posttoday

ลมหายใจสุดท้ายของ "พันธุ์ทิพย์พลาซ่า"

03 ธันวาคม 2557

16ปีผ่านไปของ "พันธุ์ทิพย์พลาซ่า" ห้างไอทีซิตี้รายใหญ่ที่สุดของไทย วันนี้มาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล

ราวปี 2541 เป็นต้นมา นับตั้งแต่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของคนไทยอย่างสนิทแนบแน่น

ไม่มีใครไม่รู้จัก “พันธุ์ทิพย์พลาซ่า” ประตูน้ำ ศูนย์กลางร้านค้าอุปกรณ์เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์แห่งแรกและใหญ่ที่สุดในเมืองไทย

จะซื้อ จะซ่อม เปลี่ยนคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก หาชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ช้อปแผ่นหนังแผ่นเกม  ตลอดจนอัพเดทความเคลื่อนไหวใหม่ๆในแวดวงไอที

ถนนทุกสายต่างมุ่งหน้ามาที่นี่อย่างหลีกเลี่ยงมิได้

วันนี้ 16 ปีผ่านไป เทรนด์โลกเปลี่ยน พฤติกรรมคนซื้อก็เปลี่ยนตาม ส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านค้าทั้งหลายต้องปรับตัว รับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกันอย่างสุดฤทธิ์

"พันธุ์ทิพย์"ขาลง

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน สมัยคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊กกำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก อินเทอร์เน็ตเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ถือได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองสุดขีดของพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ประตูน้ำ

ผู้ประกอบการร้านค้าเก่าแก่รายหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ช่วงนั้นเงินสะพัดต่อเดือนไม่ต่ำกว่าพันล้านบาท ร้านใหญ่ร้านเล็กรับออเดอร์กันไม่หวาดไม่ไหว รวยกันอู้ฟู่ โดยเฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์ จะเห็นภาพรถติดยาวเหยียดตลอดถนนเพชรบุรีตัดใหม่ คนนับพันเดินเบียดไหล่กันแน่นห้าง สอดส่ายสายตามองหาสินค้าใหม่ๆน่าสนใจ  ของดี ราคาถูก มีทุกอย่างครบ ไม่ต้องไปที่อื่นให้เสียเวลา

ทว่าวันนี้ภาพที่เห็นไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว

จากการลงพื้นที่สำรวจห้างพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ เมื่อต้นเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา พบว่า บรรยากาศการซื้อขายเป็นไปอย่างเงียบเหงา ร้านค้าบางส่วนพากันปิดตัวลง สินค้าที่เคยเชิดหน้าชูตาอย่างเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล โน้ตบุ๊ก ถูกปรับเปลี่ยนเป็นสมาร์ทโฟน แทบเล็ต รวมถึงสินค้าประเภทแฟชั่นไอทีกระจุกกระจิกต่างๆ แม้แต่ร้านจำหน่าย-ซ่อมคอมพิวเตอร์ประกอบเองที่เคยยึดหัวหาดก็แทบนั่งตบยุง ไร้วี่แววลูกค้า

“ต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้พฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีของคนเปลี่ยนไปจากแต่ก่อนมาก สมัยที่คอมพิวเตอร์พีซีบูม คนนิยมซื้อคอมพิวเตอร์ทั่วไปมาตั้งไว้ที่บ้าน แต่ราคาเครื่องแบรนด์จะแพงมาก เครื่องละ 5-6 หมื่นบาท คนไม่มีปัญหาซื้อเลยหันมาหาเครื่องคอมพิวเตอร์ประกอบ พันธุ์ทิพย์เป็นแหล่งเดียวและเป็นตลาดใหญ่ที่สุดก็บูมขึ้นมาทันที ต่อมาเทรนด์เปลี่ยน คนก็มองหาเครื่องมือที่พกพาไปได้ทุกที่ทุกเวลา ใช้งานหลายอย่างในเครื่องเดียว ท้ายที่สุดก็มาจบลงที่สมาร์ทโฟน"ทวีรัชต์ ตั้งชาญตรงกุล บรรณาธิการเทคนิค นิตยสาร COMTODAY บอกเล่าความเป็นไปในแวดวงไอทีในรอบสิบปีให้ฟัง

