posttoday

"แฟนบอลตีกัน" ความรุนแรงนอกสนามสู่วาระแห่งชาติ

28 ตุลาคม 2557

เมื่อปัญหาทะเลาะวิวาทระหว่างแฟนบอลในศึกลูกหนังไทยพรีเมียร์ลีกมาถึงจุดที่ต้องปฏิรูป

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล

ไม่ว่าจะด้วยความไม่พอใจผลการตัดสินของกรรมการ อารมณ์เร่าร้อนคึกคะนอง มึนเมาระหว่างเกม หรือคลั่งไคล้เทิดทูนสโมสรสุดรักชนิดฝังในสายเลือด จนขาดสติยับยั้งชั่งใจ ขาดสำนึกในความเป็นมืออาชีพ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาแฟนบอลตีกันในศึกลูกหนังไทยพรีเมียร์ลีก กำลังนำพาให้วงการฟุตบอลไทยถอยหลังลงคลอง

เกมจบ คนไม่จบ

ควันหลงหลังแมตช์อื้อฉาวระหว่างสโมสรเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ดกับสิงห์ท่าเรือ เอฟซี ณ สนามเอสซีจี สเตเดี้ยม เมื่อ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา

บอลจบ แต่อารมณ์แฟนบอลไม่จบ กลายเป็นความรุนแรงนอกสนามที่วิวาทบาดถลุงกันอย่างดุเดือดจนบาดเจ็บสะบักสะบอมกันทั้งสองฝ่าย

ภาพเหตุการณ์ทั้งหมด สร้างความสลดหดหู่ใจให้แก่ผู้ทราบข่าวเป็นอย่างยิ่ง

“ภาพที่เราเห็นแฟนบอลจูงมือลูกหลานมาเชียร์ทีมรักของตัวเองเป็นภาพลักษณ์ที่ดี แต่จากเหตุการณ์วุ่นวายที่เพิ่งเกิดขึ้นกำลังทำให้ฟุตบอลลีกอาชีพของเรากลับไปสู่จุดเริ่มต้น ปัญหาแฟนบอลตีกันเป็นสิ่งที่ทำให้มนต์เสน่ห์ของการแข่งขันฟุตบอลลีกบ้านเราที่กำลังเติบโตอาจต้องพังลงได้”สกล วรรณพงษ์ รองผู้ว่าการ ฝ่ายกีฬาอาชีพและสิทธิประโยชน์ การกีฬาแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์สื่อด้วยน้ำเสียงวิตกกังวล

สุรเดช มั่นวิมล คอลัมนิสต์ฟุตบอลไทย มองว่าปัญหาแฟนบอลตีกันเกิดขึ้นมาพร้อมกับกระแสนิยมสุดขีดที่มีต่อไทยพรีเมียร์ลีกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ช่วงเริ่มต้นฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีกหลายปีก่อน คนนึกไม่ออกว่าจะตีกันทำไม แต่ตอนนี้ไทยลีกกำลังโตวันโตคืน แฟนบอลเริ่มอิน คลั่งไคล้สุดๆ ประมาณว่านี่คือทีมของกู นี่คือทีมที่กูรัก ประกอบกับได้รับอิทธิพลการเชียร์จากลีกเมืองนอกที่เจริญแล้ว เช่น ตะโกนยั่วยุ กดดันด้วยการโห่ไล่ เย้ยหยันคู่แข่ง การจุดพลุไฟ หรือแฟลร์ส สิ่งเหล่านี้เป็นแค่อารมณ์ในเกม ประเด็นอยู่ตรงที่ออกนอกสนามแล้วจบรึเปล่า ออกมาแล้วมีปัญหากับใครไหม นี่คือจุดที่จะพิสูจน์ถึงความเป็นมืออาชีพ ความมีน้ำอดน้ำทนของแฟนบอล ปัญหาคือแฟนบอลบ้านเราส่วนใหญ่ทนกันไม่ค่อยได้

เมื่อดูจากสถิติหลายฤดูกาลที่ผ่านมา ปัญหาความรุนแรงในสนาม เช่น นักเตะโดนยั่วจนตบะแตก ไล่ชกคู่แข่ง หรือยกพวกตะลุมบอนมีให้เห็นน้อยลงแล้ว เนื่องจากนักฟุตบอลมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น กลับกลายเป็นว่าเหตุวุ่นวายที่มาจากแฟนบอลกลับเพิ่มขึ้นสวนทางอย่างน่าตกใจ

“ตรงนี้เป็นภาพสะท้อนว่า ถ้าคุณมองลีกฟุตบอลเป็นอาชีพ มันไม่ใช่แค่สโมสร หรือนักฟุตบอลที่ต้องเป็นมืออาชีพ แฟนบอลเองก็ต้องเป็นมืออาชีพด้วย ถ้าทุกคนรู้หน้าที่ แฟนบอลมีหน้าที่เชียร์ ให้กำลังใจทีมตัวเอง ทำทุกอย่างเพื่อให้วงการมันเดินไปข้างหน้า เชื่อว่าอนาคตปัญหาจะลดลง”

"แฟนบอลตีกัน" ความรุนแรงนอกสนามสู่วาระแห่งชาติ

คุมเข้มในสนาม

หลายสโมสรพยายามป้องกันเหตุทะเลาะวิวาทของแฟนบอลด้วยการวางมาตรการอย่างรัดกุม ไม่ว่าจะระดมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตามจุดต่างๆรอบสนามไม่ต่ำกว่า 80 คนต่อเกม แบ่งทางเข้าออกของแฟนบอลทั้งสองทีมไว้อย่างชัดเจน ตรวจค้นอาวุธและสิ่งแปลกปลอมอย่างเข้มงวด กำหนดบทลงโทษรุนแรงต่อแฟนบอลนอกรีตที่ก่อความวุ่นวายในสนาม       

รณฤทธิ์ ซื่อวาจา ผู้อำนวยการสโมสร เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด เผยว่าทุกวันนี้ปัญหาตีกันในสนามแทบไม่มีแล้ว เพราะทีมได้ทุ่มเงินถึง 5 แสนบาทสำหรับการจัดหน่วยรักษาความปลอดภัย รวมถึงคนตรวจตั๋ว รวมกว่า 300 คนต่อนัด นอกจากนี้ยังมีแผนรณรงค์ให้แฟนบอลรับทราบว่าหากฝ่าฝืนทำผิด จับ ปรับจริง ถึงขั้นแบนห้ามเข้าสนาม

“มาตรการป้องกันแฟนบอลตีกันของลีกไทยยังห่างจากลีกชั้นนำของต่างประเทศเยอะ ยกตัวอย่างสนามเอมิเรตส์ สเตเดี้ยมของทีมอาร์เซนอลจะแยกทางเดินของทีมเหย้าทีมเยือนตั้งแต่ทางขึ้นลงรถไฟใต้ดิน รอบสนามมีกล้องวงจรปิดทุกจุด มีตำรวจม้าลาดตระเวนตรวจตรา สมมติถ้าคุณใส่เสื้อทีมเชลซีมา เขาจะเตือนเลยให้สวมเสื้อโค้ททับ แฟนบอลทีมเยือนที่มาคันรถบัสสโมสรก็จะมีการพาเข้าสนามอย่างเป็นระเบียบ

ทางเข้าสนามจะเป็นช่องแคบๆเล็กๆเข้าได้ทีละคน เพื่อให้กล้องบันทึกใบหน้าได้หมด ทุกทีมจะมีตัวแสบ แฟนบอลประเภทฮูลิแกน พวกหัวรุนแรง ระหว่างการแข่งจะมีเจ้าหน้าที่ใส่เสื้อสะท้อนแสงคอยยืนสังเกตพฤติกรรมแฟนบอลบนอัฒจรรย์ คนไหนตะโกนหยาบคาย ชูป้ายต้องห้าม เมาโวยวายก่อความรำคาญ เจ้าหน้าที่จะเข้าชาร์จทันที แล้วนำตัวไปทำประวัติ บ้านเขามีปัญหาแบบนี้มานานนับร้อยปึงมีระบบป้องกันที่ดี แต่บ้านเรายังไม่ถึงขั้นนั้น”เป็นคำอธิบายจากประสบการณ์จริงของ เอก ฮิมสกุล พิธีกรชื่อดังและเจ้าของตำแหน่งแฟนพันธุ์แท้ฟุตบอลโลก

เอกยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เอริค คันโตน่า ตำนานของทีมปีศาจแดง แมนฯยูไนเต็ดกระโดดถีบแฟนบอลคู่แข่ง ณ สนามเซลเฮิร์ส ปาร์คของทีมคริสตัลพาเลซ ในปี 1995 ซึ่งแฟนบอลตัวต้นเหตุนาม แมทธิว ซิมมอนส์ แฟนบอลทีมพาเลซที่เดินลงมาตะโกนด่ายั่วยุถึงริมสนาม ถูกลงโทษสั่งห้ามเข้าสนามตลอดชีวิต

“ไทยลีกใช้วิธีปรับเงินสโมสร แต่กลับไม่ลงโทษแฟนบอลตัวปัญหาอย่างเด็ดขาด อาจแค่แบนไม่กี่นัด พวกนี้ถ้าไม่ใช่แฟนบอลตัวจริงก็คงไม่เดือดร้อน ถ้าไม่มีการทำประวัติ แค่เปลี่ยนทรงผม ใส่แว่นดำ สวมหมวก ก็ไม่มีใครจำได้แล้ว ผมว่าต้องจับ ปรับเงินให้หนัก เอาให้เข็ดหลาบ ให้เกิดความเกรงกลัวเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง”

ปัญหาที่ไม่ควรมองข้ามอีกประการคือ การอนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสนาม แฟนบอลหลายคนเมาขาดสติ เมื่อมีเหตุไม่พอใจผลการตัดสิน หรือถูกยั่วยุจากแฟนบอลฝั่งตรงข้าม จึงง่ายที่จะมีเรื่อง บางสโมสรต้องสั่งห้ามจำหน่ายโดยเด็ดขาด

“บ้านเราเกือบทุกทีมมีเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ให้การสนับสนุนไม่ทางตรงก็ทางอ้อม แต่ลีกเมืองนอก เวลามีแมตช์ใหญ่ๆที่น่าเป็นห่วง เขาเปลี่ยนเวลามาเตะเป็น 11 โมงของวันเสาร์อาทิตย์ พูดง่ายๆคือตื่นมาเตะเลย ไม่งั้นแฟนบอลก็ไปเข้าผับรวมตัวกันเมาก่อนเข้าสนาม อยากให้ทีพีแอล ผู้จัดการแข่งขัน ทบทวนว่าถึงเวลาหรือยังที่จะไม่ให้มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสนาม”

"แฟนบอลตีกัน" ความรุนแรงนอกสนามสู่วาระแห่งชาติ

ผมไม่ใช่ฮูลิแกน

นาทีนี้ ทุกสายตาพุ่งเป้ามาที่ กิเลนผยอง เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด และสิงห์ท่าเรือ เอฟซี สองทีมคู่แค้นแห่งปีที่ทะเลาะวิวาทลุกลามกลายเป็นเรื่องใหญ่โตมาแล้วหลายครั้ง

ลองไปฟังทรรศนะของแฟนบอลทั้งสองทีมที่มีต่อปัญหาความรุนแรงนอกสนาม

มงคล สันติกุล หรือ หมู ท่าเรือ ประธานแฟนคลับสิงห์ท่าเรือ บอกว่าแฟนบอลสิงห์ท่าเรือค่อนข้างจะมีรูปแบบการเชียร์ที่ดุดัน อาจไม่สบอารมณ์แฟนบอลฝั่งตรงข้าม

