posttoday

ต่างชาติทะลักคนไทยระทึก!เตรียมตัวถูกแย่งงาน?

07 ธันวาคม 2557

แนวโน้มในอนาคตของสถานการณ์อาชีพสงวนของคนไทยกับการไหล่บ่าของแรงงานต่างชาติ

โดย…นรินทร์ ใจหวัง

เมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมามีตัวแทนวิชาชีพถึง2 แห่ง เข้ายื่นหนังสือกับรัฐบาลเพื่อขอให้ช่วยสอดส่องอาชีพของคนไทยที่มีชาวต่างชาติหันมาทำงานกันมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือสมาคมชาวนา ที่ต้องการให้ระบุอาชีพชาวนาเข้าเป็นอาชีพหนึ่งในอาชีพสงวนเฉพาะคนไทย เพราะหวั่นว่านายทุนจำนวนมากจะกว้านซื้อที่นาไปประกอบธุรกิจอื่นเสียหมด

หลังจากนั้นไม่นานสหภาพแรงงานนักบินเฮลิคอปเตอร์ ก็ออกมาเรียกร้องให้รัฐ บังคับใช้กฎหมายอาชีพสงวนของคนไทยอย่างจริงจัง เพราะถึงแม้ว่าอาชีพนักบินจะเป็นหนึ่งใน39 อาชีพสงวนของคนไทยอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีช่องโหว่ที่ทำให้นักบินต่างชาติเข้ามาแย่งงานนักบินไทยมากขึ้นเรื่อยๆ

แนวโน้มในอนาคตของสถานการณ์อาชีพสงวนของคนไทยจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะในอนาคตที่จะมีการเปิดประชาคมอาเซียนจึงเป็นเรื่องชวนคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคำถามที่ว่า คนไทยจะโดนแย่งอาชีพจริงหรือ?

แรงงานทะลัก คนไทยเตรียมถูกแย่งงาน?

เป็นเรื่องแน่นอนว่านอกจากจะเกิดความร่วมมือต่างๆ หลังการเปิดประชาคมอาเซียนแล้ว การไหลบ่าของแรงงานจำนวนมาก ก็อาจจะสร้างความเปลี่ยนแปลงกับแรงงานไทย ซึ่ง7 วิชาชีพอันได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกร  สถาปนิก นักบัญชีและช่างสำรวจ นี่เอง ที่รวมอยู่ในข้อตกลงคุณสมบัติวิชาชีพของอาเซียน ซึ่งอาจทำให้เกิดการแย่งตำแหน่งงานขึ้น หากแรงงานต่างชาติเรียกค่าตอบแทนที่ต่ำกว่าคนไทย ขณะที่คนไทยบางคนกลับไม่มีความชำนาญด้านภาษาและเทคโนโลยี ทำให้ไม่สามารถเลือกไปทำงานในต่างประเทศได้อย่างชาติเพื่อนบ้าน 

อย่างไรก็ตามในมุมมองของ นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน เชื่อว่าหากผู้ประกอบการปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือในตอนนี้ คนไทยก็ไม่ต้องกลัวการแย่งอาชีพของแรงงานที่จะล้นทะลักเข้ามา

ใช่ว่าแรงงานต่างชาติจะสามารถเข้ามาทำงานได้เลยทันที  เขายัง ต้องมีการขอใบอนุญาตทำงาน  ซึ่งการขอใบอนุญาตนี้  ต้องอิงตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งระบุไว้แล้วว่า ในการออกใบอนุญาตการทำงานในต่างด้าว ต้องคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจของประเทศด้วย ต้องคำนึงว่าเมื่อรับไปแล้วจะเป็นการแย่งอาชีพคนไทยหรือไม่  ซึ่งถ้าผู้ประกอบการยึดตรงนี้เป็นหลักปัญหาก็จะไม่เกิด

แต่ที่เราเห็นว่า มีการจ้างงานแรงงานต่างด้าว ในสถานประกอบการต่างๆ กันอยู่ เช่น ช่างเสริมสวยต่างด้าว ซึ่งเป็นอาชีพสงวนของคนไทย  บาร์เทนเดอร์ต่างชาติ ในแหล่งท่องเที่ยวดังๆ  ผมเชื่อว่าคนเหล่านี้ยังไม่ได้รับใบอนุญาตทำงานอย่างแน่ๆ ก็เป็นอีกส่วนที่เราต้องเฝ้าระวัง แต่โดยภาพรวมก็ไม่น่าเป็นกังวลมากนัก เพราะถือเป็นเรื่องดีที่มีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศเรา เพราะปัจจุบัน สถานประกอบการหลายแห่งยังขาดแคลน แรงงานอยู่ 

