posttoday

คุ้ยหัวใจหม่อมเหลน"ไม่ขอเทียบชั้นหลวงวิจิตรฯ"

07 กันยายน 2557

หลวงวิจิตรฯ ถือว่าเป็นบุคคลที่ก่อให้เกิดลัทธิชาตินิยมให้กับคนไทย และความเป็นชาตินิยมคนไทยที่เกิดขึ้นได้ในยุคจอมพล ป.

โดย...เลอลักษณ์ จันทร์เทพ

ราวกับเป็นยาสามัญประจำรัฐบาลก็ว่าได้ เพราะ นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้ง ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล มาเป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เผือกร้อนหลายอย่างตกมาอยู่ในมือทั้งการติดตามโครงการทุจริตจำนำข้าว หรือการส่งสัญญาณตรวจสอบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจนเกิดสั่นสะเทือน

บทบาท “พ่อบ้านทำเนียบร้ัฐบาล” ที่ต้องติดตามแก้่ไขหลายกรณีปัญหา จึงได้้รับความไว้วางใจจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ให้มานั่งเก้าอี้ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อีกตำแหน่งหนึ่ง

การวางตำแหน่งของ ม.ล.ปนัดดา ครั้งนี้จึงถือว่าถูกที่ถูกทางในจังหวะที่ฝ่ายการเมือง (เฉพาะกิจ) ต้องประสานการทำงานกับฝ่ายข้าราชการทุกระดับ

โอกาสนี้ ม.ล.ปนัดดา หรือผู้ที่คุ้นเคยเรียกขานว่า “หม่อมเหลน” เปิดห้องทำงานสำนักปลัดฯ สนทนาอย่างเป็นกันเองกับทีมงานโพสต์ทูเดย์ถึงการทำงาน 2 ตำแหน่ง

“ไม่ว่าจะเป็นหมวกของปลัดสำนักนายกฯ ในฐานะข้าราชการประจำ หรือจะหมวกของ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะการเมือง จะพยายามนำมาประสานกัน จะไม่แยกตัวเองออกเป็น 2 คนเด็ดขาด เราหลอกตัวเองไม่ได้ เราเป็นคนคนเดียวจะพยายามขบคิดอยู่เสมอว่าอะไรที่เป็นนโยบายสำคัญของนายกรัฐมนตรีและนโยบายของ คสช. จะมุ่งมั่นสืบสานต่อให้สำเร็จ

สวมหมวกสองใบจะไม่ถูกมองในเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนเหมือนนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.หรือ

“พี่ไม่ได้มองถึงเรื่องที่จะต้องออกต้องเข้า เพราะรัฐบาลขณะนี้เป็นรัฐบาลที่เข้ามาแก้ไขปัญหาเฉพาะกิจ แต่ถ้าเป็นรัฐบาลที่เลือกตั้งเข้ามา นั่นคืออีกเรื่อง ถ้าสถานการณ์แบบนั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะทำหน้าที่สองอย่างไปพร้อมกัน การทำงานทั้ง 2 ตำแหน่งนี้ สามารถทำงานคู่ขนานกันไปได้ เพราะเนื้องานในส่วนของสำนักนายกรัฐมนตรี จะไม่เหมือนรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีช่วยของกระทรวงต่างๆ ถ้าเรามีอุดมการณ์ มีความมุ่งมั่น จะไม่มีปัญหา”ม.ล.ปนัดดา แจงข้อข้องใจ

ด้วยบุคลิกที่สุภาพ สุขุมนุ่มนวล แต่คำพูดทุกคำเมื่อเอ่ยถึงจิตวิญญาณข้าราชการ มักจะทำให้ข้าราชการหลายคนสะอึกอยู่พอสมควร

“ทั้งชีวิตเป็นข้าราชการมาตลอด ก่อนที่จะมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีตำแหน่งเป็น “รองปลัดกระทรวงมหาดไทย” มีภารกิจที่ต้องดูแลทุกข์สุขประชาชน บำบัดทุกข์บำรุงสุข ประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งชีวิตสอนให้รู้ว่า บทบาทข้าราชการประจำเป็นงานที่ต้องทำให้เกิดความเรียบร้อยสมบูรณ์ ไม่ใช่งานฉาบฉวย ไม่ใช่งานผักชีโรยหน้า ไม่ใช่งานหาเสียงหรือประชานิยม แต่เป็นงานที่รู้สึกว่าเมื่อมองย้อนกลับไปแล้วรู้สึกภาคภูมิใจกับสิ่งที่เราได้ทำไป และลองถามตัวเองว่าทำได้เต็มที่แล้วหรือยัง ผลลัพธ์ที่ตอบกลับมาเป็นเช่นไร เพื่อที่จะได้ปรับปรุงแก้ไข”

