posttoday

เดินเครื่องปรองดองสางทุบม็อบ-แก้รธน.-สื่อ

09 มิถุนายน 2553

หลังผ่านสงครามเสื้อแดง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินหน้าสู่ภารกิจที่ประกาศ คือแผนปรองดอง 5 ข้อที่เคยเสนอไว้

หลังผ่านสงครามเสื้อแดง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินหน้าสู่ภารกิจที่ประกาศ คือแผนปรองดอง 5 ข้อที่เคยเสนอไว้

โดย...ทีมข่าวการเมือง

หลังผ่านสงครามเสื้อแดง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินหน้าสู่ภารกิจที่ประกาศ คือแผนปรองดอง 5 ข้อที่เคยเสนอไว้ เช่น การปฏิรูปสื่อ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การสะสางเหตุการณ์ชุมนุมของคนเสื้อแดง

โดยอภิสิทธิ์ได้ทาบทามผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานคณะกรรมการการปฏิรูปในภารกิจต่างๆ เช่น ศ.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุบล เบ็ญจรงค์กิจ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เดินเครื่องปรองดองสางทุบม็อบ-แก้รธน.-สื่อ คณิต

ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติแต่งตั้ง คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุรุนแรงช่วงที่มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ระหว่างวันที่ 12 มี.ค.-19 พ.ค. โดยให้คณิตคัดเลือกกรรมการภายในเวลา 15 วัน ทั้งนี้ คณิตปฏิเสธให้รายละเอียด โดยระบุว่ายังไม่มีอะไรที่จะพูด ขอเวลาก่อน

ขณะที่ ศ.สมบัติ เปิดเผยว่า ได้เสนอชื่อกรรมการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายกฯ พิจารณาจำนวน 20 คน ประกอบด้วย นักวิชาการสาขานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ จากหลายมหาวิทยาลัย เช่น ธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สุโขทัยธรรมาธิราช ศรีปทุม สยาม เบื้องต้นนายกฯ บอกว่า จะให้อิสระคณะกรรมการเต็มที่ ไม่ต้องมีธง ยืนยันว่ากรรมการมีอิสระ ไม่มีวาระซ่อนเร้น ถ้ามีจริงก็คงไม่มีใครเข้ามาร่วมงาน

ศ.สมบัติ กล่าวว่า เมื่อนายกฯ แต่งตั้งคณะกรรมการเป็นทางการแล้ว ก็จะนัดประชุมวางกรอบการพิจารณา โดยจะยึดข้อเสนอของ “คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ชุดที่ |ดิเรก ถึงฝั่ง สว.นนทบุรี เป็นประธาน เป็นหลัก โดยเฉพาะข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเร่งด่วน 6 ข้อ แต่ถ้ากรรมการรายอื่นเห็นว่ามีประเด็นนอกเหนือจากนี้ หรือต่อยอดจาก |6 ข้อ ก็จะหารือกัน

สำหรับระยะเวลาในการทำงานนั้น ศ.สมบัติ กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ แต่ถ้าพิจารณาเฉพาะ 6 ประเด็นว่าเรื่องไหนควรแก้ก่อนก็อาจจะเร็ว แต่ถ้ามีเรื่องอื่นด้วยก็ต้องใช้เวลา เบื้องต้นเห็นว่าการจะแก้ไขประเด็นอะไรต้องมีการรับฟังความเห็นเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สามารถยุติวิกฤตความขัดแย้งทั้งหมด ปมรัฐธรรมนูญเป็นแค่ประเด็นหนึ่งที่ขัดแย้งกันเฉพาะกลุ่มนักการเมือง

ทั้งนี้ ข้อเสนอ 6 ประเด็นของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ประกอบด้วย 1.แก้ไขระบบเลือกตั้ง สส.ให้เขตเดียวคนเดียว 2.สว.มาจากการเลือกตั้ง 3.การทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา 4.การดำรงตำแหน่งทางการเมืองของ สส. 5.ยกเลิกบทลงโทษยุบพรรคกรณีกรรมการบริหารพรรคทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง 6.ผ่อนปรนการใช้ตำแหน่ง สส. สว. เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงระบบราชการ

สำหรับรายชื่อที่ ศ.สมบัติ เสนอให้นายกฯ พิจารณาเป็นกรรมการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนหนึ่งเป็นอดีตกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 เช่น ศ.สมคิด เลิศไพฑูรย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ.จรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น

เดินเครื่องปรองดองสางทุบม็อบ-แก้รธน.-สื่อ สมบัติ

ขณะที่ยุบล ซึ่งนายกฯ ได้ทาบทามให้เป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปสื่อ กล่าวว่า เบื้องต้นต้องเก็บรวบรวมข้อมูล โดยจะมีการจัดประชุมกลุ่ม การสัมภาษณ์ การจัดสัมมนา เกี่ยวกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้สื่อข่าว ผู้บริหารสื่อ สมาคมวิชาชีพ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค และองค์กรกำกับดูแลสื่อ รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน โดยจะแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ประมาณ 3 กลุ่ม คาดว่ากลางเดือนนี้ก็จะสามารถระดมความคิดเห็นในกลุ่มต่างๆ ได้ตามลำดับ

