posttoday

หลังไมค์ "ครูนกเล็ก" ครูพันธุ์ใหม่ หัวใจโซเชียล

12 ตุลาคม 2557

เปิดใจครูนกเล็ก คุณครูยูทูปคนดัง จากสื่อการสอนในโลกโซเชียล

โดย…นรินทร์ ใจหวัง

ในห้วงเวลานี้ ถ้าพูดถึง เพลงแปลงอย่าง  “สักยันต์อาจารย์นก” บางคนที่ยังไม่รู้จักก็อาจจิตนาการไปถึงไหนต่อไหน แต่ในความเป็นจริงแล้ว เพลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสื่อการสอน ที่แฝงพุทธศาสนาอยู่ในเพลง โดย คุณครูนกเล็ก จีรภัทร์ สุกางโฮง ครูประจำชั้น แห่งโรงเรียนบางมด ตันเปาวิทยาคาร ข้าราชครูอารมณ์ดี ยิ้มตาปิดคนนี้  ที่ขนกลยุทธ์ทั้งเต้น ทั้งร้อง ถ่ายทอดเนื้อหา บทเรียนต่างๆ ลงในเพลง ก่อนแชร์สู่โลกออนไลน์

จากสื่อการเรียนการสอนธรรมดา กลายเป็นคลิปวิดีโอที่เป็นที่รู้จักในคนในโลกโซเชียล แต่ก็ต้องยอมรับเลยว่า กว่าจะมาถึงทุกวันนี้  ครูนกเล็กคนนี้ ไม่ได้มีแค่ความทุ่มเทเท่านั้น แต่ยังเต็มไปด้วยความสร้างสรรค์อย่างน่าปรบมือ  ซึ่งหากใครยังไม่คุ้น ก็สามารถรู้จักครูพันธุ์ใหม่คนนี้ได้เลย

ครูนกเล็ก เป็นใคร ทำไมจึงมีตัวตนอยู่ในโลกโซเชียลได้

เป็นคุณครูที่จบคณะครุศาสตร์ เอกดนตรีศึกษา ดนตรีไทย  จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ตอนนี้อายุ 29 ปีค่ะ เริ่มบรรจุเป็นข้าราชการครู เมื่อปี2552 ที่โรงเรียนวัดราชโกษา เขตลาดกระบัง แต่เนื่องจากอยู่ไกลบ้าน  เลยขอย้ายมาที่โรงเรียนนี้ (บางมด ตันเปาวิทยาคาร) ได้2ปีแล้วค่ะ

ที่เริ่มต้นทำคลิปวิดีโอก็เพราะว่าโรงเรียนมีการให้ครูทำสื่อการเรียนการสอน ของปีนั้นๆ เป็นประจำอยู่แล้ว  เราก็มองว่า มันก็มีสื่อที่หลากหลายอยู่นะ ครูบางคนก็ส่งเป็นหนังสืออ่านเพิ่มเติม  สื่อที่มาจากประดิษฐ์ประดอย ซึ่งก็แล้วแต่ความถนัดของแต่ละท่าน  แต่ครูหยิบสื่อประเภทคลิปวิดีโอ เพราะเรามองว่าสามีเป็นคนชอบเล่นกล้องอยู่แล้ว เลยอยากทำสื่อวิดีทัศน์  สื่อเคลื่อนไหวขึ้นมาดีกว่า 

ผลงานชิ้นแรกเกี่ยวกับเรื่องอะไร แล้วใช้อะไรเป็นแนวคิด

ชิ้นแรกก็เป็น คลิปแรงเสียดทานค่ะ  เกี่ยวกับภาควิชาวิทยาศาสตร์ ก็เป็นเรื่องใกล้ๆ ตัว จากสิ่งที่เราสอนนักเรียนอยู่นี่แหละค่ะ เพราะตอนแรกที่ย้ายมาอยู่ที่นี่  เรามีหน้าที่สอนวิทยาศาสตร์เด็ก ป.1-3  ปีพอดีด้วย

ชมคลิป http://youtu.be/iXfj0dC0NjU

 

ทำไมต้องอัพโหลดลงโลกออนไลน์

ตอนแรกไม่ได้คิดถึงขนาดนั้น  ยูทูปที่เราเปิดไว้ก็เพื่อ ลงภาพของครอบครัวอยู่แล้ว  ที่บ้านก็จะชอบทำคลิปครอบครัวอยู่เป็นประจำ  เริ่มแรกเลยตอนที่ตัวเองตั้งครรภ์ แฟนอยากจะเก็บ วิวัฒนาการลูกไว้ดู ทั้งตอนอุ้มท้อง- ตอนคลอดอะไรประมาณนี้

สามีเลยช่วยทำเลย

ค่ะเขายินดี สนับสนุนงานที่เราทำ แฟนทำงานเกี่ยวกับ ตัดต่อ โปรดักชั่น งานนี้เป็นแฟนทำหมดเลย  การเตรียมเรื่องเป็นครู

