posttoday

สัจนิยม ปะทะ สิทธินิยม

09 พฤศจิกายน 2557

ถามพวกนักสิทธินิยมหน่อยว่า สถานการณ์อย่างนี้คุณจะทุบกรงหรือตีงู นั่นก็หมายถึงว่าคุณต้องส่งเสริมประชาธิปไตยภาคประชาชนให้เข้มแข็งก่อน

โดย...พรเทพ เฮง

ภายหลังสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ถือเป็นการเริ่มต้นเดินเครื่องปฏิรูปประเทศอย่างเต็มตัว เพื่อนำประเทศไทยกลับเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง

หนึ่งในสมาชิก สปช.ที่มีชื่อเสียงในวงการกวีนิพนธ์และศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะการเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ สาขาย่อยกวีนิพนธ์ จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ที่พร้อมทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิ สมญานาม “กวีรัตนโกสินทร์” เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สมาชิก สปช.ลำดับที่ 117 วัย 74 ปี ถือเป็น “ขิงแก่” อีกคนที่จะมาร่วมขับเคลื่อนประชาธิปไตยที่ต่างคาดหวัง

เนาวรัตน์ ได้รับการคัดสรรเข้าไปเป็นสมาชิก สปช. ในฐานะตัวแทนจากภาคศิลปวัฒนธรรมในระดับชาติ แต่ก็ฝ่าเสียงต้านจากนักคิดนักเขียนในวงการวรรณกรรมและกวีบางส่วนที่ประกาศตัวเป็นเสรีนิยม ซึ่งไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

“การทำงานทุกอย่างมันมีแรงเสียดทานต้านโต้อย่างแน่นอน แต่จะเข้าใจปัญหาตรงกันหรือเปล่า สภาพการณ์หรือสภาวะที่เป็นอยู่จริง ผมมองแบบ ‘นักสัจนิยม’ ไม่ได้มองแบบ ‘นักสิทธินิยม’ ที่เรียกร้องสิทธิความเสมอภาคที่มองว่า ต้องมีเลือกตั้งก่อน เลือกตั้งไปก็จะดีขึ้นเอง เลือกตั้งมันจะแก้ปัญหา ซึ่งมันไม่ใช่เลย

“การเลือกตั้งในระบบน้ำเน่ามันจะยิ่งทำให้มีปัญหามากขึ้น ซึ่งนักสิทธินิยมไม่เข้าใจ แล้วพอบอกว่ามีการซื้อสิทธิขายเสียงก็หาว่าเราไปดูถูกชาวบ้านเสียอีก ทั้งที่มันมีอยู่จริงมันเต็มไปหมดอยู่แล้ว แต่ไม่รู้ทำไมมองไม่เห็นกัน มองเรื่องสิทธิเป็นหลัก เห็นหรือแกล้งไม่เห็นก็ไม่รู้ แต่ว่าเรามองตามสภาพการณ์ที่เป็นจริง อีกทางหนึ่งก็คือเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยไม่ตรงกัน

“นี่คือปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดความแตกแยกในวงการนักเขียนและทางด้านศิลปวัฒนธรรม คือเขาใช้สิทธินิยม ประชาชนต้องมีสิทธิ แต่ผมค้านว่าในเมื่อประชาชนมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลสิทธิในโอกาสนั้นไม่มี เพราะฉะนั้นเขาเลยยอมรับผลประโยชน์ง่ายๆ นี่คือความเป็นจริง เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่ประชาธิปไตย”

เนาวรัตน์ยืนยันจุดยืนว่า “ประชาธิปไตย” ในนิยามของเขาก็คือ อำนาจอันชอบธรรมของประชาชนในการบริหารและจัดการเรื่องที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนรวมเป็นหลักและเป็นใหญ่

“ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ตรงกันเราก็จะมองเห็นศัตรูของประชาธิปไตย อะไรที่มาทำให้อำนาจของประชาชนไม่ชอบธรรมก็คือศัตรูของประชาธิปไตย นักสิทธินิยมจะมองประชาธิปไตยคนละตัวกันกับเรา กลับย้อนยุคไปนิดหนึ่งในสมัย 14 ต.ค. 2516 ตอนนั้นเป็นการต่อสู้ที่ชัดเจนระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ ศัตรูของประชาธิปไตยคือเผด็จการ ซึ่งชัดเจนว่าคือ “ทหาร”

“การปฏิวัติรัฐประหารทุกครั้งก็คือการโค่นอำนาจของขุนทหารด้วยกันเองเผด็จการคือศัตรูประชาธิปไตยในวาทกรรมในขณะนั้นก็คือ พวกขุนทหาร จึงมีคำขวัญคือ นายทุนขุนศึกศักดินา นายทุนก็คือ ทุน ขุนศึกก็คือทหาร ศักดินาก็คือระบบอำมาตย์ไพร่ สมัยนั้นขุนศึกศักดินานั้นค่อนข้างชัด แต่ว่าทุนยังไม่ชัด เราไม่ได้ต้านสักเท่าไหร่

“จนกระทั่งตอนหลังก็ยังโค่นกันระหว่างขุนศึก ตอนหลังช่วงหลังจาก 17 พ.ค. 2535 ขุนศึกก็ล้าศักดินาก็โรย เราดันลืมทุนไป ปล่อยให้เติบโตขึ้นมากับความมืด มันกลายเป็นทุนสามานย์และทุนทรราช ตรงนี้ผมถามนักสิทธินิยมยุค 14 ตุลา มองไม่เห็นตรงนี้เลยหรือ มองไม่เห็นศัตรูที่ผงาดขึ้นมาของทุนเลยหรือ ทั้งที่มันเป็นศัตรูตัวหนึ่งของประชาธิปไตย ยังไปแค้นฝังหุ่นขุนศึกศักดินาอยู่นั่นแหละ แม้กระทั่งวันนี้เราก็จะเห็นนักวิชาการหลายคนยังแค้นฝังหุ่นอยู่ตรงนี้ นักเขียนก็เหมือนกัน

“ผมเคยพูดอยู่เสมอว่า ประชาธิปไตยของประชาชนมันเหมือนนกพิราบที่อยู่ในกรงของขุนศึกศักดินามา แต่วันนี้กรงนั้นมันผุ แทบไม่ต้องถอดกลอนมันก็จะพังอยู่แล้ว แต่ว่าข้างนอกกรงมันมีงูอยู่เพ่นพ่าน มีพวกตะกวด ตุ๊กแก จิ้งเหลน กิ้งก่าเยอะแยะเลยที่รอเขมือบอยู่ ล้อมรอบอยู่ทั้งหมด ทำให้ต้องเลือกว่าคุณจะถอดกลอนหรือคุณจะตีงู

“ถามพวกนักสิทธินิยมหน่อยว่า สถานการณ์อย่างนี้คุณจะทุบกรงหรือตีงู นั่นก็หมายถึงว่าคุณต้องส่งเสริมประชาธิปไตยภาคประชาชนให้เข้มแข็งก่อน คุณต้องมองศัตรูของประชาธิปไตยให้ออก มามองประชาธิปไตยให้ตรงกัน ไม่เช่นนั้นคุณก็จะแค้นฝังหุ่นอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่ข้ามผ่านไปได้ จะล้มปืนล้มเจ้าอยู่นั่นแหละ คุณไม่ต้องไปล้มหรอกหากประชาธิปไตยแข็งแรงทุกอย่างจะอยู่ในครรลองอยู่แล้ว ‘ทุน’ ต่างหากที่ผงาดเงื้อมอยู่”

สัจนิยม ปะทะ สิทธินิยม

‘ไม้ที่รากลอย จึงต้องปฏิรูป’

ในฐานะประธานสมัชชาเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป สำนักงานปฏิรูป สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และทำงานในนามสมัชชาเพื่อการปฏิรูปประเทศมายาวนานร่วม 3-4 ปี มีเครือข่ายครอบคลุมทุกภาคทั่วประเทศ รวมทั้งเป็นประธานมูลนิธิสร้างเสริมศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน เนาวรัตน์ ย้ำว่า เขาทำงานด้านการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะสายศิลปวัฒนธรรมมาก่อนเกิดกระแสปฏิรูปในปัจจุบันเสียอีก

“พอมีสภาปฏิรูปแห่งชาติขึ้นมา ที่จริงผมก็ปฏิเสธนะ ให้ผมไปสมัครผมไม่ไปหรอก เพราะเราทำงานปฏิรูปอยู่แล้ว และมีจังหวัดนำร่องในเรื่องนี้แล้วด้วย คือ สภาศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน พอมีสภาปฏิรูปแห่งชาติขึ้นมา ทางเครือข่ายสมัชชาเขาก็มีมูลนิธิหลายมูลนิธิที่เสนอชื่อผมเข้าไป เพราะเห็นว่างานปฏิรูปของเราต้องผลักดันให้เข้าไปอยู่ใน สปช.ด้วย”

“ในที่สุดก็เห็นด้วยเพราะเราทำงานด้านนี้มาแล้ว ซึ่งก็ชูธงด้านการปฏิรูปอยู่แล้ว เมื่อเขาเปิดพื้นที่ให้เราเข้าไปปักธง เราก็ต้องเข้าไปปักธง มิฉะนั้นเราก็จะเล่นอยู่รอบนอก พอเขาเปิดพื้นที่ให้มาเล่นข้างในก็ไม่มา ก็จะถูกหาว่าไม่จริงใจไม่จริงจัง เพราะฉะนั้นเราก็เข้าไปด้วยความเชื่อมั่นว่า มันไม่สำเร็จด้วยสภาปฏิรูปแห่งชาติเท่านั้น แต่จะสำเร็จได้ด้วยกระบวนการประสานข้างนอกและข้างในเข้าไว้ด้วยกัน”

เนาวรัตน์ ยอมรับอย่างดุษฎีว่า ไม่หวังว่าการปฏิรูปจะสำเร็จหรือสัมฤทธิ์ในสภาปฏิรูปแห่งชาติ “เราจะทำให้การทำงานปฏิรูป 3-4 ปีต่อเนื่องให้ปรากฏออกมา เพราะขั้นตอนต่อไปจะเป็นการร่างรัฐธรรมนูญ ประเด็นเหล่านี้จะเข้าไปอยู่ในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งต้องตามเข้าไปผลักดันว่ารัฐบาลทำหรือเปล่า แต่ว่าประเด็นที่ต้องการปฏิรูปมันต้องชัดเจนแล้วก็ชูธงขึ้นมาให้คนเห็น

การมองปัญหาของประเทศ เนาวรัตน์ชี้ว่า จะมองเฉพาะส่วนไม่ได้ ประเทศชาติก็เหมือนกับต้นไม้ มีสามส่วนสำคัญคือ ลำต้น ราก แล้วก็เรือนยอด “เปรียบเทียบกับภาคส่วนของชาติก็คือ ลำต้น ก็คือ สังคม ราก ก็คือ เศรษฐกิจ เรือนยอดก็คือ การเมือง นักเล่นไม้ดัดเขาจะจัดรากได้ จะให้กิ่งโอนเอียงไปทางไหน เขาจัดรากให้ไปในทางตรงกันข้าม

ฉะนั้น เศรษฐกิจกับการเมืองก็แทบจะเป็นอันเดียวกัน การเมืองเป็นพิษ เศรษฐกิจเป็นภัย ต้นไม้ก็จะแคระแกร็น ซึ่งหมายถึงสังคม ส่วนศิลปวัฒนธรรมนั้นหมายถึงดอกผล ก็จะงอกง่อยไปด้วย เพราะฉะนั้นจะทำงานด้านเดียวไม่ได้ ข้อมูลที่เรามีก็จะไปร่วมกับงานด้านอื่นๆ เหมือนกับว่าทำไมเราแก้ปัญหาเรื่องโกงเรื่องคอร์รัปชั่นไม่ได้ เพราะว่ามันเป็น ‘หายนะธรรม’ ของการเมืองเป็นพิษ เศรษฐกิจเป็นภัย คือเป็นสังคมบริโภค เป็นไม้ที่รากลอย

