posttoday

"เดี๋ยวนี้คนเราฆ่ากันง่าย"..."อัญวุฒิ โพธิ์อำไพ"นักกู้ชีพรุ่นเก๋ามูลนิธิร่วมกตัญญู

08 ธันวาคม 2557

เปิดใจ "อัญวุฒิ โพธิ์อำไพ" เจ้าของรหัส "นคร45" หัวหน้ารถกู้ภัยมูลนิธิร่วมกตัญญู กับการทำงาน 25 ปีในฐานะนักกู้ชีพ

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล / ภาพ...กิจจา อภิชนรจเลข

เสียงไซเรนดังโหยหวน ตามด้วยรถปิกอัพและรถมอเตอร์ไซค์ของมูลนิธิกู้ภัยซิ่งมาอย่างรวดเร็วปานสายฟ้า บ่งบอกให้รถคันอื่นบนถนนรับรู้ว่าเบื้องหน้าต้องมีเหตุด่วนเหตุร้ายเกิดขึ้นแน่ๆ

ไม่ว่าจะเกิดเหตุเพลิงไหม้ งูเข้าบ้าน เด็กจมน้ำ ทะเลาะวิวาทฆ่ากันตาย อุบัติเหตุ จนถึงภัยพิบัติครั้งมโหฬาร นอกจากไทยมุง ปฏิเสธไม่ได้ว่าบุคคลผู้มาถึงที่เกิดเหตุเป็นคนแรกก่อนนักข่าว ตำรวจ และเจ้าหน้าที่พยาบาล คือ รถกู้ภัยของมูลนิธิต่างๆ

หน้าที่อันเร่งด่วนของคนกลุ่มนี้คือการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ลำเลียงคนเจ็บ เก็บศพ เคลียร์พื้นที่อำนวยความสะดวกในการทำงานของทุกฝ่าย เป็นความดีงามที่ปรากฎในสายตาประชาชน

ทว่าอีกด้านก็ถูกตั้งคำถามในเรื่องของการทำงาน"ที่เกินกว่าเหตุ" ทั้งปัญหาแย่งคนเจ็บส่งโรงพยาบาล พฤติกรรมกร่างคับถนน ขับรถซิ่งเสี่ยงอันตราย สร้างความหวาดเสียวให้เพื่อนร่วมถนน

วันนี้ นัดคุยกับ "อัญวุฒิ โพธิ์อำไพ" หรือ ยอด เจ้าของรหัสเรียกขาน “นคร45” หัวหน้ารถกู้ภัยและรองหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิร่วมกตัญญู กับเบื้องหลัง 25 ปีของการทำงานช่วยคนเจ็บ-เก็บศพ ปมศึกระหว่างมูลนิธิกู้ภัย ภาพข่าวสะเทือนขวัญที่ช่างภาพอาชญากรรมยังต้องยกนิ้ว และสารพัดความตายที่รายรอบตัวเรา

อะไรคือจุดเริ่มต้นที่เข้ามาทำงานในมูลนิธิร่วมกตัญญู

ย้อนกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อน บ้านผมอยู่แถวคลองเตย สมัยนั้นชอบขี่รถมอเตอร์ไซค์ซิ่งตามประสาวัยรุ่น ทุกคืนวันศุกร์เสาร์ก็จะไปซิ่งกันแถวถนนรัชดาภิเษกแล้วเที่ยวต่อที่ฟลามิงโก้ผับ  คืนหนึ่งผมไปเที่ยวกับเพื่อน เมาเสร็จก็แยกย้ายกันกลับบ้าน ระหว่างทางขากลับมีรถเก๋งคันนึงเปิดไฟฉุกเฉินอยู่ เห็นมอเตอร์ไซค์ถูกชนล้มอยู่หน้ารถ คนเจ็บเป็นคุณลุงสวมชุดซาฟารีเลือดไหลออกปากออกจมูก หายใจติดๆขัดๆ ในใจคิดอย่างเดียวว่าปล่อยทิ้งไว้แบบนี้ตายแน่ เพราะไม่มีรถผ่านมาสักคันเดียว ผมเลยเดินไปเคาะกระจกถามว่าพี่ ทำไมไม่พาเขาไปส่งโรงพยาบาล ปรากฎว่าคนขับเป็นผู้หญิงไม่กล้าลงจากรถ เขาบอกน้องๆช่วยพี่หน่อย พี่ทำอะไรไม่ถูกแล้ว  ผมเลยให้เขาเปิดประตู แล้วอุ้มคนเจ็บไปไว้ที่เบาะหลังอย่างทุลักทุเลมากๆ ไม่ถูกต้องตามหลักการปฐมพยาบาลอะไรทั้งนั้น พอเห็นเลือดผู้หญิงคนนั้นก็สติแตก กรี๊ดลั่น ขับรถต่อไม่ได้ ผมก็เอาไงดีวะ ไม่เคยขับรถมาก่อนเลยในชีวิต เลยบอกแกว่าพี่สอนผมหน่อย เข้าเกียร์ยังไง เขาก็สอนตรงนั้นเลย สุดท้ายก็ขับรถพาไปถึงโรงพยาบาลจนได้ สร่างเมาเลย (หัวเราะ)

ระหว่างผู้หญิงคนนั้นทำเรื่องให้เสร็จเพื่อให้เขามาส่งผมกลับมาเอามอเตอร์ไซค์ ไม่ถึงชั่วโมงก็มีญาติคนเจ็บเดินทางมากันทั้งครอบครัวเลย ผู้หญิงคนนั้นก็แนะนำว่าเขาเป็นคนชนเอง ส่วนน้องคนนี้มาช่วย เขาก็มาไหว้ผมกันทั้งบ้าน ภรรยาของคนเจ็บซึ่งแก่กว่าแม่ผมอีกไหว้ขอบคุณที่ตัก ผมบอกไม่เป็นไรครับ ผมเต็มใจช่วย แต่วินาทีนั้นรู้สึกว่ามันมีความสุขจริงๆ หัวใจผมพองโตเลย มันเป็นความรู้สึกที่สัมผัสได้ว่าเป็นคำขอบคุณที่มาจากใจจริงๆ

