posttoday

จัดสรรที่ดิน 7 แสนไร่ระวังนายทุนกลับมายึดเหมือนเดิม

13 พฤศจิกายน 2557

เราแก้ปัญหากันเฉพาะหน้าโดยไม่เคยมองว่าเรื่องที่เดินเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจสังคม

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

กรอบการดำเนินนโยบาย "แจกที่ดิน" ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการให้เกิดเป็นรูปธรรม ถูกกำหนดไว้ที่ 1 ปี

นับจากนี้ไปอีก 365 วัน ที่ดินร่วม 7 แสนไร่ จะถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆ จนครบถ้วน ก่อนนำมาจัดสรรใหม่ให้ประชาชน "เช่า" อย่างเสมอหน้า เบื้องต้นกำหนดไว้ที่ครอบครัวละไม่เกิน 15 ไร่ สัญญา 5 ปี ผู้เช่าต้องประกอบอาชีพตามเงื่อนไขที่กำหนดและไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ใดๆ

สำหรับที่ดิน 7 แสนไร่ มีที่มาจาก 3 ส่วน ได้แก่ 1.ที่ดินว่างเปล่า ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และกรมธนารักษ์ 3,794 ไร่ 2.ที่ดินที่มี ผู้ครอบครอง ในความดูแลของกรมป่าไม้ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จำนวน 5.5 หมื่นไร่ และ 3.ที่ดินที่อยู่ในความครอบครองของกรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมธนารักษ์ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และกรมพัฒนาที่ดินอีก 5.9 แสนไร่

แม้ว่านโยบายดังกล่าวจะมีเจตนาดี แต่หากมองผ่านแว่นของอดีตกรรมการปฏิรูปอย่าง ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะพบว่ามีข้อกังวลอยู่ไม่น้อย

"การจะเอาที่ดินให้ชาวบ้านเช่าในราคาถูกถือเป็นเรื่องดี แต่ตลอดระยะเวลาที่คลุกคลีกับคนยากจนและชาวนา พบว่าทุกวันนี้ชาวนาทำนาน้อยลง แม้แต่ผู้ที่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเองก็แทบไม่ได้ใช้ทำนาแล้ว คนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นก็ไม่ได้ทำนา ดังนั้นรัฐต้องชัดเจนว่าจะเอาที่ดินเหล่านั้นให้ใครเช่า ไม่เช่นนั้นจะประสบกับปัญหา "การปล่อยเช่าที่ดินต่อ" แล้วเก็บค่าเช่าเป็นทอดๆ สุดท้ายที่ดินก็จะกลับไปกระจุกตัวอยู่กับคนบางกลุ่มเหมือนที่ผ่านมา"

ณรงค์ ตั้งข้อสังเกต ณรงค์ ยกตัวอย่างว่า หากที่ดินผืนหนึ่งติดต่อกัน 1,000 ไร่ รัฐให้ชาวบ้านเช่าไร่ละ 300 บาท ถามว่าถ้านายทุนมาขอเช่าต่อไร่ละ 500-1,000 บาท ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ชาวบ้านจะให้เช่า เพราะจะ มีรายได้ทั้งๆ ที่ไม่ต้องลงแรง ดังนั้นรัฐต้องมีการ กลั่นกรองผู้เช่าว่าเป็นผู้ใช้ที่ดินทำกินเองจริงหรือไม่

ขณะเดียวกัน โจทย์ของการกระจายที่ดินจำเป็นต้องทำควบคู่ทั้งสองด้าน หนึ่ง คือสิ่งที่ทำได้ง่าย เช่น การแจกที่ดินก็ควรทำต่อไป แต่อีกด้านซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก คือการสร้างระบบให้เกิดการกระจายที่ดินจากกลุ่มคนที่ถือครองกรรมสิทธิ์ไว้มากเกินไป มาสู่ชาวบ้านผู้ยากไร้

"หัวใจของการแก้ปัญหาที่ดิน คือการกระจายการถือครองกรรมสิทธิ์อย่างเป็นธรรม ดังนั้นการเอาที่ดินของรัฐ ซึ่งเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ควรใช้สอยให้เกิดประโยชน์กับคนทุกคนไปแจกให้ชาวบ้านนั้น อาจไม่ถูกต้องตามหลักการเท่าใดนัก" นักวิชาการรายนี้ ระบุ

สอดคล้องกับมุมมองของอดีตกรรมการปฏิรูปอีกรายอย่าง เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ นักวิชาการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2497 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีนโยบายการจัดสรรที่ดินด้วยการนำที่ดินของรัฐมาให้ประชาชนมาโดยตลอด แต่ก็พิสูจน์แล้วว่าการ "รังวัด-ตัดแจก" เช่นนี้ไม่เคยประสบผลสำเร็จ

"เราแก้ปัญหากันเฉพาะหน้าโดยไม่เคยมองว่าเรื่องที่เดินเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจสังคมอย่างไร การเอาที่ดินอีก 7 แสนไร่ ไปปล่อยให้ประชาชนเช่าเช่นนี้ ก็จะ ล้มเหลวไม่ต่างไปจากอดีต" เพิ่มศักดิ์ ระบุ

อดีตกรรมการปฏิรูป กล่าวอีกว่า หากดำเนินนโยบายต่อไป แม้ว่าที่ดินอาจจะไม่เปลี่ยนมือเหมือนในอดีต แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือการปะทะกันระหว่างชาวบ้านที่ต้องการเช่าที่ดินกับชาวบ้านที่ใช้ประโยชน์เดิมอยู่ และนอกจากความขัดแย้งของประชาชนแล้ว มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการสวมสิทธิ สุดท้ายที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ชุมชนควรมีส่วนร่วมจะตกอยู่กับกลุ่มคนกลุ่มเดียวเหมือนเดิม

เพิ่มศักดิ์ อธิบายเพิ่มว่า หัวใจของการปฏิรูปที่ดินที่แท้จริงมีด้วยกัน 3 ประเด็น คือ 1.กระจายการถือครอง 2.คุ้มครองที่ดินของเกษตรกรรายย่อยไม่ให้ถูกนายทุนกว้านซื้อ 3.เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ที่ดิน

"ดังนั้น ถ้าจะแก้ปัญหาจริงๆ รัฐควรให้น้ำหนัก กับการกระจายการถือครองที่ไม่เป็นธรรมมากที่สุด" เพิ่มศักดิ์ สรุปความ