posttoday

วาดแผนปฏิรูปประเทศของขวัญปีใหม่คนไทย

10 มิถุนายน 2553

หลัง 6 โมงเย็น วันที่ 10 มิ.ย. จะเกิดปรากฏการณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เตรียมอ่าน “จดหมายจากนายกฯ ถึงประชาชนชาวไทย”

หลัง 6 โมงเย็น วันที่ 10 มิ.ย. จะเกิดปรากฏการณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เตรียมอ่าน “จดหมายจากนายกฯ ถึงประชาชนชาวไทย”

โดย...ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว

หลัง 6 โมงเย็น วันที่ 10 มิ.ย. จะเกิดปรากฏการณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เตรียมอ่าน “จดหมายจากนายกฯ ถึงประชาชนชาวไทย” เพื่อประกาศเริ่มต้นแผนการปรองดองแห่งชาติ ด้วยการเชิญชวนประชาชน 63 ล้านคน “ร่วมเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย”

สาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ซึ่งนายกฯ มอบหมายให้มาดูแลภารกิจแผนปรองดองแห่งชาติ เปิดเผยผ่านโพสต์ทูเดย์ ด้วยการยอมรับก่อนเลยว่า “นี่เป็นงานใหญ่มาก”

“ภายหลังเหตุการณ์ใหญ่ในหลายประเทศ ทุกประเทศมีแผนฟื้นฟู ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 9/11 ที่สหรัฐอเมริกา หรือเหตุการณ์ก่อการร้ายที่ประเทศอังกฤษ และเที่ยวนี้เป็นการปะทะกันระหว่างประชาชนกับฝ่ายเจ้าหน้าที่สูงที่สุด ตั้งแต่ประเทศไทยมีมา แผนปรองดองก็เป็นทางออกหนึ่ง”

สาทิตย์ บอกว่า หลังจบเหตุการณ์ชุมนุม สังคมตั้งคำถามแผนปรองดองจะเดินหน้าต่ออย่างไร คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กับผม ได้พูดคุยมีแนวคิดตรงกันเรื่องแผนปรองดองเป็นแผนใหญ่ นายกฯ ในฐานะผู้นำประเทศจะเป็นคนกำหนดทิศทางกับแนวปฏิบัติแต่ละเรื่อง แต่จำเป็นต้องมีคณะทำงานชุดหนึ่งขึ้นมาทำหน้าที่เลขาฯ ขับเคลื่อนแผน และเป็นตัวสื่อสารเข้าใจกับสังคม ที่สุดแล้วคณะทำงานชุดนี้ได้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาเป็นกำลังหลัก รวมกับทีมงานผมและคุณอภิรักษ์ในการทำงาน

ทั้งนี้ นายกฯ ประกาศชัด 4 เรื่อง คือ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง ได้แต่งตั้ง คณิต ณ นคร เป็นประธาน การสร้างความเป็นธรรมทางการเมือง แต่งตั้ง สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน การปฏิรูปสื่อ แต่งตั้ง ยุบล เบ็ญจรงค์กิจ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาช่วยขับเคลื่อน ส่วนปฏิรูปประเทศไทย มีกลุ่มคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ และเครือข่ายภาคประชาชนบวกรวมกับคณะทำงานของผมและคุณอภิรักษ์ ส่วนปกป้องสถาบัน ยังอยู่ในระยะเวลาของนายกฯ ตัดสินใจจะดำเนินการอย่างไร

“คณะทำงานชุดของผมได้ประชุมและเสนอนายกฯ ว่าเดือน ม.ค. 2554 น่าจะเป็นเวลาที่รัฐบาลประกาศเป็นของขวัญปีใหม่สำหรับคนไทย พูดง่ายๆ เป็นแผนปฏิบัติการเพื่อสร้างความปรองดองของประเทศ”

สาทิตย์ กล่าวว่า เมื่อนายกฯ ประกาศแผนปรองดองวันนี้แล้ว การเดินต่อเรื่องปฏิรูประเทศไทย มีช่องทางที่ประชาชนเข้ามาสู่การเสนอทางออกให้ประเทศไทย โดยช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. จะมีกิจกรรมให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมเสนอแนวคิดปฏิรูปประเทศไทย รวมถึงการจัดทำโพลแห่งชาติทิศทางประเทศที่คนไทยอยากเห็น

ทั้งนี้ โพลแห่งชาติมีสองส่วน ส่วนที่หนึ่ง รัฐบาลประสานสถาบันต่างๆ ทำโพล ส่วนสำนักงานสถิติแห่งชาติ จะทำควบคู่เป็นการตรวจสอบอีกทาง จะมีการออกแบบคำถาม แนวที่ร่างกันคร่าวๆ จะเป็นเทคนิคอยู่นิดหนึ่ง คือ ไม่ได้ถามตรงๆ ว่าอยากเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไร แต่จะมีวิธีไปถาม แต่ในที่สุดจะเป็นเรื่องการแปรผล เป็นเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ปัญหาความเดือดร้อน ทั้งตนเอง ครอบครัว สังคม ความต้องการที่ให้รัฐบาลแก้ไข

ขณะเดียวกันจะมีเวทีประชาชนหลายพื้นที่ นายกฯ และทีมงานจะลงไป แต่เที่ยวนี้ไม่ใช่รับฟังปัญหาอย่างเดียว แต่รับฟังว่าเขามีข้อเสนอเป็นทางออกจากวิกฤตประเทศของแต่ละภาคส่วนอย่างไร