“เศรษฐกิจก็มัวแต่สนใจเกี่ยวกับการลงทุนต่างประเทศมากกว่าความสนใจที่จะมามุ่งในการผลิต เกษตรกรที่เรามีผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ เราไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องนี้เท่าที่ควร ซึ่งทำให้เราเป็นสังคมรากลอย ก็กลายเป็นพันธุ์เถาที่เลื้อยตามฝรั่งหรือญี่ปุ่น เกาหลี เพราะว่าเรารากลอย ทำไมเราแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ เพราะวัฒนธรรมเราเป็นผลผลิตของสังคมรากลอย”

“หากเรามองไม่เห็นปัญหาที่สัมพันธ์กันเหล่านี้ก็เท่ากับเราแก้ปัญหาไม่ถูกจุด ในการแก้ปัญหาเราต้องมาสู่สังคมการผลิต สู่ความเป็นผู้ผลิต สมัยก่อนสอนกันมาไม่ให้กินข้าวเหลือในจานสักเม็ด เพราะเขารู้ว่าผลิตมาด้วยน้ำพักน้ำแรงกว่าจะเป็นเม็ดข้าว ทุกวันนี้เราไม่ได้ทำนากันแล้ว แม้ชาวนาทุกวันนี้ก็เถอะ ก็เป็นลูกจ้างในนาของตัวเองด้วยซ้ำไป กรณีคอร์รัปชั่นหรือโกงกินเรื่องข้าว ชาวนาก็ล้มเหลวในการผลิต ก็เลยกลายเป็นสังคมการผลิตที่ใช้ไม่ได้”

ความหวังกับสังคมไทย

เนาวรัตน์ได้ใช้จินตภาพของกวี เปรียบผู้คนในสังคมไทยเป็นสัตว์ ก็จะแยกได้ 4 ประเภท 1.สังคมหนอน ที่ยั้วเยี้ยยุบยิบตามไต่ซึ่งกันและกันไปสู่ยอดสูงซึ่งอยู่บนกองอาจม 2.สังคมปลา เป็นพวกที่มีความเชื่อลูกเดียว มีชุดความคิดแบบแค้นฝังหุ่น 3.สังคมเต่า พวกนี้รู้ทั้งน้ำทั้งบก แต่พอเกิดอะไรขึ้นก็หดหัวเข้ากระดอง ตรงนี้เป็นพวกปัญญาชนคนชั้นกลาง และ 4.สังคมนก ดีที่สุด เพราะรู้ทั้งน้ำรู้ทั้งบกรู้ทั้งฟ้า อยู่เป็นฝูงมีเพียงปีกเป็นภาระ ทำรังน้อยแต่พอตัว

“สังคมไทยเราควรมาสำรวจดูว่าเราเป็นอย่างไร อยู่ในสังคมประเภทไหน มาทบทวนมาย้อนคิด ปัจจุบันเป็นสังคมหนอนเยอะไต่เต้าอยู่ในกองอาจมกันนั่นแหละ คิดว่าตัวเองอยู่เหนือแต่จริงๆ แล้วอยู่เหนือกองอาจม”

ความคาดหวังกับสังคมไทยหลังจากความยุ่งเหยิงที่ยังไม่จบ และมีการเดินหน้าเพื่อปฏิรูประเทศ เนาวรัตน์ มองว่า มีทั้งบวกและลบ