อย่างคลิปแรกเรื่องแรงเสียดทาน  เราเอาไปประกวดด้วย ก็ได้รางวัลติดไม้ติดมือมาด้วย  จากโครงการครูทูป  แต่ตอนนั้นไม่ได้ส่งในนามครูหรือโรงเรียน แต่ส่งนามบุคคลทั่วไป  ก็ได้รางวัลชมเชยมา ซึ่งการแข่งขันค่อนข้างสูง เพราะคนมืออาชีพลงแข่งขันทั้งนั้นเลย

อย่างคลิปการสอนตัวหนึ่งๆ ต้องใช้เวลาผลิตนานแค่ไหน

ถ้าตั้งแต่คิดเรื่อง แต่งเพลง อัดวิดีโอ ตัดต่อ ก็ใช้เวลาร่วมเดือน ถึง 2เดือนค่ะ ก็ช่วยกันทำอยู่แค่ 2 คนสามีภรรยา

ช่วยเล่าวิธีการทำงานในแต่ละครั้ง เพราะว่าสามีตากล้องคนสำคัญ ทำงานกันคนละที่

วันเสาร์ค่ะ นัดนักเรียนมา อย่างคลิปสารส้ม เด็ก2คนที่อยู่คลิป ที่เราเลือกมาเพราะ เขามีความโดดเด่น กล้าแสดงออก ช่วยงานโรงเรียนเสมอ  เวลาทำการแสดงหน้าเสาธง เขาก็ช่วยตลอด เต็มใจมา เวลาให้ทำอะไรก็เชื่อฟัง และทำได้ดีด้วย  

คือคลิปบางตัว เกิดจากการเรียนการสอนของเรา เวลามีปัญหา  เราอยากทำสื่อให้เข้ากับวิชาของเรา ถ้ามันมีปัญหา ต้องตั้งโจทย์ว่าเราจะสอนเรื่องนี้เราจะสื่ออย่างไร  เราเองต้องทำการบ้านมานิดหนึ่ง  ถ้าหากจะทำเป็นเพลง จะเลือกเพลงแบบไหน พอเลือกเพลงมาแล้ว จะแต่งอย่างไร ให้เข้ากับเนื้อเรื่อง โยงไปหาการเรียนได้อย่างไร  เรามีการเตรียมพล็อตเรื่อง เตรียมสตอรี่บอร์ดด้วยค่ะ

ชมคลิป http://youtu.be/D1wDOoTdlsU

 ชมคลิป http://youtu.be/i6hu4VYJCh4

 

แนวคิดของผลงานล่าสุด “สักยันต์อาจารย์นก”

แนวคิดมาจากปัญหาที่เราสอนเด็ก แต่ทำไมเด็กบางคน ไม่ขยันเรียน ไม่ค่อยทำงาน  ทำไม ไม่ตั้งใจเรียนแต่อยากได้คะแนนดีๆ  เลยเอามาล้อเลียนเป็นเพลง  เป็นเพลงของเพลิน พรหมแดน เพราะเนื้อหาบอกลักษณะนิสัยคนส่วนใหญ่อยู่แล้วเช่น  คนอยากได้นั่นนี่  แต่ขี้เกียจ  พออะไรที่มันยากๆหน่อย  ก็ไม่อยากทำแล้ว โดยขอต่อรองไปเรื่อยๆ  มันส่อถึงนิสัยเด็กๆ เหมือนกันนะ ชอบมาต่อรอง ขอนั่นนี่  เลยเป็นแนวคิดว่าจะทำเพลงแบบนี้แหละ  และพ่วงหลักธรรมอิทธิบาท4  เข้าไปด้วย ถ้าเราอธิบายเองก็คงไม่น่าสนใจ  เราก็เอามาเปรียบเปรยให้ดู ถ้าเราอยากได้ อยากเรียนเก่ง ต้องเอาอิทธิบาท 4มาช่วยสิ แล้วอิทธิบาทว่าด้วยอะไร 

ชมคลิป http://youtu.be/pGgH2VQN8m0

จากการแสดง คิดว่าเด็กๆ คนอื่นๆ มองเราอย่างไร

ก็เป็นคนร่าเริงค่ะ แต่ในบทบาทของความเป็นครู  เราได้ปรับเปลี่ยน ให้เด็กเข้ามาใกล้ชิดเรามากขึ้น  และให้เราเข้าถึงเขามากขึ้นด้วยเช่นกัน  อีกอย่างแบบว่าเราก็ต้องปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยด้วย เพราะตอนนี้เทคโนโลยี มีบทบาทในชีวิตค่อนข้างมาก เด็กก็ค่อนข้างไปไกล ความรู้นอกห้องเรียนก็สำคัญมากไม่แพ้กัน  การที่เราจะสอนเฉพาะในห้องเรียน มันไม่เพียงพอแล้ว เด็กจำเป็นต้องมีความรู้นอกห้องเรียน  ซึ่งเด็กต้องรู้ในทางที่ถูกต้อง โดยมีเราเป็นที่ปรึกษาของเขา