ตอนนั้นทำงานอะไรอยู่

เป็นเมสเซนเจอร์ อายุแค่ 15-16 เอง หลายวันถัดจากเกิดเรื่อง ผมขับผ่านมูลนิธิร่วมกตัญญู บางพลี ผ่านมาปรื๊ด นึกขึ้นได้เฮ้ย มูลนิธิร่วมกตัญญูนี่หว่า เลยวนรถกลับมา ในใจคิดว่าเรามาสมัครดีกว่าจะได้ช่วยเหลือคน เขาก็ให้กรอกใบสมัครแล้วบอกให้รอเรียกตัวมาอบรมเรื่องการปฐมพยาบาล ยุคนั้นยังไม่มีโทรศัพท์ก็ทิ้งที่อยู่ตามบัตรประชาชนไว้ เอาจริงๆ ผมรู้สึกว่าชีวิตเราคงถูกกำหนดให้มาเป็นแบบนี้ เพราะหลังจากกรอกใบสมัคร ผมออกไปทำงานเจออุบัติเหตุทุกวันเลย ทุกครั้งผมจะจอดรถวิ่งไปที่ตู้โทรศัพท์สาธารณะเพื่อแจ้งเหตุ พี่ครับ ร่วมกตัญญูใช่ไหม ผมชื่อนี้นะ ผมไปสมัครเป็นอาสาสมัครมาแล้ว ผมไปเจอเหตุ มีคนเจ็บ ฝั่งโน้นบอก โอเค ได้เลย แล้วก็ส่งรถมาช่วย เราก็ไปทำงานต่อ

ทุกๆวันผมจะเตรียมเหรียญบาทเป็นกำไว้หยอดตู้โทรแจ้งเหตุ เพราะยังไม่มีวิทยุสื่อสาร จนวันหนึ่งเราก็แจ้งเหตุปกติ ศูนย์วิทยุถามกลับมาว่าเฮ้ย เอ็งเป็นใครวะ ไปเอางานมาจากไหน เอาเหตุมาแจ้งทุกวันเลย (หัวเราะ) คือเขาจำเสียงได้ ไอ้นี่อีกแล้ว ไอ้ยอดมันแจ้งมาอีกแล้ว มันเป็นใครวะ เอ็งเข้ามาที่มูลนิธิหน่อย อยากรู้จัก ขอดูหน้าหน่อย ผมเลยขี่มอเตอร์ไซค์ไปแนะนำตัวจนสนิทสนมกับพี่ๆเขา ต่อมาก็ได้เข้ารับการอบรมเป็นอาสาสมัครกู้ภัยอย่างถูกต้อง อยู่ได้สักประมาณ 3-4 ปีก็มีเรื่องพลิกผันให้มาเป็นเจ้าหน้าที่กู้ภัยเต็มตัว

วันนั้นผมต้องไปเก็บเช็คให้บริษัท จู่ๆมีรถกู้ภัยของมูลนิธิเปิดไซเรนผ่านมาติดไฟแดงอยู่ข้างๆ เผอิญเป็นคนรู้จักกัน ถามไถ่ได้ความว่ามีเหตุรถบัสชน คนเจ็บคนตายหลายคน พี่เขาถามไปไหม สระบุรี ผมตอบทันทีไปๆ พี่มารับผมหน่อย ก็จอดมอเตอร์ไซค์ริมถนนนั่นแหละ โดดขึ้นรถไปกับเขา จำได้ว่าไปกิน นอน ช่วยเหลือคนเจ็บ เก็บศพกับเขาอยู่ 2-3 วัน กลับมา เอ้า ตายแล้ว เช็คยังอยู่กับเราเต็มกระเป๋า พอกลับไปที่บริษัทพบว่าเขาติดต่อเราไม่ได้ ผู้จัดการบริษัทเขารักผมเหมือนลูกก็เสียใจนะว่าทำไมผมเหลวไหลขนาดนี้ ผมก็ไปกราบขอโทษแกบอกว่าพี่ ผมขอโทษครับ ผมรู้แล้วว่าชีวิตผมชอบอะไร ผมขอลาออกดีกว่า และเพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบว่าไม่ทิ้งงาน ผมก็ขอเอาเพื่อนสนิทของผมมาทำงานแทน ทิ้งเงินเดือนหมื่นสามพันบาทมาเอาเงินเดือนแปดร้อยบาท

หน้าที่แรกเป็นเด็กเก็บศพ นั่งท้ายรถ ห่อศพ แบกศพจากที่เกิดเหตุไปโรงพักพิมพ์ลายนิ้วมือ ขอหนังสือส่งตัวจากร้อยเวร แล้วนำศพไปเก็บไว้ที่ห้องเย็นสถาบันนิติเวช เฉลี่ยวันละ 2-3 ศพ

ช่วงนั้นผมทำงานไปโดยไม่ได้คิดถึงเรื่องอื่นเลย คิดดูจากวันที่รับเงินเดือนแรกจนเดือนถัดไป ไม่ได้ใช้เงินสักบาท เพราะกินอยู่กับมูลนิธิ เลยคิดว่าเราก็อยู่ได้นะ ทำมาเรื่อยๆจนเลื่อนขั้นเป็นพนักงานขับรถ เป็นเจ้าหน้าที่กู้ภัยประจำ เป็นหัวหน้ารถกู้ภัย ตอนนี้พ่วงมาอีกตำแหน่งคือรองหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ แต่ไม่ได้คิดว่ามีหน้าที่ตรงนี้แล้ว หน้าที่อื่นจะไม่ทำ ทุกวันนี้ผมก็ยังช่วยน้องๆเขาแบกศพ พิมพ์ลายมือ ขนโลง ทำทุกอย่างเหมือนที่เข้ามาวันแรก คิดแค่ว่าอะไรที่พอจะช่วยได้ เราช่วยทุกอย่าง

"เดี๋ยวนี้คนเราฆ่ากันง่าย"..."อัญวุฒิ โพธิ์อำไพ"นักกู้ชีพรุ่นเก๋ามูลนิธิร่วมกตัญญู