“เอาด้านลบก่อนก็คือ เราจะเป็นเหยื่อของความขัดแย้งของมหาอำนาจระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ในเรื่องของทุนนิยมสามานย์ ผมขออธิบายคำว่า “สามานย์” กับ “สัมมา” หน่อย วิถีของมันก็คือจากล้าหลังไปสู่ก้าวหน้า จากแบกะดินไปสู่ระดับโลก วิถีของทุนจะเป็นอย่างนั้น แต่ว่าเป้าหมายของทุน ถ้าคุณเอาสังคมมารับใช้ทุนก็เป็นทุนสามานย์ แต่ถ้าคุณเอาทุนไปรับใช้สังคมก็เป็นทุนสัมมา สู้กันระหว่างทุนสัมมากับสามานย์ สังคมไทยถ้ายังปรับตัวไม่ทันก็ตกเป็นเหยื่อของทุนสามานย์ ผมมองด้านลบว่า ไทยเราจะตกเป็นเหยื่อของการขยุ้มเขมือบของต่างชาติ แม้กระทั่งเพื่อนบ้านในอาเซียนด้วยกันเอง แล้วอย่างที่บอกวัฒนธรรมของเรานั้นรากลอย ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง ตามเขาแล้วเก่ง คิดเองแล้วโง่ กลายเป็นหมวยตี๋หลียุ่นแหม่มเต็มไปหมด กลายเป็นไอดอลของวัยรุ่นไทย เป็นไทยทำไมมันเชย”

“กระทรวงวัฒนธรรมเวลาจะโชว์ความเป็นไทยก็จัดเด็กไว้ผมแกละขี่ม้าก้านกล้วยแล้วมันมีที่ไหนเล่า คือไปโหยหาอดีต นี่คือมุมมองด้านลบตกต่ำหมดทั้งเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง ซึ่งการปฏิรูปอะไรต่างๆ แม้จะดีอย่างไรก็ตาม กฎหมายที่เราจะกรองเรื่องการเลือกตั้งแม้จะดีอย่างไรก็ตาม พอมีเลือกตั้งพวกนักการเมืองน้ำเน่าก็เข้ามาอีก เพราะมันเก่งในการที่จะลดเลี้ยวลอดเข้ามา ผมไม่เชื่อเพราะบ้านเรานั้นดีแต่ปาก กฎหมายดีอะไรก็ดีหมดแต่ไม่ปฏิบัติตาม”

“ประเด็นที่เราชูต้องชัดเจนและแขวนป้ายไว้เลยถ้าไม่ทำตามนั้นมันจะประจานคุณ นี่คือปณิธานที่การปฏิรูปจะต้องมีจะต้องทำ นี่คือด้านลบแหลกเหลวหมดศาสนาพึ่งไม่ได้เลย เพราะทุกวันนี้ก็ขายกัน เอาเงินและทุนเป็นหลัก เป็นพุทธพาณิชย์ แทนที่จะเป็นหลักคิดให้กับสังคม”

“ด้านบวกผมยังมีความหวัง เพราะประเทศของเรายังมีทรัพยากรที่เป็นต้นทุนประกันว่า อย่างไรก็ไม่อดตาย ไปอยู่บ้านนอก แค่ตำน้ำพริก เดินเก็บผักรอบบ้านแป๊บเดียวก็ได้แล้ว เราก็อยู่ได้ ทรัพยากรที่มีอยู่อุดมสมบูรณ์มันจะช่วยให้เราอยู่รอด แล้วทำให้คนตระหนักว่าสังคมไทยต้องกลับคืนมาสู่สังคมของการผลิต โดยเฉพาะต้นทุนที่เรามีอยู่คือ เกษตรกรรม อุตสาหกรรมที่เข้ามาต้องหนุนช่วยเรื่องเกษตรนี่แหละ ไม่ใช่บ้าเลือดเอาการลงทุนต่างชาติมาสร้างรถยนต์ เครื่องบิน เพราะต่อไปวิกฤตของโลกจะเป็นเรื่องทรัพยากร ไม่ใช่เรื่องพลังงานอย่างเดียว เราไม่ใช่ครัวของโลกเพียงอย่างเดียว เราเป็นแหล่งเลี้ยงโลกได้เลย ตรงนี้เรามองไม่เห็น เหมือนนกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ นี่คือส่วนดี”

