posttoday

"รมต.สุวพันธุ์" ซูเปอร์ข่าวกรองสนองงานปฏิรูป

27 ตุลาคม 2557

วันนี้ทุกคนได้ทำเต็มที่จนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การปฏิรูปเดินหน้า ตอนนั้นทุกอย่างจะดีขึ้น

โดย...ปริญญา ชูเลขา

หนึ่งในรัฐมนตรีที่เก็บตัวเงียบที่สุดใน ครม.ประยุทธ์ 1 เห็นจะเป็น สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

สุวพันธุ์ ถือเป็นข้าราชการอาชีพ ทำงานได้ทุกรัฐบาล โดยเฉพาะในยุคความขัดแย้งการเมืองตั้งแต่ครั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เรื่อยจนถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เขาไม่เคยถูกโยกย้าย เพราะไม่เคยออกตัวแรงเลือกข้างการเมือง สุภาพถ่อมตัว มุ่งเน้นทำงานเป็นหลัก ใช้ความเก่งความเก๋างานด้านวิเคราะห์ข่าวกรองทั้งในและต่างประเทศ สามารถเสิร์ฟงานข่าวปกติและข่าวลับให้กับทุกรัฐบาลได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ได้รับความไว้วางใจจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ร่วมทีม ครม.

แน่นอนภารกิจที่ รมต.สุวพันธุ์ ได้รับมอบหมายจึงหนีไม่พ้นสำนักข่าวกรองแห่งชาติ นอกจากนั้นยังดูแลสำนักงานพุทธศาสนา กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

ล่าสุดครม.ให้เขาทำหน้าที่ประสานงานกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในเรื่องการออกกฎหมายให้สัมฤทธิผล

สุวพันธุ์เปิดใจกับโพสต์ทูเดย์ว่า ในฐานะที่ได้รับความไว้วางใจจากนายกรัฐมนตรี จะทุ่มเทความรู้ความสามารถในงานข่าวกรองที่ผ่านมาอย่างเต็มที่กับงานสนับสนุนงานด้านความมั่นคงทุกมิติ ตอบสนองนโยบายรัฐบาลสำคัญ 4 เรื่อง 1.หยุดยั้งการบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.แก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 3.ปัญหาความมั่นคงภายนอกตามแนวชายแดน รวมถึงอาชญากรรมข้ามชาติ การลักลอบการกระทำผิดกฎหมายทุกรูปแบบ และ 4.การเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย

เขาแจกแจงว่า นโยบายด้านความมั่นคงระดับต้นๆ คือ การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ถือว่าเป็นสถาบันอันสูงสุดของสังคมไทย แม้จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยร่วมกันดูแล แต่สำหรับหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ จะเน้นเรื่องการสืบสวน ใครอยู่เบื้องหลัง ใครเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้นามแฝงหรือชื่อจริง เป็นหน้าที่ของสำนักข่าวกรองแห่งชาติต้องติดตามตรวจสอบ ซึ่งขณะนี้การเคลื่อนไหวบ่อนทำลายไม่ว่าในและต่างประเทศจะเน้นการเคลื่อนไหวในโลกไซเบอร์เป็นหลัก อินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊ก หรือบล็อกต่างๆ ฉะนั้นผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารผ่านโลกไซเบอร์ต้องระมัดระวังในการใช้ดุลพินิจ โดยเฉพาะการเสพข้อมูลจากบุคคลที่ใช้นามแฝงต่างๆ และแม้ในทางเทคนิคไม่อาจสกัดกั้นพฤติกรรมดังกล่าวได้