จากเด็กแก๊งซิ่งกวนเมืองกลายมาเป็นทำงานช่วยเหลือสังคม ต้องปรับตัวเยอะไหม

ความรู้สึกเดียวเลยคือเราอยากช่วยเขา ทุกครั้งที่มีเวลาว่างผมจะชอบนึกย้อนไปถึงเรื่องราวในอดีต สำรวจความเป็นมาเป็นไปของตัวเอง เคสแรกที่ผมได้ช่วยเป็นเด็กผู้หญิงขี่มอเตอร์ไซค์ประสานงากับรถซูบารุ ภาพแรกที่เห็นคือน้องเขานั่งพับเพียบ เบือนหน้าหนีไม่กล้ามองขาตัวเอง เพราะบริเวณน่องถูกเหล็กเสียบจนเนื้อเปิดออกมาเห็นกระดูกขาวๆ พอเห็นปั๊บ ขาผมอ่อนเลย แต่ด้วยความเป็นเจ้าหน้าที่ก็ต้องใจแข็งบอกให้อยู่นิ่งๆ เราก็เอามือปิดแผล เอาผ้าพัน

เหตุการณ์แก๊สระเบิดที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ได้เห็นภาพคนติดอยู่ในรถ ควันออกปาก คนนอนเกลื่อนถนนเป็นดักแด้ขาวโพลน ขณะเดียวกันก็ตื่นตาตื่นใจกับการทำงานของพี่ๆเจ้าหน้าที่กู้ภัย สิ่งที่เขาทำคือเอาน้ำราดตัวให้เปียก แล้วเข้าไปอุ้มศพออกมา คนที่ยังไม่ตายก็พาไปส่งโรงพยาบาล เราก็ทำตามพี่ๆโดยไม่รู้สึกอะไร แต่พอกลับบ้าน โอ้โห เนื้อตัวแสบพองไปหมด ถัดมาจากนั้นไม่นาน เกิดเหตุเครื่องบินสายการบินเลาด้า แอร์ ตกที่ด่านช้าง สุพรรณบุรี ตาย 200 กว่าศพ เครื่องบินมันระเบิดกลางอากาศ สภาพศพเลยกระจายไปทั่วภูเขา แค่เดินขึ้นไปก็ลำบากอยู่แล้วนี่ต้องไปเอาศพกลับมาอีก สมัยนั้นเจ้าหน้าที่กู้ภัยไม่เยอะขนาดนี้ด้วย

บทเรียนสำคัญที่ได้จากเหตุการณ์ครั้งนั้นคือ หลังเครื่องบินตกชาวบ้านพากันขึ้นภูเขาไปเอาทรัพย์สินที่มันหล่นกระจายเกลื่อนไปหมด กล้องถ่ายรูป นาฬิกา เข็มขัด รองเท้า ผมพบศพฝรั่งผิวขาวสวมสูทสีเทาที่ข้อมือสวมนาฬิกายี่ห้อโรเล็กซ์ฝังเพชร สวยมาก มองปุ๊บรู้เลยว่าแพงมากๆ ตอนนั้นไม่มีใครอยู่ด้วย เอาไปก็ไม่มีใครเห็น ผมคิดว่าถึงคนอื่นไม่เห็น แต่เรารู้อยู่แก่ใจว่ากูเป็นคนเอา ถ้าเอาไปปั๊บมันจะเป็นตราบาปติดตัวเราทันทีว่ามึงไม่ใช่คนดี เหมือนผ้าขาวที่มีอะไรสะบัดมาโดนถึงซักออกไปมันก็ยังมีคราบ เลยรวบรวมสติดึงศพออกมาแล้วตะโกนเรียกพรรคพวก

จำได้ว่าผมบอกเพื่อนร่วมงานว่าพี่เห็นไหม ชาวบ้านเขามาเอาอะไรกัน อย่าทำนะพี่ เรามาช่วยเขานะ ที่พูดประโยคนี้ไปเพราะกลัวว่าเพื่อนเขาจะคิดไม่เหมือนเรา คนเราถ้ามีสติจะไม่มีวันทำเด็ดขาด เพราะฉะนั้นเลยต้องช่วยเตือนสติกัน ถามว่าอยากได้ไหม อยากได้ เงินทองใครบ้างไม่อยากได้ แต่ต้องไม่ใช่แบบนี้ ต้องได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรง

ทรัพย์สินสูญหายทีไรก็จะโทษว่าไอ้มูลนิธิกู้ภัยนี่แหละขโมยไป แต่ความเป็นจริง พอรถชนกันตูม คนที่ถึงคนแรกไม่ใช่มูลนิธินะครับ แต่เป็นกลุ่มไทยมุงที่อยู่ตรงนั้น พอเกิดเหตุปั๊บมันก็ชุลมุนวุ่นวาย ที่ผ่านมาทรัพย์สินสูญหายที่จับได้ก็มาจากไทยมุงที่แฝงตัวเข้ามาเป็นพลเมืองดีนี่แหละ

ที่ผ่านมา ปัญหาความขัดแย้งระหว่างมูลนิธิกู้ภัยเกิดจากสาเหตุใด

สมัยก่อนมีแค่สองมูลนิธิใหญ่คือ มูลนิธิร่วมกตัญญูกับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เราทำงานเหมือนกันในพื้นที่เดียวกัน ไม่มีการแบ่งพื้นที่ทำงานชัดเจนเหมือนเดี๋ยวนี้ ก็จะมีการชิงไหวชิวพริบ ดักฟังหาข่าวทางวิทยุ เครื่องยนต์รถใครแรง ใครขับรถมีฝีมือกว่ากัน บ่อยครั้งปัญหาเกิดจากการไปถึงที่เกิดเหตุสูสีไล่เลี่ยกัน คันที่ไปถึงทีหลังก็จะเริ่มทำตัวเหมือนขี้แพ้ชวนตี ท้าทายกัน เฮ้ย เมื่อกี้มึงปาดหน้ากูเหรอ จนมีเรื่องทะเลาะวิวาทกันเป็นประจำ