สัจนิยม ปะทะ สิทธินิยม

น้ำเน่าเขาวงกต...วงการนักคิด นักเขียน

ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ แบ่งสภาพการณ์ของวงการนักคิด นักเขียน และปัญญาชนของไทยในปัจจุบันออกเป็น 2 ขั้ว คือ สายสัจนิยมและสายสิทธินิยม ตามที่ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ได้บัญญัติไว้ และขยายความต่อว่า ความขัดแย้งของนักคิด นักเขียน มีอยู่ 2 อย่าง คือ ความขัดแย้งที่เป็นปฏิปักษ์ และความขัดแย้งที่เป็นเอกภาพ

"ปฏิปักษ์คือเป็นศัตรูแน่ๆ ใช้ท่าทีสับแหลกฟันเละ แต่ขัดแย้งที่เป็นเอกภาพ เพราะความไม่รู้ แต่เขามีความดีอยู่ มีความขัดแย้งเพราะความไม่เข้าใจ ก็ต้องใช้ท่าทีแบบแสวงหาแนวร่วมสงวนจุดต่าง รอจังหวะที่มาคุยกัน เราไม่ถือว่าเป็นศัตรู แสวงหาความจริงและมีจุดยืนที่ถูกต้อง

"ผมต้องการให้นักคิด นักเขียน กวี คนทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมมานั่งพูดคุยกัน ลดท่าทีแบบเสียดเย้ยต่อกันลง ซึ่งบางทีก็รำคาญ เคยมีความพยายามที่จะมานั่งคุยกันแต่ไม่ประสบความสำเร็จสักที หรือเพราะเรายังใช้ความพยายามไม่มากพอก็ได้ ซึ่งถ้าพูดกันไม่รู้เรื่องก็ไม่รู้เรื่องไป ปล่อยเขาไป เขาก็รู้เรื่องด้วยตัวเองไป

"ผมไม่หวังในจุดนี้ เพราะเขามีชุดความคิดของเขาอยู่แล้ว เรื่องที่ผมพูดไม่ใช่ว่าไม่เคยพูดมาก่อน อย่ามาดูผม ให้อ่านงานของผม ถึงจุดนี้มันคุยกันไม่รู้เรื่องแล้ว เขามีข้อสรุปของเขาอยู่แล้ว สำหรับผมพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดได้ถ้ามันมีเหตุมีผล

"ซึ่งผมยืนหยัดว่าผมเป็น 'นักสัจนิยม' ผมคิดว่าผมได้ดูมาแล้วในความเป็นจริงที่เป็นอย่างนี้ มันเป็นประจักษ์ เป็นสิ่งที่ปรากฏ ทำให้เราสรุปได้ว่ามันเป็นความจริง เป็นเหตุเป็นผล เป็นอิทัปปัจจยตา มีเหตุผลที่มันต่อเนื่องกัน เพราะเหตุอย่างนี้มันจึงเป็นอย่างนี้ๆ ในยุคนี้มีภาคส่วนของสังคมเยอะแยะปรากฏขึ้นมา ซึ่งมากกว่ายุค 14 ต.ค. 2516 ซึ่งตอนนี้ก็มีมากขึ้นๆ" เนาวรัตน์ อธิบาย

การประกาศตัวของภาคส่วนเหล่านี้ เนาวรัตน์มองเป็น "การตื่นรู้" ซึ่งต่างกับอีกฝ่ายหนึ่ง แม้มีคนมากหรืออะไรก็ตามแต่เป็น "การตื่นหลง" สำหรับวงการสื่อมวลชน เนาวรัตน์วิเคราะห์จากที่เป็นอยู่ว่า ทุกวันนี้ไม่มีฐานันดรที่ 4 อีกแล้ว เพราะเลยจากจุดนั้นไปแล้ว สื่อมวลชนได้กลายเป็นเครื่องมือของนายทุนไปแล้ว "ทุกวันนี้สื่อไม่ได้อยู่ได้ด้วยคนอ่านอีกแล้ว แต่อยู่ได้ด้วยทุน ด้วยค่าโฆษณา มีวิธีพลิกแพลงเอาประโยชน์จากงบประมาณของรัฐ

