posttoday

ย้อนวันวาน"คณิต –ทักษิณ"จากวันแรกพบถึงวันลาจาก

09 มิถุนายน 2553

อาจารย์คณิตได้เคยให้สัมภาษณ์ในหนังสือ "รู้ทันทักษิณ4" ซึ่งเป็นการเปิดใจในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย โดยเนื้อหาของบทสัมภาษณ์ดังกล่าวแบ่งออกเป็นจำนวน 4 ตอนสำคัญ

อาจารย์คณิตได้เคยให้สัมภาษณ์ในหนังสือ "รู้ทันทักษิณ4" ซึ่งเป็นการเปิดใจในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย โดยเนื้อหาของบทสัมภาษณ์ดังกล่าวแบ่งออกเป็นจำนวน 4 ตอนสำคัญ

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

กลายกระแสขึ้นมาทันทีสำหรับการที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ ศ.ดร.คณิต ณ นคร เป็นประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง โดยเฉพาะท่าทีของพรรคเพื่อไทยที่ออกมาต่อต้านตัวอาจารย์คณิตตค่อนข้างรุนแรง เพราะกังขาถึงความเป็นกลางในการทำงานแม้ว่าในอดีตจะเคยเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทยในปี 2541 ก็ตาม

มองย้อนกลับไปในปี 2549 อาจารย์คณิตได้เคยให้สัมภาษณ์ในหนังสือ "รู้ทันทักษิณ4" ซึ่งเป็นการเปิดใจในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย โดยเนื้อหาของบทสัมภาษณ์ดังกล่าวแบ่งออกเป็นจำนวน 4 ตอนสำคัญ เป็นการลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่การร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทยจนมาถึงวันที่หันหลังให้กับชายที่ชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ย้อนวันวาน"คณิต –ทักษิณ"จากวันแรกพบถึงวันลาจาก คณิต ณ นคร

ในบทสัมภาษณ์ ดังกล่าวอ.คณิต เท้าความถึงการทำให้รู้จักพ.ต.ท.ทักษิณและร่วมกันก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ว่า “เมื่อผมขึ้นเป็นอัยการสูงสุด (วันที่ 1 ตุลาคม 2537) คุณทักษิณเคยไปเยี่ยมผมที่ทำงาน และเมื่อคุณพ่อของผมเสียชีวิตในปี 2539 คุณทักษิณก็ได้ให้เกียรติไปร่วมงานศพคุณพ่อของผมที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ตอนนั้นพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นรองนายกฯมในสมัยรัฐบาลชวลิต ช่วงที่ผมเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) รู้จักคุ้นเคยกับคุณชานนท์ สุวสิน ซึ่งเป็นสสร.จังหวัดลำปาง และเมื่อผมเกษียณอายุราชการปี 2540 ไม่เคยคิดว่าจะต้องมาช่วยก่อตั้งพรรคไทยรักไทย

อ.คณิต เล่าต่อว่า หลังจากเกษียณอายุราชการ คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้จ้างผมเป็นอาจารย์พิเศษ ช่วงที่สอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัย คุณชานนท์ฯ ก็ได้ติดต่อผ่านอาจารย์พนัส ทัศนียานนท์ มาบอกว่าท่านทักษิณอยากจะตั้งพรรคการเมืองและอยากชวนให้ผมไปร่วมด้วย ตอนนั้นผมก็ยังเฉยๆอยู่ไม่ได้ตอบรับ เพราะคิดว่าตัวเองไม่เหมาะกับการเมืองและไม่อยากให้ครอบครัวต้องเดือดร้อน ภรรยาของผมบอกว่า ถ้าผมไปเล่นการเมืองก็หย่ากันก่อนแล้วกัน…สุดท้ายภรรยาไม่ห้ามให้ผมตัดสินใจเอาเอง

“ผมจึงได้นัดกินข้าวกับคุณทักษิณและคุณชานนท์ที่ห้องอาหารจีน เซ็นทรัลลาดพร้าว ซึ่งเป็นการพบครั้งแรกหลังจากที่ผมเกษียณ เพื่อเก็บข้อมูลประกอบการตัดสินใจครั้งสุดท้าย ผมจำได้แม่นว่าสาเหตุที่ผมตัดสินใจเข้าร่วมพรรคกับคุณทักษิณ คือ 1.ท่านบอกว่าจะเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกที่เกิดขึ้นหลังจากปฎิรูปทางการเมือง 2.ท่านเห็นว่าในการทำงานพรรคการเมืองจะตั้งคณะหรือกลุ่มคนทางวิชาการและเรื่องไหนสำคัญจะจัดสรรให้มหาวิทยาลับทำวิจัย 3.เมื่อผมถามเรื่องเอ็นจีโอผมคิดว่าคนทำงานเอ็นจีโอเขาทำงานด้วยใจ เขาทำงานสำคัญและมีประโยชน์มาก เขาเพียงต้องการให้ฝ่ายรัฐยื่นมือไปสัมผัสและร่วมงานกับเขาบ้างเท่านั้น คุณทักษิณก็บอกว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในใจอยู่แล้ว”