“เรามีเงินเดือนใช้เพราะภาษีอากรประชาชน มีหน้าที่ต้องตอบแทนบุญคุณอันใหญ่หลวงของแผ่นดิน ตอบแทนประชาชน ด้วยการทำหน้าที่ข้าราชการที่มีพฤติกรรมที่เหมาะสม ไม่ใช่เห่อเหิม ลืมตัว อวดรู้ อวดเบ่ง กลับกลายเป็นมาเฟีย ข้าราชการต้องมุ่งสร้างเสริมความคิดว่าอะไรที่ทำแล้วสถิตอยู่กับบ้านกับเมืองตลอดไป”

รมต.ประจำสำนักนายกฯ ยังได้ออกแบบการทำงานด้านการเมือง ซึ่งดูจะสอดคล้องถ้อยแถลง พล.อ.ประยุทธ์ ในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ เมื่อวันที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา ว่า “ขอเป็น ครม.ติดดิน ทำงานใกล้ชิดประชาชน”

“อยากให้ประชาชนได้เห็นภาพความเป็นรัฐมนตรี ที่เป็นบุคคลธรรมดาคนหนึ่งที่เข้าถึงประชาชน เรียนรู้ปัญหาต่างๆ ได้โดยไม่ต้องมีขั้นตอนอะไรมากมาย รับรู้รับทราบปัญหาประชาชน ข่าวสารบ้านเมือง ความเปลี่ยนแปลงและการแก้ไขปัญหา ไม่อยากให้ประชาชนมองว่าตำแหน่งรัฐมนตรีวีไอพี อยากให้เป็นอะไรที่เรียบง่าย ทำงานสนองคุณแผ่นดิน อยากให้รัฐมนตรีมุ่งมั่นทำงานนี้ได้ตามพระราชปณิธานของในหลวงเรื่องความพอเพียง เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ความรู้รักสามัคคี ไม่พูดจาหยาบคาย ไม่ทะเลาะกันในสภา”

“ยามที่เราเป็นข้าราชการประจำ เคยมองการทำงานของการเมืองอยู่บ้าง ซึ่งอะไรที่การเมืองทำไว้เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมชื่นชอบก็จะรักษาไว้ เช่น เรื่องความรวดเร็วทันอกทันใจ แต่ในมุมกลับกันก็ขาดความรอบคอบ ผลีผลาม ขาดความยับยั้งชั่งใจ ขาดการกลั่นกรองที่เหมาะสม”

ม.ล.ปนัดดา ตั้งปณิธานการทำงานไว้ว่า จะใช้ตำแหน่งทางการเมืองเอาความรวดเร็วมาใช้ในการแก้ไขปัญหา ซึ่งผู้ที่จะได้รับผลดีผลได้คือประชาชน ขณะเดียวกันจะนำเอาความเป็นข้าราชการประจำมาประยุกต์ใช้กับการเมืองให้ไปด้วยกันได้ดี เพราะมีหลายคนที่ประสบความสำเร็จไปพร้อมกันได้ทั้งการ บริหารภาคเอกชน ไปพร้อมกับการทำหน้าที่เป็นผู้บริหารภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้จะทำให้เห็นว่าการเป็นข้าราชการประจำมาก่อนได้เปรียบตรงที่จะยึดมั่นในกฎระเบียบ มีความมุ่งมั่นที่จะรักษาระบบเกียรติศักดิ์คือความซื่อตรง

อนึ่ง ภาระงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ม.ล.ปนัดดา ประกอบด้วย กำกับดูแลสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี กรมประชาสัมพันธ์ บริษัท อสมท สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

ซึ่ง รมต.ประจำสำนักนายกฯ ได้วางนโยบายการทำงานเอาไว้คร่าวๆ ว่า ส่วนของกรมประชาสัมพันธ์ และบริษัท อสมท หรือโมเดิร์นไนน์ทีวี อยากจะขอความร่วมมือร่วมใจ ทำบทบาทให้โทรทัศน์ของรัฐเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทรงคุณค่า ไม่อยากให้นำเสนอแต่เรื่องการทะเลาะวิวาทขัดแย้ง ภาพคดีอาชญากรรม อะไรที่ก่อให้เกิดความสะเทือนใจแก่พี่น้องประชาชน ให้รู้จักเลือกเฟ้นในการนำเสนอ โดยยึดถือมาตรฐานสากล ส่วนงานด้าน สคบ. อยากให้เป็นหน่วยงานที่ดูแลประชาชนได้เป็นอย่างดี