“การติดตามดำเนินการทำได้ยาก และที่สำคัญการห้าม หรือจะเข้าไปควบคุมการใช้โซเชียลมีเดียในปัจจุบัน ทำไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ควรควบคุมหรือปิดกั้น เพราะมีคนใช้โซเชียลมีเดียกว่า 20 ล้านคน ซึ่งคนเหล่านี้ ถ้าทางภาครัฐปิดเฟซบุ๊ก คนกว่า 20 ล้านคนจะรู้สึกอย่างไร เพียงแต่ว่าสิ่งที่จะทำได้คือการให้ความรู้แก่ประชาชนต้องใช้ดุลพินิจและวิจารณญาณในการเลือกรับข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้อง”

ขณะที่ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับคณะทำงานเจรจาพูดคุยสันติภาพโดยตรง ในการแต่งตั้งหัวหน้าคณะทำงานพูดคุยสันติภาพ แต่ยืนยันว่าเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของฝ่ายไทย หรือนายกรัฐมนตรี จะเลือกใครเป็นหัวหน้าคณะเจรจา ตัวแทนจากฝ่ายพลเรือน หรือฝ่ายทหาร เพราะเชื่อมั่นว่าทำงานได้ ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือพลเรือน เช่นเดียวกับรัฐบาลมาเลเซีย ที่มีความชอบธรรมสมบูรณ์จะเลือกใครเป็นผู้อำนวยความสะดวก หรือ Facilitator เพราะในการพูดคุยสันติสุขประกอบด้วยหลายส่วนเข้ามาสนับสนุน

โดยเฉพาะสำนักข่าวกรองแห่งชาติ จะมุ่งเน้นสนับสนุนงานด้านข้อมูลร่วมกับฝ่ายอื่นๆ สิ่งสำคัญคือความเป็นทีมทำงานที่เป็นเอกภาพ และหลักการสำคัญในการพูดคุยเรื่องความขัดแย้ง คือความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ดังนั้นต้องมีการเริ่มพูดคุยกันก่อน เพราะนี่คือขั้นตอนที่หนึ่งในการพูดคุย คือการสถาปนาความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน เพราะถ้าเชื่อว่าการพูดคุยคือวิธีหนึ่งที่จะทำให้เกิดสันติสุขอันยั่งยืนในอนาคตก็ต้องหันหน้ามาคุยกัน

นอกจากภารกิจการรายงานข่าวกรองที่เป็นกิจการความมั่นคงภายในประเทศแก่รัฐบาลแล้ว สุวพันธุ์บอกว่า การทำงานข่าวกรองยังมีขอบเขตงานที่กว้างขวางกว่านั้นมาก คือ งานข่าวกรองต่างประเทศ เพราะในโลกปัจจุบันต้องให้ความสำคัญกับความเป็นไปของประชาคมโลก การแข่งขันกันเพื่อมีอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจ การต่อต้านการก่อการร้ายสากล การต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ

“เรากำลังจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ฉะนั้นจึงต้องเปิดกว้างในการไปมาหาสู่ต่อกันเป็นความเสี่ยงด้านความมั่นคงเช่นกัน แต่ละประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยกับกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ มีการประชุมหารือกันมาโดยตลอด ระดับผู้อำนวยการยกหูโทรศัพท์หารือกันได้ทันที”

นอกจากนี้ ในการทำงานข่าวกรองระดับอาเซียน ได้มีการวางกรอบการทำงานร่วมกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านข่าวกรองต่อกัน มีการแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ข่าวกรองมาประจำการระหว่างประเทศ รวมถึงการทำงานเป็นทีมระหว่างหน่วยงานข่าวกรองภายในประเทศด้วย ดังนั้นหากเกิดเหตุหรือสถานการณ์ภัยคุกคามความมั่นคง ย่อมจะสามารถระงับยับยั้งสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว

ยิ่งกำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ต้องมีฐานข้อมูลองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติเป็นอย่างดี เช่น ขบวนการปลอมแปลงเอกสารการเดินทาง ขบวนการขนส่งคนแก๊งค้ามนุษย์ การลักลอบขนส่งอาวุธร้ายแรงและอันตรายเข้ามาก่อการร้าย ฐานข้อมูลเหล่านี้จะต้องมีความเชื่อมโยงต่อกันทั้งในระดับภายในและภายนอก เพราะองค์กรอาชญา กรรมข้ามชาติเหล่านี้ คือ ภัยบ่อนทำลายความมั่นคงของอาเซียน ดังนั้นการทำงานด้านความมั่นคงของหน่วยข่าวกรอง ต้องทำงานเป็นทีม เพราะหน่วยข่าวกรองไม่ได้เก่งสุดแบบโดดๆ ต้องทำงานกับหน่วยข่าวกรองทหาร ตำรวจ หรือต้องไปประสานทำงานกับองค์กรข่าวกรองต่างประเทศด้วย

ภารกิจสำคัญอีกอย่าง คือ สนับสนุนการเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย ในฐานะที่เป็นหนึ่งในฝ่ายดูแลความมั่นคง ยอมรับว่า ณ เวลานี้ สถานการณ์ถือว่ายังไม่ราบเรียบ ความขัดแย้งยังมีอยู่ และภายในหนึ่งปีความขัดแย้งอาจจะยังไม่จบลง แต่สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้จะทำ คือ การดำเนินการไปตามกรอบที่นายกรัฐมนตรีได้วางไว้ เพราะรัฐบาลคาดหวัง คือ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะได้ทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ตามกรอบการทำงานและระยะเวลาที่มีอยู่ ส่วนการปฏิรูปจะครบถ้วนหรือไม่ ยังไม่อาจตอบได้ ต้องให้เวลาและรอดูการทำงานและผลงานของสมาชิก สปช.ก่อนด้วย เช่นเดียวกับ สนช.ก็เช่นกัน ได้เข้ามาดูแลเรื่องกฎหมายและทางรัฐบาลจะบริหารราชการแผ่นดินเพื่อให้ประเทศชาติได้เจริญก้าวหน้า ไม่สะดุดติดขัด สำหรับผลงานก็ต้องติดตามกันเป็นระยะๆ

“วงจรความขัดแย้งเดิมๆ จะกลับมาอีกหรือไม่ คงต้องรอให้ทาง สปช. สนช. และรัฐบาลได้ทำงานก่อน จากนั้นสังคมจะเป็นผู้พิสูจน์และตัดสินเองว่าสิ่งที่รัฐบาลได้ทำเป็นอย่างไรบ้าง ก็ต้องรอให้กลไกต่างๆ เดินไปอย่างเต็มที่ เพราะถ้าทำดี สังคมจะตัดสินหรือจะพิสูจน์เองจากสิ่งที่รัฐบาลแก้ไขปัญหา และผมเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะทำงานเต็มความสามารถเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่นายกรัฐมนตรีวางไว้ เพราะวันนี้ทุกคนได้ทำเต็มที่จนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การปฏิรูปเดินหน้า ตอนนั้นทุกอย่างจะดีขึ้น”

\"รมต.สุวพันธุ์\" ซูเปอร์ข่าวกรองสนองงานปฏิรูป

มือประสานสนช. มุ่งแก้กม.เหลื่อมล้ำ

อีกภารกิจที่นายสุวพันธุ์ ได้รับมอบจากรัฐบาล คือ ประธานวิปรัฐบาลในการประสานงานกับสนช. เพื่อผลักดันกฎหมายสำคัญๆออกมาขับเคลื่อนและบริหารประเทศ ให้ได้มากที่สุดทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เหมือนสมัยนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี หรือ อานันท์ 1 บริหารประเทศ 1 ปี ผลักดันกฎหมายได้ 240 ฉบับ