เหตุการณ์ครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นในปี 2535 คืนนั้นมีเหตุวิสามัญฆาตกรรมในซอยมหาดไทย เมื่อได้รับแจ้ง  เจ้าหน้าที่ทั้งสองต่างก็รีบไปยังจุดเกิดเหตุ ปาดกันไปปาดกันมาจนถึงที่หมาย ฟากนึงก็คิดว่าได้ผลงานเข้ามูลนิธิตัวเอง อีกฟากก็คิดว่าเป็นศักดิ์ศรีของมูลนิธิ เกิดปะทะคารม ชกต่อยกันในที่เกิดเหตุ และมีการวิทยุขอกำลังคน เรื่องมันบานปลายตรงที่หลังจากได้รับวิทยุขอกำลัง ต่างฝ่ายต่างรีบไปที่เกิดเหตุ เกิดมาเจอกันระหว่างทาง ลงมาต่อยกันกลางถนน ลุกลามไปหลายจุดทั่วกรุงเทพ พอดีกับนักข่าวผ่านมาเห็นเจ้าหน้าที่สองกลุ่มกำลังสาวหมัดกันชุลมุนเลยถ่ายภาพขึ้นหน้าหนึ่งเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วประเทศ

ท้ายที่สุด พล.ต.ท.ณรงค์ เหรียญทอง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลสมัยนั้น เรียกผู้บริหารของมูลนิธิร่วมกตัญญูและป่อเต็กตึ๊งมาหารือกัน โดยมีการทำข้อตกลงว่าจะแบ่งพื้นที่การทำงานออกเป็น 2 ส่วนคือ นครบาลเหนือกับนครบาลใต้ ยกตัวอย่างวันนี้มูลนิธิร่วมกตัญญูอยู่นครบาลใต้ ประกอบด้วยสน.ในกองกำกับการนครบาลใต้ทั้งหมด จนถึงสมุทรปราการ นครปฐม ส่วนป่อเต็กตึ๊งก็อยู่นครบาลเหนือ ประกอบด้วยสน.ในกองกำกับการนครบาลเหนือทั้งหมด จนไปถึงปทุมธานี นนทบุรี แล้วพอแปดโมงเช้าของทุกวันก็จะสลับกันโดยอัตโนมัติ ร่วมกตัญญูเปลี่ยนไปดูนครบาลเหนือ ป่อเต็กตึ๊งดูนครบาลใต้

นอกจากนี้สถาบันนิติเวชยังให้ทั้งสองมูลนิธินำรถกู้ภัยแต่ละผลัดไปรวมตัวเข้าแถวด้วยกันทุกวัน จนพูดคุยกลายเป็นเพื่อนกัน มีการประสานงานเครือข่าววิทยุร่วมกัน ช่วยกันแจ้งเหตุในวันที่ตัวเองไม่ได้รับผิดชอบพื้นที่  บวกกับทุกครั้งที่มีภัยพิบัติใหญ่ ทั้งสองมูลนิธิจะรวมอุปกรณ์เครื่องมือมาช่วยกัน ใครเป็นเวรรับผิดชอบก็ให้ดำเนินการเรื่องผู้เสียชีวิตไป ส่วนเรื่องผู้ประสบภัยในที่เกิดเหตุทั้งสองฝ่ายก็ช่วยกัน ทุกอย่างจบ หมดปัญหาไปเลย

แล้วทำไมถึงมามีเหตุรุนแรงอีก

เหตุการณ์กระทบกระทั่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ เพราะมีหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเป็นมูลนิธิเล็กๆ 3-4 แห่ง ทำงานซ้ำซ้อนกับมูลนิธิร่วมกตัญญูกับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง คนที่ออกมาตั้งมูลนิธิพวกนี้ส่วนใหญ่คือเจ้าหน้าที่ของร่วมกตัญญูกับป่อเต็กตึ๊งที่ถูกไล่ออก เขาก็รู้ระบบการทำงานทุกอย่างเลยไปรวมตัวตั้งมูลนิธิใหม่ขึ้นมา  

ถามว่าทำไมถึงปล่อยให้เกิดมูลนิธิใหม่ขึ้นมาซ้ำซ้อน ผมมองว่าการช่วยเหลือสังคมมันไม่จำกัดผูกขาดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ใครก็สามารถช่วยได้ทั้งนั้น ตั้งกลุ่มกันขึ้นมาเองยังได้ ถ้าเจตนาเขาอยากช่วยเหลือก็สามารถทำได้เลย แต่ประเด็นคือมูลนิธิดังกล่าวถูกก่อตั้งมาโดยคนที่ทำผิดระเบียบของมูลนิธิจนถูกให้ออก ในเมื่อคุณไม่เคารพกฎระเบียบที่ถูกต้องได้ ออกไปทำเอง คุณไม่บริสุทธิ์ใจ ปัญหาแบบเดิมก็เริ่มเกิดอีก แม้แต่ตัวผมเองยังเคยถูกลอบยิงเลย

ส่วนใหญ่โดนไล่ออกจากมูลนิธิข้อหาอะไร

มีประวัติพัวพันกับยาเสพติด ลักทรัพย์ ทำผิดกฎระเบียบข้อห้ามต่างๆรุนแรงจนไม่สามารถปฏิบัติงานต่อได้ ที่ผ่านมาเคยมีอาสากู้ภัยเอาชื่อมูลนิธิไปแอบอ้างหาผลประโยชน์ ถ้าจับได้ไล่ออกเลย เราให้คนมาทำบุญที่มูลนิธิร่วมกตัญญู สำนักงานใหญ่บางพลีเท่านั้น ไม่มีมาเดินถือกล่องเรี่ยไรขอรับบริจาคเด็ดขาด เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ได้รับบริจาคจากพ่อแม่พี่น้องประชาชนเราจะนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทุกวันนี้งานของมูลนิธิร่วมกตัญญูไม่ได้มีแค่เก็บศพ ช่วยคน ยังมีงานสาธารณกุศลอื่นๆครบวงจร

"เดี๋ยวนี้คนเราฆ่ากันง่าย"..."อัญวุฒิ โพธิ์อำไพ"นักกู้ชีพรุ่นเก๋ามูลนิธิร่วมกตัญญู

