posttoday

14 ตุลา ถึงสภาปฏิรูป

14 ตุลาคม 2557

ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร รัฐบาลในอนาคต หรือภาคประชาชน จะต้องปฏิรูปตนเอง

โดย...เจษฎา จี้สละ

ครบรอบ 41 ปี เหตุการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย โดยกลุ่มนักศึกษาและประชาชน ซึ่งถือเป็นวีรชนผู้อภิวัฒน์ โครงสร้างการปกครองไทย ที่ถูกครอบงำโดยกลุ่มเผด็จการในแต่ละช่วงเวลาบนเส้นทางประวัติศาสตร์ การอภิปราย หัวข้อ "จาก 14 ตุลา 16 ถึงการปฏิรูปใหญ่ประเทศไทย" จึงนำไปสู่การถกเถียงถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระบอบการเมืองไทย ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

นายคำนูณ สิทธิสมาน สปช. ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมและอดีตส.ว.สรรหา ชำแหละประวัติศาสตร์การเมืองว่า ข้อเรียกร้องในอุบัติกาล 14 ต.ค. ปี 16 คือ การเรียกร้องรัฐธรรนูญจากกลุ่มผู้ยึดครองอำนาจ ซึ่งผลสุดท้ายประชาชนได้รัฐธรรมนูญ แต่ก็เกิดการรัฐประหารหลังจากนั้นมีกการรัฐประหารอีก 6 ครั้ง เฉลี่ย 7 ปีต่อครั้ง อย่างไรก็ตามในอดีตการต่อสู้กับเผด็จการ อาจหมายถึงการสู้กับระบอบเผด็จการทหารเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันคือระบอบเผด็จการรัฐสภา หากอดีตประชาชนต่อต้านการรัฐประหาร ในสถานการณ์ขณะนี้ประชาชนนจะต้องต่อสู่กับระบอบที่นำสู่การรัฐประหารด้วย เนื่องจากเลวร้ายเท่ากับการรัฐประหาร

"เผด็จการรัฐสภา วาทะกรรมนี้มีที่มา ซึ่งหากยึดเหตุการณ์หลัง ปี 16 และรัฐธรรมนูญ ปี 17 เป็นเกณฑ์ เพราะก่อนหน้าไม่มีการกำหนดให้การสมัครผู้แทน จะต้องสังกัดพรรคการเมือง บทบัญญัตินี้ทวีความเข้มข้นข้น กระทั่ง ปี 35 ยังมมีการบัญญัติให้พรรคการเมืองมีอำนาจเหนือส.ส. อีกทั้งยังต้องปฏิบัติตามแนวทางพรรค นอกจากนั้นนายกฯ ยังต้องเป็น ส.ส. ถือเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวในโลกที่เป็นอย่างนี้"

นอกจากนั้นหากพิจารณารัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 17 จนถึง ปี 50 จะพบบทบบัญญัติในนประเด็นที่ส.ส. และส.ว. ไม่อยู่ในอาณัติของผู้ใดถูกตัดออกไป เพราะระบบพรรคกการเมืองไม่เอื้อให้ผู้แทนมีอิสระ

"ล่าสุดมีนักการเมืองพรรคหนึ่งลงสมัครเข้ารับสรรหาสปช. ซึ่งเป็นพรรคที่มีมติไม่ส่งสมาชิกพรรคเข้าร่วมกระบวนการสรรหาสปช. แต่หัวหน้าพรรคกลับบอกว่าไม่ส่งลงสมัครสิ่งเหล่านี้เป็นเผด็จการหรือไม่ เหมือนเส้นผมบังภูเขา"

ดังนั้นจะต้องทำลายการครอบงำระบบพรรคการเมือง เนื่องจากทำลายสิทธิเสรีภาพ 2 ประการ ได้แก่ 1. เป็นอุปสรรคต่อการสมัครผู้แทน เพราะต้องผู้สมัครต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และ 2. สิทธิในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้แทนโดยอิสระ

"ฮ่องกงคัดคนมาให้เลือกโดยพรรคเดียว สำหรับของไทยไม่ต่างกัน เพราะพรรคเลือกคนมาให้เราเลือก เพียงแต่มีหลายพรรค ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องปลดแอกตรงนี้"

ทั้งนี้สปช. ไม่ใช่ผู้ที่จะทำการปฏิรุปแท้จริง หากแต่คสช. และรัฐบาลที่มีอำนาจในทางปฏิบัติ บทบาทหลักของสปช. คือการเสนอข้อคิดเห็น ในช่วง 60 วัน นับจากการประชุมนัดแรก (วันที่ 21 ต.ค.) ดังนั้นสปช. จึงไม่แตกต่างจากสภาที่ปรึกษา ที่ไม่มีอำนาจในตนเอง ซึ่งคณะผู้บริหารจะนำข้อเสนอไปใช้หรือไม่เป็นอีกเรื่อง