ยกหลวงวิจิตรฯ ผู้สร้างลัทธิชาตินิยม

หากสังเกตบทบาทของ ม.ล.ปนัดดา จะเห็นว่าทำหน้าที่ด้วยการสื่อสารไปยังประชาชน ข้าราชการอยู่ตลอด ที่จะปลุกความรักชาติ ความสามัคคี จนกระทั่งมีคนนำมาเปรียบเทียบกับการทำหน้าที่ของ “หลวงวิจิตรวาทการ” ขุนพลคู่ใจ “จอมพลแปลก (ป.) พิบูลสงคราม” ในยุคที่เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มีแนวทางการทำงานปลุกให้คนไทยรักชาติเช่นกัน

“อย่าเปรียบขนาดนั้นเลย เพราะท่านหลวงวิจิตรฯ สูงศักดิ์มาก และไม่เคยนึกคิดอะไรขนาดนั้น การทำงานที่ผ่านมาได้แต่พยายามตามที่คุณพ่อสอนไว้ ซึ่งก็เหมือนกับที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ท่านทวด ที่ได้สอนสืบต่อกันมาว่า เกิดมาเป็นคนไทยต้องสำนึกถึงบุญคุณประเทศไทย ให้สร้างความดี อย่าทำความไม่ดี อย่าทำบาปเท่านั้นเอง” ม.ล.ปนัดดา กล่าวอย่างถ่อมตน

“หลวงวิจิตรฯ ท่านมีส่วนดีเยอะมาก จะเห็นได้จากบทเพลงที่ท่านได้แต่งไว้ ส่วนตัวมีความชื่นชอบมาก เพราะเนื้อหาล้วนเป็นข้อเท็จจริงทั้งสิ้น และคิดว่าไม่ควรนำตัวเองไปเปรียบกับท่าน เพราะไม่ได้ดีอะไรมากมาย หลวงวิจิตรฯ ถือว่าเป็นบุคคลที่ก่อให้เกิดลัทธิชาตินิยมให้กับคนไทย และความเป็นชาตินิยมคนไทยที่เกิดขึ้นได้ในยุคจอมพล ป. มองว่าหลวงวิจิตรฯ เป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้ความรักชาติในยุคนั้นเกิดขึ้นได้ หากเราจะเรียนรู้ถึงแนวทางความรักชาติบ้านเมืองของบุคคลในอดีต ก็ไม่เห็นว่าจะเป็นเรื่องล้าสมัย แต่กลับเป็นเรื่องที่นำมาใช้ได้ตลอดกาล ความดีไม่มีวันล้าสมัย มีแต่จะค้ำจุนชาติบ้านเมืองอยู่กับประเทศชาติตลอดไป”

วปอ.คอนเนกชั่น จุดเริ่มความสัมพันธ์

ม.ล.ปนัดดา เล่าถึงจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์กับ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า รู้จักท่านสมัยที่เรียน วปอ.2550 รุ่นเดียวกัน และท่านเป็นประธานรุ่น ซึ่งระหว่างเรียน ท่าน พล.อ.ประยุทธ์ ไว้วางใจให้เป็นกรรมการรุ่นฝ่ายวิชาการ ถือว่าท่านได้ไว้ใจการนำเสนอเอกสารทางวิชาการ และการที่ได้รับโอกาส รับความไว้วางใจให้เข้ามาร่วมรับหน้าที่แก้ไขปัญหาประเทศชาตินั้น คือว่าท่านคงเห็นบทบาทการทำงานตั้งแต่สมัยเรียน วปอ. และคงเป็นจุดเริ่มต้นที่ให้ความเมตตากรุณา

“ก่อนที่จะได้รับทราบการประกาศให้รับตำแหน่ง รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนั้น ผมทราบข่าวจากบรรดาเพื่อนร่วมรุ่นที่เรียนวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หรือ วปอ. (รุ่น 2550) มาบ้าง ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายท่าน ตอนนั้นเมื่อได้ยินมาก็รู้สึกว่า โอ้โห! จริงหรือ เพราะไม่ได้ปักใจเชื่อซะทีเดียว ส่วนตัวไม่เคยนึกคิดเลยว่าจะได้รับตำแหน่งนี้ เป็นอะไรที่ไกลเกินฝันเหลือเกิน ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้มาเป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี”