แม้จะยอมรับว่ามือใหม่ในการทำงานด้านกฎหมาย แต่เมื่อนายกรัฐมนตรี มอบความไว้วางใจให้ ก็ต้องทำงานเต็มที่ไม่ให้นายกรัฐมนตรีผิดหวัง แนวทางการออกกฎหมายของรัฐบาลชุดนี้ สุวพันธุ์ บอกว่า ได้จัดลำดับ 4 เรื่อง คือ 1.กฎหมายที่อนุมัติหรืออนุวัติไปตามความตกลงระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในระดับอาเซียน หรือ
ระดับโลกเพื่อเป็นการประกาศให้สังคมโลกรับรู้ว่าไทยพร้อมอยู่ร่วมกับกับประชาคมโลก  2.กฎหมายต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม 3.กฎหมายต้องเอื้ออำนวยประโยชน์ในการปฏิรูปประเทศด้วย และ 4.กฎหมายจะต้องแก้ไขปัญหาส่วนราชการต่างๆ

ดังนั้นกฎหมายใดเข้าสู่ลักษณะดังกล่าวจะต้องเร่งผลักดันออกมาทันที ซึ่งขณะนี้มีกฎหมายเป็นจำนวนมากที่ค้างในสภา บางฉบับเคยผ่านการพิจารณามาหลายสิบรัฐบาล หรือใช้เวลาเสนอเกือบสิบปี ก็ยังไม่ได้รับการผลักดัน หรือบางฉบับยกร่างมาตั้งหลายสิบปี แต่ไม่เคยได้รับการพิจารณา ดังนั้นเมื่อรัฐบาลเข้ามาจะเร่งพิจารณาตามหลักการดังกล่าวนำเสนอกฎหมายที่ดีออกสู่สังคมไทย 

สุวพันธุ์ กล่าวว่า ในนามรัฐบาลขอยืนยันว่ารัฐบาลกล้าออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน แม้ในสถานการณ์ปกติรัฐบาลนักการเมืองจะไม่กล้า แต่รัฐบาลนี้กล้าทำแน่นอน โดยเฉพาะกฎหมายที่มุ่งแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม อาทิ กฎหมายภาษีที่ดิน ภาษีมรดก หรือ กฎหมายชุมนุมสาธารณะ ซึ่งกฎหมายดังกล่าว ยืนยันว่าอยู่ในชั้นคณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะต้องเข้าใจว่ากฎหมายปัจจุบันจะเริ่มต้นมาจากหน่วยงานต้นสังกัดก่อนเสมอ

ตัวอย่างเช่น กฎหมายภาษีมรดก หรือ ภาษีที่ดิน กฎหมายฉบับนี้มาจากกระทรวงการคลัง พิจารณาเสร็จแล้วจะส่งมาให้ครม.อนุมัติในหลักการ เพราะในการยกร่างกฎหมายต้นสังกัดต้องหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจึงส่งมาให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบในหลักการ

ทั้งนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวจะส่งไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาที่จะทำหน้าที่ตรวจพิจารณาแล้วอาจจะมีการปรับแก้สอบถามประสานงานกับส่วนราชการทั่วไป จากนั้นเมื่อมีการพิจารณาครบถ้วนกระบวนความจึงเสนอ นายกรัฐมนตรี และครม.อีกครั้งเพื่อให้สภาพิจารณา ดังนั้นนับจากนี้ไปทางทางรัฐบาลจะเร่งรัดการออกกฎหมาย เพื่อออกมาให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชน 

เช่นเดียวกับ กฎหมายชุมนุมสาธารณะ ตอนนี้ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว แม้จะถูกส่งกลับคืนไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อทบทวนให้สอดคล้องกับนโยบายคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงเทคนิคทางการบังคับใช้กฎหมาย เพราะยังมีข้อกฎหมายบางข้อบางประเด็นต้องมีความชัดเจน เพราะอาจจะหวั่นเกรงว่าอาจจะปฏิบัติไม่ได้จริงหรือเกรงว่าควรจะมีการปรับแก้ตรงส่วนใด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้น

