posttoday

"นิธิ เอียวศรีวงศ์" ปฏิรูปการศึกษาส่อแววล่ม

29 ตุลาคม 2557

ทั้งหมดเหล่านี้เป็นไปได้จะต้องมีเจตจำนงที่กล้าพอที่จะทำ หรือ Political Will แต่สังคมไทยไม่มีเจตจำนงนี้

โดย...เจษฏา จี้สละ

นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันที่มีรัฐบาลชั่วคราวเข้ามาบริหาร โดยมีวาระเร่งด่วนสร้างความปรองดองและปฏิรูปประเทศ การปฏิรูปการศึกษา เป็นประเด็นอันดับต้นๆ ถูกให้ความสำคัญ โดยคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมจัดทำข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาไว้ 7 เรื่อง อาทิ ปรับโครงสร้างการบริหาร เปิดให้ประชาชนมีส่วนกำหนดนโยบาย ปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอน ครูและบุคลากร ตลอดจนกระจายโอกาสทางการศึกษา เป็นต้น

ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ แสดงมุมมองต่อการปฏิรูปการศึกษาผ่านโพสต์ทูเดย์ โดยเริ่มที่ข้อเสนอการเพิ่มอำนาจให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคลเพื่อบริหารจัดการตัวเอง ซึ่ง ศ.นิธิ มองว่าเป็นหนึ่งในเรื่องที่ควรทำ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือควรเพิ่มอำนาจการตัดสินอนาคตของสถานศึกษาให้แก่ผู้ปกครองประมาณ 50% ควบคู่ไปกับผู้เชี่ยวชาญด้วย ไม่ว่าจะมาจากส่วนกลางหรือจังหวัดก็ตาม ซึ่งการกระตุ้นในลักษณะนี้เป็นการปฏิรูประบบบริหาร จากเดิมที่ผูกขาดอยู่กับส่วนกลางและผู้บริหารโรงเรียนเพียงอย่างเดียว

ขณะเดียวกัน ข้อเสนอให้มีการใช้คูปองการศึกษา หากนำมาเชื่อมโยงกับการให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล จะเป็นอีกเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มอำนาจการตัดสินของผู้ปกครอง เพราะโรงเรียนต้องยอมต่อความต้องการของผู้ปกครองมากขึ้น อย่างไรก็ตาม รูปแบบนี้จะออกมาในลักษณะธุรกิจและไม่ได้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะพ่อแม่ที่มีฐานะดีย่อมนำคูปองไปซื้อโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ซึ่งไม่มีทางรับลูกของคนระดับล่าง การจัดการด้วยธุรกิจจึงมีปัญหาไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้

“ระบบธุรกิจนำมาซึ่งการแข่งขัน แต่ขณะนี้โรงเรียนมีการแข่งขันกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะโรงเรียนรัฐบาล ถามว่ามีมากพอต่อความต้องการของเด็กหรือไม่ คำตอบคือไม่ ในชนบทอาจพอแต่ในเขตเมืองยังไม่เพียงพอ เนื่องจากสังคมไทยกลายเป็นเมืองไปแล้ว ดังนั้นโรงเรียนจำเป็นต้องแข่งขันเพื่อหานักเรียนเพิ่มไหม ไม่ต้อง เพราะอย่างไรก็มีผู้มารับบริการ แต่จะไปแข่งกันที่จำนวนผู้ใช้บริการที่มีฐานะดี ซึ่งมีจำนวนน้อย” ศ.นิธิ กล่าว

ศ.นิธิ ชี้ว่า การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาต้องทำให้โรงเรียนถูกควบคุมและกดดันจากผู้ปกครอง แต่ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องมีอำนาจจากส่วนกลางช่วยกำกับ ช่วยกดดันให้โรงเรียนต้องแข่งขัน ตัวอย่างเช่น ประเทศอังกฤษมีคณะกรรมการการอุดมศึกษาคล้ายกับทบวงของไทยให้เงินอุดหนุนมหาวิทยาลัยรัฐ โดยวัดจากเกณฑ์การประเมินต่างๆ เป็นการบีบสถาบันการศึกษาสองทาง เพราะไม่ใช่แข่งกับมหาวิทยาลัยด้วยกันเอง แต่แข่งกับรัฐบาลด้วย

นักวิชาการอิสระผู้นี้เสนอว่า การปฏิรูปการศึกษาต้องเริ่มจากการบริหารทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่น จัดสรรอำนาจไปยังโรงเรียน แต่ต้องไม่ตอบสนองต่อส่วนกลางหรืออธิบดีกรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอย่างเดียว

นอกจากนี้ จะต้องปรับหลักสูตรให้ทันกับโลกสมัยใหม่ โดยเน้นให้มีการคิดแก้ปัญหาคล้ายกับหลักการของโรงเรียนสาธิตที่ต้องการทดลองวิธีการใหม่ๆ แล้วนำไปขยายต่อโรงเรียนอื่นๆ แต่โรงเรียนสาธิตทุกวันนี้ไม่ใช่เช่นนั้น เป็นแค่โรงเรียนสำหรับอภิสิทธิ์ชน

ขณะเดียวกัน ยังต้องปรับการศึกษาครูใหม่เพื่อพัฒนาศักยภาพของครู ตัวอย่างเช่น ประเทศนิวซีแลนด์ปฏิรูปการศึกษาโดยการเปลี่ยนหลักสูตรที่ใช้สอนครู ทั้งครูที่ปฏิบัติการและนักศึกษาที่จะเป็นครูในอนาคต แม้จะทำงานไปแล้วก็จะต้องจัดอบรมใหม่ตลอด เปลี่ยนวิธีการให้รางวัลใหม่ โดยชี้วัดจากผลการเรียนของนักเรียน

ศ.นิธิ กล่าวต่อไปว่า กระบวนการต่างๆ เหล่านี้ไม่อาจปฏิรูปโดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เท่านั้น เนื่องจากการฝึกหัดครูหลุดจาก ศธ.ไปสังกัดกับราชภัฏนานแล้ว โรงเรียนฝึกหัดครูจริงๆ แทบไม่เหลือแล้ว ประเด็นที่ต้องคิดต่อมาคือควรหรือไม่ที่มหาวิทยาลัยต่างๆ จะเป็นผู้นำ ซึ่งสุดท้ายก็ไม่พ้นกลุ่มคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์

“คุณต้องปรับวิธี มหาวิทยาลัยก็ต้องหาวิธีคิดให้มันแข่งกันเองได้ ทั้งหมดเหล่านี้เป็นไปได้จะต้องมีเจตจำนงที่กล้าพอที่จะทำ หรือ Political Will แต่สังคมไทยไม่มีเจตจำนงนี้ มันจะเกิดขึ้นได้ต้องมองเห็นความฉิบหายของการศึกษาไทย และมีความคับข้องใจว่าจะต้องทำอะไรสักอย่างจึงทำให้คณะรัฐประหารชุดนี้หยิบประเด็นการศึกษามาตั้งแต่ต้นๆ เพราะรู้ว่าคนทั่วไปคิดว่าไปไม่รอดแล้ว” ศ.นิธิ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงโอกาสที่การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้จะไปรอดหรือไม่ ศ.นิธิ ชี้ชัดว่าไม่ เพราะคิดว่าคณะรัฐประหารเหมือนกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหลาย ไม่มีเจต จำนงทางการเมืองที่กล้าแข็งพอที่จะเผชิญกับปัญหาเหล่านั้น ยิ่งนักการเมืองมีความสามารถหนึ่งที่ทหารไม่มี คือการโน้มน้าวคนได้เก่งกว่า ขณะที่รัฐประหารไม่มีทักษะในการโน้มน้าวคน

“ถ้าดูจากที่เขาพูดตลอดมา ตั้งแต่ 22 พ.ค. จนถึงทุกวันนี้ มีแต่การพูดเพื่อสร้างศัตรูให้กับตนเองมากขึ้นๆ ซึ่ง Political Will จะเกิดขึ้นได้มันจะต้องมีเสียงหนุนหลังมากพอ” ศ.นิธิ กล่าวทิ้งท้าย

ปั้นเด็กเก่งเอาหน้าเด็กโง่ถูกทอดทิ้ง

ศ.นิธิมองว่า นโยบายการศึกษาของไทยมุ่งเน้นเฉพาะการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไม่ได้มุ่งเน้นที่ตัวผู้เรียนเป็นหลัก เช่น เสียงบประมาณจำนวนหลายล้านเพื่อส่งนักเรียนไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ แต่ค่าเฉลี่ยการศึกษาไทยกลับต่ำสุดในอาเซียน

"คุณไม่สนใจว่าเด็กที่ไม่ได้ไปแข่งโอลิมปิกวิชาการว่าเป็นอย่างไร แต่สนใจเด็กที่ได้เหรียญทองโอลิมปิกวิชาการ ซึ่งสุดท้ายไม่มีประโยชน์ต่อระบบการศึกษา นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อเด็กที่ไปแข่งขันเท่านั้นเอง"

นักวิชาการอิสระผู้นี้ ชี้ว่าระบบคิดเหล่านี้ย่อมไม่ได้เกิดจากกลไกในระบบการศึกษา แต่โยงกับวัฒนธรรม เรานิยามคำว่า "โง่-ฉลาด"เหมือนเป็นคุณสมบัติที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งถ้าคิดแบบนี้ฉิบหาย จะมีคนที่ถูกทิ้งเยอะมากเพราะคิดว่าเด็กไทยบางคนเก่งฉลาดระดับโลกไม่ควรจะสูญเสียไป แต่ในความเป็นจริงคือต้องคิดถึงคนที่ไม่ใช่ไอน์สไตน์ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ใช่ไอน์สไตน์

ศ.นิธิ มองว่า ทางออกของปัญหานี้มีสองทางคือ 1.การเคี่ยวเข็ญ ไม่ว่าจะแบบฉลาดหรือไม่ฉลาด โดยต้องสรรหาวิธีการสอนที่จะทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษาที่เลวร้ายให้ได้ แต่การเคี่ยวเข็ญลักษณะนี้เด็กจะไม่มีความสุข

2.การศึกษาทางเลือก ซึ่งเมื่อพูดถึงการศึกษาคนจะนึกถึงมหาวิทยาลัย แต่แท้จริงแล้วชีวิตมนุษย์ยังเรียนรู้จากแหล่งอื่น เช่นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต รายการโทรทัศน์และห้องสมุด ฯลฯ ที่สำคัญคือไม่ค่อยนึกถึงการเรียนรู้ในชีวิต ซึ่งในส่วนนี้สังคมไทยมีน้อยมากเหมือนลืมคิดถึงแนวทางนี้ไป