posttoday

อนาคตระบบสุขภาพ "ต้องยุบรวมเหลือกองทุนเดียว"

12 ธันวาคม 2557

ความเชื่อของผมคือจะต้องทำให้เป็น “กองทุนเดียว” คือควรจะทำให้เป็นระบบเดียวกันซึ่งจะทำให้เกิดอำนาจซื้อ

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

ความขัดแย้งร้าวลึกระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดูเหมือนว่าจะยังไม่มีทีท่าจะได้ข้อยุติ

ท่ามกลางความไม่ลงรอยในทุกแวดวงล้วนแต่เป็นเพราะต่างฝ่ายต่างยืนอยู่บนหลักคิดของตัวเอง “โพสต์ทูเดย์” ชวนนักคิด-ผู้มีส่วนได้เสียทิ้งความขัดแย้งไว้เบื้องหลัง หยุดเรียกร้องในสิ่งที่ตัวเองต้องการ แล้วมาร่วมกันคิดว่าในอนาคต 10 ปีข้างหน้า ...ระบบสุขภาพไทยควรจะเป็นอย่างไร

อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร และเจ้าของรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการรัฐกิจ อย่าง จอน อึ๊งภากรณ์ ได้ฉายภาพระบบสุขภาพในอีก 10 ข้างหน้าไว้อย่างน่าสนใจ

ในฐานะนักวิชาการผู้คร่ำหวอดและนักเคลื่อนไหวในแวดวงภาคประชาสังคม “จอน”

เชื่อว่าหลักการของ “รัฐสวัสดิการ” จะนำพาความมั่นคงไปสู่ประชาชนทั่วทุกหัวระแหง โดยเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่จะช่วยให้คนไทยหลุดพ้นจากภาวะ “ล้มละลาย” ทางเศรษฐกิจการจ่ายค่ารักษาพยาบาล

รักษาถ้วนหน้า-ตั้งกองทุนเดียว

ผมเป็นคนที่เชื่อในหลักการของ “รัฐสวัสดิการ” กล่าวคือรัฐมีหน้าที่ในการดูแลประชาชนให้เข้าถึงปัจจัย 4 หรือปัจจัยที่จำเป็นสำหรับการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งเรื่องของ “สุขภาพ” ก็เป็นส่วนหนึ่งในนี้ ฉะนั้นประชาชนจะต้องได้รับบริการสุขภาพที่เหมาะสมอย่างเท่าเทียมกัน และต้องสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึงเสมอหน้า

ความเชื่อของผมคือจะต้องทำให้เป็น “กองทุนเดียว” คือควรจะทำให้เป็นระบบเดียวกันซึ่งจะทำให้เกิดอำนาจซื้อเป็นอย่างมาก ดังนั้นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ-การรักษาพยาบาล ของกองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการข้าราชการ ก็ควรโอนมาให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นผู้ดูแล

ที่สำคัญจะมาเก็บค่ารักษาพยาบาล “ณ จุดให้บริการ” ไม่ได้ เพราะจริงๆ ทุกคนจะถูกเก็บค่ารักษาพยาบาลแล้วผ่านระบบภาษี หากถึงจุดที่ภาษีปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการแบกรับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ก็อาจจะต้องเก็บเป็นภาษีพิเศษเพิ่มขึ้น เช่น ภาษีสุขภาพ แต่ต้องจัดเก็บตามความสามารถในการจ่ายและสัมพันธ์กับภาษีเงินได้

นักการเมืองหลายคนเข้าใจผิดโดยพูดกันว่าประเทศไทยควรจะมีระบบรักษาสุขภาพฟรีเฉพาะผู้ยากไร้ ซึ่งจะทำให้ประหยัดและมีประสิทธิภาพมากกว่า ขอยืนยันว่า “ไม่ใช่ความจริง” เพราะหากประชาชนคนชั้นกลางมีสมาชิกในครอบครัวป่วยด้วยโรคเรื้อรัง-โรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ก็สามารถล้มละลายจากการรักษาพยาบาลได้เช่นกัน

ต้องบรรจุ ‘รัฐสวัสดิการ’ ในรธน.

หากเราต้องการพัฒนาระบบสุขภาพโดยตั้งเป็นตุ๊กตาไว้ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ถ้าถามว่าต้องทำอะไรบ้างก็คงเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นการผลิตบุคลากรทางด้านสาธารณสุข แพทย์ พยาบาล ให้เพียงพอต่อความต้องการ ต้องออกแบบให้โรงพยาบาลหลุดออกจาก สธ. แต่สิ่งที่เป็นหัวใจของความคิดเรื่องนี้คือ เราต้องรวมนักวิชาการ ภาคประชาชน และผู้รู้ทั้งหลาย ให้ร่วมกันรณรงค์สร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนให้เข้าใจเรื่องหลักประกันสุขภาพที่ถูกต้อง