สุพันธุ์ สมวงค์ เจ้าของร้านประกอบคอมพิวเตอร์เอที คอม แอนด์ เซอร์วิส วิเคราะห์ความตกต่ำของพันธุ์ทิพย์พลาซ่าไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

ผู้ใช้งานเปลี่ยนไป คนนิยมซื้อคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ๆที่มีประสิทธิภาพเยี่ยมกว่ารุ่นเก่า เพราะใช้ง่าย เสียยาก นั่งเสิร์ชเน็ตหาข้อมูลซ่อมเองได้ พังก็ซื้อใหม่ เพราะราคาไม่แพงเหมือนแต่ก่อน

ห้างไอทีมอลล์ผุดเป็นดอกเห็ด เมื่อก่อนคิดอะไรไม่ออกก็มาพันธุ์ทิพย์ แต่เดี๋ยวนี้ห้างไอทีมอลล์ผุดขึ้นทั่วทุกมุมเมือง เช่น เซียร์รังสิต ไอทีสแควร์ ฟอร์จูน ซีคอนสแควร์ รวมถึงแผนกไอทีในห้างสรรพสินค้าชั้นนำต่างๆ สินค้าเหมือนกันหมด ราคาก็ห่างกันไม่เท่าไหร่

ตลาดออนไลน์แย่งชิงลูกค้า เดี๋ยวนี้คนนิยมสั่งซื้ออุปกรณ์ทางออนไลน์ โอนเงิน ส่งของ จบ ไม่ต้องฝ่ารถติดเดินทางมาให้ลำบาก

สงครามภายใน เป็นที่รู้กันว่าสินค้าทุกอย่างในพันธุ์ทิพย์จะขายถูกกว่าที่อื่น เพราะเน้นยอดขายปริมาณเยอะๆ แต่ตอนนี้ลูกค้าลดลง สวนทางกับค่าเช่าที่ขึ้นทุกปี หลายร้านทิ้งแผงเพราะสู้ค่าเช่าไม่ไหว ที่เหลือเริ่มขายตัดราคากันเอง ส่อแววว่าจะกอดคอกันเจ๊ง 

คนเลิกซื้อแผ่นผีซีดีเถื่อน จุดเด่นอย่างหนึ่งของพันธุ์ทิพย์คือ บรรดาแผ่นผีซีดีเถื่อน ทั้งภาพยนตร์ เอ็มพีสาม เกม หนังโป๊ เดี๋ยวนี้แทบขายไม่ออก เพราะอินเทอร์เน็ตไวขึ้น คนหันไปโหลดบิท ดูออนไลน์อยู่ที่บ้านสบายใจกว่า

“เจ๊งกันไปเยอะ ปิดร้านเปลี่ยนไปทำมาหากินอย่างอื่นเลยก็มี คนที่ท้อก็ยอมแพ้ไป ส่วนคนไม่ท้อก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง ตั้งแต่ลดพนักงาน หันมาขายสินค้าตามกระแส เช่น จากร้านซื้อ-ขาย ประกอบ ติดตั้งคอมพิวเตอร์ ก็หันมาวางสินค้าพวก GADGET แฟชั่นไอที แอสเซสเซอร์รีโทรศัพท์มือถือ เรียกว่าทำทุกอย่างให้อยู่รอด"

พ่อค้ารายนี้ส่ายหัว บอกเสียงเศร้า บ่งบอกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี

ลมหายใจสุดท้ายของ "พันธุ์ทิพย์พลาซ่า"

