posttoday

“อลเวง”จากห้องร้องทุกข์ นายกฯช่วยด้วย

31 ตุลาคม 2557

“...ช่วยไล่สามีออกจากข้าราชการตำรวจหน่อย เพราะมันมีเมียน้อย ดิฉันทนไม่ไหวแล้ว”

เรื่อง..เลอลักษณ์ จันทร์เทพ

เหตุอลหม่าน วุ่นวาย ผสมรอยยิ้ม ดีใจ หรือแม้แต่เสียงร้องไห้โฮ ทุกอารมณ์ความรู้สึกล้วนมาเกิดที่ ลานกว้างชั้นล่างของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. ซึ่งตั้งอยู่บริเวณ ถนนพิษณุโลกฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล จากที่นั่งรับประทานอาหารของข้าราชการ แปรสภาพเป็น"อาคารร้องทุกข์"ชั่วคราวของประชาชน โดยมีเจ้าหน้าที่จาก 20 กระทรวงและ อีก 2 หน่วยงาน จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)และสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เรียกได้ว่าครอบคลุมทุกเครือข่ายของปัญหา
     
การทำงานอย่างบูรณาการของศูนย์ร้องทุกข์ดังกล่าว ผ่านไปเพียงแค่ 4 วัน พบว่ามีประชาชนเข้ามาร้องทุกข์แล้ว 439 ราย และปัญหาร้องทุกข์ที่พบมากที่สุดคือ ปัญหาหนี้สิน ที่ดินทำกิน และข้อกฎหมายต่างๆ เรื่องทั้งหมดดูแล้วน่าจะปวดหัว ชวนเครียดกันไม่น้อย แต่หนึ่งในเรื่องเครียดก็มีทั้ง เรื่องคาดไม่ถึง ออกอาการตลกร้ายปะปนกันไปอยู่ไม่น้อยชนิดที่เจ้าหน้าที่ต้องพลิกหาวิธีการเยียวยากระทันหัน
   
วิเชษฐ์ รังสีประเสริฐสิน นักวิชาแรงงานประจำกระทรวงแรงงาน หนึ่งในเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้มารับเรื่องราวร้องทุกข์ เล่าให้ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์ฟังว่า ตั้งแต่เข้ามารับหน้าที่ให้มาประจำรับเรื่องราวร้องทุกข์นอกสถานที่(กระทรวงแรงงาน) ถือว่าได้ประสบการณ์แปลกใหม่มากขึ้น และจะต้องปรับตัวตั้งสติให้มากขึ้น
    
ก่อนอื่นเราต้องบอกกับตัวเองก่อนว่า“ต้องพยายามทำความเข้าใจกับประชาชนให้มากขึ้น เพราะแต่ละคนจะมีปัญหาไม่ซ้ำกัน ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา ตีปัญหาให้แตก และที่สำคัญทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้ที่มาร้องทุกข์รู้สึกพึงพอใจกับคำตอบและแนวทางการแก้ไขมิเช่นนั้นจะเกิดปัญหาอย่าง ป้าสังเวียน ที่มาเรียกร้อง และทำร้ายตัวเองอีก”

นักวิชาการแรงงาน สำทับข้อมูลที่พบเจอให้ฟังต่อไปว่า ประชาชนส่วนใหญ่ที่เดินทางมาร้องเรียนนั้นจะเน้นหนักไปเรื่องของข้อกฎหมายเป็นหลัก และที่เน้นมากๆคือเรื่องหนี้สินเงินทอง ที่ทำกิน รวมทั้งเรื่องของสิทธิการรักษาสุขภาพ เป็นต้น ขณะที่รูปแบบการทำงานของเจ้าหน้าที่แต่ละคนนั้นจะต้องมีเทคนิคเฉพาะตัวในการให้คำปรึกษา เพราะบางคนมาร้องไห้ฟูมฟายมาเลย เราก็ต้องมีทั้งปลอบไป ให้คำปรึกษา หาทางแก้ไขปัญหากันไป
     
