posttoday

เจาะลึกอภิมหาขุมทรัพย์“โบราณวัตถุ”กรุส่วนตัวพงศ์พัฒน์

29 พฤศจิกายน 2557

แกะรอย “โบราณวัตถุ-ศิลปวัตถุ” ของกลางมูลค่ามหาศาลที่ยึดได้จากเซฟเฮ้าส์“พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์”

โดย อินทรชัย พาณิชกุล

หลังตำรวจบุกเข้าตรวจค้นเซฟเฮ้าส์จำนวน 11 แห่งของพล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) จนนำไปสู่การยึดทรัพย์สินมูลค่านับหมื่นล้านบาท

คนไทยทั้งประเทศต่างตกตะลึงไปกับเงินสดกองโต โฉนดที่ดินเรียงเป็นตั้ง พระเครื่องยอดนิยมมากมายหลายร้อยองค์

โดยเฉพาะภาพที่ทุกคนต้องอ้าปากค้าง นั่นคือ โบราณวัตถุและศิลปวัตถุเก่าแก่อายุหลายร้อยปี ทั้งพระพุทธรูป เทวรูปทำจากไม้ โลหะ หิน ทองคำ ภาพแกะสลัก ภาพเขียน เครื่องปั้นดินเผาจำพวกถ้วยสังคโลก ทั้งหมดกว่า 3 หมื่นชิ้น

“เท่าที่คาดคะเนด้วยสายตา มีเทวรูปสมัยศรีวิชัย สมัยทวาราวดี อายุประมาณ 1,200 ปี  เทวรูปจากเขมร อายุราว 800-900 ปี พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยอายุประมาณ 700 ปี ส่วนพระพุทธรูปสมัยอยุธยาไม่ต่ำกว่า 300-400 ปี นอกจากนี้ยังเห็นภาพเขียน  แสตมป์ เหรียญโบราณ บางชิ้นคิดว่าน่าจะมีเพียงชิ้นเดียวในโลกด้วย”แหล่งข่าวระดับสูงในกรมศิลปากรเผย

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลป์รายหนึ่งยอมรับว่า เห็นครั้งแรกเล่นเอาอึ้ง เพราะขนาดพิพิธภัณฑ์แห่งชาติยังไม่มี และเชื่อว่าพิพิธภัณฑ์ในเมืองนอกก็คงไม่มีด้วยแน่นอน

ผู้ที่มีสิทธิ์ครอบครองต้องไม่ธรรมดา เรียกว่าเส้นใหญ่มากๆ

“ของแต่ละชิ้นงามๆสำคัญๆทั้งนั้น ราคารวมน่าจะหลักร้อยล้านถึงพันล้าน ดูแล้วไม่น่าจะซื้อขายอย่างถูกกฎหมาย เป็นการลักลอบแน่นอน ผมว่าของกลางที่เอามาโชว์แค่ปาหี่เท่านั้น น่าจะยังมีทีเด็ดอีกเยอะ แต่ตำรวจที่นำมาแสดงต่อสื่อมวลชนอาจไม่รู้จักก็ได้”

บวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร บอกว่า ที่ผ่านมากรมศิลปากรได้ทำการขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุทั้งในพิพิธภัณฑสถาน ศาสนสถาน หน่วยงานราชการ บ้านพักเอกชน  และร้านค้าของโบราณ มากกว่า 1 แสนรายการ

จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าของทั้งหมดอยู่ครบ ไม่ได้สูญหาย หรือถูกขโมยไปแต่อย่างใด

“โดยเฉพาะร้านค้าโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุต้องขอใบอนุญาตเปิดกิจการ พร้อมแนบหลักฐานว่าของทุกชิ้นได้มาอย่างถูกต้องหรือไม่ การซื้อขายให้ใครก็ต้องแจกแจงบัญชีด้วยเช่นกัน แม้ประเทศไทยไม่ได้ห้ามประชาชนทั่วไปครอบครองโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุ แต่การครอบครองก็ต้องชอบด้วยกฎหมาย ของทุกชิ้นต้องชี้แจงที่มาที่ไปได้ว่าได้มาจากไหน เมื่อไหร่ มิเช่นนั้นจะมีความผิดตามมาตรา 31 พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

 

เจาะลึกอภิมหาขุมทรัพย์“โบราณวัตถุ”กรุส่วนตัวพงศ์พัฒน์


อย่างไรก็ตาม มีเสียงเรียกร้องจากฝ่ายอนุรักษ์ว่าอยากให้แก้กฎหมายด้วยการยกเลิกการค้าโบราณวัตถุอย่างเด็ดขาดน่าจะช่วยแก้ไขปัญหาไปได้เยอะ

ของทั้งหมดก็ควรถูกนำมาเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติต่อไป

ในส่วนความคืบหน้าล่าสุดกรณีของกลางที่ยึดได้จากการจับกุมพล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ และพวก ส่วนที่เป็นโบราณวัตถุ (สังหาริมทรัพย์ที่เป็นของโบราณ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ หรือสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของศาสนสถาน ซึ่งโดยหลักฐานและอายุมีประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี) จะถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ส่วนศิลปวัตถุ (สิ่งที่ทำขึ้นด้วยฝีมืออย่างประณีตและมีคุณภาพสูงในทางศิลปะ) จะถูกเก็บรักษาโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ

“กรมศิลปากรจะเริ่มกระบวนการตรวจพิสูจน์ แยกประเภท ทำบัญชีรายละเอียด และถ่ายภาพโบราณวัตถุ-ศิลปวัตถุทุกชิ้น พร้อมประเมินค่าและราคาในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ คาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 เดือน โดยขั้นแรกเราต้องแยกก่อนว่าอะไรคือโบราณวัตถุ อะไรคือศิลปวัตถุ ของจริงหรือของปลอม จากนั้นจึงค่อยตรวจสอบถึงที่มาที่ไป เมื่อตรวจสอบแล้วจะมีการขึ้นทะเบียนให้ชมในเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบว่าเป็นโบราณวัตถุที่หายไปหรือไม่ โดยจะต้องมีหลักฐานมายืนยันชี้แจงด้วยเช่นกัน”พัชรินทร์ ศุขประมูล หัวหน้ากลุ่มทะเบียนคลัง พิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถาน อธิบายให้ฟัง

เป็นที่ทราบกันดีในหมู่นักสะสมของเก่าทั้งในและต่างประเทศว่า เมืองไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการค้าโบราณวัตถุผิดกฎหมาย โดยเฉพาะโบราณวัตถุและศิลปวัตถุจากเขมร

 

เจาะลึกอภิมหาขุมทรัพย์“โบราณวัตถุ”กรุส่วนตัวพงศ์พัฒน์


เมื่อปีพ.ศ.2548 เว็บไซต์ข่าวประชาไทรายงานว่า Dr.Dougald O'Reilly ผู้ก่อตั้งองค์กร Heritage Watch ซึ่งเป็นนักโบราณคดีที่ทำงานคลุกคลีเกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมของกัมพูชา เคยแฉเส้นทางการลักลอบขนโบราณวัตถุผิดกฎหมายไว้ว่า มีการลำเลียงออกจากกัมพูชาผ่านแนวตะเข็บชายแดน มาที่ตลาดโรงเกลือ จ.ปราจีนบุรี ก่อนจะบรรทุกรถขนเข้ากรุงเทพฯ ขายต่อให้แก่นายทุนที่ออกใบสั่งซื้อ หรือส่งต่อไปขายในต่างประเทศ ลักลอบผ่านทางสนามบินสุวรรณภูมิ ไม่ก็ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือคลองเตย โดยเล็ดรอดผ่านการตรวจจับมาได้ เนื่องจากกรมศุลกากรมักใช้วิธีสุ่มตรวจมิได้ตรวจอย่างละเอียดทุกตู้คอนเทนเนอร์ ทุกโกดัง

ปลายทางอยู่ที่สองบริษัทประมูลยักษ์อย่างใหญ่คือ คริสตี้และซอเทบี้ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจำหน่ายโบราณวัตถุและศิลปวัตถุจากเอเชียอาคเนย์ ซึ่งทั้งสองบริษัทมีสำนักงานอยู่ใน ฮ่องกง กรุงเทพ สิงคโปร์ กัวลาลัมเปอร์

ขณะเดียวกัน พระพุทธรูปเก่าแก่ในเมืองไทย ที่ผ่านมามักถูกขโมยจากวัดโดยคนในวัดเอง พวกนี้จะนำไปขายต่อโดยอ้างว่าเป็นสมบัติของวัด ขายก็เพื่อนำเงินมาสร้างโบสถ์ สร้างกุฏิ ไม่อยากพึ่งการทอดกฐินและเงินบริจาคอันน้อยนิด

ลูกค้าที่สะสมวัตถุโบราณส่วนมากเป็นเศรษฐีร้อยล้าน คนใหญ่คนโต ภายใต้ความเชื่ออันหลากหลาย เช่น ซื้อเพื่อการลงทุน เสริมอำนาจบารมี อวดโอ่รสนิยมวิไล

ชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับเหตุผลที่บรรดาคนใหญ่คนโต คนมีสี นิยมสะสมข้าวของเก่าแก่โบราณไว้อย่างน่าคิดว่า

“หนึ่ง ความเชื่อ นายตำรวจใหญ่หลายคนชอบเล่นพระ เก็บสะสมวัตถุโบราณ เชื่อว่าจะเสริมสร้างอำนาจบารมี สอง หลีกเลี่ยงการแสดงทรัพย์สิน การเก็บพระเครื่อง พระพุทธรูป วัตถุโบราณดีกว่าถือเงินสด แถมมูลค่ายังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สาม สามารถอ้างได้ว่าเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ ไม่ต้องชี้แจงให้ยุ่งยากมากความเท่าทรัพย์สินประเภทอื่น”

ประเด็นนี้ถือได้ว่าเป็นทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์ เป็นเป้าสนใจของสังคมอย่างมิอาจคลาดสายตาได้แม้แต่นาทีเดียว โปรดติดตามต่อไปด้วยใจระทึก.

 

เจาะลึกอภิมหาขุมทรัพย์“โบราณวัตถุ”กรุส่วนตัวพงศ์พัฒน์