“การได้เข้ามาทำงานร่วมกับ ครม.ชุดนี้ เชื่อว่าคนเราต้องมีความหวัง ถ้าไม่มีความหวังเลยจะไม่ประสบความสำเร็จ พี่มีความเชื่อและมีความหวังว่าตอนนี้โรดแมปได้เดินหน้าสู่ระยะที่ 2 แล้ว ซึ่งจะนำไปสู่ความสงบสุขในอนาคตอันใกล้นี้ ภาพรวม ครม.นี้พี่รู้จักหลายท่าน ทราบถึงอุปนิสัยใจคอหลายท่านดี มีคุณธรรมจรรยา สุดท้ายมีความภาคภูมิใจที่จะได้ทำงานร่วมกับท่าน” ม.ล.ปนัดดา เล่าถึงที่มาการได้รับตำแหน่งรัฐมนตรี

คุ้ยหัวใจหม่อมเหลน"ไม่ขอเทียบชั้นหลวงวิจิตรฯ"

ปลดแอกอปท.ไม่เป็นทาสการเมือง

ม.ล.ปนัดดา ในฐานะที่เคยเป็นอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และเคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอยู่หลายจังหวัดวาดภาพปฏิรูปในส่วนของ กลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.). ไว้ว่า อปท.ยังไง๊ยังไงก็เป็นอปท.อยู่วันยังค่ำ อปท.คือตัวแทนที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด เมื่อก่อนจะไม่มีการตั้งคนในภูมิลำเนากลับไปทำงานในจังหวัด หรืออำเภอของตัวเอง เพราะจะทำให้การทำงานลำบาก ต้องเกรงใจ รู้จักคนไปหมด ทำงานวางตัวลำบาก จะเลือกที่รักมักที่ชัง ระบบนี้แบบนี้ดีเป๊ะ แต่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนไปแล้ว

ที่พูดเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะอยากกล่าวเชิงเปรียบเทียบว่าผู้ว่าราชการจังหวัดคือข้าราชการภูมิภาค ตัวแทนรัฐบาลเข้าไปนั่งอยู่ทั้ง 76 จังหวัด ผู้ว่าฯ นายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ถือเป็นตัวแทนจากรัฐบาลที่ไปนั่งอยู่ตามวาระ โดยปกติไม่ให้อยู่นานมากต้องสับเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะไปคานอำนาจ และ ถ่วงดุลอำนาจ ตรวจสอบดูแลความโปร่งใสกับอปท. ไม่ใช่ไปกอดคอกันทำในสิ่งที่ผิด ไม่ใช่ไปใช้จ่ายงบประมาณ บางอบต.มีเงินน้อยอยู่แล้ว ส่วนภูมิภาคกลับไปใช้เงินในส่วนนั้น เช่น ไปดูงานต่างประเทศซึ่งมันไม่ถูกต้อง

“การปฏิรูประบบท้องถิ่นที่ดีคือต้องเห็นภูมิภาคกับท้องถิ่นไม่มีใครเป็นนายเป็นลูกน้อง แต่ทำหน้าที่ในบทบาทของตนเองให้ชัดเจน มีกรอบในการทำงาน ส่วนภูมิภาคอย่าไปสั่งอะไรที่วุ่นวายมากนัก ท้องถิ่นเองก็ต้องทำให้ดี ดูแลรับผิดชอบตัวเองให้ดีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านต้องทำงานช่วยเหลือ ผู้ว่าฯ นายอำเภอ เกษตรและสหกรณ์จังหวัด เพราะตัวเองไม่ใช่นักการเมือง ตอนหลังจะเห็นว่ากลายเป็นแยกแยะตัวเองไม่ออก เพราะมีการเมืองเข้ามาครอบงำไปหมด”

จะปลดแอกอปท.ออกจากการเมืองอย่างไร

ม.ล.ปนัดดา บอกว่า  ส่วนตัวคิดว่าท้องถิ่นกับการเมืองระดับชาติจะไปด้วยกันไม่ได้ ต้องแยกให้ชัด ว่าใครเป็นตัวแทนของรัฐบาล ใครเป็นตัวแทนพรรคการเมือง ข้าราชการเองก็เช่นกัน ทุกคนต้องทำงานให้เป็นไปตามครรลองครองธรรม ท้องถิ่นเป็นตัวแทนประชาชนในพื้นที่ตัวเองไม่เกี่ยวเลยกับพรรคการเมืองระดับประเทศ เสียดายที่เรายอมให้เรื่องนี้มาโยงกันได้ ทำให้ประชาชนสับสน