สุวพันธุ์ ขยายความถึง กฎหมายชุมนุมสาธารณะด้วยว่า กฎหมายฉบับนี้จะต้องมีการถ่วงดุลระหว่างสิทธิเสรีภาพกับการบังคับใช้กฎหมาย ที่มีอยู่แล้วต้องมีการถ่วงดุล เช่น การขออนุญาตในการชุมนุม การชุมนุมต้องไม่ปิดกั้นสถานที่ราชการ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดของประชาชน เพื่อหาความสมดุลให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้ย่อมต้องขึ้นอยู่กับการจัดทำในรายละเอียดหรือสภาพแวดล้อมในแต่ละยุคแต่ละสมัยย่อมแตกต่างกัน จึงอยากให้เข้าใจว่ายังมีความเห็นไม่ตรงกันอยู่ในการปฏิบัติบางอย่างจึงอยากให้หน่วยราชการเจ้าของเรื่องนำกลับไปทบทวน ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ทำงานล่าช้า เพราะบางสิ่งบางอย่างทำเร็วเกินไปจะก่อให้เกิดความไม่รอบคอบ 

แม้ว่า จะถูกมอบหมายให้ทำหน้าที่ประสานงานด้านกฎหมายระหว่างรัฐบาลกับ สนช. ซึ่งถือเป็นงานใหม่ แต่นายสุวพันธุ์ การันตีว่า ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ไม่ใช่งานยุ่งยากอย่างที่คิด เพราะได้รับความร่วมมือสนับสนุนช่วยเหลือ อย่างดีจากท่านพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. รวมทั้งผู้อาวุโสใน สนช.คนอื่นๆ เป็นอย่างดี และในการนำเสนอกฎหมายสำคัญๆทางรัฐบาลและสนช.ไม่เคยมีปัญหาเรื่องการแย่งเสนอกฎหมาย การทำงานทั้งสองฝ่ายเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เพราะขณะนี้ สนช.พิจารณาร่างที่รัฐบาลเสนอ ดังนั้นขอให้มั่นใจว่ากฎหมายที่กำลังจะออกมาเชิง ปริมาณ หรือ คุณภาพ ย่อมทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์

“ผมอยากบอกว่าท่าน พล.อ.ประยุทธ์ เน้นมากกฎหมายใดที่ได้ดำเนินการไปแล้วและเป็นประโยชน์ของประชาชน ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ ว่ากฎหมายแต่ละตัวที่ออกมาแล้วประชาชนต้องรู้ ต้องทราบ หรือส่วนราชการต้องทำหน้าที่นี้อย่างไร หรือกฎหมายบางฉบับต้องออกกฎกระทรวงเพิ่มต้องทำอะไรเพิ่มบ้าง ต้องรีบทำ นี้คือสิ่งที่ผม ครม.และรัฐมนตรีได้กำชับกับส่วนราชการทุกแห่ง”

\"รมต.สุวพันธุ์\" ซูเปอร์ข่าวกรองสนองงานปฏิรูป

ต้องมืออาชีพถึงอยู่ได้

สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นลูกหม้อตัวจริงในสำนักข่าวกรองแห่งชาติ เริ่มรับราชการมาตั้งแต่ปี 2519 ผ่านงานมามากมายทั้งงานข่าวกรองในประเทศและต่างประเทศ จนผลักดันตัวเองให้มีความเจริญก้าวหน้าทางการงานในตำแหน่ง ผู้อำนวยการข่าวกรองฯ โดยประสบการณ์การทำงานที่ผ่านการทำงานทั้งด้านงานการปฏิบัติหรือวิเคราะห์ รวมถึงออกไปประจำการต่อต้านงานข่าวกรองในต่างประเทศ