"นี่ผมถือว่าไม่ใช่สถาบันของสื่อที่เป็นปากเสียงของประชาชนอีกแล้ว ต้องยอมรับว่าปัญหาเรื่องทุนเรื่องอะไรนี่มีอยู่ นอกจากปฏิรูปสื่อแล้ว สื่อก็ต้องไปร่วมปฏิรูปในด้านอื่นๆ ด้วย ตอนนี้วงการวรรณกรรมและกวีมันเกิดปรากฏการณ์น้ำเน่าเขาวงกต ไม่ว่าจะเป็นการประกวดต่างๆ การประกวดนั้นมันดี ใครๆ ก็รู้

"แต่ข้อเสียที่ผมเรียกว่าน้ำเน่าเขาวงกต มันก็คือนักเขียนและกวีต่างหัวปักหัวปำกับการแจ้งเกิดบนเวทีประกวด พอไม่ได้รางวัลก็หัวฟัดหัวเหวี่ยง นักอ่านก็จ้องแต่อ่านงานรางวัล ผู้พิมพ์ก็จ้องแต่พิมพ์ส่งประกวด พอได้รางวัลถึงจะพิมพ์เพิ่ม สถาบันที่จะซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดก็ตั้งงบแต่จะซื้อหนังสือที่ได้รางวัลจากการประกวด

"รวมถึงหน่วยงานที่ต้องการสนับสนุนเรื่องงานวรรณกรรมก็จัดประกวดทุ่มเงินรางวัลบลัฟแข่งกัน ผมว่านี่คือน้ำเน่าเขาวงกต แต่ไม่ได้ปฏิเสธการประกวด มีไปเถอะ ดี แต่ว่ามันต้องมีเวทีอื่นๆ บ้าง เช่น ค่ายวรรณกรรมเยาวชน ซึ่งก็เริ่มมีขึ้นแล้ว ในแวดวงวรรณกรรมเรายังขาดงานอีก 2 ด้าน คืองานวิจารณ์ ซึ่งไม่จำเพาะงานวิจารณ์วรรณกรรมแต่งานศิลปะด้วย เราไม่มีนักวิจารณ์ ถึงมีก็ไม่ได้ทำงานตรงนี้เท่าที่ควร วังวนแบบนี้ วรรณกรรมเราก็เป็นอย่างนั้นไปด้วย"

ในสถานการณ์ที่นักคิดและปัญญาชนหัวก้าวหน้ายุคปัจจุบันนี้ปะทะกันทางความคิดที่มีต่อความเป็นไปของบ้านเมือง เนาวรัตน์ บอกว่า มีคำหนึ่งที่กล่าวว่า "หนุ่มสาวถ้าไม่ขบถก็ไร้ใจ สูงวัยยังขบถอยู่ก็ไร้สมอง" เพราะฉะนั้น ท่าทีที่แสดงออกมาต้องรัดกุมและศึกษาอย่างรอบคอบ

"ใจก็หมายถึงท่าที จิตใจขบถนั้นมีแต่ท่าทีนั้นก้าวร้าวรุนแรง ตอนนี้ต้องมาทำความเข้าใจและปรับท่าที ไม่ใช่ท่าทีแบบหัวขบถรุนแรง กูจะค้าน ตะบัน แน่นอนในสมัยหนึ่งเราก็มีอารมณ์อย่างนั้น คัดค้านความไม่ถูกต้อง อะไรที่มันไม่เข้าท่าเราเอาด้วยทั้งนั้นแหละ แต่ตอนนี้ศัตรูมันเปลี่ยนโฉมไปแล้ว มีทั้งศัตรูที่ลื่นไหลและมองไม่เห็น