ทุกเรื่องที่พูดกันวันนั้นเป็นสิ่งที่ดีทุกอย่าง ซึ่งผมก็รู้สึกดี ผมจึงบอกว่ายินดีร่วมด้วย ให้คำตอบวันนั้นเลยท่านก็บอกกับผมว่า “ผมยินดีที่อาจารย์จะร่วมคณะกับผม ผมใคร่ขอให้อาจารย์ช่วยเป็นประธานสรรหานักการเมืองมาทำงานในพรรคด้วย”

…หลังจากนั้นมีการประชุมตั้งพรรคที่บ้านท่านมีใครต่อใครมากันเยอะแยะในที่ประชุมท่าน(พ.ต.ท.ทักษิณ)บอกว่า “เอาอย่างนี้น่ะผมขออุปโลกน์ตัวเองเป็นหัวหน้าพรรค และขอให้อาจารย์คณิตเป็นรองหัวหน้าพรรค” ข้อนี้ไม่พูดกันก่อนหน้านี้เลย ส่วนอาจารย์ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ เป็นเลขาธิการพรรค และก็ขอให้ผมเป็นประธานสรรหานักการเมืองด้วยผมก็บอกกับท่านว่า ถ้าให้ผมเป็นประธานผมก็อยากได้คนในแวดวงการเมืองมาช่วยผมหน่อย ท่านจึงให้คุณสุธรรม แสงประทุม มาเป็นเลขาฯของคณะกรรมการ

อ.คณิต บรรยายถึงการทำงานในพรรคไทยรักไทยว่า ช่วงแรกที่เข้าไป ตอนที่ตั้งพรรคใหม่ๆ ก็มีการเชิญคนมาพูดให้ความรู้ ซึ่งดีมากเกี่ยวกับการทำงานสรรหานักการเมือง เนื่องจากผมอยู่ในระบบราชการมานาน เราทำอะไรเราต้องวางหลักจะหานักการเมืองตามกรอบที่วางไว้ ไม่ใช่ทำอะไรตามความชอบในระบบอุปถัมภ์

…แต่ต่อมามันไม่จริงอย่างที่ผมคิดไว้ หลักที่เราวางไว้เริ่มมีข้อยกเว้นมากขึ้นๆ ผมเริ่มรู้สึกไม่สบายใจ กับการขอมีข้อยกเว้นในการสรรหาคนเข้าพรรค แม้ว่าข้อยกเว้นเหล่านี้จะไม่ได้มาจากคุณทักษิณโดยตรงหรือท่านอาจจะไม่กล้าพูดกับผม เช่น มีคนสนใจ…เข้าไปติดต่อหัวหน้าฯแล้ว และหัวหน้าก็ตกลงรับแล้ว แต่ผมก็บอกว่าต้องมาที่ผมก่อนสิเพราะเป็นหน้าที่ผมต้องดูแลการสรรหาคนเข้าพรรคแต่ไม่ใช่หมายความว่าหากปฎิเสธที่ผมแล้วท่านหัวหน้ารับไม่ได้ ถ้าหัวหน้าจะรับก็พูดกันได้ ผมจึงเริ่มมีความคิดว่า “นี่…มันใช่สิ่งที่เราอยากทำหรือเปล่า”

“ในการประชุมพรรคที่ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิตเพื่อเลือกกรรมการบริหารชุดใหม่ ผมจึงขอลาออกจากรองหัวหน้าพรรคก่อนหน้า 2 วัน แล้วหลังจากนั้นผมก็ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคในหนึ่งเดือนถัดมา ก่อนการลาออกจากรองหัวหน้าพรรค ผมได้เรียนกับท่านอาจารย์ปุระชัย ผมเชิญไปทานข้าวแล้วก็คุยกัน ผมก็เรียนว่าคงอยู่ต่อไปไม่ได้…ตอนนั้นท่านปุระชัยไม่ได้รั้งผม ท่านบอกว่าผมก็ควรจะคุยกับหัวหน้าพรรค ผมก็บอกว่าถ้างั้นท่านช่วยนัดให้ผมหน่อยผมก็รอยู่หนึ่งสัปดาห์ ปรากฏว่าไม่มีใครติดต่อเข้ามา ผมจึงขอลาออกด้วยการทำเป็นหนังสือแล้วก็ให้คนขับรถไปยื่นแต่เช้า ตกบ่ายคุณทักษิณก็โทรมาหาผม ท่านก็ถามว่า ไม่สบายใจอะไรเหรอ ผมตอบกลับไปว่า ไม่มีหรอก”

แต่ผมก็พูดทำนองว่าแม้ผมจะลาออกจากการเป็นรองหัวหน้าพรรค แต่ผมก็ช่วยท่านได้ และผมเห็นว่ามันควรจะมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงบ้างเพราะอยู่มาแล้ว 2 ปี คนเราไม่ควรจะยึดกับตำแหน่ง ซึ่งตำแหน่งก็ไม่ใช่สิ่งที่ผมแสวงหา

เราก็คุยกันนิดหน่อย ท่านก็ไม่ได้พูดหน่วงเหนี่ยว แต่บอกว่าอาจารย์เป็นที่ปรึกษาผมได้ไหม?

….แต่ผมคิดว่า 2 ปี ก็เพียงพอแล้วสำหรับผม