เสียงสะท้อนจากคอไอที

ต่อไปนี้คือ หลากหลายความคิดเห็นของชาวออนไลน์ในเว็บไซต์ Pantip.com อันเปี่ยมด้วยความวิตกกังวล ห่วงใย ไม่พอใจ ถึงขั้นด่าทอ แต่ก็ควรค่าแก่การรับฟัง

"หลายปีก่อน ตั้งแต่ปี 2542 หรือปี 2000 ไปพันธุ์ทิพย์ประตูน้ำบ่อยมาก คนเดินกันคึกคัก  แม้บ้านผมจะอยู่ห่างไกลจากกรุงเทพเป็น 100 กิโลเมตร  นั่งรถทัวร์มาต่อรถเมล์เจอรถติดเป็นชั่วโมงก็จำเป็นต้องมา เพราะต่างจังหวัดไม่มีร้านขายคอมพิวเตอร์ ถึงจะมีร้านเล็กๆรับไปขายต่อก็แพงกว่ามาก ซื้อไม่ลง ที่นี่ราคาถูก มีของให้เลือกเยอะ  ทุกวันนี้มีบริษัทใหญ่หลายบริษัทไปลงทุนเปิดร้านตามต่างจังหวัดทั่วประเทศกันมากมาย บางร้านอยู่ห่างบ้านแค่ 2 กม. ทำให้สะดวกมากเวลาไปซื้อ  ไม่เสียค่าเดินทาง รถไม่ติด  ราคาถูก  มีของให้เลือกเยอะ  ไม่มีของก็สั่งไว้รอวันสองวัน ก็ได้แล้ว  7-11 ดีๆนี่เอง"

"สาเหตุที่พันธุ์ทิพย์ดูเงียบเหงาไปเยอะ ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากความไม่สะดวกในการเดินทางเข้าไป เนื่องจากการจราจรบริเวณนั้นติดขัดมาก อีกอย่างปัจจุบันคนนิยมเล่นสมาร์ทโฟน แทบเลตมากกว่า  ซึ่งมีขายตามห้างต่างทั่วไป"

"คนหนีเพราะรำคาญคนขายหนังลามก เบื่อคนโบกรถตามลานจอด ชอบไล่ให้วนขึ้นไปจอดชั้น 5 ทั้งๆ ที่ว่างๆ ชั้นล่างๆ ไม่ยอมให้จอด สถานที่คับแคบ เก่า เหม็นกลิ่นเยี่ยวแมลงสาป กลิ่นอับชื้น การจราจรติดขัด และเรียกแท็กซี่ก็ยาก รถโดยสารก็แน่น ไม่มีสินค้าใหม่ๆออกมาเรียกความสนใจ ที่มีออกมาก็ราคาแพงเกินจำเป็น บางรุ่นที่ขายดีก็หมด"

"พันธุ์ทิพย์พลาซ่ามันกำลังจะเจ๊ง ปกติที่ร้านขายคอม เสาร์-อาฑิตย์จะต้องไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทต่อวันและเป้าหมายที่นายจ้างตั้งไว้คือ 1 เดือนต้องได้22 ล้าน ทุกวันนี้ขายได้วันละ 7 หมื่น ค่าเช่าขึ้น 10% ใครมันจะอยู่ได้ ห้องน้ำก็สกปรก แต่ละชั้นเต็มตลอดเวลา ถ้าอยากเข้าต้องเข้าก่อนห้างเปิด อาหารก็หมาไม่แ-ก ข้าวแข็งยิ่งกว่าลำไม้ไผ่ แท็กซี่ที่จอดข้างห้างไม่รับคนไทย รับชาวต่างชาติเท่านั้น เวลาเข้าห้างเดินไปต้องคอยมองไปบนแผ่นฝ้าว่ามันจะร่วงทับหัวเหรือเปล่า แต่ไม่น่าเศร้าเท่ากับตึกนี้กำลังจะปิดตัวลงเพราะมันหมดอายุแล้ว"

