posttoday

รำลึกความหลังถึง"ถวัลย์ ดัชนี"

14 กันยายน 2557

อ่านเรื่องราวชีวิตของ "ถวัลย์ ดัชนี" ศิลปินแห่งชาติผู้ยิ่งใหญ่ในบางแง่มุมที่หลายคนอาจไม่เคยรู้

โดย...วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย

เมื่อเขียนถึง ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติผู้ยิ่งใหญ่ไปเมื่อสัปดาห์ก่อน ก็ได้มีผู้อ่านจำนวนมากติดต่อเข้ามาว่าอยากอ่านเรื่องราวชีวิตของถวัลย์ในแง่มุมที่ผู้เขียนรู้จักให้มากกว่านี้ ก็เลยจะต้องเขียนถึง ถวัลย์ ดัชนี อีกครั้งหนึ่ง

เมื่อผู้เขียนรู้จักกับ ถวัลย์ ดัชนี ในปี 2512ผู้เขียนยังไม่ได้เริ่มต้นอาชีพเป็นนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ เป็นเพียงนักเขียนอิสระที่ส่งงานเขียนเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม ประเพณีประวัติศาสตร์ โบราณคดี ไปลงตามหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ บ้างเท่านั้น แต่งานหลักจริงๆ ของผู้เขียนในเวลานั้นก็คือการไปช่วยงานเพื่อนรุ่นพี่เซนต์โยเซฟคอนเวนต์ คุณเพลินพิศ แพร่พานิช ลูกสาวคนเก่งของคุณจิตต์ แพร่พานิช แห่งสำนักพิมพ์แพร่พิทยา ที่ผู้เขียนรักและนับถือมาตลอดชีวิต

การที่ผู้เขียนซึ่งอายุยังน้อยสามารถพา 3 ศิลปินรุ่นใหม่ไฟแรงในขณะนั้นไปแสดงผลงานที่โรงแรมชั้นหนึ่งซึ่งสร้างใหม่ๆ ของเมืองขอนแก่น และเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นให้มาเป็นประธานเปิดนิทรรศการงานของ 3 ศิลปินได้สำเร็จนั้น ก็เป็นเพราะคุณสุพจน์ โฆษะวิสุทธิ์ เจ้าของโรงแรมและคุณช่วย นนทนาการ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น รู้ว่าผู้เขียนเป็นลูกเต้าเหล่าใครใน จ.ขอนแก่น ไม่ใช่ความเก่งกาจสามารถของผู้เขียนแต่อย่างใด

ในเวลานั้นการแสดงภาพเขียนของศิลปินยังเป็นสิ่งแปลกใหม่มากสำหรับเมืองขอนแก่น เราใช้รถ 6 ล้อ จากโรงงานอัดปอของพ่อผู้เขียนขนรูปพี่หวัน พี่เทือง และภาพ cut word ของพี่ประพันธ์ รวมทั้งสิ้นเกือบ 30 รูป พร้อมอุปกรณ์การติดตั้งรูปกับคนงานที่บ้านของผู้เขียนอีก 2 คน ไปติดตั้งเองที่โรงแรมโฆษะ ซึ่งบริการสถานที่และบริการน้ำดื่มให้เท่านั้น ทุกอย่างพวกเราต้องช่วยกันทำเองตั้งแต่เช้ายันค่ำเป็นเวลา 2-3 วัน กว่าจะติดตั้งเสร็จ จนพี่หวันบ่นอุบด้วยความเหนื่อยอ่อนและขำขันว่า อยากจะเปลี่ยนชื่อโรงแรมโฆษะให้เป็นโรงแรมโทสะเสียให้รู้แล้วรู้รอดไป

วันเปิดงานแสดงนอกจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นมาเป็นประธานเปิดงานแล้ว ยังมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัด พ่อค้า ประชาชน อาจารย์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปร่วมงานมากมาย ในครั้งนั้นมีผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย สาขาขอนแก่น เป็นผู้หญิงเก่งชื่อ ไขนภา โชติกเสถียร รับเชิญไปร่วมงานด้วย ระหว่างที่รอประธานเปิดงานอยู่มีนักศึกษาจากคณะวิศวะ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้ยินเพื่อนๆ เรียกว่าชัก (สมศักดิ์ วิรุฬผล) ซึ่งยังไม่รู้ว่าใครเป็นใครในงานนี้ แอบวิจารณ์รูปเขียนของพี่หวันว่า “ใช้สีดิบ แต่รูปมีพลังมาก” พี่หวันเจ้าของรูปยืนอยู่ข้างหลังเลยถามว่าพวกคุณเรียนอะไรกันมา พอบอกว่าเรียนวิศวะ พี่หวันก็ชอบใจใหญ่ว่าวิจารณ์ได้ถูกใจ ก็เลยคุยกันอย่างถูกคอสนุกสนานมาก

รำลึกความหลังถึง"ถวัลย์ ดัชนี"

หลังเปิดนิทรรศการแล้ว ท่านผู้ว่าก็เดินมาทักทายศิลปิน ท่านผู้ว่าฯ ถามพี่หวันว่า “พวกคุณเป็นศิลปินกลุ่มไหน” พี่หวันตอบอย่างหน้าตาเฉยว่า “กลุ่มซิงกาตูนิสต์ครับ ชื่อกลุ่มมาจากภาษาฮิบรูครับ” ท่านผู้ว่าฯ มองหน้าศิลปินทั้ง 3 คน แล้วก็ชวนคุยเรื่องอื่น

ในงานเปิดนิทรรศการพี่หวันอยากสร้างบรรยากาศความประทับใจ ตอนนั้นกวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์ ชื่อลำเนาภูกระดึง เพิ่งจะตีพิมพ์ออกมาใหม่ๆ โดยสำนักพิมพ์ศึกษิตสยามพี่หวันนำบทกวีที่เกี่ยวกับเมืองขอนแก่นในหนังสือเล่มนั้นไปร่ายสดในงาน ความว่า

ถึงขอนแก่นสวยแสนแดนตึกแถว
ล้วนเป็นแนวคอนกรีตกรีดสวรรค์
สับสนป่ารถยนต์ทั้งนั้น
มนุษย์ผสมพันธุ์กะเครื่องยนต์
ร้านค้าค้าสวะขยะโลก
ลมโบกฝุ่นฟุ้งทุกแห่งหน
หนาตานารีที่ซุกซน
ขายตนกะนิโกร-หรั่งหลั่งกาม
หลายเบียร์บาร์เหล้ายาปลาปิ้ง
ทุกสิ่งพร้อมพรั่งทั้งของห้าม
เมียเช่าบ้านเช่าราคางาม
ล้ำสามโลกที่สุดศรีวิไล
เบื่อชื่นชมมารยานาคร
ขอนแก่นลูกออกบางกอกใหม่
บางกอกออกผลล้นเมืองไทย
แลนด์ใหญ่แลนด์น้อยห้าร้อยเอย

พอพี่หวันร่ายบทกวีนี้จบ ท่านผู้ว่าฯ ช่วย นนทนาคร ท่านก็กล่าวว่าที่ร่ายมาทั้งหมดนั้นมันอุดรฯ นะครับไม่ใช่ขอนแก่น ขอนแก่นไม่มีบาร์ ไม่มีจีไอ ขอนแก่นเป็นเมืองมหาวิทยาลัย มีพระธาตุขามแก่น มีบึงแก่นนคร พอโดนท่านผู้ว่าฯ แย้งพี่หวันก็แก้ทันใดว่า ถ้างั้นสงสัยท่านอังคารท่านคงจะเมาแล้วหลับมาในรถ พอรุ่งเช้ายังไม่สร่างเมาเลยสับสนไม่รู้ว่าเป็นอุดรฯ หรือขอนแก่น (ฮา) ท่านผู้ว่าฯ ขอนแก่นเลยเชิญชวนให้พี่หวันและศิลปินอีก 2 คน ไปไหว้พระธาตุขามแก่น ไปชมมหาวิทยาลัยขอนแก่นและบึงแก่นนครแล้วไปเที่ยวอุดร เพราะท่านผู้ว่าฯ อยากเห็นภาพเมืองขอนแก่นและเมืองอุดรฯ ในสายตาของศิลปินอย่างพี่หวัน ทั้งยังอยากจะนัดไปคุยกันอีกที่จวนของท่านผู้ว่าฯ

