posttoday

การศึกษาไทยไอซียู!ไม่เร่งแก้ประเทศหายนะ

06 ตุลาคม 2557

ดัชนีคุณภาพการศึกษาไทยที่ย่ำแย่ในทุกมิติ ถึงเวลาแล้วที่การปฏิรูปรอบนี้

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

5 ต.ค.ที่ผ่านมา เป็นวันครูโลก ขณะที่อีก 10 ปีข้างหน้าครูไทยจะเกษียณสูงถึง 1.8 แสนคน คิดเป็น 40% ของจำนวนครูในระบบการศึกษาปัจจุบัน เป็นโจทย์ท้าทายคุณภาพการศึกษาในยุคเปลี่ยนผ่านว่า เมื่อครูเก่าไป น้ำดีที่เข้าใหม่จะยกระดับการศึกษาผ่านการเรียนการสอนให้เยาวชนไทยกระเตื้องขึ้นแค่ไหน!!

เพราะหากครั้งนี้ไม่สามารถผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาได้ คุณภาพคนก็จะจมปลักอย่างนี้ไปเรื่อยๆ กระทบไปถึงการพัฒนาชาติที่จะถดถอย

นี่เป็นประโยคท้าทายรัฐบาลจากอำนาจรัฐประหาร ซึ่งปักธงชัดจะมาปฏิรูปประเทศให้ดีกว่าเดิม จากอำนาจพิเศษของรัฐบาลที่สามารถออกกฎหมายผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้รวดเร็วทันใจตามที่ต้องการได้

ทุกวงสนทนาเห็นตรงกันว่า ปัญหาหลักที่ต้องแก้เร่งด่วน คือ ระบบการศึกษาไทย ที่เกิด “ความเหลื่อมล้ำ” คุณภาพการศึกษาย่ำแย่ หลักสูตรล้าหลัง การเรียนการสอนในห้องก็ไม่เกิดประโยชน์ เลยเถิดไปถึงคำว่า “ยิ่งเรียนยิ่งโง่ เพราะเขาสอนให้เราท่องๆๆๆ”

ทั้งที่กระทรวงศึกษาฯ ได้รับงบประมาณจัดสรรสูงสุดมาหลายปี ขณะที่ข้าราชการครูก็ได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีหลังมานี้ แต่ตัวชี้วัดจากหลายหน่วยงานกลับสะท้อนผลที่เลวร้ายของระบบการศึกษาไทย

เริ่มจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ออกรายงานประจำปี 2557 ชี้ว่า คุณภาพการศึกษาของคนไทยอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนผ่านผลการเรียนทุกระดับชั้นยังอยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐาน คะแนนของนักเรียนขั้นพื้นฐาน (O-NET) ในทุกระดับชั้นและทุกวิชาหลัก มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่า 50% เมื่อเปรียบเทียบกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทยกับนานาชาติ โดยพิจารณาจากดัชนีการพัฒนามนุษย์ปี 2556 พบว่า อยู่ในอันดับ 103 จากทั้งหมด 186 ประเทศ โดยเป็นรองสิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซีย

ขณะที่ดัชนีการแข่งขันด้านการศึกษาภาพรวมของไทย ที่จัดอันดับโดย IMD (The International
Institute for Management Development) ก็อยู่ในอันดับเกือบบ๊วย คือ 54 จาก 60 ประเทศ แถมยัง ลดลงจากปี 2556 ที่อยู่ในอันดับ 51 ก่อนหน้านี้ปี 2555 บริษัทจัดอันดับการศึกษา เพียร์สัน ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งให้ความสำคัญกับการใช้สติปัญญา รวมถึงการคิดวิเคราะห์ และการเข้าถึงการศึกษา ไทยอยู่อันดับ 37 จาก 40 ประเทศ เป็นรองเกาหลีใต้ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และสิงคโปร์

สภาพัฒน์ยังระบุว่า แม้ช่วงหลังเด็กไทยมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา แต่ก็ยังไม่สามารถสร้างให้ “คิดเป็น” ปัญหาของเด็กไทยอีกอย่าง คือการพัฒนาสติปัญญาไม่สมวัย โดยสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขคือเรื่องคุณภาพการศึกษาเมื่อวัดจากผลการทดสอบของนักเรียนชั้น ป.6 และ ม.3 ซึ่งมี 4 วิชาหลัก คือ ภาษาไทย อังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ที่ต่ำกว่าเกณฑ์ 50%