ทางรอดสุดท้าย

สุพันธุ์บอกว่าทุกวันนี้อยู่ได้เพราะลูกค้าประจำเสียเป็นส่วนใหญ่

"ทุกวันนี้ร้านผมจะเน้นเซอร์วิส ให้บริการประกอบ ติดตั้ง ซ่อมแซมเครื่องคอมพิวเตอร์ ทุกร้านในพันธุ์ทิพย์ก็ทำแบบนี้ทั้งนั้น แข่งกันด้วยการเซอร์วิส ลูกค้าประจำที่อยู่กันมาก็เพราะความไว้ใจ ทำยังไงก็ได้ให้ลูกค้าติดเรา ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติทั้งนั้น เขากลับมาตลอด เพราะเราไม่เอาเปรียบเขา บางร้านไปหลอกเขาเปลี่ยนคีย์บอร์ดคิด 2,000 บาท ผมคิด 850 บาท แถมรับประกันให้อีกหนึ่งปี การรักษาลูกค้าประจำไว้ให้อยู่กับเรานานที่สุดคือสิ่งสำคัญ ตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดี เรียกลูกค้า 10 คน เข้ามาแค่มา 5 คนแล้วไปบอกต่อก็บุญแล้วครับ ไม่งั้นอยู่ไม่ได้"

ลมหายใจสุดท้ายของ "พันธุ์ทิพย์พลาซ่า"

ความคืบหน้าล่าสุด เดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ทางห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ประตูน้ำได้เริ่มมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ครั้งใหญ่ในรอบ 30 ปี ประเด็นสำคัญอยู่ตรงการเปลี่ยนโฉมจากไอทีมอลล์เป็นไลฟ์สไตล์มอลล์เต็มรูปแบบ มีการแบ่งโซนสินค้าชัดเจนขึ้น ภายใต้งบลงทุนกว่า 300 ล้านบาท

ยงยุทธ ไชยชนะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทิพย์พัฒน อาเขต จำกัด ผู้บริหารศูย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า กล่าวว่า การจัดโซนนิ่งที่ดี ผู้ค้าเก่าก็จะเหมือนการชุบชีวิตใหม่

"ปัจจุบันสินค้าไอทีมีจำหน่ายอยู่ประมาณ 95-96% ของทั้งหมด ทำให้เวลาได้รับผลกระทบ เราได้รับเยอะ ทำให้ต้องศึกษาตลาดไอที รวมถึงเทรนด์ในอนาคตที่แฟชันไอทีเริ่มเข้ามา ด้วยเหตุนี้เองเราจึงหันมาให้ความสำคัญการจัดพื้นที่ทำโมบายโฟนและสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้น เพราะสินค้าอย่างสมาร์ทโฟน แม้จะมีราคาแพงแต่ใช้พื้นที่ในการจัดวางไม่มาก จากการดูรายละเอียดว่าในตึกมีสินค้าอะไรบ้าง พบว่ามีหลายกลุ่ม และมีผู้เช่ากลุ่มหนึ่งที่กำลังจะหมดสัญญาเช่าอย่างเช่นเครื่องหนัง ประกอบกับเรามีบริษัทในเครือบางกลุ่มทำแฟชั่น บางกลุ่มทำอาหาร พระเครื่อง โดยจะนำมาทำการจัดทำผสมใหม่

สโลแกนของพันธุ์ทิพย์ในปัจจุบันคือ The Computer City พอจะปรับปรุงใหม่ การใช้คำว่าไอทีมันเริ่มแคบ จึงต้องมองถึงเทรนด์ตลาดมองว่าอะไรที่เป็นกว้างๆอย่างดิจิตอลและไลฟ์สไตล์ ส่วนผสมใหม่นี้จะสอดคล้องกันกับสินค้าใหม่ที่มีคอนเซ็ปความเป็นวาไรตี้มากขึ้น แต่ยังคงไอทีเป็นสัดส่วนที่สูงอยู่ถึง 70% ดังนั้นลูกค้าจะยังคงได้บริโภคสินค้าไอทีครบเครื่อง ส่วนอีก 30% เป็นไลฟ์สไตล์ เช่น อาหาร อุปโภคบริโภค เติมเต็มให้ลูกค้าเข้ามาที่นี่แล้วไม่ต้องไปศูนย์อื่นอีก