หลังจากประธานเปิดงานแสดงศิลปะกลับไป พวกนักศึกษาวิศวะที่ไปร่วมในงาน ดูเหมือนจะเป็นสมศักดิ์ วิรุฬผล ถามพี่หวันว่า กลุ่มศิลปินซิงกาตูนิสต์มีจริงหรือ? พี่หวันหัวเราะเสียงดังอย่างครื้นเครง ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องอำกันเล่นอีกตามเคย

เมื่อกลับถึงบ้านในโรงงานอัดปอที่น้ำพอง พี่หวันบอกผู้เขียนให้ไปบอกแม่ของผู้เขียนว่าไม่ต้องเป็นภาระทำอาหารมาส่งให้กินทุกมื้อแล้ว เพราะต่อไปนี้จะมีอาจารย์ นักศึกษา จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และนายช่างศูนย์สร้างทางขอนแก่นตามมาคุยที่บ้าน จะมาเล่นดนตรีกันด้วย คงมากันหลายคน ให้หาอาหารมากินกันเอง เพราะบางคนพูดว่าถ้าดึกจะนอนค้างที่บ้านกับพี่หวันเลย ไม่ต้องให้เป็นภาระของผู้เขียนกับแม่ เวลาเช้าก็กินปาท่องโก๋กับกาแฟและข้าวโพดข้าวเหนียวต้ม แล้วก็เข้าเมืองไปอยู่ในงานนิทรรศการแต่เช้า เนื่องจากศิลปินทั้ง 3 คน ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ และละเว้นอบายมุขทุกอย่าง แม่ของผู้เขียนจึงเตรียมเพียงน้ำชา กาแฟ น้ำถั่วเหลือง (ไวตามิ้ลค์) และน้ำหวานประเภทน้ำเขียว-น้ำแดง กับกระติกน้ำร้อน-น้ำแข็งไว้ให้พร้อมเท่านั้น

เมื่อศิลปินทั้ง 3 ได้ไปไหว้พระธาตุขามแก่นไปเที่ยวเมืองอุดรฯ-ขอนแก่นมาทุกซอกทุกมุมแล้ว พี่หวันก็มานั่งวาดรูปเมืองขอนแก่น-เมืองอุดรฯ ตามคำขอของท่านผู้ว่าฯ พี่หวันเขียนรูปด้วยปากกาหมึกแห้งสีดำบนกระดาษวาดเขียนขนาด A4 รูปเมืองอุดรฯ และขอนแก่นพี่หวันเขียนเสร็จในคืนเดียว โดยรูปเมืองอุดรฯ พี่หวันเขียนเป็นรูปผู้หญิงแขวนอยู่บนไม้แขวนผ้าเรียงกันอยู่ มีหนอนและแมลงต่างๆ น่าเกลียดน่ากลัวไชชอนไต่ตอมเต็มไปหมด ส่วนรูปเมืองขอนแก่นเป็นรูปหญิงสาวนุ่งซิ่นแบบลาวมุ่นมวยผมนั่งอยู่ริมบึงแก่นนคร เงาในน้ำของเธอเป็นดอกบัว เมื่อผู้เขียนเห็นรูปเมืองขอนแก่น|ผู้เขียนก็บอกกับพี่หวันว่า “พี่หวัน บึงแก่นนครพี่ก็เห็นใช่มั้ยว่ามันเป็นบึงดินดำ น้ำมันไม่ใสถึงขนาดจะเห็นเงาใต้น้ำ และไม่เคยเห็นบึงแก่นนครมีบัวเลย” พี่หวันทำหน้าจริงจังใส่ผู้เขียนแล้วพูดว่า “ช่างไม่เข้าใจจินตนาการของศิลปินเอาเสียเลย คนอะไร บอกอะไร พูดอะไรพุทธิปัญญาก็ไม่เคยพวยพุ่ง” พูดแล้วพี่หวันก็หัวเราะ และว่า “แต่พี่เห็นอะไรในบึงแก่นนครเหมือนกันนะ พี่เห็นสวะและผักตบชวา (ฮา)”