ทุกวันนี้มีการให้ข้อมูลที่บิดเบือนจำนวนมาก ผมคิดว่าจำเป็นต้องเปิดเวทีให้ถกเถียงเพื่อความเข้าใจของประชาชน ขณะเดียวกันต้องพัฒนาบทบาทของนักวิชาการด้านนี้ ปัจจุบันนักวิชาการมีแต่ยังไม่เพียงพอและพูดเสียงไม่ดัง ดังนั้นเราต้องอธิบายให้ชัดว่าเราสามารถที่จะสร้างระบบหลักประกันสุขภาพกองทุนเดียวได้แบบไหน สิทธิประโยชน์เป็นอย่างไร และมีค่าใช้จ่ายเท่าใด ประชาชนก็จะได้เห็นตุ๊กตาตัวเดียวกัน

ในการร่างรัฐธรรมนูญ ก็ควรมีการเขียนหลักของรัฐสวัสดิการเข้าไปด้วย ควรกำหนดบทบาทหน้าที่ของรัฐว่าต้องดูแลให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ครอบคลุมประชาชนของประเทศทั้งหมด

รพ.เป็นของ ‘ท้องถิ่น’- สธ.ต้องเล็กลง

ในอนาคตต้องมีการถ่ายโอนโรงพยาบาลให้ “ท้องถิ่น” เป็นผู้ดูแล และโรงพยาบาลเหล่านั้นจะต้องกลมกลืนอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน อย่างน้อยเริ่มต้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) และโรงพยาบาลชุมชน โดยมีเงินอุดหนุนจากส่วนกลางลงไป

ประโยชน์หลายประการจะเกิดขึ้นจากแนวทางนี้ เช่น ท้องถิ่นอาจจะให้ทุนให้คนในท้องถิ่นไปเรียนแพทย์ พยาบาล แล้วกลับมาทำงานในท้องถิ่นของตัวเอง หรือหากพบว่าการกำกับดูแลโรงพยาบาลไม่ดี คนในท้องถิ่นก็มีอำนาจในการจัดการ เช่น เปลี่ยนตัวผู้อำนวยการโรงพยาบาล

ผมคิดว่าโรงพยาบาลประจำจังหวัดก็ยังควรเป็นของท้องถิ่น สธ.อาจจะเหลือเพียงโรงพยาบาลศูนย์ที่เป็นระดับภาคหรือโรงพยาบาลเฉพาะทาง เพราะโดยหลักการแล้ว สธ.ควรเป็นกระทรวงทางวิชาการ ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐาน กำหนดยุทธศาสตร์การป้องกันโรคต่างๆ มากกว่าการเข้าไปเป็นเจ้าของสถานพยาบาลเอง

สำหรับนโยบาย “เขตสุขภาพ” ควรเกิดจากหลายๆ จังหวัดมารวมกัน เช่น แต่ละจังหวัดมองแล้วว่าจำเป็นต้องมีโรงพยาบาลเฉพาะทางหรือศูนย์สุขภาพสักแห่ง เพื่อให้บริการประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง แต่ถ้าเป็นเขตสุขภาพที่ สธ.เป็นผู้กำหนดและให้มีการจ่ายเงินผ่านเขตสุขภาพ เพื่อให้เขตสุขภาพไปกระจายให้โรงพยาบาลอีกทอดหนึ่งนั้น ส่วนตัวแล้ว “ไม่เห็นด้วย”

ทิศทางมันควรจะเป็นการกระจายอำนาจที่แท้จริงให้กับท้องถิ่น แน่นอนว่าอีก 10 ปี ก็อาจยังไปไม่ถึง แต่นี่คือทิศทางที่ควรจะเป็น ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือกระทรวงสาธารณสุขกลับมีนโยบายที่กลบสิ่งเหล่านี้จนเรามองกันไม่เห็นว่าควรจะไปทางไหน

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นใน สธ.ก็เช่นกัน ทั้งหมดมีฐานมาจากการ “เสียอำนาจ” เพราะตั้งแต่มีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สธ.เสียอำนาจไปมาก แต่ถ้าว่ากันตามหลักการแล้วควรจะเสียมากกว่านี้อีก กระทรวงต้องเล็กลงกว่านี้อีกเยอะ หรือลองเทียบกับหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว จะเห็นว่าแม้แต่ขนาดอาคาร พื้นที่ หรือจำนวนบุคลากร ก็ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ใหญ่เกินความจำเป็นเหมือนกับในประเทศไทย

อีกหนึ่งกลไกสำคัญในระบบสุขภาพคือ “องค์การเภสัชกรรม” (อภ.) ที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาเพื่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมียุคใดสามารถทำให้องค์การเภสัชกรรมบรรลุเป้าประสงค์ที่แท้จริง

อภ.ต้องมีบทบาทในการรองรับระบบหลักประกันสุขภาพ ผมเชื่อว่ามีศักยภาพในการผลิตทั้งยาที่หมดสิทธิบัตร และเวชภัณฑ์อื่นๆ โดยไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้นรัฐต้องหวงแหนองค์การเภสัชกรรมและให้น้ำหนักมากกว่านี้