"คุณไปฝังหัวอยู่กับขุนศึกศักดินา คนหนุ่มสาวจะไม่ชอบอะไรที่เป็นแบบเป็นแผน เบื่อพวกเก่าครำครึและต้องการหาตัวตนของตัวเอง การปฏิเสธอะไรที่เขาว่าดี เรารู้สึกว่าได้ปรากฏขึ้นซึ่งตัวเรา ถ้าไปอยู่ในนั้นก็รู้สึกว่าต้องตามเขาไป แต่การได้ขบถ รู้สึกเราเป็นตัวของตัวเองขึ้นมา โดยเราไม่ได้สนใจเนื้อหาสาระ เอาแต่ท่าที ตรงนี้ที่บอกว่าปัญหาเรื่องท่าที ผมไม่ปฏิเสธเรื่องท่าที เพียงแต่ว่าอยากให้มาคุยเรื่องเนื้อหาสาระกันจริงๆ ว่า อะไรคือศัตรู อะไรคือหลักการ"

เนาวรัตน์สะท้อนสภาพการณ์ศิลปวัฒนธรรมของเมืองไทยถูกกำหนดด้วย 2 ภาคส่วนเท่านั้น 1.รัฐบาล 2.เอกชน ฉะนั้น การปฏิรูปด้านศิลปวัฒนธรรมให้สำเร็จต้องมีภาคประชาชนเข้ามาเพื่อให้ได้สมดุล "อย่างวิทยุโทรทัศน์ร้อยสถานีเปิด 24 ชั่วโมง สามารถทำลายรสนิยมคนภายในไม่ถึงชั่วอายุคนได้ เพราะสองภาคส่วนนี่เป็นตัวกำหนดและมาเอื้อกันระหว่างภาครัฐกับเอกชน ก็ไม่ว่ากัน ทำกันไป

"แต่ภาคประชาชนไม่มีโอกาสในส่วนนี้ จากประสบการณ์ที่ผมทำศูนย์สังคีตศิลป์ พบว่ารากเหง้าของศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านพื้นถิ่นก็ไม่มีโอกาสตรงนี้ เขาไม่มีพื้นที่เลยถ้าหากไม่มีงานบุญประเพณี ปล่อยให้ตายไปกับยุคสมัย และขาดการพัฒนาเพราะไม่มีพื้นที่ ภาครัฐภาคเอกชนไม่มีพื้นที่ให้เขา ส่วนศิลปินรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์เขาก็ถูกจำกัดพื้นที่ ถูกเซ็นเซอร์อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะสายภาพยนตร์

"แน่นอนเขาอาจจะเกินเลยนอกคอกรุนแรงก้าวร้าว แต่ก็คุยกันได้ไม่จำเป็นต้องไปจำกัดพื้นที่ของเขา"

"มาดูทางเกาหลี ด้านศิลปวัฒนธรรมรัฐบาลเขาช่วยครึ่งหนึ่ง เพราะฉะนั้นเขาเลยพัฒนา 30 ปีที่สร้างกันมา หนังเกาหลี ละครเกาหลี อาหารเกาหลี ก็เข้ามาตีตลาด แม้กระทั่งวัฒนธรรมเนื้อย่างเกาหลี เพราะรัฐเขาให้พื้นที่สำหรับผู้สร้างสรรค์และพวกของเก่า

"แต่บ้านเราไม่มี รัฐมีข้อจำกัด เป็นราชการที่งุ่มง่ามไม่ทันการณ์ ติดระเบียบแบบแผนเยอะแยะ แล้วถูกเอกชนครอบงำทำให้พื้นที่ภาคประชาชนไม่มี ทุกคนต้องการพื้นที่ แน่นอนภาครัฐต้องสนับสนุนการปฏิรูปนี้ ผลักดันให้รัฐเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชน เรามีมูลนิธิสร้างเสริมศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชนเรียบร้อยแล้ว"