posttoday

"ปฏิรูปตำรวจ-ดีเอสไอ"ขจัดต้นทางสกปรก

16 กันยายน 2557

ต้นทางของกระบวนการยุติธรรม คือ ตำรวจ และดีเอสไอ อยู่ใต้อุ้งตีนของการเมืองทั้ง 2 อัน

โดย...เจษฎา จี้สละ

พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน ว่าที่ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ในฐานะผู้สมัครรับสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ได้แสดงวิสัยทัศน์ถึงแนวทางการปฏิรูป หากได้รับเลือกเป็น สปช.ว่า ปฏิรูปกฎหมายคือจะทำให้ดีขึ้น กฎหมายหลายตัวเปิดโอกาสให้นักการเมืองชี้นำ ครอบงำ ต้องปฏิรูป

"พล.ต.ต.อำนวย" ระบุว่า จากประสบการณ์ที่ทำงานด้านสืบสวนสอบสวนและกระบวนการยุติธรรม ซึ่งล้วนเกี่ยวโยงกับอัยการ ศาล กรมราชทัณฑ์ หรือทนายความ ล้วนแล้วแต่เผยให้เห็นช่องโหว่ในกระบวนการที่ต้องปฏิรูป โดยเฉพาะกฎหมาย องค์กร และบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม

"กฎหมายมีหลายหน่วยงานที่ต้องปฏิรูป ประเทศไทยมีการชุมนุมเป็นลำดับต้นๆ ของโลก แต่เราไม่มีกฎหมายการชุมนุม เหมือนกับเรามีโรคแต่เราไม่มียารักษาโรคนี้ ตำรวจก็แย่ ผู้ชุมนุมก็แย่ ข้าราชการก็แย่ ออกราชการไปก็หลายคน ถูกสอบ ถูกฟ้อง ประเทศที่พัฒนาแล้วล้วนแต่มี พ.ร.บ.สำหรับการชุมนุม"

นอกจากปฏิรูปกฎหมายที่ใช้ในกระบวนการยุติธรรมแล้ว "พล.ต.ต.อำนวย" บอกว่า โครงสร้างองค์กรเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องได้รับการพัฒนา เพราะปัจจุบันองค์กรในกระบวนการยุติธรรมยังไม่เป็นอิสระจากภาคการเมือง โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เนื่องจากเป็นต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรมแต่กลับถูกการเมืองครอบงำ จนไม่สามารถสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม จะต้องแยกสององค์กรออกมาเป็นอิสระเช่นเดียวกับอัยการและศาลที่สามารถดำเนินอย่างเป็นอิสระไม่อิงกับการเมือง

"ต้นทางของกระบวนการยุติธรรม คือ ตำรวจ และดีเอสไอ อยู่ใต้อุ้งตีนของการเมืองทั้ง 2 อัน ดีเอสไอขึ้นกับกระทรวงยุติธรรม ตำรวจขึ้นอยู่กับรองนายกฯ ต้องเอาออกมาเป็นอิสระเหมือนอัยการกับศาล ต้องแก้กฎหมาย อย่าให้ดีเอสไอไปสังกัดกระทรวงยุติธรรม ถ้าเป็นอย่างนี้อยู่ ใครมาเป็นรัฐบาลก็ต้องรับใช้ ถ้าไม่รับใช้ผม ผมย้ายคุณ อย่างนี้ก็ต้องเอาตัวรอด มันต้องไม่มีคำว่า เป็นอย่างนี้ได้เพราะมีคนนั้นคนนี้ให้ ถ้ายังถูกครอบงำอย่าหวังเลยว่าจะสร้างความยุติธรรมได้"

"พล.ต.ต.อำนวย" ยังได้ยกตัวอย่าง ว่า สมัยก่อนประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) คือรัฐมนตรีมหาดไทย ตำรวจไปออกันที่นั่นหมด ต่อมาให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก.ตร. ตำรวจก็ไม่ไปยุ่งเลย ถ้าไม่มีการเมืองแทรกแซงตำแหน่งตำรวจก็ไม่ต้องไปยุ่ง ไม่ได้ว่าใครแต่เป็นข้อเท็จจริง ดังนั้นมันต้องแก้อย่าไปหวังว่าน้ำที่ปลายทางจะสะอาดถ้าต้นทางยังสกปรก

สำหรับแนวทางในการปฏิรูปบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม "พล.ต.ต.อำนวย" ระบุว่า โครงสร้างบุคลากรของกระบวนการยุติธรรม มีราว 13 องค์กรที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตำรวจ ดีเอสไอ ป.ป.ช. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กมส.) รัฐสภา และสภาทนายความ ฯลฯ ขณะนี้ประเทศไทยมีหน่วยงานที่ครอบคลุมทุกปัญหา แต่ไม่สามารถทำงานอย่างเป็นเอกภาพ ต่างคนต่างทำจึงทำให้การแก้ไขปัญหาไม่เด็ดขาดและเกิดปัญหาเดิมซ้ำซาก

"จำเป็นต้องมีแกนกลาง จริงๆ ตั้งแล้วที่กระทรวงยุติธรรมแต่เป็นลักษณะของสำนักงาน ประสานงานในองค์กรยุติธรรม แต่ยังไม่สามารถดึงเอาหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาได้ทั้งหมด เชื่อมได้แค่หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงยุติธรรม จะต้องมีการออกกฎหมายเพื่อสร้างแกนกลางตรงนี้" พล.ต.ต.อำนวย ระบุ

เดินหน้าดัน พรบ.ชุมนุม

"พล.ต.ต.อำนวย" ได้ประกาศจะผลักดันร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ โดยบอกว่าหลักการของกฎหมายฉบับนี้ จะต้องไม่มองว่าผู้ชุมนุมคืออาชญากร และการชุมนุมไม่ใช่การก่ออาชญากรรม เมื่อไม่ใช่อาชญากรรมก็ไม่ควรนำประมวลกฎหมายอาญามาบังคับใช้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้นเมื่อนำประมวลกฎหมายที่ไม่ได้ออกแบบเฉพาะสำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาปรับใช้ ย่อมสร้างความเสียหายให้กับประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมาย

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ ปี 2542 จำแนกเป็น 2 ส่วน ได้แก่1.บทบาทของผู้ชุมนุม เป็นการกำหนดขอบเขตในการชุมนุมอย่างชัดเจน อาทิ กำหนดให้หัวหน้าผู้ชุมนุมขออนุญาตกับหน่วยงานรัฐก่อนจัดชุมนุมแจ้งประเด็นและบุคคลที่จะขึ้นปราศรัย ฯลฯ

"หลังผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกาบอกว่าไม่ต้องขอแต่ต้องแจ้ง เบาลงไป หากล้ำเส้นจากนี้เจ้าพนักงานสั่งให้เลิกต้องเลิก ถ้าไม่เลิกคนจัดมีความผิด คนพูดแกนนำมีความผิด ผิดเท่าไหร่ว่ากันไปตามกฎหมาย อย่างนี้มันควบคุมโดยกฎหมาย คุณรู้หน้าที่ เช่น ฟิลิปปินส์ 4 โมงเย็นตำรวจกลับ 4 ทุ่มก็เลิกชุมนุม หากออกมาในถนนจัดการเด็ดขาดอย่างในเกาหลีใต้เจ้าหน้าที่ไล่ตี จับ ดำเนินคดีได้เพราะเห็นว่าล้ำเส้น ถ้าอยู่ในเส้นทุกอย่างก็ไม่มีปัญหาก็ไม่ต้องยกธงไลน์แมนมันต้องมีในประเทศไทย"

ขณะเดียวกันพอไม่มีกฎหมายเฉพาะจึงต้องพึ่งกฎอัยการศึก พระราชกำหนดฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งมันไม่ใช่ คือต้องเอายาที่ถูกมาใช้พ.ร.ก.อาจจะเบาไป กฎอัยการศึกก็แรงไป แต่มันจำเป็นเพราะไม่มียาต่างหาก

ประเด็นที่ 2.บทบาทของเจ้าหน้าที่ตำรวจปัจจุบันพบเพียงวาทกรรมซ้ำซาก "ดำเนินการจากเบาไปหาหนัก" แต่ไม่มีขั้นตอนที่ชัดเจน ที่ผ่านมาขั้นตอนต่างๆ ที่ใช้ควบคุมผู้ชุมนุมล้วนกำหนดจากสตช. จึงทำให้ไม่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานรัฐอื่นและประชาชน ต่อไปจะต้องผลักดันให้ผ่านการรับรองโดยรัฐสภาเพื่อให้เป็นบทบัญญัติที่ทุกฝ่ายยอมรับ

"ผลักดันกฎหมายนี้ไม่ได้ติดเขี้ยวให้ตำรวจเขี้ยวหดด้วยซ้ำไป เพราะบอกชัดว่าตำรวจทำอะไรได้หรือไม่ได้ ทุกคนต้องยอมรับ" พล.ต.ต.อำนวย ระบุ