"สมมุติว่าถ้านายกฯอปท.ผูกกับพรรคการเมือง ก็จะเกิดปัญหาคือการเลือกปฏิบัติ เพราะตามจริงแล้วทุกอปท.คือ ตัวแทนประชาชนทั้งสิ้น งบประมาณ ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์สุขจากรัฐบาล ต้องช่วยเหลือทุกอปท.อย่างเท่าเทียมกัน  ผู้บริหารระดับประเทศไม่ควรไปช่วยผู้บริหารระดับท้องถิ่นด้วยซ้ำไป"

ถามสาเหตุที่การเมืองเข้าไปคาบเกี่ยวกับอปท.เพราะผลประโยชน์ทางการเมืองทั้งเรื่องของฐานเสียงและงบประมาณที่ลงไปในท้องถิ่นจำนวนมาก

ม.ล.ปนัดดาได้ย้อนถามขึ้นมาทันทีว่า ทำไมจะไม่เชื่อมโยงกันหละถ้าลองการเมืองกับท้องถิ่นเป็นชุดเดียวกันสิไม่ว่าจะพรรคไหนก็ตาม การทำงานจะแบ่งความรักความถูกใจกันไม่ได้ ถ้าคิดตามหลักธรรมชาติ ท้องถิ่นทุกท้องถิ่นเป็นผู้แทนด้วยกันทั้งสิ้น เอาตัวเองไปผูกกับพรรคการเมือง ขอโทษเถอะการเมืองจะไปยุ่งอะไรกับท้องถิ่น  พรรคการเมือง รัฐบาลต้องไปทำให้ดีในระดับประเทศ ให้เป็นศักดิ์เป็นศรี กับทั้ง 20 กระทรวง

จากประสบการณ์ที่เคยเป็นผู้ราชการจังหวัดมาก่อนเห็นพฤติกรรมนักการเมืองกับอปท.สัมพันธ์อย่างไรบ้าง

พอถามถึงเรื่องความสัมพันธ์ ม.ล.ปนัดดาถึงกับยิ้มพร้อมกับพูดว่าโอ๊ยๆๆน้องช่วยเขียนให้ดีนะอย่าให้ใครมาประท้วงพี่อีก

“โอยเป็นปี่เป็นขลุ่ย อย่างกับเป็นคู่แฝดเลย มีใครเขาทำกันแบบนี้ แหม่!นักการเมืองระดับชาติสูงเชียว คุณต้องดูแลภาพรวมของประเทศไทยโน้น บริหารประเทศให้เข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างสง่า ท่านคงไม่มีเวลาหรอกที่จะลงไปอยู่ข้างล่าง ไม่มีเวลาไปช่วยหาเสียงให้นายกฯอบต. นายกเทศมนตรี  นายกอบจ. เป็นถึงเสนาบดี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีระดับประเทศ ขุนศึกเศรษฐกิจ คลังประเทศ ขอโทษนะที่ต้องพูดตรงๆ ภาพเหล่านี้อยากจะให้แยกออกให้ได้ โดยที่ กกต.ต้องเป็นตัวหลักบวกกับ ป.ป.ช.ช่วยกันตรวจสอบความถูกต้อง ความโปร่งใส เพิ่มเขี้ยวเล็บให้ท่านทุกอย่างจึงจะดีขึ้น”

แนวทางการทำงานของอปท.หลังจากนี้ อดีตผู้ว่าราชการหลายจังหวัดให้ความเห็นว่า หลังจากที่เกิดปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างพี่กับอปท.เราได้มาปรับความเข้าใจการทำงานร่วมกันแล้ว โดยไม่ได้มีเสียงพูดคุยที่โกรธกันเลย ทุกคนรับฟังด้วยดี  และพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าจะอาศัยวิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาส ส่วนตัวมีความเชื่อมั่นในท่านอปท. เพราะเราต้องมองโลกในแง่ดีไว้ก่อน ทุกคนบอกว่าพร้อมที่จะประกาศเป็นเจตคตินิยม หรือเจตนารมณ์ต่อต้านทุจริตคอรัปชั่นร่วมกัน โดยขอให้ทางส่วนกลางสนับสนุน ส่วนเรื่องงบประมาณจะพยายามใช้อย่างประหยัด