สำหรับปรัชญาในการทำงานครั้งนี้ คณะทำงานอยากเสนอแนวทางปฏิบัติ เรื่องการปฏิรูปสื่อในทาง|ที่เหมาะสม อิงตามแนวทางรัฐธรรมนูญที่ต้องการดูแล|คุ้มครอง ทั้งผู้ทำหน้าที่สื่อมวลชนและผู้บริโภค แต่ในทางปฏิบัติจะมีรายละเอียดที่ทำได้ยาก เช่น เรื่องที่สื่อหรือ ผู้สื่อข่าวถูกมอบหมายให้ไปปฏิบัติงานได้รับการดูแลคุ้มครองอย่างเหมาะสมหรือไม่ โดยเฉพาะกับสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น ผู้บริหารสื่อได้ดูแลอย่างไร และดูว่าผู้บริโภคคาดหวังและอยากให้สื่อตอบสนองและรับผิดชอบต่อผู้บริโภคอย่างไร

“เราอยากฟังความเห็นของทุกฝ่าย และนำมาประมวลพิจารณาว่าเราสามารถจะเสนอแนะแนวทางอะไรได้บ้าง ที่จะช่วยให้แต่ละฝ่ายทำงานด้วยกันได้ และทุกฝ่ายจะสามารถเรียกร้องในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าจะต้องได้รับ ขณะเดียวกันทุกฝ่ายต้องรู้ว่าตัวเองมีหน้าที่รับผิดชอบและต้องทำหน้าที่ให้เหมาะสมอย่างไร” คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว

คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวอีกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับวงการสื่อขณะนี้ พบว่ามีหลายหน่วยงานและหลายองค์กรเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการกำกับดูแลสื่อที่ต้องมีการประสานงานกันให้ชัดเจนว่าแต่ละองค์กรมีอำนาจอะไรบ้าง และได้มีการดำเนินการอย่างเหมาะสมหรือไม่ มีปัญหาอุปสรรคอะไรหรือไม่ เพราะหลายเรื่องยังคาราคาซัง เช่น การให้ใบอนุญาตผู้ประกอบการวิทยุชุมชน ที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น ซึ่งต้องใช้เวลา

การทำงานครั้งนี้ไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมการใดๆ เป็นพิเศษ เพราะนายกฯ ได้มอบหมายให้คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ดูแลเรื่องนี้ ดังนั้น จะมอบหมายให้อาจารย์ในคณะไปศึกษาและพูดคุยกันในแต่ละกลุ่ม เพื่อดึงเอาปัญหา ความคาดหวัง และบทบาทหน้าที่ที่ควรจะเป็น เพื่อสรุปข้อมูลที่เป็นประโยชน์และเสนอข้อมูลให้กับรัฐบาลต่อไป เพราะไม่มีหน้าที่ไปจัดการใคร เบื้องต้นจะทำงานให้เร็วที่สุด มีความเป็นไปได้ที่จะใช้เวลา 2-3 เดือน เพราะบางเรื่องอาจจะทำได้เร็ว แต่บางเรื่องก็ทำไม่ได้

“เราต้องการให้มีการพูดคุยกัน เพราะที่ผ่านมาอาจจะทำงานด้วยความเร่งรีบ ทั้งที่บางเรื่องเกิดปัญหาก็ไม่มีเวลาได้นั่งพูดคุยกัน ตรงนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการเรียนรู้ร่วมกัน และนำข้อมูลไปใช้ให้เป็นประโยชน์”

ส่วนประเด็นเรื่องสื่อเลือกข้างนั้น ต้องมีแนวทางว่าการเลือกข้างที่เกิดขึ้น ต้องอยู่ในส่วนของความคิดเห็น เพราะสื่อต้องมีหน้าที่นำเสนอข้อเท็จจริง แต่บางครั้งพบว่ามีการนำเสนอความคิดเห็นรวมกับข้อเท็จจริง ซึ่งไม่ควรเป็นแบบนั้น เพราะข่าวต้องเป็นข่าวที่เป็นความจริง โดยต้องแยกให้ได้ระหว่างข้อเท็จจริงกับความคิดเห็น การเลือกข้างสามารถทำได้ แต่ต้องนำเสนอข่าวอย่างถูกต้องโดยนำข้อเท็จจริงมากล่าว ไม่ใช่ทั้งข่าวทั้งความคิดเห็นโจมตีอย่างเดียวโดยไม่มีข้อเท็จจริง เพราะสามารถเสนอความคิดเห็นผ่านคอลัมน์ได้