“ผมผ่านงานมาเยอะ และมีเส้นทางการเจริญเติบโตทางการงานเหมือนคนปกติทั่วไปที่รับราชการในองค์กรใดองค์กรหนึ่งมาโดยตลอด ไม่เคย|ได้ออกไปอยู่ที่อื่นเลย และที่ผ่านมาผมมีประสบการณ์การทำงานและผลงานเป็นที่ประจักษ์ได้รับมอบหมายให้ไปทำงานสำคัญๆ มากมาย โดยเฉพาะการประจำการงานข่าวกรองในต่างประเทศ เช่น กัมพูชา 3 ปี ประเทศออสเตรเลีย 3 ปี และยังเคยอยู่ในพื้นที่ทำงานข่าวกรองในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อีก 3 ปี หลังจากนั้นจึงได้กลับมาทำงานในสำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพมหานคร จนก้าวขึ้นมาเป็นระดับรองผู้อำนวยการเป็นระยะเวลา 5 ปี ก่อนจะขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการสำนักในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์”

เขาเล่าว่า ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง 2 ขั้ว ตั้งแต่รัฐบาลอภิสิทธิ์จนมาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยืนยันว่าองค์กรข่าวกรองไม่ทำงานรับใช้หรือเอียงข้างใดข้างหนึ่งเด็ดขาด แม้จะเข้ามาอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้โอกาสกำกับดูแลสำนักข่าวกรองแห่งชาติอีกครั้ง ดังนั้นไม่ว่าจะทำงานกับรัฐบาลไหนย่อมไม่แตกต่างกัน

“ผมมีแนวทางการทำงานที่ชัดเจน ไม่ว่ารัฐบาลชุดใดหรือนายกรัฐมนตรีคนใดย่อมเหมือนกัน เพราะในการทำงานหรืออุดมการณ์ ทางสำนักข่าวกรองแห่งชาติมีหลักที่แน่น เพราะถูกปลูกฝังให้ต้องทำงานอย่างมืออาชีพ คำว่ามืออาชีพ คือ การทำงานตามความรู้ความสามารถ ทำงานตามประสบการณ์ที่มีอยู่และต้องมีคุณธรรมและจริยธรรมโดยไม่มีอคติเอนเอียง ดังนั้นไม่ว่ารัฐบาลใดเข้ามาเราต้องทำงานร่วมกันได้ นี่คือการทำงานตามวิชาชีพ”

แม้จะยอมรับว่าทุกรัฐบาลโดยเฉพาะตำแหน่งหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะสำนักข่าวกรองฯ ที่ทำงานในทางลับ ผู้นำรัฐบาลย่อมต้องการบุคคลที่ไว้วางใจเข้ามาดำรงตำแหน่ง โดยเฉพาะในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์สามารถอยู่รอดได้ไม่โดนเด้ง แต่กลับสามารถอยู่ยาวในตำแหน่งจนเกษียณอายุราชการได้

“ผมคิดว่ารัฐบาลทุกยุคใช้งานผมอย่างเต็มที่และเต็มศักยภาพ เมื่อใดก็ตามที่ทางรัฐบาลมีปัญหาสิ่งใด ทางรัฐบาลจะสอบถามที่ผมมาโดยตลอด และสิ่งสำคัญ หลักการในการนำเสนอข้อมูลแก่รัฐบาลของผม คือ นำเสนอข้อเท็จจริงต้องไม่มีผิดเพี้ยนแม้แต่น้อย แม้จะอยู่ในยุคที่การเมืองแตกแยกก็ตาม ผมระลึกอยู่เสมอในตำแหน่งผู้อำนวยการข่าวกรองฯ มีหน้าที่นำเสนอข่าวกรองในสิ่งที่จะทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้บ้านเมืองอยู่รอด นั่นคือสิ่งที่ทำและรายงานให้ทางรัฐบาลทุกยุคได้ทราบ