นอกจากนี้ยังได้พูดถึงเรื่องงบประชานิยมต่างๆ เช่น เงินช่วยเหลือคนชรา นมโรงเรียน  การรักษาพยาบาล สิ่งเหล่านี้จะให้ไปอยู่กับกระทรวงที่รับผิดชอบโดยตรงเพื่อให้เกิดความชัดเจน ดีกว่าใช้งบในส่วนของท้องถิ่น เพราะถ้าท้องถิ่นบางแห่งรวย บางแห่งได้งบน้อยต้องใช้งบแบบรัดเข็มขัด แต่สุดท้ายแล้วอยากให้ทุกพื้นที่แชร์กันทั้งสุขทั้งทุกข์ร่วมกัน

“หลังจากการปฏิรูปเชื่อว่าประชาชนอยากจะเห็นการบริหารจัดการที่มีความประหยัด พอเพียง อะไรที่ฟุ้งเฟ้อ จัดงานต่างๆให้อยู่ในความพอดีพองาม ไม่อยากทำเหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ และอีกอย่างคนที่เข้ามาเป็นคนของประชาชนในหลายอารยะสังคม ต้องเรียบง่าย เป็นตัวอย่างที่ดีให้ประชาชน เมื่อประชาชนเห็นแล้วจะได้เชื่อมั่นศรัทธา

“นี่พี่ไม่ได้ไปตัดพ้อต่อว่าใครๆแต่อยากให้เป็นอุทาหรณ์สอนใจ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวผู้บริหารอปท.จะหาว่าพี่ไม่ยอมจบ จากนี้ไปพี่จะพยายามติดตามข่าวสารด้วยความสุขุมรอบครอบ”มล.ปนัดดา กล่าวทิ้งท้าย

คุ้ยหัวใจหม่อมเหลน"ไม่ขอเทียบชั้นหลวงวิจิตรฯ" ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล พร้อมครอบครัว

ตามรอยกรมพระยาดำรงฯ

ม.ล.ปนัดดา หรือคุณเหลน เป็นบุตรของ พล.ต.ม.ร.ว.สังขดิศ ดิศกุล อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และเป็นพระปนัดดา (เหลน) ผู้สืบสายราชสกุลดิศกุลมาจาก ม.จ.จุลดิศ ดิศกุล พระโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระโอรสในรัชกาลที่ 4

จึงไม่แปลกที่จุดยืนของ ม.ล.ปนัดดา ตระหนักถึงความจงรักภักดีต่อสถาบัน และยึดหลักการทำงานความเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

หลังจากที่ ม.ล.ปนัดดา เข้ารับหน้าที่ในตำแหน่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งทางข้าราชการประจำหรือตำแหน่งทางการเมือง ถือว่าเป็นภาระที่หนักอึ้งพอสมควร เพราะด้วยกรอบระยะเวลาอันจำกัดกับการพิสูจน์ฝีมือการทำงานและการที่จะปฏิรูปประเทศให้เป็นประเทศที่พร้อมก้าวสู่อาเซียนอย่างสง่างาม ถือว่ายากอยู่ไม่น้อย

แต่ต่อให้งานจะหนักหรือจะยากแค่ไหน หากมียาวิเศษจากครอบครัว ความยากลำบากต่างๆ คงทุเลาเบาบางไปไม่มากก็น้อย

ม.ล.ปนัดดา เล่าถึงยาวิเศษด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มว่า โชคดีที่ครอบครัวคุณอัมพร ดิศกุล ณ อยุธยา ภรรยาที่รักและมีลูกชายคนเดียว วรดิศ ดิศกุล ณ อยุธยา หรือ น้องโหลน ที่คอยเป็นกำลังใจให้อย่างมาก

“ครอบครัวของเรามองและมีความคิดที่เหมือนกัน คือ เรารักชาติบ้านเมือง เรารักในหลวงสุดชีวิต (หม่อมเหลนหยุดนิ่งสักครู่ใหญ่เพื่อกลั้นน้ำตา) และเล่าต่อไปด้วยเสียงสั่นเครือว่า ครอบครัวเราพูดเสมอว่า อะไรที่ทำงานแล้วจะเกิดเป็นคุณูปการต่อประเทศชาติ ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้เราทำงานอย่างมุ่งมั่นขวนขวาย”