ส่วนตัวบางเรื่องก็ต้องให้คำมั่นสัญญา ยกนิ้วก้อยสัญญา(พลางยกนิ้วก้อยขึ้นมาโชว์ท่าทางพร้อมด้วยรอยยิ้ม) กันบ้างก็มีเพื่อให้คนที่มาร้องทุกข์ได้สบายใจ ผ่อนคลายความวิตกกังวลไปบ้าง และจะได้จบเรื่องราวนั้นๆไป เพราะบางรายต้องเวลาให้คำปรึกษาร่วมชั่วโมงก็มี พอจบเรื่องนั้น ก็มีเรื่องนี้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่จบไม่สิ้น ประหนึ่งว่า คนคนเดียวแบกปัญหาไว้ทุกอย่าง เช่น มีผู้ชายคนหนึ่งเดินเข้ามาตามปกติ ผ่านขั้นตอนการตรวจระบบรักษาความปลอดภัยแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ตรงจุดกลั่นกรองรู้ว่า ชายคนนี้ค่อนข้างมีปัญหาทางสภาพจิต แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้จึงช่วยกันคอยสังเกตกันอยู่ห่างๆ

จากนั้นชายคนนี้ก็จะเดินไปปรึกษาเจ้าหน้าที่ทุกกระทรวง เริ่มจากกระทรวงสาธารณสุขก่อน โดยไปปรึกษาว่าจะทำอย่างไรไม่ได้ทำงานแล้ว ประกันสังคมก็หมดสิทธิ์ ใช้ ส่วนบัตรทอง 30 รักษาทุกโรคก็ไม่มี เพราะขณะนี้ไม่มีบ้านอยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง เร่ร่อนไปทุกที่ไม่ซ้ำกัน นอนตามสถานีตำรวจบ้าง ด้านล่างแฟลตตำรวจบ้างก็มี จึงเป็นเหตุให้ไม่มีทะเบียนบ้าน หรือที่พักอาศัยเป็นหลักเป็นแหล่ง
      
ต่อมา ชายคนดังกล่าวก็เดินมาที่กระทรวงแรงงาน และขอให้ผมช่วยจัดหางานให้หน่อย อยากให้รัฐบาลช่วยเรื่องงาน พร้อมที่อยู่อาศัยด้วยนะ แม้แต่เรื่องอาหารการกินก็เอาด้วย ผมทำอะไรไม่ได้ได้แต่พยักหน้า ให้คำปรึกษาไปบ้าง ยิ้มรับไปบ้าง พอเสร็จเรื่องนี้ก็เดินไปเจอป้ายกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็หันมาถามว่าแล้วกระทรวงนี้หละจะปรึกษาเรื่องอะไรได้บ้าง เพราะรัฐบาลต้องช่วยประชาชนทุกเรื่องสิ แล้วชายคนนั้นก็เดินวนไปวนมา ไปหาเจ้าหน้าที่ทุกกระทรวง แต่เจ้าหน้าที่ก็ดี ขำขำกันไป ถือว่าคลายเครียดกันไปบ้าง
     
เจ้าหน้าที่ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แผนกคัดกรองเรื่องราวร้องทุกข์ เล่าให้ฟังว่าในแต่ละวันประชาชนที่เดินทางมาร้องเรียนมีหลากหลายมาก มีทั้งมาแบบคนเดียว มาเป็นหมู่คณะ บางคนก็มีปัญหาทางจิตมาด้วยก็มีแต่เราก็ไม่ได้ไล่เขา ก็ส่งเจ้าหน้าที่ไปคุยทุกคน แล้วแต่เทคนิคที่จะจัดการกับปัญหาของแต่ละคน เพราะบางคนมาร้องเรียนเรื่องแปลกๆ ขำๆ เช่น ให้นายกรัฐมนตรีช่วยหาภรรยาให้หน่อย เจ้าหน้าที่ก็อึ้ง เออ แล้วจะช่วยยังไงหละ เลยแนะนำแบบแกมตลกๆไปว่า “ให้คุณไปที่สำนักงานเขตนะ และขอค้นทะเบียนราษฎร์ดูว่าบ้านไหนยังมีคนที่ใช้คำนำหน้าว่า “นางสาว” บ้างก็ให้พอไปขอซะ บางราย มาบอกว่าเป็นทหารผ่านศึกมาไปรบที่เกาหลีมา จะเดินทางไปรัฐเซีย ขอเงินสนับสนุนบ้าง ถามว่าจะไปยังไงบ้าง เราก็แนะนำว่าให้เดินตรงไปเรื่อยๆเดี๋ยวก็เจอทางไปรัสเซียเอง แล้วเขาก็หายไปเลย ฮ่าฮ่า
     