วันต่อมา ท่านผู้ว่าฯ ขอนแก่นเชิญศิลปินทั้ง 3 ไปพบที่จวน มีผู้เขียนและนักศึกษาวิศวะ เช่น ธานินทร์ บำรุงทรัพย์ สิทธิพร ศรีสง่า สมศักดิ์ วิรุฬผล, พิลาศพงษ์ ทรัพย์เสริมศรี และอีกหลายคนตามไปเป็นหางเครื่อง ท่านผู้ว่าฯ ชอบรูปที่พี่หวันเขียนทั้งสองรูปจึงขอซื้อ พี่หวันคิดราคารูปละ 2,000 บาท เมื่อออกจากจวนผู้ว่าฯ แล้วพี่หวันก็พูดอย่างอารมณ์ดีกับพวกเราว่า “ต้องไปเลี้ยงฉลองกันหน่อย เขียนรูปมาหลายปีเพิ่งจะหลอกขายคนไทยได้วันนี้เอง” การเลี้ยงอาหารค่ำวันนั้นเรามีอาจารย์สาวจากคณะวิศวะขอนแก่นชื่ออาจารย์แมว (มัลลิกา ทองเดชศรี) ไปร่วมด้วย อาจารย์แมวเลยกลายเป็นสมาชิกประจำที่ตามไปคุยไปเล่นกีตาร์ ไปร้องเพลงกับพี่หวันที่บ้านพักที่น้ำพองอีกคนหนึ่ง

ศิลปินทั้ง 3 จัดแสดงงานศิลปะอยู่ที่โรงแรมโฆษะขอนแก่นเป็นเวลา 1 เดือน แต่ยังสมัครใจที่จะอยู่ต่อที่บ้านผู้เขียนที่น้ำพองอีกประมาณเดือนเศษ ตลอดเวลาที่ได้รู้จักคลุกคลีกับพี่หวัน ผู้เขียนได้รับความรู้ในเรื่องต่างๆ อย่างมากมาย ผู้เขียนรู้ว่าสวรรค์ในพระพุทธศาสนานิกายต่างๆ มีกี่ชั้น นรกมีกี่ชั้นก็จากความรู้ที่พี่หวันถ่ายทอดให้ วรรณกรรมในยุคใดสมัยใด ใครคือผู้แต่ง มีเนื้อหาสาระอย่างไร พี่หวันรู้หมด แม้แต่พระไตรปิฎกบางหน้าที่พี่หวันประทับใจในเนื้อหา พี่หวันจะจำได้ไม่ผิดเพี้ยนเลย แล้วพี่หวันยังมีพลังเก่งกล้า เฉลียวฉลาดล้ำลึกในวิชาความรู้สาขาต่างๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน ทั้งทางเอเชียและตะวันตก

รำลึกความหลังถึง"ถวัลย์ ดัชนี"