แต่ยาวิเศษที่เป็นอีกหนึ่งความภูมิใจมาก ม.ล.ปนัดดา บอกว่า นั่นก็คือ น้องโหลน ตอนนี้เขาเรียนหนังสืออยู่ปีสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ คณะธุรกิจภาษาอังกฤษ ก่อนหน้านี้เรียนจบจากโรงเรียนนานาชาติ น้องโหลนมีพรสวรรค์ในการเรียนมาก มีคะแนนเป็นที่น่าพึงพอใจ เท่าที่ทราบเขาเชื่อฟังครูดี พี่ฟังแค่นี้ก็มีความสุขแล้ว

หม่อมเหลน ยังเล่าถึงการวางแผนเลี้ยงลูกว่า หลายคนสงสัยทำไมถึงไม่ให้ลูกเข้าเรียนโรงเรียนของรัฐ แต่ส่งเสริมเข้าเรียนโรงเรียนนานาชาติ

“เป็นไปตามแผนของคุณปู่ เพราะก่อนที่คุณพ่อหรือคุณปู่จะจากไปได้วางแผนไว้ว่าอยากให้หลานเก่งเรื่องภาษา เล่นกีฬาให้มีเพื่อนที่ดี อย่าไปคบเพื่อนที่อวดร่ำอวดรวย ขี้โม้คุยโว ท่านไม่ได้บอกว่าไม่ให้คบ แต่ท่านใช้คำว่าให้ถอยตัวออกห่าง คุณพ่อจะใช้คำพูดว่าเราอาจจะไม่ดีพอที่เราจะไปคบกับคนเหล่านั้น เราเจียมเนื้อเจียมตัว เป็นคำพูดที่พ่อสอนพี่ด้วยว่า ความอ่อนน้อมถ่อมตน เจียมเนื้อเจียมตัว ไม่เคยสอนให้หยิ่งยะโส ทะเยอทะยาน ไม่เคยเลยแม้แต่ครั้งเดียว”

ม.ล.ปนัดดา ได้แสดงวิสัยทัศน์ความเป็นพ่อสมัยใหม่ในคราบข้าราชการยุคเก่าว่า ความคาดหวังในตัวลูกไม่เคยได้วางกรอบอะไรไว้มาก เพราะเชื่อตามคำสอนของคุณพ่อมาตลอด คือสมัยนี้บังคับกันไม่ได้แล้ว สมัยก่อนยังบังคับกันได้ ให้ทำโน่นทำนี่ อยากให้รับราชการ อยากให้เป็นพลเรือน ตำรวจ ทหาร สมัยนี้ไม่ได้ ให้ตามใจเขา ท่านพูดประโยคว่า “ทำอะไรก็ทำ ขอให้เป็นคนดีของบ้านเมืองก็พอ”

นอกเหนือจากความเป็นพ่อแล้ว หม่อมเหลนยังมีอีกบทบาทที่น่าภาคภูมิใจ คือการเป็น “ครู” ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ารับราชการในกองทัพบก ด้วยตำแหน่ง อาจารย์ สังกัดส่วนการศึกษา กองวิชากฎหมายและสังคมศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า สอนนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

ม.ล.ปนัดดา เล่าถึงบทบาทความเป็นครูด้วยความภาคภูมิใจว่า ได้บรรจุเข้าปีเดียวกับที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ทูลกระหม่อมเจ้าฟ้าอาจารย์ของโรงเรียน จปร. ซึ่งตนเองนั้นอยู่กองวิชาเดียวกับพระองค์ท่าน โดยรับผิดชอบสาขาวิชารัฐศาสตร์กับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และนักเรียนรุ่นที่ได้สอนนั้นตอนนี้เป็นนายทหารใหญ่โตกันแล้ว จะเป็นนายพลกันหมดแล้ว อยู่ในระดับพันเอกพิเศษกันมากก็มีความรู้สึกดีใจที่เขาใหญ่โตถึงขั้นนี้

“คำสอนที่อยากจะให้แก่ลูกศิษย์ คือสิ่งที่คอยพูดอยู่เสมอว่าการรับราชการไม่ว่าจะพลเรือนหรือทหาร คือข้าราชการของประชาชน ของแผ่นดิน มีหน้าที่ที่จะต้องดำรงรักษาไว้ซึ่งเกียรติยศศักดิ์ศรีของบ้านเมือง และยึดมั่นความจงรักษ์ภักดีเหนือสิ่งอื่นใด และอยากจะฝากดูแลบ้านเมือง ประชาชน ขอให้บ้านเมืองมีความร่มเย็นเป็นสุข”

คุ้ยหัวใจหม่อมเหลน"ไม่ขอเทียบชั้นหลวงวิจิตรฯ"