นอกจากนั้น มีวิธีการอย่างอื่น เช่น การมีคอลเซ็นเตอร์ มีภาคออนไลน์รับฟังความคิดเห็นทั่วทั้งประเทศ จะทำงานร่วมกับอีกหลายองค์กร จากนั้นประมาณเดือน พ.ย.-ธ.ค. รัฐบาลจะสรุปแนวคิดทั้งหลาย เพื่อตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อ ทั้งการออกนโยบาย มีมาตรการ จัดงบประมาณเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย

สำหรับแผนปรองดองเรื่องอื่นๆ สาทิตย์ บอกว่า ก็ทำควบคู่กันไป เช่น เวทีปฏิรูปสื่อ ควบคู่ไปกับเวทีปฏิรูปประเทศไทย จะออกมาตรการกฎหมายอย่างไร ก็มาตกผลึกรวมกันในตอนเดือน ม.ค.พอดี แต่มีข้อตกลงกันว่าอะไรที่สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น หรือสร้างสิ่งที่ดีให้บ้านเมือง ถ้าทำได้ในเรื่องใดมีกระบวนการทำทันที ส่วนกรรมการอิสระฯ ชุดคุณคณิต สมมติตรวจสอบพบว่าจะสอบอะไรเพิ่ม รัฐบาลต้องพร้อมรับลูกไปดำเนินการต่อทันที ถ้าจะไปทำเรื่องเยียวยาดูแลผู้บาดเจ็บล้มตาย ก็ต้องทำทันที หรือเวทีคุณสมบัติ ต้องแก้รัฐธรรมนูญ ก็เสนอมา รัฐบาลเห็นว่าทำได้ก็ทำไปเลย

อุปสรรคที่อาจทำให้แผนปรองดองสะดุด คือ กลุ่มคนบางกลุ่มมีทัศนคติทางลบต่อรัฐบาลในช่วงเหตุการณ์กระชับพื้นที่ราชประสงค์ ประเด็นนี้ สาทิตย์ มองว่า การดำเนินการทำแผนปรองดองให้สำเร็จต้องมองข้ามความขัดแย้ง และคนลงไปดำเนินการในความเห็นคณะกรรม หลายที่ต้องดึงบรรดานักวิชาการ นักคิด หรือภาคประชาชนทั้งหลายที่ไม่ได้มีภาพเป็นรัฐบาล อาจเอาคนกลางๆ หรืออีกฝ่ายที่ไม่ใช่ฝ่ายรัฐบาลให้เขามีส่วนร่วมด้วย หลักที่คณะทำงานคิดต้องเปิดใจกว้างให้คนทุกสีมีเวทีบางอย่างให้คนคิดต่างกันเสนอแนวคิดปฏิรูปประเทศไทยด้วยกันได้

“แน่นอนเรื่องเหตุการณ์ทำให้คนฝังใจ คนที่สูญเสีย คนใกล้ชิด ย่อมรู้สึกสะเทือนใจเป็นธรรมดา แต่ว่ารัฐบาลต้องสื่อให้ชัดการดูแลเยียวยาเรื่องของชีวิต บาดเจ็บก็ทำอยู่ แต่ว่าอะไรคือปัญหาหลักของเขาต้องมาชุมนุม ก็อยู่ในแผนปรองดอง ถ้าเราคิดทบทวนวันที่นายกฯ ประกาศ แกนนำก็ยอมรับ สังคมขานรับ ผมเชื่อว่าในตัวแผนปรองดองมีเนื้อหาที่ตรงกับใจเขา แต่ถ้าแยกเหตุการณ์จัดการคนทำความผิด ไม่ว่าเป็นใครก็ตาม แยกเรื่องแก้ไขเยียวยา บาดเจ็บ เสียชีวิต คนย่อมอยากเห็นชีวิตที่ดีขึ้น ต้องเอาพลังตรงนี้มาช่วย ผมจึงคิดว่าเรื่อแผนปรองดองกับการเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยเป็นวาระระดับชาติ เรื่องใหญ่จริงๆ ที่สังคมต้องมองข้ามความขัดแย้งนั้นไป

“หลายคนอาจพูดรัฐบาลเป็นคู่ขัดแย้งจะเดินหน้าแผนปรองดองได้หรือ แต่รัฐบาลประกาศชัด ไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งใคร มีหน้าที่สร้างความสันติสุข บทบาทตามแผนปรองดองพึ่งจากทุกภาคส่วนให้ได้ และขอความช่วยเหลือ ขอพลัง ทำฝ่ายเดียวไม่ได้”

การให้ของขวัญประชาชนวันที่ 1 ม.ค. จะเป็นสัญญาณว่า ยังไม่ถึงเวลารัฐบาลยุบสภา เพราะต้องสานต่อปฏิรูปประเทศต่อไปหรือไม่ สาทิตย์ กล่าวว่า เราต้องคิดถึงมิติพื้นฐานข้อเท็จจริงที่มีอยู่ รัฐบาลเหลือวาระปีเศษ ส่วนถ้าจะไม่ครบโดยเหตุใดสุดคาดเดาได้ แต่ตราบใดที่ข้อเท็จจริงอยู่ได้ปีเศษต้องทำงานต่อไป อันนี้ไม่ผูกว่าอยู่ครบวาระหรือไม่ แต่ตั้งใจทำแผนปรองดองให้เสร็จเป็นของขวัญให้คนไทย หลังจากนั้นได้มีโอกาสปฏิบัติงานตามแผนปรองดอง แต่เมื่อเริ่มปฏิบัติไปแล้วถ้ามีอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งทำให้เปลี่ยนแปลงทางการเมือง เป็นเรื่องอนาคตว่ากันต่อ อย่างน้อยจากนี้ไปจนถึงต้นปี ตั้งใจต้องอยู่จนกระทั่งทำเสร็จ

วาดแผนปฏิรูปประเทศของขวัญปีใหม่คนไทย