posttoday

"นนทิกร"นำทัพปฏิรูป ข้าราชการยุคดิจิทัล

27 ธันวาคม 2557

กลไกราชการเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารราชการแผ่นดิน ท่ามกลางกระแสของการปฏิรูปประเทศ

กลไกราชการเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารราชการแผ่นดิน ท่ามกลางกระแสของการปฏิรูปประเทศ ระบบราชการจึงเป็นหัวข้อสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้จะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไร

นนทิกร กาญจนะจิตรา ในฐานะเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เปิดใจกับ นสพ.โพสต์ทูเดย์ต่อการปรับทัพระบบราชการที่กำลังมีขึ้นในศักราช 2558 ปีแห่งการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเสียด้วย

กระแสการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลที่ทุกอย่างสามารถทำได้เพียงปลายนิ้วสัมผัสผ่านเครือข่ายระบบอินเทอร์เน็ต ยิ่งประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การเคลื่อนย้ายเงินทุน คน หรือข้อมูลเป็นไปอย่างเสรีไร้ข้อจำกัด การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวกำลังถาโถมและท้าท้ายระบบราชการให้ต้องปฏิรูปตัวเองตามกระแสดังกล่าว

“นนทิกร” หัวเรือใหญ่ในการกำกับดูแลกำลังคนภาครัฐ  บอกว่า  ระบบราชการไทยในปัจจุบันพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน เพราะทุกวันนี้สิ่งสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถหรือสมรรถนะของบุคลากรภาครัฐคือ การสร้างคนและการสร้างสภาพแวดล้อมให้เกิดการเรียนรู้

“แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากแต่ก็ต้องทำ เพราะการเรียนรู้ผิดแผกแตกต่างจากการให้ความรู้ กล่าวคือ การให้ความรู้เป็นเพียงให้ข้าราชการไปเรียนหนังสือ จัดฝึกอบรมสัมมนา หรือการสอนภาษา เป็นต้น แต่การให้ข้าราชการเรียนรู้เป็นเรื่องยากมากกว่า เพราะสิ่งที่จำเป็นและกำลังขาดแคลนอย่างมากในตอนนี้คือ การสร้างกระบวนการเรียนรู้ จึงต้องมีกระบวนการหรือวิธีการให้ข้าราชการได้เรียนรู้ เพราะการเรียนรู้จะอยู่ในชีวิตประจำวันทุกๆ วัน และเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาไม่ต้องมีการบังคับใดๆ”

เขาย้ำถึงความสำคัญของการปลูกฝังให้ภาคราชการทุกหน่วยงานได้เรียนรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เนื่องจากปัจจุบันสังคมอยู่ในยุคดิจิทัล การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย หรืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่เข้ามาทำให้โลกทั้งใบเล็กและแคบลง

เหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในอีกซีกโลกหนึ่งสามารถรับทราบได้เพียงไม่กี่เสี้ยววินาทีในอีกซีกโลกหนึ่ง ย่อมทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง จึงทำได้ง่ายโดยเฉพาะประชาชนที่รับบริการภาครัฐและภาคราชการเองได้เรียนรู้และเข้าใจรู้จักการเรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้

ต่อไปการให้บริการภาครัฐที่อยู่ในยุคดิจิทัลที่ได้นำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสูงในการทำงานต่างๆ ย่อมต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงตามกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงของโลก เพราะภาครัฐไม่อาจจะหนีพ้นได้

“ในสมัยหนึ่งที่ยังจำกันได้ในระบบราชการมีพนักงานพิมพ์ดีด พิมพ์งานต๊อกๆ แต๊กๆ แต่ปัจจุบันพนักงานพิมพ์ดีดไม่มีอีกแล้วเช่นเดียวกับโต๊ะทำงานในระบบราชการบางประเภทในยุคดิจิทัลต้องเลิกไป เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงตามความจำเป็นในแต่ละยุคแต่ละสมัยตามที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปและเป็นไปตามความต้องการของการให้บริการภาครัฐที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยด้วย”

“ผมมีความเชื่ออย่างหนึ่ง คือเมื่อสังคมเปลี่ยนไปประชาชนมีการศึกษาสูงขึ้นตามไปด้วย ฉะนั้นความต้องการการให้บริการภาครัฐย่อมต้องสูงตามไปด้วย และมากกว่าเดิม ถ้ายังจำกันได้ในรุ่นพ่อรุ่นแม่ของพวกเรา การเรียกร้องการให้บริการจากภาครัฐน้อยมาก ภาครัฐจะให้อะไรเราก็ต้องยอมรับไป แต่รุ่นปัจจุบันยิ่งรุ่นลูกหรือรุ่นหลานต่อไปในอนาคตย่อมเรียกร้องการให้บริการที่สูงขึ้น ยิ่งโลกปัจจุบันแคบลงจากการสื่อสารที่ทันสมัย สิ่งเหล่านี้จะบีบบังคับให้ข้าราชการต้องปรับตัวตามทั้งด้านตัวข้าราชการเอง และระบบการให้บริการที่ต้องดีขึ้นทันสมัยขึ้นและเร็วขึ้น”