ตลอดระยะเวลา 2 เดือนกว่าๆ ที่พี่หวันพักอยู่ที่บ้านของผู้เขียน พี่หวันได้ไปพูดและไปอภิปรายให้ความรู้แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นและสถาบันการศึกษาอื่นๆ ในขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียงหลายแห่ง ทั้งยังมีเวลาได้รังสรรค์งานศิลปะลายเส้นสีดำจากปากกาหมึกแห้งบนกระดาษวาดเขียนขนาด A4 และขนาด 5x10 อีกมากมาย ที่โรงงานอัดปอของพ่อผู้เขียนจะมีรถขนปอวิ่งเข้าวิ่งออกในโรงงานวันละหลายเที่ยว บางทีรถขนปอเหล่านั้นก็เหยียบบรรดาอึ่งอ่าง คางคก กิ้งกือ ไส้เดือน กบเขียด ที่วิ่งอยู่เต็มบริเวณโรงงานอันกว้างใหญ่

เมื่อพี่หวันเดินลงจากบ้านไปเที่ยวดูทั่วบริเวณโรงงาน แล้วพี่หวันจึงขอให้คนงานช่วยกันเก็บซากสัตว์ต่างๆ ที่ถูกรถขนปอเหยียบเอาไปตากแห้งให้พี่หวัน เมื่อซากสัตว์แห้งดีแล้วก็เอามาส่งให้ พี่หวันก็ให้เงินค่าตอบแทนแก่คนงานไปตามสมควร เมื่อได้ซากสัตว์มาแล้วพี่หวันก็มานั่งพินิจพิจารณาดูสรีระต่างๆ ของซากสัตว์เหล่านั้นอย่างละเอียด ดังนั้นรูปลายเส้นสีดำบนกระดาษวาดเขียนในยุคนั้นของพี่หวันจำนวนนับร้อยรูปจึงเต็มไปด้วยสัตว์ชนิดต่างๆ อันหลากหลายที่พี่หวันพินิจพิจารณาดูซากของมันอยู่ทุกวันนั่นเอง

ผู้เขียนจำได้ว่าก่อนกลับกรุงเทพฯ พี่หวันบอกผู้เขียนให้เลือกรูปของพี่หวันที่เขียนเสร็จแล้ววางกองเป็นปึกอยู่ใต้เตียงเอาไว้สัก 4-5 รูป ผู้เขียนบอกพี่หวันว่าไม่เอา เพราะมันน่ากลัว มันมีแต่สิงสาราสัตว์ งูเงี้ยวเขี้ยวขอ เล็บเหยี่ยวเล็บเสือ แม้พี่หวันจะสอนสั่งให้มีปัญญาความรู้เรื่องพุทธศาสนา พุทธปรัชญา สวรรค์-นรก แต่ผู้เขียนก็ยังรู้สึกว่างานของพี่หวันส่วนใหญ่นั้นออกไปในแนวนรกภูมิที่เห็นแล้วก็ไม่สบายใจอยู่ดี ที่สำคัญเมื่อผู้เขียนกลับกรุงเทพฯ ก็ยังจะต้องไปอาศัยบ้านคนอื่นอยู่ หากเอารูปที่พี่หวันให้ไปติดไว้บ้านคนอื่นก็ไม่รู้ว่าเจ้าของบ้านจะชอบหรือไม่ พี่หวันมองหน้าผู้เขียนเหมือนอยากจะพูดอะไรต่อ แต่ก็เงียบ

เมื่อกลับกรุงเทพฯ พี่หวันยังคงไปพักอยู่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียนระยะหนึ่ง จากนั้นก็ไปพักอยู่ที่สตูดิโอที่ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร สร้างขึ้นที่ซอยอรรถการประสิทธิ์ ถนนสาทร หวังจะให้เป็นหอศิลป์เพื่อจัดแสดงงานศิลปะของศิลปินไทย ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นหอศิลป์พีระศรี ผู้เขียนก็กลับมาช่วยงานที่สำนักพิมพ์แพร่พิทยากับพี่ตุ๊กตามเดิม เวลานั้นพี่ตุ๊ก (เพลินพิศ แพร่พานิช) เป็นสาวเท่ ลูกเศรษฐีขับรถเบนซ์สปอร์ต ผู้เขียนกับพี่ตุ๊กก็จะไปมาหาสู่พี่หวันที่หอศิลป์ ซอยอรรถการประสิทธิ์ อยู่เสมอ มีหนุ่มวิศวกรที่เรียนจบแล้วจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งได้เข้าทำงานในกรมทางหลวง แล้วบังเอิญได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของพี่อาทร ปีตธวัชชัย พี่ชายคนโตของผู้เขียนในกรมทางหลวงมาร่วมสมทบเป็นแก๊งพูดคุยกับพี่หวันที่สตูดิโอด้วย ก็ยิ่งรู้สึกมีความสุขสนุกสนานกันเป็นอันมาก พวกเราได้รู้จักกับมาร์กาเร็ต (แม็กกี้) ภรรยาของพี่หวัน ซึ่งบางครั้งพี่หวันเรียกว่า กระปี๋เรือบินที่นั่น ผู้เขียนยังจำเหตุการณ์อันน่าขันของพวกเรากับแม็กกี้เรื่องเฉาก๊วยกับเต้าฮวย และอาการหมั่นไส้ค่อนแคะเสียดสีของพี่หวันที่มีต่อผู้เขียนกับพี่ตุ๊กที่นั่งเบนซ์สปอร์ตไปมาหาสู่ศิลปิน (ที่ยังไม่ใหญ่) อย่างพี่หวันในเวลานั้นได้เป็นอย่างดี

ตลอดระยะเวลา 40 กว่าปีที่รู้จักกัน พี่หวันและผู้เขียนจะส่งข่าวถึงกันเป็นระยะๆ เมื่อพี่หวันมีลูกชาย พี่หวันบอกกับผู้เขียนว่าตั้งชื่อให้ลูกว่าม่องต้อย ครั้นพี่หวันเห็นผู้เขียนทำท่าประหลาดใจ พี่หวันก็รีบอธิบายที่มาของคำว่า “ม่องต้อย” แล้วพูดต่อว่า ไว้ให้ม่องต้อยโตอีกซักหน่อยพี่จะพาไปหาอาจารย์คึกฤทธิ์ ให้อาจารย์คึกฤทธิ์ตั้งชื่อให้ จากนั้นอีกไม่นานพี่หวันก็บอกว่าอาจารย์คึกฤทธิ์ตั้งชื่อให้ม่องต้อยแล้วนะ ชื่อว่า “ภูดอย” ภูดอย ดัชนี เป็นภาษาไทยมันก็เพราะดีนะ แต่เป็นภาษาฝรั่งมันไงก็ไม่รู้ ว่าแล้วพี่หวันก็ทำเป็นเอามือป้องปากกระซิบข้างหูพูดว่าถ้าฝรั่งมันถามลูกตัวเล็กๆ ของมันว่า you want a poo? มันแปลว่าอะไร? แล้วพี่หวันก็หัวเราะตามสไตล์ของพี่หวัน และบอกว่าพี่เลยตั้งชื่อให้ไอ้ม่องต้อยใหม่ว่า “ดอยธิเบศร์” ไม่ใช่ดอยประเทศทิเบตนะ ดอยธิเบศร์ของม่องต้อยแปลว่า ดอยของผู้|ยิ่งใหญ่ ว่าแล้วพี่หวันก็หัวเราะชอบใจ