“สมัยก่อน แฟนบอลท่าเรือที่มาเชียร์ในสนามยังมีไม่ถึง 30 คนด้วยซ้ำ ต่างคนต่างมาสะเปะสะปะ ออกค่าเดินทางกันเอง ทำอุปกรณ์เชียร์กันเอง เพลงประจำสโมสรไม่มียังร้องเพลงลูกทุ่งอยู่เลย ต่อมากระแสไทยลีกเริ่มบูม คนเพิ่มเป็น 500 เป็นพันๆคน เดี๋ยวนี้มีกลุ่มแฟนบอลมากกว่า 12 กลุ่ม เหนียวแน่นมาก

“เราเชียร์ดุ ทีมอื่นอาจไม่สบอารมณ์ เลยมักมีเหตุกระทบกระทั่งกับแฟนบอลเจ้าบ้าน เจตนาจริงๆไม่คิดไปมีเรื่องเลย ผมไปดูบอลเอาลูกไปด้วย ถามว่าถ้าคิดไปมีเรื่องจะเอาครอบครัวไปเสี่ยงทำไม มันเป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้าทั้งนั้น เวลาเห็นพวกโดนทำร้ายจะให้หนีเหรอ ก็ต้องเข้าไปช่วยกันห้ามปราม ตัวผมเองโดนมองเป็นหัวหน้าฮูลิแกน ทั้งที่ไม่เคยออกหน้าตีกับใคร”

หมู ท่าเรือ ยืนยันว่าแฟนบอลทั้ง 12 กลุ่มของสิงห์ท่าเรือจะมีหัวหน้าคอยกำกับดูแลพวกพ้องตัวเอง ใครสร้างปัญหาจะถูกส่งตัวให้สโมสรดำเนินการลงโทษทันที

“แบนห้ามเข้าสนามก็มีบ่อยครับ ส่วนมากพวกที่โดนแบนเข็ดนะ ไม่มีใครโดนคดีซ้ำซาก”

ขณะที่ ปัญญา ปานนาค แห่ง กลุ่ม N-Zone เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด กลุ่มแฟนบอลที่มีชื่อเสียงในรูปแบบการ์เชียร์ที่ฮาร์ดคอร์ เขาบอกว่าการกดดันด้วยการโห่ หรือรบกวนสมาธิฝ่ายตรงข้าม เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นในการเชียร์ฟุตบอลทั่วโลก

“ผมเคยโดนแบนไม่ให้เข้าสนาม 7 นัด กรณีที่ไปมีเรื่องกับสินทวีชัย หทัยรัตนกุล ผู้รักษาประตูทีมชลบุรี เอฟซี ผมก็ยอมรับการลงโทษ รักษากฎด้วยการยืนดูอยู่นอกสนาม ถามว่าการแบนไม่ให้เข้าสนามช่วยอะไรได้ไหม ผมว่าบทเรียนครั้งนั้นมันทำให้เราคิดได้ว่าจะไม่ทำอีก ในฐานะแฟนบอล ตัวเองเสียหายไม่เท่าสโมสรเสียหาย ผมไม่ต้องการให้สโมสรโดนปรับเงิน”

ปัญญาเชื่อว่าการจุดพลุไฟ หรือแฟลร์ เป็นสีสันอย่างหนึ่งที่ทำให้การเชียร์บอลมีอรรถรส

“ถ้าห้ามระหว่างเตะก็โอเค แต่ถ้าหลังเกมล่ะจะใช้ไม่ได้เหรอ จุดเพื่อฉลองกับชัยชนะ บางคนไม่ได้มาสนามเพื่อดูบอลนะครับ บางทีเขาต้องการมาเจอเพื่อน มาปลดปล่อย มาสนุกสนานให้เต็มที่”

