านั้น เรานำเข้าทุกอย่างแก่เด็กตลอดเวลา เห็นได้จากงบประมาณด้านการศึกษาซึ่งจะเพิ่มขึ้นตลอด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นด้านผลลัพธ์กลับพบว่า คุณภาพของเด็กตงลงเรื่อยๆ นั่นหมายความว่าต้นทุนที่พยายามนำเข้าเพื่อสนับสนุนการศึกษาต้องเสียเปล่า

“คำถามคือมัน เกิดอะไรขึ้นกับ กระบวนการจัดการ ซึ่งอยู่ระหว่างปัจจัยนำเข้าและ ผลลัพธ์ จึงอยากให้มีการวิจัยคุณภาพเชิงนโยบาย”ชัยณรงค์  กล่าว

ส่วน นายทองอินทร์ วงศ์โสธร กรรมการสภาการศึกษา กล่าวเสริมว่า ถ้าคิดจะเขียนโครงการวิจัย แนะนำให้ยึดตามปัญหาหลัก 5 ข้อ คือ 1.ทำอย่างไรให้ผลสัมฤทธิ์ทางการ เมืองในกลุ่มสาระหลักเกิน 50% 2.ทำอย่างไรให้โรงเรียนได้รับรองมาตรฐานจากสำนักงานรับรองมาตรฐาน และประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) 3.ทำอย่างไรให้จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มสูงขึ้นจาก 8.7 ปี ในปี 2551 เป็น 12 ปี ในปี 2559 4.ทำ อย่างไรให้เอกชนเข้ามาร่วมจัดการศึกษามากขึ้น 5.ทำ อย่างไรให้สัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษามากขึ้น

นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า ผลพวงจากการพัฒนาการศึกษาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทำให้ตลาดงานมีความต้องการบุ คลลากรที่มีความเฉพาะมากขึ้น แต่เมื่อเศรษฐกิจเติบโตช้าอุปสงค์ต่อแรงงานก็ย่อมไม่ขยาย จึงจะเห็นได้ว่าประเทศไทยแม้มีการศึกษากระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่กลับมีแหล่งงานอยู่ที่เดียวคือกรุงเทพ

“ทุกๆ 30 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่จบปริญญาตรีจะไม่มีงานทำ โดยเฉพาะในตลาดแรงงานที่นิยมจ้างแรงงานระดับล่าง ซึ่งการศึกษาน้อย มีอายุ ค่าแรงถูก รวมทั้งแรงงานต่างด้าวเข้าไหลเข้ามาอีก คำถามคือจะเอาผู้ที่สำเร็จการศึกษาไปไว้ที่ไหน”ดร.ยง ยุทธกล่าว

เขา บอกว่า นอกจากนี้สังคมไทยยังไม่ให้ความสำคัญกับความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยเฉพาะสายการช่างและอาชีวะศึกษา ซึ่งจะตรงกันข้ามกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งนี้ตลาดงานในประเทศยังขาดแคลนผู้ที่มีความรู้ด้านนี้เป็นจำนวนมาก

“ยุทธศาสตร์การ แก้ปัญหาเชิงนโยบายต้องเน้นไปที่คุณภาพ คุณวุฒิวิชาชีพ เช่น เร่งปรับการทดสอบมาตรฐานการสอน หากโรงเรียนไหนไม่ผ่านการทดสอบและยังไม่พัฒนาตัวเองก็ให้สั่งปิดโรงเรียนไป เลย หรือถ้าเด็กคนไหนสอบไม่ผ่านก็ต้องยอมให้ซ้ำชั้น”ดร.ยง ยุทธกล่าว

แม้ว่าสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จะเคยกำหนดหัวข้อการวิจัยเรื่อง “การปฏิรูปการศึกษา” โดยหวังนำผลการวิจัยมากำหนดเป็นโยบาย หรือเป็นข้อเสนอแนะเพื่อให้เกิดประโยชน์ แต่อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงคือผลงานดังกล่าวไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้

การรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ จึงเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยเสริมกระบวนการ “ปฏิรูป” ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น