จริงไหมที่โรงพยาบาลบางแห่งใช้เงินว่าจ้างรถกู้ภัยให้มาส่งคนเจ็บที่โรงพยาบาลตัวเอง

ทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่ แต่ไม่ใช่เป็นการว่าจ้าง คือโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ติดๆกันบนถนนสายหลักชอบใช้วิธี "สร้างแรงจูงใจ"ด้วยการให้ซองใส่เงินสด ซึ่งไม่ถูกต้องนะ มูลนิธิร่วมกตัญญูเคยทำหนังสือเวียนไปยังโรงพยาบาลต่างๆขอร้องว่าอย่าให้เงินเจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครได้ไหม ถ้าอยากให้ขอเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์แทน เพราะเงินพวกนี้บางครั้งทำให้คนที่เป็นจิตอาสาดีๆมันเปลี่ยนไป เดิมทีเขาคิดช่วยเหลือโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน จุดประสงค์ของมูลนิธิร่วมกตัญญูคืออยากให้พนักงานทุกคนช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างถูกต้องและส่งโรงพยาบาลอย่างปลอดภัย สำหรับคนที่พอถามตอบรู้เรื่อง ก็จะถามสิทธิการรักษาพยาบาล ส่วนคนหมดสติก็จะนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด แต่บางโรงพยาบาลอาจจะมอบค่าตอบแทนให้ เพราะสนิทสนมกันหรือเห็นว่ามาส่งบ่อยๆ

ขณะเดียวกัน ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร มีนโยบายให้ค่าตอบแทนนำส่งผู้บาดเจ็บจากใบขึ้นทะเบียน หรือใบสีชมพู เช่น เรานำส่งผู้บาดเจ็บเรียบร้อย แล้วแจ้งไปที่ศูนย์เอราวัณ จากนั้นก็จะมีเงินจากหลวงเป็นค่าตอบแทนตามบันทึกที่ลงไว้ เมื่อมูลนิธิร่วมกตัญญูกับป่อเต็กตึ๊งไม่เอา กลายเป็นว่าไม่มีผลงาน ทุกวันนี้เราทำไปอย่างนั้น ทำเพื่อให้มีพื้นที่การทำงานเท่านั้น เพราะไม่มีผลงานเข้าหลวง มูลนิธิเล็กๆอยากจะได้ยอดใบสีชมพูเยอะๆ เพราะเขาอยู่ด้วยรายได้จากตรงนี้ ปัญหาก็เกิดขึ้น เช่น ถ้ารถกระบะมูลนิธิร่วมกตัญญูไปถึงที่เกิดเหตุ แล้วมูลนิธิเล็กตามมาทีหลัง เราเห็นว่ารถเขาเป็นรถพยาบาลที่ผ่านการตรวจของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน มีอุปกรณ์เพียบพร้อม  เราก็ทำการปฐมพยาบาลแล้วมอบผู้บาดเจ็บให้เขาดำเนินการต่อไป กลับกันถ้ามูลนิธิเล็กๆขับรถกระบะมาถึงก่อน แล้วมูลนิธิร่วมกตัญญูหรือป่อเต็กตึ๊งที่มีรถอุปกรณ์เพียบพร้อมกว่ามาทีหลัง กลายเป็นว่าเขาไม่ให้ผู้บาดเจ็บเรา เพราะถือว่าเขาถึงก่อน แบบนี้เสี่ยงต่อตัวผู้ป่วยมากๆ ส่วนไอ้เหตุการณ์ยิงกัน ตีกัน มันไม่ได้เกิดจากสาเหตุเดียวแน่นอน อาจมาจากเรื่องส่วนตัวด้วย กระทบกระทั่งกัน บวกกับแย่งผู้บาดเจ็บเลยมีเรื่อง

คนมักมองว่ารถกู้ภัยเปิดไซเรนขับรถซิ่ง อันตรายมาก

ผมยอมรับว่าพวกเราขับรถเร็วนะครับ แต่ยิ่งเร็วเราก็ยิ่งเพิ่มความระมัดระวัง โดยจะคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเราเองและผู้ร่วมทางให้มากที่สุด  เร็วแบบไม่ประมาท  สาเหตุที่พวกเราต้องเร็วคือ สำหรับผู้บาดเจ็บหนึ่งวินาทีก็มีค่า ทุกครั้งเวลาได้รับแจ้งอุบัติเหตุ หรือเหตุด่วนอะไรก็ตาม โดยเฉพาะเคสที่วิกฤต หรือหยุดหายใจ พอหยุดหายใจปั๊บ อ๊อกซิเจนก็ไม่ขึ้นไปเลี้ยงสมอง สมองคนเราอ๊อกซิเจนได้ไม่เกิน 4-5 นาทีเท่านั้น เพราะฉะนั้นไอ้การที่เรารีบ เราประเมินผู้บาดเจ็บไว้แล้ว เกินดีกว่าขาด ทุกครั้งเวลาขับรถเร็ว คนบนถนนด่าว่าแม่งจะไปตายที่ไหนวะ ลองคิดสลับกันว่าถ้าผู้บาดเจ็บที่นอนอยู่บนถนนเป็นญาติพี่น้องของเรา เราคงอยากให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยเหาะไปเลยด้วยซ้ำ

ศูนย์นเรนทร โรงพยาบาลราชวิถี ประเมินไว้ว่ารถกู้ภัยฉุกเฉินต้องถึงที่เกิดเหตุภายใน15นาที แต่พวกเราใช้เวลาแค่ 5 นาทีเท่านั้น เพราะว่าเครือข่ายการทำงานของเราเยอะมาก เวลาได้รับแจ้งเหตุจากศูนย์วิทยุส่วนกลางมูลนิธิร่วมกตัญญู คนที่เปิดวิทยุสื่อสารอยู่ก็ได้ยินกันถ้วนหน้า และด้วยประสบการณ์ ด้วยสัญชาตญาณจะบอกตัวเองทันทีว่าเฮ้ย เราอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุก็จะตอบวิทยุว่าเดี๋ยวผมไปตรวจสอบให้ พอไปถึงที่เกิดเหตุก็เกิดคำถามต่อเนื่องอีกว่าคนเจ็บแค่คนเดียว ทำไมมึงไปกันเยอะแยะเป็นสิบคัน ตรงนี้เป็นจุดประสงค์ของเรา หนึ่ง จะได้ช่วยเหลือกันและกัน สอง เราจะไปบล็อคจุดเกิดเหตุนั้นให้เป็นโซนที่ปลอดภัย ไม่มีเหตุซ้ำซ้อน เอารถไปกั้นเลย เปิดไซเรนหัวท้าย ทำให้รถที่ผ่านมาชะลอความเร็วลง ถ้าไม่มีพวกเราไปทำให้รถติด ก็เกรงจะซ้ำรอยกับเหตุการณ์ของคุณคริส เบญจกุล ดาราที่เคยลงไปช่วยเหลือผู้ประสบเหตุแล้วโดนรถชน เป็นฮีโร่แท้ๆกลับต้องมาเป็นผู้พิการในช่วงเสี้ยววินาที