ปัจจุบัน กลุ่ม N-Zone มีสมาชิกทั้งขาประจำและขาจรราว 100 ชีวิต ดูแลกันแบบพี่น้อง ให้การเชียร์ฟุตบอลเป็นไปอย่างราบรื่นและอยู่ภายใต้กรอบกติกา

“สโลแกนคือ เราจะไม่ทิ้งกัน เราปกครองกันแบบพี่น้อง เวลาพี่พูด น้องต้องเชื่อฟัง พี่บอกให้หยุด น้องก็ต้องหยุด เวลาเราไปเยือนทีมอื่นก็ต้องคอยดูแลความปลอดภัย คอยห้ามไม่ให้ขว้างสิ่งของลงในสนาม ใครล้ำเส้นก็ต้องปรามกัน พวกเราก็มีแบนออกจากกลุ่มเหมือนกันครับ ถ้าเตือนแล้วไม่ฟัง ฝั่ง N-Zone (North Zone หรือทิศเหนือ) เหมือนด่านแรก เหมือนกันชนที่จะต้องปะทะกับฝั่งตรงข้าม เวลามีเหตุการณ์ปะทะกัน คนจึงมองว่าเราเป็นตัวหาเรื่อง ผมยืนยันเราไม่เคยหาเรื่องใครก่อน แต่ถ้าใครมารังแกพวกเราก่อน เราก็ไม่ยอม”

อย่างไรก็ตาม กรณีที่คณะอนุกรรมการพิจารณามารยาท วินัย และข้อประท้วง ได้พิจารณาลงโทษปรับแต้มทีมละ 9 คะแนน ปรับเงินอีกทีมละ 3 แสนบาท รวมไปถึงห้ามแฟนบอลของทั้งสองทีมเข้าชมในช่วง 3 นัดสุดท้ายของฤดูกาล

หมู ท่าเรือไม่เห็นด้วย บอกว่าการลงโทษครั้งนี้ไร้ซึ่งบรรทัดฐาน ไม่มีการตักเตือนก่อนล่วงหน้า ผลที่สร้างความคลางแคลงใจแฟนบอลอาจทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองทีมแตกแยกร้าวลึกลงไปอีก ส่วนปัญญาแสดงความเป็นห่วงไม่อยากให้ไปถึงขั้นใส่เสื้อต่างสีคือศัตรู เหมือนช่างกลต่างสถาบัน ถึงวันนั้นการเชียร์บอลจะไม่สนุกอีกต่อไป

"แฟนบอลตีกัน" ความรุนแรงนอกสนามสู่วาระแห่งชาติ

สู่วาระแห่งชาติ

ล่าสุด การกีฬาแห่งประเทศไทย ได้เชิญบริษัทไทยพรีเมียร์ลีก หรือทีพีแอล รวมทั้งสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เข้ามาพูดคุยหาทางออกร่วมกัน เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ความวุ่นวายดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต

“กกท.มุ่งพัฒนาสร้างลีกให้เป็นอาชีพอย่างเต็มตัว แต่ที่ผ่านมาอาจยังไม่ได้ให้ความสำคัญในส่วนแฟนคลับเท่าที่ควร จากนี้ไปคงต้องเข้ามาดูแลและพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสโมสร”

สกลเผยว่าการสร้างจิตสำนึกที่ดีให้แก่แฟนบอลถือเป็นสิ่งสำคัญ ชนะก็ดีใจ แพ้ก็พอใจ พอใจในผลงานของทีมรักและมาตรฐานทีม เหล่านี้จะทำให้การพัฒนาฟุตบอลลีกอาชีพในประเทศไทย เติบโตเป็นอาชีพอย่างแท้จริง

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะผลักดันให้ปัญหาแฟนบอลตีกัน ให้เป็นวาระแห่งชาติที่ทุกฝ่ายต้องเข้ามาช่วยกันอย่างจริงจัง