เมื่อพี่หวันเริ่มเขียนรูปให้มีสีสันมากขึ้น ผู้เขียนไปเยี่ยมพี่หวันที่บ้านดำเชียงราย พี่หวันชี้ชวนให้ดูภาพเขียนสีแดงที่มีเขาควายสีดำอยู่ด้วย และว่าตอนนี้งานของพี่มีสีมากขึ้นแล้ว ผู้เขียนบอกพี่หวันตามความรู้สึกจริงๆ ว่าสีแดงกับเขาควายของพี่หวันดูยังไงก็แรงและร้อนอยู่ดี สำหรับผู้เขียนแล้วตัวตนและสติปัญญาอันล้ำลึกของพี่หวันเป็นศิลปะที่ยิ่งใหญ่มากกว่า พี่หวันถามว่าเรารู้จักกันมานานแค่ไหนแล้ว คุยกันมาก็หลายสิบปีทั้งเรื่องที่มีสาระและไร้สาระจนป่านนี้พุทธิปัญญายังไม่พวยพุ่งก็จงโง่ต่อไปเถอะ พูดจบพี่หวันคงนึกได้ว่าไม่เคยใช้วาจารุนแรงกับผู้เขียนเช่นนี้มาก่อน ก็เลยลุกหายไปสักพักแล้วก็เดินกลับมาหาผู้เขียนพร้อมกับกีตาร์นั่งร้องเพลง You’re got a Frined ให้ผู้เขียนฟัง จากเนื้อเพลงท่อนแรกที่ว่า

When you’re down and troubled
And you need a helping hand
And nothing, nothing is going right.
Close your eyes and think of me and
Soon I will there to brighten up
Even your darkest night.

ไปจนถึงท่อนสุดท้ายของเพลง พี่หวันร้องได้ไพเราะจับใจจริงๆ แล้วจะไม่ให้รู้สึกว่าพี่หวันเป็นมนุษย์มหัศจรรย์ได้อย่างไร

รำลึกความหลังถึง"ถวัลย์ ดัชนี"

ในปี 2549 ผู้เขียนพาหลานสาว 3 คน ซึ่งเป็นลูกครึ่งไทย-เบลเยียม (แม่ของเด็กเป็นน้องสาวคนเล็กของผู้เขียน เมื่อพี่หวันไปพักอยู่บ้านที่น้ำพอง ขอนแก่น แม่ของเด็กเพิ่งมีอายุได้ 5 ปี พี่เลี้ยงจะพาไปนั่งเล่นกับพี่หวันที่บ้านพักเสมอ และพี่หวันก็ได้มีส่วนในการตั้งชื่อเล่นของแม่เด็กว่า “ปุ๊กกี้” ด้วย) ไปเยี่ยมพี่หวันที่บ้านดำ เชียงราย พี่หวันมีความสุขสนุกสนานมาก เพราะได้คุยภาษาดัตช์กับเด็กๆพี่หวันชอบใจมากเมื่อเด็กๆ เรียกพี่หวันว่า old pa ถวัลย์ (คุณตาถวัลย์) ขณะนั้นพี่หวันกำลังทำงานเขียนรูปขนาดใหญ่มหึมาเท่าฝาบ้านใหญ่ๆ พี่หวันบอกว่ารูปใหญ่ยักษ์นี้พี่หวันเขียนให้คุณชาลี โสภณพนิช ในราคา 1 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เป็นเหรียญสหรัฐที่ 40 บาทไทยต่อเหรียญสหรัฐ พี่หวันยังคุยต่อด้วยว่าเมื่อวาดรูปนี้เสร็จ พี่หวันตั้งใจจะวาดรูปที่ใหญ่กว่านี้อีก 2-3 เท่า สัก 4-5 รูป เพื่อจะเอาไปจัดแสดงที่ท้องสนามหลวงให้โด่งดังสนั่นโลกจารึกไว้ในกินเนสบุ๊กเลยทีเดียว