อีกรายมีสติดี แต่กลุ้มอกกลุ้มใจ ร้องไห้มา แล้วบอกว่าเจ้าหน้าที่ว่า“ขอร้องเรียนให้หน่วยงานภาครัฐ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม ช่วยไล่สามีออกจากข้าราชการตำรวจหน่อย เพราะมันมีเมียน้อย ดิฉันทนไม่ไหวแล้ว”
     
นี่เพียงผ่านไปเพียงแค่ 4วันเท่านั้น เรื่องตลกร้าย เรื่องอลเวงยังมีขนาดนี้ ต่อไปเมื่อเป็นศูนยืรับเรื่องราวร้องทุกข์ซึ่งมีแนวโน้มจะให้สำนักงานกพ.ปรับโฉมให้เป็นศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ถาวร  คงมีเรื่องราวแปลกใหม่รอให้เจ้าหน้าที่พลิกตำราแก้ไขสถานการณ์มากว่านี้เป็นแน่
    
ปัญหาที่เกิดขึ้น ในบางมุมบางคนอาจมองว่าตลกไร้สาระ แต่คนที่เจอปัญหาอาจไม่ใช่เรื่องตลกสำหรับเขา
     
โดยเฉพาะคนที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ที่กำลังเผชิญสารพัดปัญหาของบ้านเมือง ตั้งแต่”ปัญหาไม้จิ้มฟันยันเรือรบ “ ก็คงต้องหาทางแก้ไขให้สังคมดำเนินไปด้วยความสงบเรียบร้อย.
 
สำหรับผลการดำเนินการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในรอบ 4วัน พบว่ามีประชาชนมาร้องทุกข์รวม 439 ราย แบ่งออกเป็น 1.ตั้งใจมาร้องเรียนโดยตรง 345ราย 2.เจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษา 46 ราย และ 3.มาปรึกษาเจ้าหน้าที่แล้วไม่ติดใจร้องเรียน 18ราย ดังนั้นรับเรื่องร้องเรียนไว้ 345 ราย โดยเฉลี่ยรับเรื่องวันละ 100เรื่อง อันดับ 1ที่ร้องเรียนคือปัญหาหนี้สิน 2.ที่ดินทำกิน3.ข้าราชการรังแกประชาชน(บุกรุกที่ดิน) กระทรวงยุติธรรมมีคนร้องเรียนมากสุด 52 ราย รองลงมามหาดไทย 46 ราย กระทรวงการคลัง 31 ราย และกระทรวงอื่นๆอีกกระทรวงละ 8-10 ราย แต่กระทรวงต่างประเทศไม่พบว่ามีการร้องเรียน
     
ขณะที่ปัญหาที่พบคือในส่วนของสถานที่คับแคบ และเรื่องของระบบไฟฟ้ายังไม่สว่างเพียงพอจึง ซึ่งเจ้าหน้าที่จะทำหนังสือเสนอต่อนายกรัฐมนตรี โดยจะขอใช้สำนักงานก.พ.แห่งนี้เป็นศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ถาวร และเตรียมขยายพื้นที่ไปยังชั้น 1 อาคาร ก.พ. ด้านหน้า