นนทิกร กล่าวว่า  ยิ่งประเทศไทยย่างก้าวเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี การดำเนินการในเรื่องเดียวกันที่มีในประเทศไทย ย่อมต้องถูกเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม เป็นต้น

เช่นเรื่อง การจดทะเบียนทำธุรกิจ การขออนุญาตการดำเนินธุรกิจ การติดตั้งสาธารณูปโภค การขอชำระภาษี การขอคืนภาษี หรือขอเว้นภาษี เป็นต้น ต้องรวดเร็วสะดวก และทันสมัยเพื่อดึงดูดการลงทุนไม่เช่นนั้นจะก้าวตามประเทศเพื่อนบ้านไม่ทันการณ์

“เมื่อเราก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การบริการภาครัฐเรื่องเดียวกันกับประเทศมาเลเซีย อินโดนิีเซีย ใช้เวลาทำได้เพียง 7 วัน แต่ประเทศไทยระบบราชการเราใช้เวลา 3 เดือน ถ้าเป็นแบบนี้มันจะเกิดอะไรขึ้น นี่แค่โจทย์ง่ายๆ แล้วถ้าเป็นเช่นนี้เราจะแข่งกับประเทศใดได้ ในเรื่องเดียวกันแท้ๆ แต่ระยะเวลาการให้บริการต่างกันมากถ้าเป็นเช่นนี้ใครจะมาลงทุนในประเทศไทย ดังนั้นสถานการณ์เช่นนี้คือเหตุบังคับให้ข้าราชการไทยต้องปรับตัวเอง”

ในอนาคตการรวมกลุ่มประเทศอาเซียน นนธิกร กล่าวมั่นใจว่าท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ โดยสภาพการรวมกลุ่มของอาเซียนจะก่อให้เกิดการพัฒนาทั้งภายในประเทศตัวเองและกลุ่มประเทศร่วมกัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ซึ่งถือเป็นข้อดีหรือเป็นจุดเร่งให้เกิดการปฏิรูปตัวเอง

ขณะนี้ทาง ก.พ.มีโครงการต่างๆ เยอะแยะมากมายในการพัฒนาขีดความสามารถของข้าราชการให้ก้าวทันการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเฉพาะความร่วมมือกับทางกระทรวงการต่างประเทศและดำเนินการเองภายในหน่วยงานต่างๆ

“เราได้ให้ความรู้แก่ข้าราชการมานานแล้วตั้งแต่ความรู้พื้นฐานตั้งแต่เมื่อ 4 ปีก่อน เพื่อปูพื้นให้ข้าราชการได้รู้ว่าประชาคมอาเซียนคืออะไร โดยเดินสายให้ความรู้ทั่วประเทศ จากนั้นยังมีหลักสูตรเฉพาะในการให้ความรู้แก่ระดับผู้บริหารระดับกลางและสูง ที่เป็นการให้ความรู้ที่ลึกซึ้งขึ้น เช่น หลักสูตรการเจรจาระหว่างประเทศ หลักสูตรเฉพาะทางด้านความมั่นคง การเมือง และสังคม เพื่อให้ข้าราชการได้มีความรู้ในเชิงลึกมากขึ้น”

ขณะเดียวกัน แต่ละส่วนราชการต้องพัฒนาศักยภาพของบุคลากรของตัวเองด้วย โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างพื้นฐานการให้บริการขนานใหญ่คือ การนำระบบอาเซียน ซิงเกิ้ลวินโดวส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการอำนวยความสะดวกทางการค้า การบริการและการเคลื่อนย้ายสินค้าหรือบุคคล

โดยเชื่อมโยงระบบข้อมูลแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐและผู้ใช้บริการ อาทิ ผู้ประกอบธุรกรรมทางเศรษฐกิจ หรือผู้ให้บริการด้านขนส่งและโลจิสติกส์ในแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเป็นการวางรากฐานเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างระบบการปฏิบัติงานและระหว่างระบบข้อมูลสารสนเทศ

ระบบดังกล่าวนี้จะต้องมีการเตรียมความพร้อมให้มากที่สุด โดยเฉพาะในระดับจังหวัดที่ติดชายแดนระหว่างประเทศ เช่น ลาว กัมพูชา หรือพม่า เพราะจะมีการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษตลอดแนวชายแดน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ในฐานะที่ ก.พ.ดูแลกำลังคนภาครัฐทั้งหมด  นนธิกร มั่นใจว่าการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือในยุคดิจิทัล ไม่คิดว่าเราจะต้องไปกังวลว่าประเทศไทย จะตั้งรับไม่ทันกับสถานการณ์ แต่ขอเพียงภาคราชการไทยตระหนักเสมอว่าเราต้องตื่นตัวรับความเปลี่ยนแปลง เพราะเราเคยมีบทเรียนที่เราควรจะเรียนรู้ได้จากการรวมกลุ่มของกลุ่มประเทศอียู หรือสหภาพยุโรป เมื่อสิบปีก่อน

สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน จากการศึกษาพบว่าการรวมตัวกันแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะการก้าวเข้าสู่ปี 2558 เป็นการเริ่มต้นเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะสมบูรณ์แบบ ฉะนั้นต้องมีพัฒนาการจากการลงมือปฏิบัติจริงต่างหาก ไม่ใช่พร่ำบอกว่าเราไม่พร้อมคงไม่ได้ และกลุ่มประเทศทั้งสิบชาติก็ต้องมาช่วยกันประคับประคอง อย่างประเทศไหนยังขาดไม่พร้อมอะไรก็ต้องมาช่วยเหลือกัน

“จุดหนึ่งที่ชาติอาเซียนต้องยกระดับร่วมกันคือ มาตรฐานร่วม เพราะมาตรฐานในแต่ละเรื่องของสิบชาติอาเซียนไม่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ความปลอดภัยทางอาหาร แต่ละชาติมีมาตรฐานที่แตกต่างกัน ดังนั้นเมื่อจะเปิดเสรีทางการค้าย่อมต้องกำหนดมาตรฐานที่เหมือนหรือตรงกัน

เช่น เรื่องความปลอดภัยด้านอาหารและสินค้าเกษตร ที่ขณะนี้แต่ละประเทศแตกต่างกันย่อมกลายเป็นเหตุหนึ่งในการกีดกันทางการค้าในสินค้าเกษตรระหว่างกันได้ ดังนั้นเพื่อสร้างความเข้มแข็งระหว่างกันต้องมีการเจรจาระหว่างกันควรจะเป็นอย่างไร”

ชูองค์กรอิสระคุมเงินเดือนทั้งระบบ

เสียงติฉินนินทา “ทำงานแบบเช้าชาม-เย็นยาม” เป็นสิ่งที่่พี่น้องข้าราชการได้ยินเสมอ ซึ่งสะท้อนถึงการทำงานตามฐานเงินเดือนและค่าตอบแทนที่ได้รับ เมื่อเงินเดือนไม่เพียงพอหรือไม่สะท้อนภาวะค่าครองชีพที่แท้จริงย่อมนำมาสู่การทุจริตในหน้าที่

นนทิกร บอกว่า  ปัญหาหลักของเรื่องค่าตอบแทนคือ ปัจจุบันข้าราชการมีหลายประเภทมาก ในแต่ละกลุ่มย่อมมีการกำหนดค่าตอบแทนที่แตกต่างกันไป หรือแต่ละกลุ่มมีอำนาจ หรือความอิสระในการกำหนดค่าตอบแทนขององค์กรตัวเองได้นี้คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดความลักลั่นหรือเหลื่อมล้ำภายในระบบราชการสูงมาก

“เมื่อมีการปฏิรูประบบราชการควรมีข้อเสนอการจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมากำหนดค่าตอบแทนกลางว่าแต่ละกลุ่มหรือประเภทงานแต่ละแห่งควรเป็นเท่าไรอย่างไร เพราะที่ผ่านมาโดยเฉพาะองค์กรอิสระเป็นฝ่ายเสนอขึ้นเงินเดือนตัวเอง อย่างอิสระเสรี แต่ละองค์กรมีกฎหมายของตัวเอง เช่น ศาลทุกศาลมีอำนาจตามกฎหมายพระราชบัญญัติในการกำหนดค่าตอบแทนให้แก่ข้าราชการของตัวเอง เช่น ค่าครองชีพ เงินพิเศษ หรือค่าตอบแทนพิเศษใดๆ”

องค์กรอิสระใหม่นี้จะเข้ามาพิจารณาว่าสายงาน หรือประเภทงานใด อย่างงานชำนาญการ งานอำนวยการ ควรได้รับค่าตอบแทนเท่าไรอย่างไร โดยเป็นการยึดตามแนวทางการพิจารณาเงินเดือน หรือ Total Remuneration หรือค่าตอบแทนรวมที่สมควรจะได้รับเป็นเกณฑ์การพิจารณาค่าตอบแทนต่างๆ เข้าไปด้วยกัน รวมทั้งหมดแล้วคือเงินก้อนหนึ่งที่ข้าราชการจะได้รับต่อเดือน

“อยากให้องค์กรใหม่ที่จะเข้ามาดูเรื่องค่าตอบแทนทั้งระบบ อาจจะตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ หรือตามพระราชบัญญัติก็ได้ขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบาย ซึ่งองค์กรอิสระที่มาดูแค่ค่าตอบแทนภาครัฐ นี้จะเข้ามาดูความเหมาะสมการขึ้นเงินเดือน ควรขึ้นหรือไม่อย่างไร เช่น เงินเดือน ศาล อัยการ ตุลาการ เช่นเดียวกันต้องดึงอำนาจจากองค์กรอิสระที่ขึ้นเงินเดือนตัวเองได้มาไว้ที่องค์กรแห่งนี้ด้วย” นนทิกร กล่าวทิ้งท้าย