คิดอย่างไรกับช่วง 7 วันอันตราย

สมัยก่อน เทศกาลใหญ่ๆอย่างปีใหม่ สงกรานต์ ลอยกระทง คนตายทีนึง 600-700 คน เหมือนโศกนาฎกรรม แต่ปัจจุบันนี้ดีมากๆเพราะหลายๆหน่วยงานมาช่วยกันรณรงค์ 7 วันอันตราย สถิติลดลงอย่างเห็นได้ชัด ผมว่าการเตือนสติคนมันช่วยได้จริงๆ แต่ก่อนมอเตอร์ไซค์ใส่หมวกกันน็อคกันซะทีไหน โอกาสตาย พิการมันก็มีสูงขึ้น วันนี้พอรณรงค์บังคับให้สวมหมวกกันน็อก การบาดเจ็บการตายมันก็ซอฟท์ลงมา ความตายบนท้องถนนมันมีสาเหตุอยู่ไม่กี่อย่าง ขับรถเร็ว เมา ง่วงนอน ฝ่าฝืนกฎจราจร พอมีการรณรงค์เตือนสติกันมันลดได้จริงๆ ทุกวันนี้คุมอยู่ที่ 300 ศพต่อเทศกาล คนส่วนใหญ่อาจคิดว่าเป็นแค่ตัวเลขในข่าว แต่ถ้าหนึ่งในสามร้อยกว่าศพนั้นเป็นคนที่เรารู้จัก หรือคนในครอบครัวเรา รับรองได้เลยมันจะอีกอารมณ์นึงแน่

คนสมัยก่อนตายกันง่ายเหมือนสมัยนี้ไหม

คนละแบบ สมัยก่อนคนมักตายจากอุบัติเหตุ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ปัจจุบันการตายมันง่ายขึ้นจากคนเรานี่เอง มันฆ่ากันง่ายๆ อย่างนักเรียนช่างกลสมัยก่อนมากที่สุดก็ตีกัน โหดสุดๆคือเอามีดดาบไล่ฟันกัน แต่สมัยนี้เริ่มต้นที่ยิงเลย อาวุธปืนหาได้เกลื่อนเลย

จิตใจคนมันเหี้ยมโหดขึ้นเหรอ

ผมว่าความเจริญทำให้จิตใจคนเปลี่ยนไป อีกอย่างด้วยความที่เป็นคนเมืองมันแข่งขันกันสารพัดอย่าง ตั้งแต่เริ่มตื่นต้องรีบออกจากบ้านไม่งั้นเดี๋ยวรถติด คนไม่มีรถก็ต้องรีบเพราะเดี๋ยวรถแน่น ไม่มีที่นั่ง แย่งกันขึ้น คนนั่งสองแถวหันหน้าชนกันแต่ไม่มีใครคุยกัน สมมติผมไปนั่งแล้วชวนคนอื่นคุย ทำความรู้จัก ก็คงถูกมองว่าเป็นบ้า เผลอๆโดนแจ้งตำรวจจับด้วยซ้ำ หรือเด็กสมัยนี้ได้เล่นเกมที่ขับรถเร็วๆ ตีรันฟันแทง ยิงปืนเลือดสาด ก็เลยทำให้ชินชากับการเห็นความรุนแรง พอเวลาเกิดเหตุขึ้นเขาก็คิดทำได้ง่ายๆ เหมือนชีวิตเจออยู่เป็นประจำอยู่แล้ว

เวลาปกติทุกคนใจเย็นหมดนะ แต่พอได้ขึ้นมานั่งหลังพวงมาลัย นิดๆหน่อยๆก็ยอมไม่ได้ พอคนมาปาดหน้าก็โกรธแล้ว ทำไมวะเขาแซงไปคันนึงมันจะเสียเวลากี่วินาทีเชียว ผมว่ามันต้องเรื่องสักเรื่อง เหตุการณ์สักเหตุการณ์เกิดขึ้นเพื่เป็นกระจกส่องให้เห็นตัวเอง เตือนสติเตือนใจตัวเอง

ตัวอย่างชัดที่สุดเลยคือ คลิปวีดีโอที่ผู้ชายสองคนขับรถปาดหน้าแล้วจะลงไปเอาเรื่องกัน ในคลิปมีเสียงแม่ร้องว่าโอ้ย อย่าลูก แม่หัวใจจะวาย โอ้โห ผมสงสารคุณแม่เขาเหลือเกิน เมื่อย้อนกลับไปดูคลิปพบว่ามันเกิดขึ้นมาจากเหตุแค่นิดเดียวเอง อีกอย่างคู่กรณีก็มีลูกมาด้วยนะ กลายเป็นว่าต่างคนต่างตะโกนใส่กันผมมีแม่มานะ ผมก็มีลูกมา ... คิดดู ถ้าปล่อยให้อารมณ์มันมากเกินไปกว่านี้อาจเกิดอะไรที่รุนแรงตามมามากกว่านั้นก็ได้

"เดี๋ยวนี้คนเราฆ่ากันง่าย"..."อัญวุฒิ โพธิ์อำไพ"นักกู้ชีพรุ่นเก๋ามูลนิธิร่วมกตัญญู