คนไทยยังมีสิทธิในการเลือกงานอยู่มาก แต่อาจจะเสียเปรียบเมื่อนายจ้างเลือกจ้างแรงงานต่างชาติ เพราะเขาไม่เกี่ยงค่าแรงที่ถูกกว่า แต่ถือเป็นเรื่องผิดตามกฎหมายอาญา ซึ่งถ้าเราพบเห็นก็จะรีบจัดการทันที

ยกตัวอย่างเช่นเรื่องนักบินเฮลิคอปเตอร์ ที่เริ่มถูกแย่งงานจากต่างชาติ ก็เป็นเพราะผู้ประกอบการอาจไม่ได้ปฏิบัติตามกฎ ซึ่งถ้าเราพบว่านักบินเหล่านั้น ไม่ได้รับใบอนุญาต เราก็ต้องจัดการไปตามกฎหมาย”

ตัวเลือกเยอะ ช่วยกระตุ้นคนไทยให้พัฒนา

ด้าน ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีไออาร์) มองว่าถือว่าเป็นเวลาดีหลังการเปิดเสรีที่จะทำให้ เกิดการแข่งขันในระดับแรงงานฝีมือมากขึ้น  เพราะในหลายอาชีพต้องอาศัย การพัฒนาความสามารถ และต้องคำนึงถึงคุณภาพ หากสงวนไว้แค่คนไทยทำ เราจะหยุดอยู่กับที่

“ผมยกตัวอย่างเรื่องนักบินเลยนะ อาชีพนี้ไม่ใช่ใครๆ ก็เป็นได้ มันต้องใช้ความสามารถสูงสุด เราควรคำนึงถึงคุณภาพการให้บริการ ทำอย่างไรให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายสูงสุด บรรลุเป้าหมายสูงสุดเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสารสูงสุด ฉะนั้น ไม่ใช่สิ่งจะสงวนเอาไว้แล้วไม่มีคุณภาพ เราต้องยอมรับทั้งมาตรฐานตัวเอง และมาตรฐานสากล”

ทางที่ดีหน่วยงานรัฐอย่างกรมการจัดหางาน ควรจะต้องเป็นผู้วิเคราะห์ และแจ้งข่าวสารกับผู้ประกอบการว่า ปริมาณแรงงานในแต่ละอาชีพมีเพียงพอหรือไม่ ขณะที่ผู้ประกอบการเองก็ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ภาครัฐ จะได้จัดการปัญหาได้อย่างถูกต้อง

“ถ้าแรงงานเราขาดก็เปิดให้ใบอนุญาตทำงาน ถ้าเกินก็ปิดเสีย ตามกลไกมันทำได้อยู่แล้ว เพียงแต่รัฐต้องให้ข่าวสารที่ถูกต้องเท่านั้นเอง แม้ผมจะบอกว่าการแข่งขันเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ยังไม่เสรีร้อยเปอร์เซ็นต์  สมาคมวิชาชีพยังต้องดูแลอีกด้าน คนไทยไม่ต้องถึงกับกลัวจะต้องกลัวตกงาน  เพราะเรายังมีกติกาควบคุมอยู่ อีกด่านหนึ่ง” ดร.ยงยุทธอธิบาย

ต่างชาติทะลักคนไทยระทึก!เตรียมตัวถูกแย่งงาน?

ความรู้สึกของคน (อาจ)ถูกแย่งงาน

ฐิติมา อินทร์ปฐม พยาบาลประจำ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวอย่างเชื่อมั่นว่า ไม่รู้สึกกังวล แม้วิชาชีพพยาบาลจะอยู่ในลิสต์7 วิชาชีพที่อาจถูกแย่งงานหลังเปิดเออีซี โดยให้เห็นผลว่า แม้โรงพยาบาลที่เธอทำงานอยู่จะเป็นแบบนานาชาติ แต่ผู้ประกอบการก็ยังเลือกพยาบาลสัญชาติไทยเป็นหลัก เพื่อตอบสนองลูกค้าส่วนใหญ่ซึ่งยังเป็นคนไทย และใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร แต่ก็ใช่ว่าทางองค์กรจะละเลยเรื่องการพัฒนาภาษา จึงจัดให้มีการเรียนและฝึกพูดภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้น