งบที่ใช้ในการปรับปรุงประมาณ 300 ล้านบาท เน้นการปรับปรุงทั้งภายนอก-ภายใน สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ปรับมูดส์แอนด์โทนทั้งหมด โดยไอที 70% นั้นจะเป็นสินค้าที่เป็นเทรนด์ใหม่ๆ มีสินค้าไอทีหายาก หาที่ไหนไม่ได้ที่นี่มีครบเครื่อง และมีความเป็นไลฟ์สไตล์ของคนไอที ส่วน 30% ที่เหลือจะแบ่งออกเป็นส่วนอาหาร 20% เอดดูเทนเมนต์กับฮอบบี้ 10% นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะสร้างธุรกิจใหม่ๆ อย่างเช่น การสร้างโซนเกม เป็นแฟชั่นพีซี สอดคล้องกับสโลแกนใหม่ของพันธุ์ทิพย์จะก้าวสู่การเป็น DIGITALLLIFE CITY อย่างเต็มตัว"

ผู้บริหารพันธุทิพย์พลาซ่า ยืนยันว่าจะไม่ทอดทิ้งผู้เช่าซึ่งเปรียบดั่งหัวใจสำคัญของห้างพันธุ์ทิพย์อย่างแน่นอน

"ปัจจุบันพันธุ์ทิพย์มีผู้เช่าทั้งหมด 600 ราย เมื่อนับรวมหมดทั้งห้อง แผง และตู้ ถ้าปรับใหม่จำนวนผู้เช่าจะมากกว่านี้ แต่จะมียูนิตเล็กลง โดยเน้นทำเป็นชอปเล็กๆ เพราะสินค้าทันสมัยไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มาก อัตราค่าเช่าปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์กลางๆค่อนข้างสูง ซึ่งค่าเช่านี้จะมีการปรับอยู่แล้วทุกปี 7-10% ส่วนการปรับปรุงใหม่ที่เป็นการลงทุนครั้งใหม่นี้น่าจะปรับค่าเช่าได้ 15% แต่สำหรับผู้เช่ารายเดิมก็จะปรับเพิ่มไม่สูงมาก

ขอยืนยันว่าเราจะดูแลผู้เช่าที่อยู่ในตึกทุกราย บางรายอยากจะปรับธุรกิจเลยก็ทำได้ เปลี่ยนการขายใหม่ จากเดิมที่ขายพีซีจะเปลี่ยนมาขายมือถือก็ได้เดิมเรามีพื้นที่สต็อก(พื้นที่ว่างแต่มีคนจองไว้) เยอะมาก

คาดว่าการปรับปรุงครั้งนี้จะแล้วเสร็จราวเดือนเม.ย.-พ.ค. 2558

ลมหายใจสุดท้ายของ "พันธุ์ทิพย์พลาซ่า"

อย่างไรก็ตาม การพลิกโฉมห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ประตูน้ำครั้งใหญ่ครั้งนี้ ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านจากกลุ่มผู้ค้าจำนวนมาก หลายคนมองว่าการเสียทำเลเดิมไปก็ไม่ต่างอะไรกับนับหนึ่งใหม่ทางธุรกิจ บ้างก็ไม่เห็นด้วยกับการปรับเป็นไลฟ์สไตล์มอลล์ บ้างกังวลเรื่องค่าเช่าที่อาจแพงขึ้นหูฉี่ จำนวนไม่น้อยตัดสินใจย้ายออก รวมทั้งยังลังเลไม่แน่ใจในชะตาชีวิตของตัวเอง

ไม่ว่าจะออกมารูปแบบใด ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะทำให้พันธุ์ทิพย์พลาซ่า ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว