posttoday

ฟันธง!หนาวปีนี้ปกติไม่มีหิมะให้เซอร์ไพร์ส

16 กันยายน 2557

จุดสูงที่สุดของไทยคือดอยอินทนนท์ ที่หากจะหนาวที่สุดก็จะมีปรากฏการณ์แม่คะนิ้งเท่านั้น

โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ

นับว่าเป็นข้อความที่สร้างความฮือฮาอย่างสูงบนโลกออนไลน์ เมื่อเนื้อหาในนั้นอ้างว่า ประเทศไทยอาจจะมีหิมะตกในหน้าหนาวนี้

ข้อความดังกล่าวถูกส่งต่อกันไปอย่างแพร่หลาย และใจความก็ยืนยันด้วยว่า

"เป็นเพราะอากาศหนาวจะปกคลุมพื้นที่ทวีปอเมริกาเหนือถึง 90% รัฐบาลในกลุ่มประเทศดังกล่าวรวมถึงสหรัฐอเมริกาได้สั่งการให้กักตุนเครื่องยังชีพ และผลของความหนาวจะปกคลุมแผ่มายังประเทศไทย จะทำให้หน้าหนาวครั้งนี้หนาวกว่าที่เคยเป็น โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลที่ 400 เมตรขึ้นไป จะหนาวมากที่สุด และกินเวลายาวนานตั้งแต่เดือนก.ย.2557 ไปถึงต้นเดือนเม.ย.2558 หนาวถึงขั้นที่ว่าต้องเตรียมเสื้อกันหนาวในแบบที่กลุ่มประเทศยุโรปใช้กันทีเดียว"

ใจความของข้อความยังระบุอีกว่า

"จะมีหิมะตกในหลายพื้นที่ของประเทศไทยจากเหตุดังกล่าว อันได้แก่ ห้วยขาแข้ง เขาค้อ หินร่องกล้า ทับเบิก น้ำหนาว ภูเรือ ภูกระดึง ภูสอยดาว ภูชี้ฟ้า ดอยตุง แม่สลอง ดอยอ่างข่าง ดอยขุนตาล ดอยช้าง ดอยวาวี เชียงดาว ดอยอินทนนท์ ดอยปุย แม่แจ่ม แม่สะเรียง แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา เชียงราย เชียงใหม่"

แต่ข้อความดังกล่าวเมื่อถูกสอบถามไปยังนักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศและภูมิศาสตร์ จึงได้รับคำยืนยันว่า “แทบเป็นไปไม่ได้” หรือแม้แต่ “เป็นไปไม่ได้เลย”

ปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน และผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิศาสตร์ บอกเล่าว่า การพูดในลักษณะดังกล่าวเป็นการคาดเดาที่ไม่อยู่ในหลักวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น และมีการพูดถึงเรื่องนี้กันทุกปี ทั้งที่ภูมิศาสตร์ตามข้อเท็จจริงของเมืองไทย การที่จะมีหิมะตกนั้นเป็นไปไม่ได้ รวมถึงประเทศไทยไม่มีองค์ประกอบถึงขนาดจะทำให้หิมะตกได้

“หิมะตกก็จะเหมือนฝนตก องค์ประกอบที่จะทำให้เกิดก็ต้องมีในด้านสภาพอากาศ แต่บ้านเราไม่มีองค์ประกอบที่จะทำให้หิมะตกได้ คือ ต้องแยกแยะความหนาวกับหิมะออกจากกัน ความหนาวจะมีอิทธิพลมาจากประเทศจีน หรือแผ่มาจากขั้วโลกเหนือ และไม่อาจทำให้เกิดหิมะได้ ส่วนที่ว่าจะหนาวยาวนานนั้น ต้องดูเหตุการณ์ใกล้ๆ ก่อนถึงจะสามารถวิเคราะห์กันได้”

ปราโมทย์ อธิบายเพิ่มว่า จุดสูงที่สุดของประเทศไทยคือดอยอินทนนท์ ที่หากจะหนาวที่สุดก็จะมีปรากฏการณ์แม่คะนิ้งเท่านั้นที่ออกมาให้เห็น

อีกมุมจาก ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็สอดรับเป็นเสียงเดียวกับปราโมทย์ว่า ปรากฎการณ์หิมะจะตกในเมืองไทยช่วงหน้าหนาวนี้ คงเป็นไปไม่ได้

“แต่ในอนาคตก็ไม่แน่เหมือนกัน เพราะอาจเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญขึ้นมาได้ แต่เชื่อได้จากข้อมูลในขณะนี้ว่า หิมะจะตกในเมืองไทยเร็วนี้นั้นคงไม่เกิดขึ้น”

ธนวัฒน์ ยอมรับว่าได้เห็นข้อความดังกล่าวมาแล้ว และฉายภาพวิเคราะห์ผ่านแนวทางวิทยาศาสตร์ว่า หิมะจะตกได้มีองค์ประกอบอยู่ คือ ภาพรวมของเอ็นโซ่ (ENSO) หรือการผันแปรของอุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทร ที่จะดึงหมู่เมฆมาและเกิดความชื้นในสภาพอากาศที่หนาวเย็น จนทำให้มีหิมะตกลงมา เมื่อได้วิเคราะห์ถึงปรากฎการณ์เอ็นโซ่ที่จะมีอิทธิพลต่อประเทศไทย ก็พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และในอนาคตอาจจะเกิดหิมะตกได้ แต่คงไม่มากนัก

“โอกาสที่จะเกิดหิมะตกต้องอยู่ในพื้นที่สูงคืออยู่ที่ระดับ 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ประเทศไทยมีที่เดียวคือที่ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ซึ่งอาจมีหิมะตกได้ในอนาคตนี้แต่ยังระบุไม่ได้ว่าจะเป็นช่วงใด และหากมีหิมะตก ก็จะเป็นเพียงจุดเล็กๆ เท่านั้น ไม่ได้ตกหนักเหมือนกับทวีปยุโรป หรือในประเทศเมืองหนาว” ธนวัฒน์ ย้ำ

กระนั้น อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุไม่อยากให้เชื่อข้อความที่มีการส่งแพร่หลายออกไป เพราะยังไม่ชัดเจนว่ามีการพิสูจน์ทางด้านวิทยาศาสตร์แล้วหรือไม่ และข้อความข้างต้นน่าจะเป็นการคาดเดาของบุคคลหนึ่งมากกว่า

แต่หากเมื่อมองถึงความหนาวเย็นที่ในข้อความระบุว่าจะหนาวกว่าหลายปีที่ผ่านมานั้น ธนวัฒน์ พูดถึงเรื่องนี้ว่า คงไม่หนาวกว่าปีที่แล้วเท่าใดนัก เนื่องด้วยสภาพอากาศ และภูมิศาสตร์ในปัจจุบันยังคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม ระบบการประเมินและวิเคราะห์สภาพอากาศอนาคตของประเทศไทยยังคงบอกได้เพียงแค่ในระยะเวลา 1เดือนเท่านั้น แต่ในองค์รวมที่ผ่านการตรวจสอบด้านวิทยาศาสตร์แล้ว คงจะไม่ได้หนาวถึงกับที่ในข้อความเขียนไว้ให้รู้สึกถึงความวิตก