posttoday

ปรากฎการณ์ "ลักเหนียวไก่" สะท้อนความห่วยในสังคม

13 พฤศจิกายน 2557

มองอีกมุมกับ นักวิชาการด้านสื่อ-แพทย์สุขภาพจิต ที่ชี้ว่าปรากฏการณ์หลังคลิปลักเหนียวไก่สะท้อนความห่วยของสังคม

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

แรงกระเพื่อมชนิดรุนแรงถาโถมในโลกออนไลน์อย่างหนักหน่วงในรอบ 5 วันที่ผ่านมา กับปรากฏการณ์ “ลักเหนียวไก่” ของสาวรุ่นวัย 15 ปีชาวจ.สตูล ที่อัดอั้นตันใจ อัดคลิปวีดีโอระบายความอึดอัดที่เจ้าตัวถูกคนมือดีขโมยข้าวเหนียวไก่ทอด ระยะทางของคลิปเพียงแค่ 1.47 นาที ก็สร้างยอดวิว และชาวเน็ตกระหน่ำกดถูกใจหลายแสนคน

เนื้อหาการสื่อสาร ศัพท์แสงที่หยาบคายแต่ดูเรียบง่าย และสำเนียงพูดกลางติดทองแดงประสานิยมของชาวปักษ์ใต้ ทำให้คนที่เข้าไปดูคลิปดังกล่าวถูกอกถูกใจ ก่อนนำไปสู่การเข้าไป “ล่า” เพื่อหวังให้พบเจอเจ้าของคลิปวีดีโอ รวมไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลก็เอาด้วย บุกบ้านมอบข้าวเหนียวไก่ให้น้อง และความเคลื่อนไหวของเจ้าของคลิป “ลักเหนียวไก่” ก็มีรายงานตลอดทั้งวันจากสื่อกระแสหลัก

เหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น หากจำกันได้หลายครั้งที่โลกออนไลน์ได้เป็นช่องทางสร้างชื่อเสียงให้กับคนทั่วไป จนโด่งดังคับประเทศ เพราะเมื่อมีคนสนใจ กระแสข่าวย่อมตามมา แต่เมื่อถามว่าสังคมได้อะไรกับเหตุการณ์นี้บ้าง

ก็น่าขบคิด

มานะ  ตรีรยาภิวัฒน์ รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมออนไลน์ มองเรื่องนี้ว่า ปรากฏการณ์แห่แหนของผู้คน สื่อ ที่บุกไปคุยและพบน้องวัย 15 ปีเจ้าของคลิป ถือเป็นตัวบ่งบอกถึง “ความห่วยของสังคม” ได้เป็นอย่างดี

ห่วยอย่างไร ห่วยแบบไหน มานะ ขยายความว่า เพราะเมื่อสื่อหลักเข้าไปจับกระแสทำข่าว ก็ต้องมีคนออกมาโหนกระแสนี่ เพื่อหวังให้ตัวเองติดชื่อเข้าไปด้วย เป็นการใช้การตลาดของเขาเอง แต่ยังไม่มีใครออกมาพูดถึงการแนะนำการใช้โซเชี่ยลมีเดียอย่างถูกต้อง และแนะถึงผลที่ตามมาอันคาดไม่ถึง แต่ละคนต้องการเพียงแต่ขอให้ตัวเองได้ติดกับกระแสไปด้วย

“ทุกสำนักเล่นข่าวนี้ เพื่อสร้างเรตติ้งให้กับสถานีหรือบนเว็บไซต์ของตนเอง เพราะปรากฏการณ์มันรับประกันได้ว่ามีคนจำนวนหนึ่งต้องติดตามแน่นอน หากแต่ถามว่าผู้บริโภคได้อะไร ตอบได้เลยว่าไม่มี ก็แค่เสพข่าวเบาๆ กันไป แต่ที่น่าสนใจคือผลที่ตกมากับเด็ก มีใครคำนึงถึงหรือไม่ เมื่อออกข่าวไปแล้วชีวิตเด็กจะอยู่อย่างไรต่อไป คล้ายกับทุกคนโกยผลประโยชน์ของตัวเองเพียงอย่างเดียว”มานะ กล่าว

มานะ ย้ำอีกว่า เทคโนโลยีทุกวันนี้สามารถทำให้คนในสังคมกำหนดวาระข่าวสารขึ้นมาเองได้ ต่างจากเดิมที่นักข่าว หรือกองบรรณาธิการเท่านั้นที่จะเป็นผู้กำหนด กรณี “ลักเหนียวไก่” ก็เช่นกัน เด็กวัย 15 เพียงแค่ระบายอารมณ์เพราะคิดว่าตรงนั้นคือพื้นที่ส่วนตัว แต่เนื้อหากลับไปโดนใจสังคมจนเกิดการแชร์ และมีการเกาะกระแสจากสื่อ ที่น่ากังวลคือหากนับจากนี้ เด็กวัยรุ่นอาจจะเห็นคลิปดังกล่าวเป็นฮีโร่ เป็นตัวอย่าง ก็ต้องออมาทำแบบอย่างนั้นบ้าง และโลกออนไลน์ก็จะกลายเป็นถังขยะอารมณ์

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เสริมในมุมเรื่องของการรับมือกระแสที่ถั่งโถมของเด็กวัย 15 ว่า เชื่อได้ว่าน้องเจ้าของคลิปลักเหนียวไก่ก็คงไม่ได้เตรียมตัวหรือเตรียมใจจะต้องมาเจอสถานการณ์กระแสสังคมที่รุนแรงอย่างนี้ และหากไม่มีการดูแลช่วยเหลือย่างถูกต้อง ก็จะกลายเป็นปัญหาตามมาได้

“เด็กยังไม่รู้วิธีจัดการที่ถูกต้อง เพราะการส่งคลิปขึ้นไปในโลกออนไลน์ก็คิดว่าเป็นแค่เรื่องส่วนตัว แต่โลกออนไลน์นี่เองที่ทำให้ดังชั่วข้ามคืน และสื่อกระแสหลักก็เกาะติดรายงานข่าว รวมถึงใครอีกหลายคนก็พุ่งเข้ามาหา ตรงนี้หากไม่มีผู้ใหญ่คอยแนะนำเด็กอาจจะเกิดความเครียดขึ้นมาได้ เพราะทุกอย่างมันเร็ว งง การจัดการอาจทำด้วยตัวเองอย่างไม่ถูกต้อง”พญ.พรรณพิมล  อธิบาย

รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ย้ำทิ้งท้ายว่า ในต่างประเทศค่อนข้างจะให้ความสำคัญอย่างมากหากมีเด็กเยาวชนถูกเผยแพร่ออกมาในที่สาธารณะ และต้องมีระบบการช่วยเหลือสนับสนุนควบคุมที่ถูกต้อง แต่ดูเหมือนของเราเองต้องการเพียงแค่กระแสเท่านั้น แต่ไม่มีการคำนึงถึงผลที่ตามมาของเด็ก ตรงนี้ที่น่ากังวล