“ยิ่งโรงพยาบาลต่างจังหวัดยิ่งไม่น่ากังวลเลย เพราะไม่มีคนไข้ที่ต้องพูดภาษาอังกฤษด้วยอยู่แล้ว เว้นแต่พยาบาลต่างชาติที่สามารถพูดภาษาไทยเข้ามาทำงาน แล้วเขาเรียกค่าตอบแทนน้อยกว่า อันนี้แหละที่น่ากังวล” นางพยาบาลสาวตอบอย่างคล่องแคล่ว

ต่างจากวิศวกร และสถาปนิก ซึ่งอยู่ใน39 อาชีพสงวนของคนไทย แต่กลับมีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในเมืองไทยจำนวนไม่น้อยแล้ว

สุชาติ วัฒนศักดิ์ประภา วิศวกรหนุ่ม ของบริษัทเอกชนรายหนึ่งเล่าว่าสำหรับชีวิตวิศวกรไทยแล้ว แค่ยังไม่ได้เปิดAEC ก็ตกที่นั่งลำบากเสียแล้ว เพราะผู้ประกอบการให้ความสนใจวิศวกรต่างชาติมากขึ้น เนื่องจากเชื่อถือในความสามารถมากกว่าคนไทย ดังนั้นโอกาสเติบโตของวิศวกรคนเก่าคนแก่ ในระดับที่สูงขึ้นก็เป็นไปได้ยากมาก ขณะเดียวกันเด็กวิศวกรจบใหม่ ยิ่งถูกกดดัน ด้วยการแข่งขันที่สูงมาก

“จริงๆ ผมก็โอเคนะ มีชาวต่างชาติมาร่วมงานกับเราด้วย ทำให้เราได้พัฒนาตัวเอง หาความรู้ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา แต่มันกลายเป็นว่าจำนวนวิศวกรต่างชาติเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จากความไว้ใจของผู้ประกอบการ ตรงนี้ผมอยากให้มีคนเข้ามาดูแลนะ มีอยู่ได้แต่ขอสักคนไทย80% ต่อต่างชาติ 20%ได้ไหม

สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม นี่เป็นคู่แข่งที่สำคัญมากเลย ที่มาแรงสุดก็ต้องเวียดนาม ผมเชื่อนะว่า ตอนนี้พม่า ลาว เขมร เขายังไม่เก่งเท่า แต่อนาคตเขาต้องปรับตัวจนตามทันแน่ๆ  คนไทยเองต้องเก่งให้จริงๆ ต้องเชี่ยวชาญให้จริง ไม่งั้นอยู่ยาก เด็กวิศวรุ่นหลัง ตอนนี้ก็เริ่มลำบากแล้ว” สุชาติทิ้งทายอย่างเป็นกังวล

แม้จะดูเป็นอาชีพบ้านๆ แต่ช่างเสริมสวย ช่างตัดผม ทำผม ก็ถือเป็นหนึ่งในอาชีพสงวนสำหรับคนไทยเช่นกัน  หากใครเป็นขาประจำร้านเสริมสวยก็คงมีโอกาสได้เห็นว่าเจ้าของร้านบางรายมักมีลูกจ้างต่างด่าว ทั้งพม่า ลาว กัมพูชา เป็นลูกมือ ทั้งทำเล็บ ทำผม จะมีโอกาสได้หรือไม่ ที่ชาวต่างชาติจะเข้ามาแย่งอาชีพนี้ไปจากคนไทยในภายภาคหน้า

ในมุมของ วราภรณ์ คนอยู่ เจ้าของร้านเสริมสวยเจ้าดังย่านตลาดแม่กลอง สมุทรสงคราม บอกว่า ไม่ค่อยหวั่นกับประเด็นเท่าไหร่ เพราะเชื่อว่าคนไทย ชอบเสริมความงามกับคนไทยด้วยกันมากกว่า

“ถึงจะเป็นอาชีพที่ไม่เลิศหรูอะไร แต่ช่างเสริมสวยก็ต้องใช้ทั้งความสามารถและศิลปะนะ เราเชื่อว่าคนไทยยังไม่ค่อยชอบทำเล็บ ทำผมกับคนต่างด่าวเท่าไหร่ เพราะเขาอาจจะกังวลเรื่องคุณภาพ สุขลักษณะ ร้านเราก็จะไม่จ้างต่างด้าวเลย แต่ไม่ใช่เขาไม่ดีนะ เรายอมรับเขาที่ขยัน อดทน ผิดกับลูกจ้างคนไทยที่ขี้เกียจ  แต่ร้านอื่น ก็เห็นช่างทำผมเป็นต่างด้าวเยอะ ที่นายจ้างเขาเลือก เพราะต่างด้าวมักไม่เกี่ยงงาน ไม่เกี่ยงค่าแรง