ภาพสะท้อนที่แจ่มชัดอีกชุดมาจากการวิเคราะห์ของ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) พบว่าเส้นทางชีวิตของเด็กไทยที่น่าเป็นห่วง เทียบง่ายๆ ในจำนวนเด็ก 10 คน จะมี 1 คนไม่จบ ม.3 ขณะที่ 5 ใน 10 คน เรียนจบไม่เกิน ม.6 มีเพียง 4 ใน 10 คนเรียนต่ออุดมศึกษาได้ ในจำนวนนี้มี 3 คนจะจบมหาวิทยาลัยแน่นอน แต่แม้เรียนจบ หารู้หรือไม่ว่า มีเพียง 1 คนเท่านั้น ที่ได้งานทำในช่วง 1 ปีแรกที่จบออกมา อีก 2 คนที่เหลือต้องอยู่ในภาวะ “ตกงานใน 1 ปีแรก” ทั้งหมด

แม้ว่าในช่วงหลังมานี้ คนไทยจะเข้าถึงการศึกษาในระดับมัธยมปลาย และอุดมศึกษามากขึ้น แต่คุณภาพการศึกษาไทยก็ยังตกต่ำ และมี|เหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมกันสูง

สะท้อนชัดจากที่เด็กไทยได้รางวัลวิชาการโอลิมปิกเป็นกอบเป็นกำในแต่ละปี ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเด็กเรียนในกรุงเทพฯ ส่วนต่างจังหวัดห่างไกลความเจริญยังขาดแคลนครู ครูยังวิ่งรอกสอนหลายโรงเรียน บ้างก็เรียนไม่จบมัธยมต้น ต้องออกกลางคัน

ประเด็นนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจเมื่อปี 2556 ในกลุ่มเด็กไทยช่วง 15-19 ปี พบว่า 68% กำลังเรียน แต่อีก 32% ออกจากระบบการศึกษา มีสาเหตุสำคัญคือ 1.ตั้งใจไม่เรียนต่อ 37% ไม่มีเงินเรียน 27% ป่วยพิการ 7% อยู่ไกลโรงเรียน ไม่มีสูติบัตร 1.5% อีก 27% เป็นเรื่องสาเหตุอื่นๆ

การศึกษาไทยไอซียู!ไม่เร่งแก้ประเทศหายนะ

ตัวเลขจาก UNDP โดย โครงการพัฒนาของสหประชาชาติ ซึ่งได้ประมวลดัชนีการศึกษารายจังหวัดของไทยประจำปี 2557 พบว่า 5 จังหวัดที่มีดัชนีการศึกษาสูงสุดล้วนเป็นเมืองใหญ่ (ตามตาราง) คือ กรุงเทพฯ นครนายก ชลบุรี นนทบุรี เชียงใหม่ ส่วน 5 จังหวัดรั้งท้าย คือ สระแก้ว แม่ฮ่องสอน ตาก หนองบัวลำภู และสุดท้าย นราธิวาส โดยคำนวณจากตัวชี้วัดหลัก 4 ประการ คือ 1.จำนวน  ปีการศึกษาเฉลี่ย 2.อัตราการเข้าเรียนรวมระดับมัธยมปลายทุกสังกัด 3.ระดับไอคิวของเด็กอายุ 6-15 ปี  4.คะแนนเฉลี่ยการทดสอบโอเน็ตระดับมัธยมปลาย

วิกฤตของระบบการศึกษาไทยอีกประการคือ ไม่สามารถผลิตกำลังคนที่ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานได้ ปัจจุบันเด็กไทยเรียนอาชีวะน้อยลง บ้างสะท้อนว่ามาจากค่านิยม ถ้าเรียนอาชีวะจะเสียภาพลักษณ์เหมือนนักเรียนนักเลง อีกด้านก็ว่า เพราะภาคเอกชนกำหนดเงินเดือนขั้นต่ำกับผู้ที่จบปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาท ทำให้เด็กแห่มาเรียนสายสามัญ

สภาพัฒน์ ระบุว่า ปัจจุบันมีเด็กเรียนต่อสายอาชีพกับสายสามัญ เป็น 34:66 นอกจากนี้ ผลการสอบระดับชาติด้านอาชีวศึกษา (V-NET) พบว่า ในปี 2556 คะแนนเฉลี่ยระดับ ปวช. ต่ำกว่า 50% เช่นเดียวกับระดับ ปวส.ส่วนใหญ่ก็ต่ำกว่า 50% มีเพียงวิชาภาษาไทย การจัดการธุรกิจการค้าปลีก ช่างทองหลวง เทคโนภูมิทัศน์ ที่มีคะแนนเกิน 50% แสดงถึงจุดอ่อนในการขยายการผลิตภาคอุตสาหกรรม

ดัชนีคุณภาพการศึกษาไทยที่ย่ำแย่ในทุกมิติ ถึงเวลาแล้วที่การปฏิรูปรอบนี้ ทุกกลุ่มต้องจับมือผ่าตัดระบบการศึกษาที่อาการหนักนอนพะงาบๆ ในห้อง ไอซียู หาใช่มุ่งสนใจแต่ปัญหาการเมืองเพียงอย่างเดียว

การศึกษาไทยไอซียู!ไม่เร่งแก้ประเทศหายนะ