posttoday

รางวัลจราจร

13 ตุลาคม 2557

ถ้าทำผิดไม่ว่าเมื่อไร มีโอกาสถูกจับเสมอ ถ้าคนที่ชอบทำผิดคิดได้อย่างนี้ ย่อมไม่กล้าจะทำผิด

โดย...สมผล ตระกูลรุ่ง

การจ่ายเงินค่าปรับข้างทางให้กับตำรวจข้างถนนที่เรียกกันว่า เก๋าเจี๊ยะ นั้น มีมานานเนกาเลแล้ว เป็นที่รู้กันดีในหมู่คนขับรถ โดยเฉพาะคนที่ขับรถรับจ้าง รถใช้งานทั่วไป เช่น รถกระบะ จะมีประสบการณ์การจ่ายเงินให้กับบรรดาจราจรข้างถนนเป็นอย่างดี เพราะคุณตำรวจรู้ดีว่า คนเหล่านี้ไม่มีอำนาจวาสนา ไม่ใช่ผู้ทรงเกียรติ ไม่มีอำนาจสั่งการให้คุณให้โทษใดๆ และไม่ใช่ผู้มีอิทธิพลหรือผู้มีอุปการคุณกับคุณตำรวจ แต่สำหรับคนที่ขับรถเก๋งส่วนตัว อาจไม่ค่อยมีประสบการณ์ ยิ่งหากเป็นรถหรู รถแพงๆ คุณจราจรริมถนนไม่อยากจะยุ่ง ด้วยเกรงว่าจะเจอตอ ดีไม่ดีอาจโดนเด้งเอาง่ายๆ

วิธีการของจราจรริมถนน มีหลากหลาย เล่ากันไม่จบ หากเป็นรถทำมาหากิน แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง อาจพูดกันได้ตรงๆ จะขออะไร จะเอาอะไรก็เว้าซื่อๆ ไม่ต้องกลัวว่าจะเจอของแข็ง แต่หากไม่แน่ใจ คุณจ่าคุณดาบริมทาง จะมีศิลปะในการพูดอ้อมไปอ้อมมา พูดให้รู้ว่า ถ้าไม่อยากเสียเวลาไปจ่ายค่าปรับที่โรงพัก ก็ให้พับธนบัตรสอดใต้ใบขับขี่ส่งมาให้เสียดีๆ

บางกรณีที่หิวเบียร์มากๆ แม้รถที่เรียกจะไม่ผิด เอกสารครบ คุณท่านก็จะทำหน้าที่ตรวจสภาพรถริมทาง หากไฟหรี่ ไฟเลี้ยว หรือไฟเบรก ไฟถอย ไม่ติดสักดวงเดียว ก็จะแจ้งข้อหาขับรถในสภาพไม่สมบูรณ์ เป็นความผิดเช่นกัน

จนมีคำพูดในบรรดาคนขับรถหาเช้ากินค่ำที่พูดกันว่า ถ้าถูกเรียก ก็จ่ายไปเถอะ อย่าเสียเวลาไปชี้แจง เพราะถึงอย่างไรก็ไม่รอด

การซุ่มหรือแอบดูผู้ขับขี่ที่ทำผิด ก็เป็นสิ่งธรรมดาบนถนนแล้ว แน่นอนว่าผู้ขับขี่ไม่ควรทำผิดทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ทั้งต่อหน้าและลับหลังเจ้าหน้าที่ สมควรต้องได้รับโทษอย่างจริงจัง แต่การที่ตำรวจไปแอบหรือซุ่มคอยจับก็เหมือนล่อให้มีการกระทำผิด แม้เป็นการกระทำที่ไม่ผิดแต่ไม่น่าจะถูกต้อง

มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาด้วยการให้รางวัลเป็นส่วนแบ่งจากค่าปรับ แต่ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ในวันนี้จึงเกิดวิธีการใหม่เป็นนโยบายนายตำรวจนครบาล ที่ให้รางวัลตำรวจที่จับผู้กระทำผิดกฎจราจร แล้วผู้กระทำผิดติดสินบนเจ้าหน้าที่ โดยให้รางวัล 1 หมื่นบาทกับตำรวจ เพื่อแลกกับการไม่รับเงินข้างถนน โดยบอกว่า วัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาจราจร เนื่องจากผู้ขับขี่ฝ่าฝืนกฎจราจรทำให้รถที่ติดขัดอยู่แล้ว ติดเพิ่มขึ้น จึงต้องลงโทษผู้ที่ชอบเอาเปรียบคนอื่นด้วยการฝ่าฝืนกฎจราจร

แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในบางครั้งการจราจรติดขัดก็เกิดจากตำรวจตั้งด่านเสียเอง

นโยบายนี้ เป็นที่ฮือฮา เมื่อคุณดาบตำรวจจราจรท่านหนึ่งได้รับรางวัลไปแล้ว จากการจับกุมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ฝ่าฝืนกฎจราจร จนนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในหลายมุมมอง

วิธีการดังกล่าว สะท้อนให้เห็นความเป็นจริงในหลายๆ แง่มุม

1.นโยบายดังกล่าว เท่ากับประจานสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า ที่ผ่านมาคุณตำรวจจราจรทั้งหลายไม่ได้ทำหน้าที่ ทั้งๆ ที่ได้รับเงินเดือนจากภาษีประชาชน นั่นประการแรก และยังเป็นการยอมรับว่า คุณตำรวจริมถนนรับเงินเก๋าเจี๊ยะตลอดมา โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่มีปัญญาแก้ไข

2.การให้เงินรางวัลอย่างนี้ เป็นการให้แรงจูงใจในการทำงานของภาคเอกชน แรงจูงใจอย่างนี้ถูกต้องตามหลักการสำหรับข้าราชการแล้วหรือ เพราะตำรวจมีหน้าที่ต้องปฏิบัติอยู่แล้ว หากตำรวจทำตามหน้าที่เพื่อแลกกับรางวัลตอบแทนพิเศษเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ข้าราชการอื่นๆ จะเอาอย่างบ้างได้หรือไม่

3.ตามข่าวบอกว่า เงินที่จ่าย จ่ายจากกองทุนสวัสดิการตำรวจจราจร ต้องถามว่า เงินอย่างนี้ เป็นสวัสดิการหรือเป็นเงินตอบแทนการทำงาน เป็นการจ่ายที่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของกองทุนหรือไม่

4.การจ่ายให้ในทันที โดยยังไม่ได้มีการพิสูจน์ว่า ผู้ขับขี่กระทำผิดจริงหรือไม่ ถ้าตำรวจกลั่นแกล้งหรือยัดเยียดข้อหา แล้วในที่สุดหากศาลยกฟ้องจะทำอย่างไรกับเงินที่จ่ายไปแล้ว

5.มีหลายท่านรวมถึงตำรวจเก่าคนดัง เรียกร้องว่า ถ้าตำรวจขูดรีดเรียกเงิน แล้วประชาชนมีหลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีรางวัลให้หรือไม่

6.เงินที่คุณดาบได้รับไปนั้น เป็นเงินตอบแทนจากการทำงาน ย่อมถือเป็นรายได้ที่ต้องนำไปคำนวณภาษีสิ้นปี ถ้าไม่นำไปเสียภาษี จะเข้าข่ายหลบหนีภาษี กรมสรรพากรทำหน้าที่ด้วยนะครับ

