posttoday

อยากใหญ่เงินต้องถึงจ่าย 10 ล้านเดือนเดียวคืนทุน

27 พฤศจิกายน 2557

หนึ่งในข้อกล่าวหาที่ทำให้ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์-พล.ต.ต.โกวิทย์ ถูกดำเนินคดี คือความผิดฐานเรียกรับเงินเพื่อการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจในสังกัด

โดย..ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

หนึ่งในข้อกล่าวหาที่ทำให้ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) และ พล.ต.ต.โกวิทย์ วงศ์รุ่งโรจน์ อดีตรอง ผบช.ก. ถูกดำเนินคดี คือความผิดฐานเรียกรับเงินเพื่อการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจในสังกัด

ตอกย้ำถึงความเสื่อมในวงการตำรวจ ตอกย้ำถึงความจริงที่ว่าตำแหน่งที่ต้องการมีราคาที่ต้องจ่ายเสมอ

ที่สำคัญ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้มีอำนาจลงนามแต่งตั้ง

ข้อมูลเบื้องต้นจากการเปิดเผยของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระบุถึงตัวเลขที่ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ พึงพอใจ อยู่ที่ 3-5 ล้านบาท สำหรับการโยกย้ายบิ๊กตำรวจ 1 ราย และจากนั้นจะต้องส่งส่วยเป็นรายเดือนต่อไปอีก

ในเมื่อเงินแรกเข้าเพื่อก้าวเข้าสู่ตำแหน่งสูงถึงระดับล้านบาท และยังมีค่างวดตามมาอีกไม่รู้จบ แน่นอนว่านายตำรวจที่ถึงฝั่งฝันแล้วจะต้องเร่ง “ถอนทุนคืน” และแน่นอนอีกว่าประชาชนตาดำๆ คือเหยื่อชั้นดี

สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะนักวิชาการด้านตำรวจ บอกเล่าถึงการ “จ่าย” ในสังคมของตำรวจอย่างน่าสนใจว่า ในตำแหน่งผู้กำกับการ (ผกก.) หากต้องการเลือกโรงพักเองก็ต้องวางเงินให้กับผู้มีอำนาจในราคา 5-10 ล้านบาท

ส่วนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โรงพักเกรดเอในพื้นที่ที่มีรายได้เยอะ ทั้งบ่อน ซ่อง หวยใต้ดิน โรงแรม ร้านอาหาร อัตราการจ่ายเพื่อเข้าไปทำงานของตำรวจระดับ ผกก. ก็ต้องจ่าย 10 ล้านบาทขึ้นไป

“จะเห็นได้ว่าจำนวนเงินมันมากแต่ตำรวจที่อยากได้ก็ต้องสู้ เพราะเขารู้ดีว่าอยู่ไม่กี่เดือนก็ถอนทุนคืนได้แล้ว อย่างบางพื้นที่จ่าย 10 ล้านบาท แต่นั่งเดือนเดียวก็คืนทุนได้ ส่วนรูปแบบก็คือ ก่อนจะวิ่งก็จะกางแผนที่ ดูทำเล ดูว่ามีของผิดกฎหมายทั้งสีดำสีเทามากแค่ไหน บ่อนเยอะหรือไม่ อาบอบนวดมีหรือเปล่า คุ้มหรือไม่กับราคาที่จะใช้วิ่งเต้น หากคุ้มก็ต้องดีลกับผู้ใหญ่เพื่อหาช่องทางจ่าย” สังศิต ระบุ

สังศิต อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า ที่มาของเงินเพื่อใช้วิ่งเต้น แน่นอนว่าต้องไม่ใช่เงินส่วนตัวของตำรวจอยู่แล้ว แต่เป็นเงินที่ได้มาจากของผิดกฎหมายต่างๆ คือบ่อน ซ่อง ยาเสพติด ค้าของเถื่อน เป็นต้น และสะสมเอาไว้เพื่อใช้ในการวิ่งเต้นขอตำแหน่งให้ตัวเองนั้นเติบโตในงานราชการ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ คือ บางพื้นที่เจ้ามือหวยไม่ได้ขายแล้ว ตำรวจก็จะเรียกมาให้เปิดอีก หรือตู้ม้า บ่อนพนัน ก็เอาไปลงเองเพื่อจะได้เก็บส่วย พอสมควรแก่เวลาก็จับบ้างเพื่อจะได้มีผลงานไปกล่าวอ้าง

“งบประมาณตำรวจแต่ละปีสูงถึง 9.5 หมื่นล้านบาท แต่ก็หมดไปกับงานบริหาร ขณะที่งานป้องกันและดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนกลับสวนทางกัน ตรงนี้หากจะแก้ คนแก้ต้องเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะหากให้ตำรวจไปแก้กันเองเชื่อได้ว่าเขาไม่ทำเพราะเป็นการปิดช่องทางหากิน” สังศิต กล่าวชัด

ไม่ต่างจากอดีตนายตำรวจนายหนึ่งที่ยอมรับว่า ส่วยวิ่งเต้นนั้นมีอยู่จริง โดยมีเรตราคาจ่ายสำหรับผู้ที่มีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้าย และไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจเพราะถือเป็นเรื่องปกติที่ต้องจ่ายกัน และทุกวันนี้ราคาค่าตำแหน่งก็สูงมากขึ้นเรื่อยๆ

“เท่าที่ทราบคือระดับผู้บังคับการ ในพื้นที่เกรดเอราคาก็ไปถึง 20-30 ล้านบาท กรณีที่ขยับจากรองผู้บังคับการขึ้น แต่หากขึ้นแล้วต้องการโยกย้ายตำแหน่งเมื่อถึงฤดูการสับเปลี่ยน ก็ต้องจ่ายเงินอีก และทุกอย่างเป็นธรรมดาในวงการตำรวจ” อดีตตำรวจเล่า

ข้อมูลเหล่านี้สามารถยืนยันได้ว่า เงินกับตำแหน่งเป็นของคู่กัน

หากต้องการเป็นใหญ่ในวงการสีกากี 1.เงินต้องถึง 2.พวกต้องมี