ผู้เขียนได้พบพี่หวันครั้งสุดท้ายที่บ้านดำเชียงรายเมื่อ 4 ปีก่อน ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่พี่หวันบอกเล่าถึงความเจ็บไข้ของตนเอง ซึ่งฟังดูแล้วก็ไม่ได้หนักหนาอะไร ทั้งยังเล่าถึงผู้คนหลากหลายที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของพี่หวัน แล้วก็พูดติดตลกว่า “ตลอดหลายปีที่ผ่านมาพี่หวันเฝ้ามองความเจริญเติบโตในชีวิตของผู้เขียนมาด้วยความชื่นชมยินดี ผู้เขียนก็คงจะมองเห็นถึงความยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ของนักวาดรูปอย่าง ถวัลย์ ดัชนี ซึ่งบัดนี้ได้กลายเป็นศิลปินของโลกด้วยความชื่นชมและภาคภูมิใจเช่นกัน” ผู้เขียนรู้สึกเจ็บปวดกับพี่หวันเมื่อพี่หวันเล่าถึงการทำงานหนักในปีหลังๆ เพื่อรังสรรค์งานศิลปะให้กับเศรษฐีใหม่ที่พี่หวันหลงเชื่อว่าเขาชื่นชมและหลงใหลในผลงานของพี่หวันอย่างแท้จริง โดยที่ไม่เคยคิดว่าจะต้องไปพบกับความคดในข้องอในกระดูกของคนผู้นั้นจนทำลายความรู้สึกดีๆ ของพี่หวันไปจนหมดสิ้น

ก่อนจากกัน พี่หวันพูดกับผู้เขียนอย่างอ่อนโยนว่า “ดูแลรักษาตัวเองให้ดีนะ โลกนี้มิได้มีมณีเดียว เมื่อไหร่ที่มีบ้านของตัวเองก็ให้บอกด้วย พี่หวันจะเขียนรูปสวยๆ เอาไปติดบ้านให้ด้วยตัวเอง” ผู้เขียนรู้สึกว่าในครั้งนั้นเป็นครั้งเดียวที่ผู้เขียนได้สัมผัสความเหงา ความว้าเหว่ลึกๆ ในใจของพี่หวัน

ผู้เขียนหวังอย่างยิ่งว่าจะมีโอกาสได้พบพี่หวันอีกในงานฌาปนกิจอาจารย์นิตยา มาศะวิสุทธิ์ ที่เราเรียกว่าพี่เม้า ด้วยความเคารพรัก เมื่อปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา แต่เมื่อถึงวันนั้นมีคนบอกข่าวว่าหลังจากพี่หวันกลับจากญี่ปุ่น น้ำตาลเบาหวานขึ้น 700 และมีโรคอื่นแทรกซ้อนต้องนำส่งโรงพยาบาล และหมอห้ามเยี่ยม เพราะต้องการให้พัก

ผู้เขียนไม่คาดคิดว่าความเจ็บป่วยของพี่หวันจะหนักหนาสาหัสจนต้องจากไปในที่สุด เมื่อทราบข่าวการเสียชีวิตของพี่หวัน ผู้เขียนทั้งตกใจและเสียใจอย่างบอกไม่ถูก

ถึงวันนี้ผู้เขียนอยากบอกพี่หวันแต่เพียงว่า แม้ผู้เขียนกำลังจะมีบ้านเป็นของตัวเองในเร็ววันนี้ และไม่มีโอกาสได้รูปสวยๆ ของพี่หวันศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ไปติดฝาบ้านไว้เป็นที่ระลึก แต่ผู้เขียนและเพื่อนพ้องน้องพี่ชาววิศวะขอนแก่นทุกคน รวมทั้งพี่ตุ๊ก (เพลินพิศ แพร่พานิช) ยังคงจดจำประสบการณ์ต่างๆ ที่มีความสุขสนุกสนานร่วมกับพี่หวันได้เสมอไม่เคยลืม เรื่องราวอันมากมายที่เล่ากันไม่มีวันจบสิ้นของพวกเรากับพี่หวันและความเป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ของพี่หวัน จะยังคงงดงามอยู่ในใจและความทรงจำรำลึกของพวกเราตลอดไป

บรรยายภาพ : หลานป้าของผู้เขียนลูกครึ่งไทย-เบลเยี่ยม ไปเยี่ยม ถวัลย์ ดัชนี ที่บ้านดำเชียงราย เมื่อปี 2549