ภาพความตายอันสยดสยอง ความสูญเสียอันน่าหดหู่ยังมีผลต่อคุณอยู่ไหม

สมัยผมเป็นเด็กมีมโนราห์มาเล่นแถวบ้าน ก็นอนปูเสื่อดูจนเผลอหลับไป ปรากฎว่าวัยรุ่นมันยิงกันตายอยู่ข้างๆผมเลย ญาติก็ปลุก เราเห็นศพนอนอยู่ข้างๆเลือดทะลักออกปาก เชื่อไหมช็อกกันทั้งบ้านทั้งอาทิตย์ถัดมาเลย ผมงี้เข้าใจเลยว่าทำไมถึงจำเป็นต้องมีนักจิตวิทยา รู้ซึ้งเลยว่าเวลาคนมันรับกับเหตุการณ์รุนแรงสะเทือนขวัญไม่ได้มันเป็นยังไง จนมาอยู่มูลนิธิร่วมกตัญญู 25 ปีที่ผ่านมาผมเจอทุกวัน ไม่ว่าจะบาดเจ็บ แผลฉีกขาด เลือดพุ่ง ศพเละๆ ผมไม่กลัวนะ กับภาพความสยดสยอง แต่ทุกครั้งที่ผมหดหู่สะเทือนใจ รับไม่ได้ตรงเวลามีเด็กตัวเล็กๆตาย หรือวัยรุ่นถูกคู่อริฆ่าตายแล้วพ่อแม่มากอดศพร้องไห้อย่างขาดสติ ผมไม่อยากเห็นภาพแบบนี้ และผมเห็นไม่ได้ พอเขาร้อง ผมก็ร้อง น้ำตาไหลมาเอง เลยคิดว่าถึงแม้เราจะคิดว่าตัวเองปลงกับความตายได้ แต่ในความเป็นจริงเวลาพบเห็นเหตุการณ์บางอย่าง เราก็ยังคงรู้สึกกับมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นึกว่าต้องมีกฎเหล็กประจำใจว่าต้องสะกดอารมณ์ให้อยู่กับเนื้อกับตัว

ถ้าเป็นช่วงวินาทีฉุกเฉิน เราต้องพยายามจะควบคุมสติตัวเองให้ได้ เพราะเราเป็นผู้รับผิดชอบ เป็นผู้ช่วยเหลือก็ต้องทำหน้าที่สุดความสามารถ ไม่มีเวลาไปคิดอย่างอื่น แต่เหตุการณ์มันคลี่คลายลง เวลานำผู้เสียชีวิตไปโรงพัก ญาติตามมาร้องไห้ ก็มักจะหนีไม่พ้นเหตุการณ์แบบนี้ ผมก็เป็นคนเข้าไปปลอบ ใช้จิตวิทยาบอกเขาว่า วิญญาณเขาอยู่แถวนี้ ถ้าคุณแม่รักลูก ร้องไปเลยให้เต็มที่แล้วรีบตั้งสติให้เข้มแข็งไว้ วิญญาณลูกจะได้ไปสบาย ถ้าแม่ยังเป็นอยู่แบบนี้ ลูกก็ต้องเป็นห่วงแม่ เขาจะไม่ไปไหน

เฟซบุ๊กคนอื่นเขาอวดของกิน ที่เที่ยว แต่ทำไมคุณชอบเอารูปศพ รูปอุบัติเหตุน่ากลัวๆมาลง

หลักๆเลยคือ ผมอยากเตือนสติคน โดยเฉพาะช่วงเทศกาลต่างๆ มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเยอะมาก ถ้าผมลงภาพรถชนกัน ศพสยองๆ บรรดานักซิ่งคงต้องฉุกคิดแน่ ประกอบกับกับเวลาผมไปเก็บศพที่ติดต่อหาญาติพี่น้องเขาไม่ได้ ไม่มีหลักฐานในตัว ผมก็จะโพสต์ลงแฟนเพจส่วนตัว NAKON45 อัญวุฒิ โพธิ์อำไพ ปรากฎว่ามีคนติดต่อกลับมาจริงๆภายใน 24 ชั่วโมง อย่างครั้งหนึ่งไปเก็บศพผู้หญิงลอยน้ำที่เตาปูน ไม่มีหลักฐานใดๆ ผมก็โพสต์ไปว่าเมื่อวันนี้ เวลานี้ ผมได้ไปช่วยเหลือเก็บศพหญิงนิรนามลอยน้ำมา อายุประมาณนี้ รูปพรรณประมาณนี้ บางครั้งเราก็ไม่ละเมิดสิทธิ์ด้วยการใช้วิธีถ่ายไม่ให้เห็นหน้า แต่รายที่ไม่สามารถที่ไม่ติดต่อใครได้จริงๆ ก็จะขออนุญาตโพสต์ลง บางคนแจ้งมาว่าแม่หาย ภรรยาหาย รูปพรรณใกล้เคียงกัน ผมก็จะแนะนำว่าคุณลองไปดูที่นี่สิ ปรากฎว่าใช่ ผมเลยคิดว่ามันน่าเกิดประโยชน์

ถ่ายภาพทั้งหมดด้วยตัวเองเลยรึเปล่า

ผมเป็นหัวหน้ารถกู้ภัยผลัดกลางวัน ทำงานตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงสองทุ่ม เป็นผลัดที่ครอบคลุมเวลาการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คน เลยทำให้ทุกคนจะเห็นผมไปอยู่ในทุกๆที่เกิดเหตุทั่วกรุงเทพและปริมณฑล ผมก็จะช่วยเหลือคนด้วย ถ่ายภาพด้วย ยกตัวอย่าง เหตุการณไฟไหม้ซานติก้าผับ วินาที่ที่ตีกระจกบานแรกแตก มองเข้าไปเห็นคนชูมือขอความช่วยเหลือ มีคนตาย ผมรีบยกกล้องถ่ายภาพนิดเดียวเท่านั้น แล้วยัดกล้องใส่กระเป๋ารีบเข้าไปดึงตัวช่วยคนออกมา