ถึงไม่กังวลแต่ก็ประมาทไม่ได้นะ เพราะเขาอดทนเขาเยอะกว่าคนไทยมาก ถ้าขยันเรื่องรู้จริงๆ เขาอาจแซงหน้าเราได้ เพราะคนไทยยังขี้เกียจ ไม่ซื้อสัตย์ และไม่รักงานที่ตัวเองทำอยู่เลย ตอนนี้มีเวลาเราก็ยังเก็บเงินไปเรียนเพิ่มเติม พยายามให้ตัวเองมีฝีมือ ลูกค้าเชื่อใจถึงจะอยู่ได้”ช่างผมสาวสวยปิดท้าย 

แม้จะไม่ใช่เรื่องที่ต้องตื่นตูม แต่ที่แน่นอนว่าหากใครยังย่ำอยู่กับที่และไม่พยายามพัฒนาตัวเอง ไม่ว่าจะอาชีพไหนก็อาจถูกแย่งงานได้ทั้งนั้น

39 อาชีพ สงวนสำหรับคนไทย

เว็บไซต์ของกระทรวงแรงงานเผยแพร่ข้อมูล การกำหนดงานในอาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกา  พ.ศ. 2522 ที่ว่าด้วย39 อาชีพดังนี้  

1. งานกรรมกร
2. งานกสิกรรรม งานเลี้ยงสัตว์ งานป่าไม้ หรืองานประมง ยกเว้นงานที่ใช้ความชำนาญ งานเฉพาะสาขา หรืองานงานควบคุมดูแลฟาร์ม
3. งานก่ออิฐ งานช่างไม้ หรืองานก่อสร้างอื่น
4. งานแกะสลักไม้
5. งานขับขี่ยานยนต์ หรืองานขับขี่ยานพาหนะที่ไม่ใช้เครื่องจักรหรือเครื่องกล ยกเว้นงานขับขี่เครื่องบินระหว่างประเทศ
6. งานขายของหน้าร้าน
7. งานขายทอดตลาด
8. งานควบคุม ตรวจสอบหรือให้บริการบัญชี ยกเว้น งานตรวจสอบภายในชั่วคราว
9. งานเจียระไน หรือขัดเพชรหรือพลอย
10. งานตัดผม งานดัดผม หรืองานเสริมสวย

11. งานทอผ้าด้วยมือ
12. งานทอเสื่อ หรืองานทำเครื่องใช้ด้วยกก หวาย ปอ ฟาง หรือเยื่อไม้ไผ่
13. งานทำกระดาษสาด้วยมือ
14. งานทำเครื่องเขิน
15. งานทำเครื่องดนตรีไทย
16. งานทำเครื่องถม
17. งานทำเครื่องทอง เครื่องเงิน หรือเครื่องนาก
18. งานทำเครื่องลงหิน
19. งานทำตุ๊กตาไทย
20. งานทำที่นอนผ้าห่มนวม

21. งานทำบัตร
22. งานทำผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมด้วยมือ
23. งานทำพระพุทธรูป
24. งานทำมีด
25. งานทำร่มด้วยกระดาษหรือผ้า
26. งานทำรองเท้า
27. งานทำหมวก
28. งานนายหน้า หรืองานตัวแทน ยกเว้น งานนายหน้าหรืองานตัวแทนในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ
29. งานในวิชาชีพวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมโยธา ที่เกี่ยวกับงานออกแบบและคำนวณ จัดระบบ วิจัย วางโครงการ ทดสอบ ควบคุมการก่อสร้าง หรือให้คำแนะนำ ทั้งนี้ไม่รวมที่ต้องใช้ความชำนาญพิเศษ
30. งานในวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับงานออกแบบเขียนแบบ ประมาณราคา อำนวยการก่อสร้างหรือให้คำแนะนำ

31. งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย
32. งานปั้นหรือทำเครื่องปั้นดินเผา
33. งานมวนบุหรี่ด้วยมือ
34. งานมัคคุเทศก์ หรืองานจัดนำเที่ยว
35. งานเร่ขายสินค้า
36. งานเรียงตัวพิมพ์อักษรไทยด้วยมือ
37. งานสาวและบิดเกลียวไหมด้วยมือ
38. งานเสมียนพนักงานหรืองานเลขานุการ
39. งานให้บริการทางกฎหมายหรืออรรถคดี 

**หมายเหตุ ตามมติคณะรัฐมนตรี ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง 3 สัญชาติ (พม่า ลาว และกัมพูชา) ทำงานได้ 2 อาชีพ คือ 1. งานกรรมกร และ 2. งานรับใช้ในบ้าน