เฟซบุ๊คเขย่าราชการ

เป็นอีกรายที่ใช้เฟซบุ๊คโพสต์ข้อความแสดงมุมมองความเห็นเกี่ยวกับการบริหารบ้านเมืองนับตั้งแต่มวลมหาประชาชนออกมาชุมนุมใหญ่ขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์  มล.ปนัดดา ในฐานะรองปลัดกระทรวงมหาดไทยขณะนั้นสร้างความฮือฮา ด้วยการตัดสินใจเขียนข้อความทำนองเรียกร้องให้ข้าราชการอย่าจำนนอำนาจไม่ชอบธรรมทางการเมืองให้ปฏิบัติตนยืนเคียงข้างประชาชน

กระทั่งคสช.เข้าควบคุมอำนาจบริหารประเทศ แต่งตั้ง มล.ปนัดดา มาปฏิบัติราชการในตำแหน่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีก่อนขึ้นสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ มล.ปนัดดาก็ใช้พื้นที่ทางโซเชี่ยลมีเดียโพสต์ข้อความ รายงานการลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวที่มีเงื่อนงำทุจริต แม้แต่เฟซบุ๊คร้อนว่าด้วยการแสดงความเห็นเกี่ยวกับข้าราชการท้องถิ่นใช้ชีวิตอย่างไม่เหมาะสม ทั้งจิบไวน์ราคาแพง นำคณะเดินทางไปเที่ยวเมืองนอก  จนทำให้สมาชิกอปท.บางส่วนแสดงความไม่พอใจรวมตัวออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน

แต่ไหนแต่ไรแล้วมล.ปนัดดามักใช้เวลาว่างกับการโพสต์เฟสบุ๊กเพราะเป็นคนชื่นชอบเรื่องของการใช้โซเซียลเน็ตเวิร์ก

“ตั้งแต่เป็นเด็กนักเรียนผมชอบสะสมเก็บรูปภาพงานไอทีต่างๆแม้ว่าจะไม่ได้ล้ำเลิศ และก็ชอบที่จะรวบรวมคำพูดคำสอนของบุคคลต่างๆในอดีต เพราะครูให้กับเราในปัจจุบัน”มล.ปนัดดาเล่าถึงปฐมเหตุก่อนเข้าสู่สังคมโซเชี่ยลมีเดีย

นอกจากนี้ยังใช้เพื่อสื่อสารไปยังพี่น้องประชาชน ข้าราชการต่างๆเพราะเราไม่ค่อยได้มีโอกาสในการพบปะคนเหล่านี้เท่าไหร่ประชุมร่วมกับข้าราชการในสังกัดก็นับครั้งได้และไม่ทั่วถึงระยะหลังไม่ค่อยได้ลงพื้นที่ด้วยห่างหายไปมากผิดกับตอนเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้พบปะพี่น้องประชาชน ซึ่งตอนนั้นมีความสุขมาก ต้องยอมรับว่าเฟสบุ๊กนี้เป็นช่องทางที่ทำให้ได้ติดต่อกับประชาชน และประชาชนก็มีช่องทางในการเรียนมาเพิ่มขึ้นด้วย เช่นร้อนเรียนเรื่องตัดไม้ทำลายป่า ข้าราชการไม่ยึดธรรมมาภิบาล ฟ้องมาเยอะมาก จะอ่านแต่ละทีต้องขยายตัวอักษรให้ตัวใหญ่เลย กว่าจะอ่านครบลำบากพอตัว แต่ก็จะพยายามอ่านอยู่ตลอด

ม.ล.ปนัดดา เล่าความภูมิใจในการใช้โซเซียลมีเดียอย่างมีความสุขต่อไปว่า เดิมเพื่อนในเฟสบุ๊กมีน้อยแต่หลังจากที่ได้เขียนแนวทางการทำงาน หรือความคิดเห็นอะไรไปบ้าง ตอนนี้เพื่อเพิ่มมากขึ้นแล้ว จนกระทั่งไม่สามารถที่เข้ามาเป็นเพื่อนกันได้แล้ว ต้องกดติดตามได้เท่านั้น ซึ่งทำให้รู้สึกดี ตอนนี้มีแฟนคลับบอกจะนำไปรวมเป็นรูปเล่มด้วยซ้ำแล้วจะนำส่งมาให้ ถ้าวันหนึ่งสามารถรวบรวมแล้วมีความมั่นใจในคุณภาพ ก็อยากจะทำเป็นหนังสือพ็อคเก็ตบุคเล็กๆ