จริงๆแล้ว ผมว่าชีวิตเราถนัดอะไรมันก็ต้องทำตามความถนัดของตนเอง เช่น การเก็บศพเน่าอืด สภาพดูไม่ได้ เราสามารถทำได้โดยที่ไม่รังเกียจ แต่เวลารถขยะทำน้ำขยะหกเรี่ยรดพื้นถนน ผมเหม็นมาก จะอ้วก รับไม่ได้ บางครั้งขับรถไปต่อท้ายรถคนเก็บขยะเห็นเขายืนเกาะท้ายรถ กินขนมปังกันหน้าตาเฉย เลยรู้สึกว่าคนเรานี่มันชำนาญกันคนละอย่าง ถามเขาว่ากล้าเก็บศพไหม เขาก็ไม่กล้าเหมือนกัน หรือมีอยู่วันหนึ่งผมขับรถไปในซอยอินทมระหลังได้รับแจ้งว่ามีเหตุด่วนว่ามีผู้หญิงคลอดลูกฉุกเฉิน วันนั้นถือกล้องตัวใหม่ไปด้วย แต่พอถึงที่เกิดเหตุปั๊บ เราไม่ใช่อาชีพช่างภาพ เรามีอาชีพช่วยเหลือคน ผมวางกล้อง เข้าไปช่วยแม่กับเด็กทันที แต่ถ้าเป็นช่างภาพอาชีพเขาคงคิดว่าโอ้โห นี่เป็นภาพวินาชีวิตเลย อีกเหตุการณ์ที่แยกพัฒนาการ มีคนต่อยกันชุลมุนอยู่หลังรถ ในมือผมถือโทรศัพท์ที่มีกล้องถ่ายรูปอยู่ แต่สุดท้ายก็ผมรีบเข้าไปขวางเขา ลืมเรื่องถ่ายรูปไปเลย พอเหตุการณ์จบเสียดายเหมือนกันนะ แหม ทำไมเราไม่ถ่ายภาพไว้สักหน่อยวะ

ทำไมคนถึงอยากเข้ามาช่วยงานมูลนิธิกู้ภัยกันนัก

มันเป็นงานบุญ คนไทยเราเชื่อกันว่าการช่วยชีวิตคนนั้นได้บุญมหาศาล ทุกครั้งเวลาเราช่วยคนเจ็บนำลงเปลส่งถึงโรงพยาบาล วินาทีนั้นเรามีความสุข โล่งใจ ช่วยคนได้อีกหนึ่งชีวิต งานมูลนิธิเป็นงานท้าทายสำหรับคนหนุ่มสาว ดารานักร้อง พวกนี้เขาก็ไม่ได้มาช่วยเก็บศพอย่างเดียว แต่เน้นช่วยงานด้านสังคมสงเคราะห์ แจกของ แจกถุงยังชีพ บางคนก็ไปเป็นโฆษก เป็นพิธีกร ไม่ว่าจะเหตุภัยแล้งภัยหนาว พอช่วยมากๆก็เริ่มซึมเข้าสายเลือด พี่ครับ เวลามีโครงการที่ไหน บอกอีกนะ เขามีความสุขที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น

คนที่จะมาเป็นอาสาสมัครกู้ภัยต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง

หนึ่ง ต้องเป็นคนที่มีหน้าที่การงาน จะทำงานประจำ จะเป็นเจ้าของธุรกิจก็ตาม ต้องช่วยเหลือตัวเองให้ได้ก่อน แล้วค่อยเอาเวลาว่างมาช่วยเหลือคนอื่นต้องผ่านการอบรมทุกๆคอร์ส โดยเฉพาะการปฐมพยาบาลเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ อันนี้สำคัญมาก เพราะหน้าที่หลักของอาสากู้ภัยคือเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงาน ปฐมพยาบาลเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ เก็บศพ รวมถึงการรักษาสถานที่เกิดเหตุ จนได้รับบัตรประจำตัวอาสาสมัครกู้ภัย ถึงจะปล่อยออกไปช่วยเหลือคนบนท้องถนนได้ เดี๋ยวนี้มีคนอยากมาช่วยเยอะมาก การต่อบัตรครั้งล่าสุดของมูลนิธิร่วมกตัญญูพบว่ามีอาสาสมัครทั่วประเทศกว่า 7 พันคน ขณะที่เจ้าหน้าที่ประจำมีอยู่ร้อยกว่าคนเอง

มูลนิธิรับคนนะแต่มักอยู่ไม่ได้เอง เพราะงานหนักมาก ต้องใจเต็มร้อย ส่วนใหญ่ว่างเมื่อไหร่ถึงมาช่วย ผมถึงได้บอกว่าทำงานตัวเองให้ดี ว่างค่อยมาช่วย หรือใช้ชีวิตประจำวันของคุณไปเถอะแล้วพอเจอเหตุการณ์ คุณค่อยลงไปช่วย มันจะเป็นการช่วยที่มีประสิทธิภาพที่สุด

ผมทำงานนี้มา 25 ปี ได้เห็นอาสาสมัครกู้ภัยที่มีประสิทธิภาพน่าชื่นชมมากมายหลายคน ยกตัวอย่าง ผู้จัดการธนาคารคนหนึ่งที่ช่วยมูลนิธิมา 20 ปี ทุกวันหยุดเสาร์อาทิตย์ไม่เคยไปเที่ยวไหน เลือกที่จะใส่เครื่องแบบยืนตามสี่แยกตั้งแต่เช้ายันค่ำ บางคนเป็นลูกเศรษฐี รวยมาก ซื้ออุปกรณ์ช่วยเหลือรักษาพยาบาลใส่รถส่วนตัวมากกว่ารถมูลนิธิอีก แล้วยังมีทีมงานซึ่งเป็นลูกคนมีเงิน  มีการศึกษา เป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง ผ่านการอบรมเรื่องอุปกรณ์ตัดถ่าง อุปกรณ์การช่วยชีวิตชั้นสูงจากต่างประเทศมาแล้ว เขามีความสุขกับการช่วยชีวิตคน เวลาเกิดภัยพิบัติอะไรต่างๆคนพวกนี้มีประโยชน์กับมูลนิธิมาก แม้แต่อาสาสมัครบางคนมีอาชีพขับวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนพวกนี้มีประโยชน์ไม่น้อยกว่ากัน ท่ามกลางการจราจรติดขัดในเมือง บางครั้งได้รับแจ้งเหตุ พวกนี้จะบิดมอเตอร์ไซค์ไปถึงที่เกิดเหตุก่อนเลย ห้ามเลือด ปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บ  กั้นที่เกิดเหตุ ประเมินอาการคนเจ็บแล้วร้องขอรถกู้ภัยให้นำตัวส่งโรงพยาบาลได้อย่างปลอดภัย

ณ ตอนนี้ ผมพูดได้เต็มปากว่ามูลนิธิร่วมกตัญญูภูมิใจกับอาสาสมัครกู้ภัยเหล่านี้มากๆ