“ผมไม่ได้เอาใจรัฐบาล จะว่าไปตามข้อเท็จจริง อะไรที่ออกจากปากจากผู้อำนวยการข่าวกรองฯ คือ ข้อเท็จจริงและตรวจสอบแล้วเท่านั้น เพราะผู้อำนวยการข่าวกรองฯ ไม่สามารถจะบอกเรื่องที่มันไม่ใช่ข้อเท็จจริงได้ มีคำกล่าวของนักปราชญ์งานข่าวกรองกล่าวไว้ว่า หน้าที่ของหน่วยข่าวกรอง คือ รายงานสิ่งที่ (รัฐบาล) จำเป็นต้องรู้...ไม่ใช่รายงานสิ่งที่ (รัฐบาล) อยากรู้ คนที่ทำงานข่าวกรองถูกสั่งสอนให้เชื่อในสิ่งนี้ ยิ่งมีความขัดแย้งทางการเมือง การทำงานข่าวกรองก็ไม่ลำบาก ตราบใดที่ยังทำงานตามวิชาชีพและปรัชญาข่าวกรอง”

ยิ่งโดยธรรมชาติงานข่าวกรอง รมต.สุวพันธุ์ เล่าว่า ต้องดำเนินงานแบบลับๆ ด้วยการใช้คนและเทคโนโลยีสืบค้นข้อมูลและวิเคราะห์งานการข่าวต้องเป็นเลิศ ในการประเมิน ควบคุม หรือล้วงลับข้อมูลที่กำลังจะเข้ามาคุกคามความปลอดภัยด้านความมั่นคงแห่งรัฐทางองค์กรก็ต้องดำเนินงานใดๆ โดยยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้งเสมอ และไม่เคยใช้งานข่าวกรองเพื่อประโยชน์ทางการเมืองด้วย

“ผมขอย้ำว่าการทำงานขององค์กรข่าวกรอง คือ การให้ข่าวกรองต่อรัฐบาล ระบบข่าวกรองต้องมีหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลและดำเนินกรรมวิธีกระจายข่าวกรองไปยังผู้ใช้ นี่คืองานข่าวกรอง ได้ข่าวกรองใดมาก็กระจายไปยังผู้ใช้ โดยผู้ใช้สูงสุดคือรัฐบาล ส่วนจะขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลได้รับข่าวกรองแล้วจะไปดำเนินการสิ่งใด อันนั้นสำนักข่าวกรองฯ ไม่ทราบได้ว่าส่วนรัฐบาลจะใช้ข่าวไปในทางใด หรือจะเรียกใช้หรือให้ความสำคัญกับงานข่าวกรองของหน่วยงานหรือองค์กรใดเป็นหลัก เช่น งานข่าวกรองตำรวจหรือทหาร สิ่งเหล่านั้นทางสำนักข่าวกรองฯ ไม่ทราบได้ เพราะเป็นสิทธิของผู้ใช้ข่าวหรือรัฐบาล เพราะภารกิจของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ มีหน้าที่รายงานให้รัฐบาลทราบเท่านั้นว่าข้อเท็จจริงทุกๆ เรื่องเป็นอย่างไร”

แม้ในวันนี้ สุวพันธุ์ก้าวขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีที่กำกับดูแลงานความมั่นคงภาคพลเรือนด้านข่าวกรอง ถือเป็นผู้แต่งตั้งและบังคับบัญชา ฉัตรพงศ์ ฉัตราคม ผู้อำนวยการข่าวกรองฯ คนใหม่ ที่การันตีว่าสำนักข่าวกรองฯ ยังคงสานต่ออุดมการณ์เดิม คือ รายงานข้อเท็จจริง และยืนยันว่าบุคลากรทุกคนในองค์กรได้เรียนรู้และซึมซับปรัชญาเหล่านี้อย่างดีและเข้าใจ

เพราะฉะนั้นการกำกับและนโยบายสำนักข่าวกรองแห่งชาติจากนี้ไป คือ หนึ่ง ต้องสนับสนุนรัฐบาลในการที่จะทำให้รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการเดินหน้าในการปฏิรูปประเทศได้ พร้อมกับมุ่งสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

นี่คือภารกิจของสำนักข่าวกรองฯ ผ่านการสืบค้นหาข้อมูลประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ทุกอย่างเพื่อรายงานต่อรัฐบาล

\"รมต.สุวพันธุ์\" ซูเปอร์ข่าวกรองสนองงานปฏิรูป