ในขณะที่ ศ.พิเศษ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ สปช. ด้านการเมือง ชี้ว่า การนำหัวใจของการปฏิวัติในเหตุการณ์ 14 ตุลา คือกลไกสำคัญที่ผลักดันให้การปฏิรูปครั้งนี้สำเร็จ เนื่องจากขณะนั้นประชาชนมีเป้าหมายเดียวกัน คือต้องการรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเป็นเจ้าของ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงไม่เกี่ยวโยงกับผลประโยชน์ ซึ่งทำได้ยากในยุคนี้

"พวกเราไม่ชอบคอร์รัปชั่น แต่เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ตำรวจ-ทหาร จะหยุดชะงัก ฐานมวลชนกว้างมากเพราะมีเป้าหมายเดียวกัน ดังนั้นควรระลึกไว้ว่า ก่อนจะรู้จักทักษิณหรือชวน มีสิ่งที่สำคัญกว่านั้น เกินกว่าที่จะบาดหมางกัน แต่ผมก็ไม่ได้โลกสวยที่หวังจะให้คนกลับมารักกัน นอกจากนั้นการปฏิรูปไม่มีใครคิดว่าจะล้มเหลว ไปไม่รอด เราคิดแต่จะทำให้ดีที่สุด การปฏิรูปครั้งนี้ผมหวังให้เป็นอย่างนั้น"

นอกจากนั้นสังคมไทยจะต้องสร้างความร่วมมือในระดับมหภาค เพราะประเทศไทยยังขาดความสามารถในการมองปัญหาในภาพเรา ยกตัวอย่างเช่น สังคมสนใจว่าใครจะเป็นประธานสปช. แต่ประสำคัญคือประธานสปช. จะประสานความร่วมมือกับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร เพราะเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูป ซึ่งหากสปช. ยังคงปฏิบัติภารกิจ เหมือนระบบผู้แทนปกติที่เข้าประชุมสัปดาห์ละ 2 ครั้ง การปฏิรูปครั้งนี้คงล้มเหลว เพราะโจทย์ใหญ่ของการปฏิรูปคือการวางกรอบที่จะให้ผู้บริหารในอนาคตมาสานต่อ จึงควรสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญหรือการปฏิรูปดังกล่าว 

เมื่อที่ประชุมถามว่า ควรปฏิรูปกองทัพด้วยหรือไม่? ศ.พิเศษ เอนก อธิบายว่า "นี่ไม่ใช่ฤดูกาลที่จะปฏิรูปทหาร เพราะทุกกอย่างมีฤดูกาล ประเทศไทยมี 2 ฤดู คือ ฤดูรัฐาธิปัตย์และฤดูเลือกตั้ง ถ้าจะปฏิรูปทหารตอนนี้อย่าเพิ่งคิด ทำด้านอื่นก่อน แต่อย่าคิดว่าทีใครทีมัน เพราะบ้านเมืองจะเสียหาย ซึ่งควรเริ่มปฏิรูปที่ตนเองสำคัญสุด"

ด้านนายมานิจ สุขสมจิตร สปช. ด้านสื่อสารมวลชนและบรรณาธิการอาวุโสหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กล่าวว่า สาเหตุของการเมืองไทยเกิดจากความไม่รู้ หรืออวิชา แต่บุคคลที่มีความรู้กลับทำตัวเหมือน "ศรีทนนชัย" อาทิ รัฐธรรมนูญ ปี 50 มีการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันการทุจริต แต่ก็ยังพบการคอร์รัปชั่นแพร่หลายในเวลาต่อมา

ทั้งนี้ในส่วนของสื่อสารมวลชน พบว่า ภาครัฐมีการใช้งบประมาณอุดหนุนสื่อมวลชน เพื่อครอบงำการปฏิบัตติหน้าที่ของสื่อมวลชน อาทิ  การอนุมัติงบประมาณแก่บริษัทด้านสื่อมวลชนเพื่อจัดกิจกรรมทางการตลาด ส่งผลให้สื่อมวลชนขาดเสรีภาพ เพราะต้องปกป้องหรือสนันสนุนผู้อุปถัมภ์ดังกล่าว

"ประชาชนจะต้องช่วยกันตรวจสอบสื่อมวลชน ไม่ให้กระทำในสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่ ยกตัวอย่าางเช่น หนังสือพิมพ์เล่มไหนไม่ดีไม่ต้องอ่าน ทีวีช่องไหนไม่ดีก็ไม่ต้องดู"

นอกจากสื่อมวลชนจะต้องรับผิดชอบในเสรีภาพของตน  จะต้องมีการร่างบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันการครอบงำสื่อด้วย อาทิ รัฐธรรรมนูญ ปี 50 ซึ่งห้ามไม่ให้นักการเมืองเป็นเจ้าของบริษัทด้านสื่อสารมวลชน แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่เป็นเช่นนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเมืองในระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น