ทั้งหลายทั้งปวงที่ท้วงติงกันมา ไม่ได้ต้องการให้คุณตำรวจหมดกำลังใจ หรือหยุดปฏิบัติหน้าที่ และไม่ได้สนับสนุนหรือเอาใจผู้ขับขี่ให้กระทำความผิด ในทางตรงข้ามประชาชนต้องการเห็นตำรวจไทยขยันทำหน้าที่อย่างจริงจังและตรงไปตรงมากับผู้กระทำผิด อยากเห็นตำรวจชั้นผู้น้อยได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมกับภาระหน้าที่ ไม่มีใครอิจฉาที่ตำรวจจราจรจะได้รับสวัสดิการดีๆ ที่ผ่านมา มีนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่นำมาอวดเป็นผลงาน คือการจับจริงปรับจริงกับ 5 จอม เริ่มวันนั้นวันนี้ ตำรวจถือเป็นผลงานที่ภาคภูมิใจ แต่ผมกลับอเนจอนาถใจกับการทำงานของตำรวจ เพราะเท่ากับว่า ที่ผ่านมาตำรวจไม่ได้ทำงาน หรือทำงานก็ไม่ได้ทำจริงๆ

คนไทยเราคุ้นเคยกับการทำผิดกฎจราจรแล้วจ่ายเงินข้างถนนมานาน เคยชินกับการละเลยในการทำหน้าที่ของตำรวจ รู้ดีว่าตำรวจเขาทำงานแบบลมเพลมพัด การประกาศล่วงหน้าว่า วันนั้นวันนี้จะทำงานจริงๆ คนที่ชอบทำผิดมันก็ระวังตัว รอให้เลยเวลาสร้างภาพแล้วก็กลับไปเหมือนเดิม

การบังคับใช้กฎหมาย ต้องทำต่อเนื่อง ไม่ต้องประกาศ ต้องสร้างสำนึกให้พวกที่ชอบฝ่าฝืนกฎจราจรรู้สึกว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานทุกวัน ถ้าทำผิดไม่ว่าเมื่อไร มีโอกาสถูกจับเสมอ ถ้าคนที่ชอบทำผิดคิดได้อย่างนี้ ย่อมไม่กล้าจะทำผิดโดยสำนึกของตัวเอง ไม่ใช่ไม่เกรงกลัวเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ถ้าประชาชนมีสำนึกที่จะไม่ทำผิด กฎหมายก็ไม่มีความจำเป็นต้องมี

แม้วันนี้ตำรวจจะใส่เกียร์ถอยนโยบายรางวัลจราจร แต่ก็ไม่ได้แสดงวิสัยทัศน์ที่จะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนว่าจะทำอย่างไรต่อไป จะทำอย่างไรให้ตำรวจทั้งผู้น้อยและผู้ใหญ่มีสำนึกในตัวเองที่จะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่แท้จริง

อาจารย์กิตติศักดิ์ ปรกติ ให้ความเห็นในเรื่องนี้ไว้อย่างคมคายว่า

"ถ้าเราแยกไม่ออกระหว่างคนที่จับเราเพราะเขาทำหน้าที่รักษากฎหมาย หรือเขาจับเราเพราะหวังเงินรางวัล ในที่สุดเราจะรวมเขาไว้กับคนที่จับเรา เพราะมุ่งกรรโชกทรัพย์ และตอนนั้น ในสายตาของประชาชนจะไม่มีตำรวจอีกต่อไป มีแต่โจรในชุดตำรวจ หรือไม่ก็ตำรวจที่เป็นโจร

สิ่งที่รัฐและประชาชนควรให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ทำตามหน้าที่คือ เกียรติและความเคารพ ไม่ใช่อามิสหรือสินจ้าง รางวัล เพราะนั่นจะทำให้เขาแปรสภาพจากตัวแทนรัฐ ตัวแทนคุณธรรม เป็นนักล่าเงินรางวัล และถ้าเป็นอย่างนี้นานๆ เข้า ที่สุดจะไม่มีใครให้เกียรติและความเคารพแก่เจ้าหน้าที่อีกต่อไป ถึงตอนนั้นรัฐก็ล่มสลาย กลายเป็นการปกครองของนักล่าเงินรางวัล"

ภาพประกอบข่าวจากแฟ้มภาพ