การตอบรับ ของนักเรียน

เด็กที่ดูคลิปก็บอกว่าสนุก (ยิ้มกว้าง) แล้วเด็กเขาก็กล้าที่จะเข้ามาหาเรา กล้าคุย  จากการที่เราสังเกตพฤติกรรมตอนนี้คือเขาไม่กลัวเรานะ  แต่ในความที่เขากล้ามาหาเรานั้น  ก็ต้องมีความเกรงใจอยู่ด้วย

คุณครูท่านอื่น เพื่อนร่วมงานตอบรับอย่างไรบ้าง เห็นบางคลิปมีเพื่อนครูด้วย

ค่ะ มาจากการชักชวน จากที่เราทำคลิปตัวแสดงนักเรียนเสร็จแล้ว เราก็อยากชวนคุณครูมาทำกิจกรรมด้วย  ครั้งนั้นปิดเทอม ก็เลยชวนมา เป็นคลิปวิดีโอวิวัฒนาการ ตำนานเพลงเด็ก

แต่จริงๆ แล้ว เพื่อนครูที่ทุกคนไม่ว่าทำกิจกรรมอะไร จะเข้าข่ายกิจกรรมลูกเสือ หรือเอ็นเตอร์เทนหน้าเวที เขาก็ทำกันเก่งอยู่แล้ว เป็นเรื่องปกติ ไม่มีอะไรแปลกในโรงเรียน  เด็กถึงไม่ได้หวือหวาอะไรกันมาก น่าจะชินอยู่แล้ว (หัวเราะ)

ผลงานที่ประทับใจที่สุด

คลิปเพลงเด็กในตำนาน เพราะมีพี่ๆ เพื่อนๆ ครู มาช่วยทำ ช่วยเต้น เพลงง่ายๆ อย่างเพลงเป็ด เพลงช้างนี่ล่ะค่ะ

ชมคลิป http://youtu.be/FJ11LTB52lc

 

ผลตอบรับของคนในสังคมออนไลน์

ถือว่าดีมาก  ต้องขอบคุณทุกท่านด้วยนะคะ เท่าที่เห็นก็จะเข้ามาชื่นชมที่ทำสื่อดีๆ ให้เด็กๆ ได้ดู เพราะบางทีคลิปที่มีอยู่เยอะๆ นะ เป็นคลิปด้านลบซะส่วนใหญ่ การที่เราทำคลิปดีๆ ขึ้นมาสักคลิป แล้วได้ผลตอบรับที่ดี  มันยากมาก เพราะฉะนั้น เราจะคิดว่าจะทำอย่างไรให้มีคนดูด้วย ถ้าไม่มีคนดู มันก็ไม่มีความหมาย

ฝากถึงเพื่อนครูท่านอื่นๆ ที่อาจติดตามผลงานเราอยู่

จริงๆจะเห็นว่า ครูท่านอื่นก็มีทำสื่อการสอนลักษณะนี้นะคะ แต่อาจจะโอกาสยังมาไม่ถึง  และตัวเราอาจจะได้โอกาสนั้นมากว่า พอครูไปย้อนดูคลิปสื่อการสอนในยูทูปของครูท่านอื่น  จะเห็นว่ามีคลิป ดีๆ เยอะแยะเลย  ฉะนั้นเชื่อว่าครูทุกคนสามารถทำได้ค่ะ

การที่เราทำสื่อแล้วโพสต์ลงโลกออนไลน์ บางทีก็เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนครูต่างโรงเรียนด้วย อย่างเวลาไปอบรม ครูก็จะมาทัก ว่าขอยืมคลิปไปใช้หน่อยนะ อนุญาตเลยค่ะ อีกอย่างมองว่ามันเปิดทาง และสามารถนำไปแชร์ครูต่างโรงเรียนใช้ได้ เป็นประโยชน์ด้วย

แม้การสนทนาสั้นๆ ครั้งนี้จะจบลง ทว่าสิ่งที่ครูพันธุ์ใหม่คนนี้จะไม่ยอมจบก็คือผลงานดีๆ ที่ยังคงทำต่อๆ ไปสำหรับผลงานดีๆ ที่ช่วยสร้างสรรค์สังคม ซึ่งถึงแม้ไม่มากแต่ได้ลงมือทำแล้ว

ส่วนผู้ปกครองหรือผู้ที่สนใจสามารถติดตามผลงานของครูนกเล็กได้ตลอด โดยผ่านแฟนเพจ ครูนกเล็กหรือ ติดตามผลงานในยูทูปได้ในชื่อเดียวกัน