"แท้จริงแล้วตามบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ปี 50 ระบุไว้ว่า หากผู้สื่อข่าวรายงานข้อมูลตามจริง ผู้บริหารสื่อไม่สามารถแทรกแซง แต่กลับไม่มีการออกกฎหมายลูก แม้จะผ่านการตรวจของคณะกรรมาธิการกฤษฎีกาแล้ว กลับถูกเก็บเงียบ"

ในอีกมิติหนึ่ง นายธวัชชัย ยงกิตติกุล สปช.ด้านเศรษฐกิจและเลขาธิการสมาคมธนาคารไทย แห่งทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การแก้ปัญหาระบบการเมืองไทย เสมือนวนอยู่ในอ่าง เพราะไม่เข้าใจที่มาของปัญหาและเจตนาการบัญญัติรายละเอียดในรัฐธรรมนูญ

"ส.ส. ควรสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่ มันมีที่มา อดีตส.ส. ย้ายพรรคเป็นว่าเล่น อยู่ที่เงินอยู่ที่ไหน จนถึงปัจจุบัน คนชั่วไม่ว่าจะสังกัดพรรหรือไม่ อยู่ที่ไหนมันก็ชั่ว ส่วนการยุบพรรคการเมือง ที่ต้องระบุในรัฐธรรมนูญฉบับนั้น เพราะต้องการล้างบางนักการเมืองชั่ว เป็นธรรมหรือไม่คนละเรื่อง"

ทั้งนี้ในฐานะที่อยู่ในภาคธุรกิจ เชื่อว่า นักธุรกิจใกล้ชิดกับการทุจริตมากกว่านักการเมือง ในวาทกรรมที่ว่า "จ่ายเงิน เพื่อให้ทำธุรกิจได้" ยกตัวอย่างเช่น การประมูลโครงการกับหน่วยงานราชการ ธุรกิจการนำเข้า เป็นต้น ที่นับวันการทุจริตจะทวีความรุนแรง ซึ่งส่งผลให้ภาคธุรรกิจมีต้นทุนสูงขึ้น โดยเป็นต้นทุนที่ต้องเสียให้กับผู้มีอำนาจ

"ภาคเอกชนต้องการระบบธุรกิจที่ตรงไปตรงมา แต่ที่ผ่านมมันไม่ใช่ จะทำอะไรได้ต้อง สร้างความสัมพันธ์ (join) ทุจริตมากที่สุด คือ ธุรกิจก่อสร้าง พอจะไปจับมือร่วมกันต่อต้านคอร์รัปชั่น ผู้ประกอบการบอกเลยว่า ไม่คอร์รัปปชั่น เขาจะไม่ได้งานเลย เพราะจะถูกกลั่นแกล้งทุกขั้นตอน เขาไม่ทำ คนอื่นก็ทำ ประณามเขาไม่ได้ ต้องแก้ไขที่โครงสร้าง"

ต่อบริบทสังคมที่อยู่ภายใต้คณะรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร นายธวัชชัย กล่าวว่า ในภาคธุรกิจเสรีภาพคือเรื่องรอง ถ้าทำธุรกิจแบบตรงไปตรงมาไม่ได้ เสรีภาพไม่มีความหมาย เพราะธุรกิจต้องการระบบที่โปร่งใส

"ข้อเสนอส่วนตัว คือ คนที่ทุจริตจะต้องไม่สามารถเข้าสู่ระบบการเมืองตลอดชีวิต แต่ไม่ใช่ให้เครือญาติลงสมัครแทน"

ทั้งนี้สปช. จะต้องวางยุทธศาสตร์ที่จะแก้ไขปัญหาในแต่ละด้านให้สำเร็จ เพราะลำพังสมาชิกสปช. ไม่อาจแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้ใน 1 ปี หน้าที่ของสปช. จึงไม่ใช่การนำข้อเสนอต่างๆ ไปปรับใช้ โดยไม่ใช่หน้าที่ของคสช. และรัฐบาลชุดปัจจุบันเช่นกัน แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในอนาคต

ขณะที่การอภิปรายดำเนินไป เสียงผู้ร่วมวงอภิปรายต่างสะท้อนมุมมองที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการสนุบสนุนแนวทางการปฏิรูปที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววัน และเสียงทัดทานการทำหน้าที่ของคสช. รัฐบาล และสปช. ที่ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมเท่าที่ควร แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ร่วมอภิปรายเห็นตรงกัน คือ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร รัฐบาลในอนาคต หรือภาคประชาชน จะต้องปฏิรูปตนเอง เพราะเป็นรากฐานในการอภิวัฒน์ประเทศที่สำคัญ แต่ปฏิบัติได้ยากที่สุดเช่นกัน