posttoday

ปิดแฟ้มสมัครสปช."คนดัง-ตัวเต็ง"ร่วมปฏิรูป

03 กันยายน 2557

เมื่อดูจากหน้าตาของผู้สมัครแล้ว ถือว่าส่วนใหญ่ล้วนมีความน่าสนใจแทบทั้งสิ้น

โดย...เจษฏา จี้สละ

ปิดลงไปอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับการรับสมัครสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้สรุปยอดผู้เข้าสมัครมีทั้งสิ้น 6,729 คน จำแนกแบ่งเป็นผู้สมัคร สปช.จังหวัด 2,770 คน และ สปช.ตามความเชี่ยวชาญ 11 ด้าน 3,959 คน

ทั้งนี้ เมื่อดูจากหน้าตาของผู้สมัครแล้ว ถือว่าส่วนใหญ่ล้วนมีความน่าสนใจแทบทั้งสิ้น เพราะเต็มไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเมือง นักวิชาการ ไปจนถึงอดีตนายทหารรุ่นใหญ่ ซึ่งเคยมีบทบาทในกองทัพมาก่อน ทำให้เริ่มเห็นภาพกันแล้วว่า ใครบ้างจะได้มีโอกาสผ่านเข้าไปเป็นสมาชิก สปช. จำนวน 250 คน และเป็นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อันถือเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปประเทศ

ตัวเต็งที่น่าสนใจมากที่สุดคงต้องยกให้กับ ศ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ที่เข้ามายื่นสมัครในช่วงโค้งสุดท้ายในด้านบริหารราชการแผ่นดิน โดยมี มูลนิธิมีชัย-คุณหญิงอัมพร ฤชุพันธุ์ เป็นผู้ส่งชื่อเข้ารับการสรรหา ทั้งนี้มีการคาดหมายกันว่า อาจารย์บวรศักดิ์ไม่น่าจะพลาดกับตำแหน่งสมาชิก สปช. และอาจมีสิทธิได้นั่งเก้าอี้ใหญ่อย่างประธานหรือเลขาธิการคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญด้วย

ตามมาด้วย ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง ลงสมัครในด้านการเมือง

เมื่อมองลงไปในชื่อชั้นและประสบการณ์ทางการเมืองที่เคยเป็นถึงอดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็มีสิทธิที่เข้าป้ายเป็นสมาชิก สปช.ได้เหมือนกัน เช่นเดียวกับ ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ซึ่งสมัครในด้านการเมือง เป็นอีกคนที่ไม่น่าพลาดเก้าอี้ สปช. และที่สำคัญห้ามมองข้ามชื่อ คมสัน โพธิ์คง ผู้สมัคร สปช.ด้านการเมืองเป็นอันขาด เพราะเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญในฐานะอดีต กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เช่นกันกับ วุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า อดีต กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และ เสรี สุวรรณภานนท์ อดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ

ขณะเดียวกัน ได้มีนักวิชาการและนักกิจกรรมทางการเมืองที่เคยร่วมเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในนาม “ประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มาสมัครด้วย อาทิ สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำ กปปส. ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี พระพุทธะอิสระ ประธานมูลนิธิวัดอ้อน้อย เสนอบุคคลผ่าน 3 มูลนิธิ ได้แก่ มูลนิธิวัดอ้อน้อย เสนอชื่อ วิวัฒน์ โลหิตหาญ มูลนิธิธรรมอิสระ เสนอชื่อ ปริญญา ศรีสุคนธ์ และมูลนิธิอโรคยา เสนอชื่อ ณัฐฐา หิรัญชุณหะ ต่อด้วย คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม จรัส สุวรรณมาลา อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ บรรดาอดีต สว.สรรหาและ สว.เลือกตั้ง ชุดล่าสุดก็ได้ลงชิงตำแหน่ง สปช.ด้วย นำโดย ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีต สว.สรรหา ผู้ที่ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีจนอดีตนายกฯ ต้องตกเก้าอี้ ลงสมัครด้านการเมือง สมัคร เชาวภานันท์ อดีต สว.สรรหา มือกฎหมายรุ่นใหญ่ พล.อ.ชูชาติ สุขสงวน อดีต สว.สรรหา บุญยืน ศิริธรรม อดีต สว.สมุทรสงคราม สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ อดีต สว.เพชรบุรี วันชัย สอนศิริ อดีต สว.สรรหา คำนูณ สิทธิสมาน อดีต สว.สรรหา ผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดในวุฒิสภา ประสาร มฤคพิทักษ์ อดีต สว.สรรหา พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ศรีอรุณ อดีต สว.สรรหา พิเชต สุนทรพิพิธ อดีต สว.สรรหา

สำหรับผู้สมัครสายข้าราชการประจำและองค์กรอิสระ ก็นับว่ามีความน่าสนใจและมีลุ้นเข้าไปเป็นสมาชิก สปช.และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ อาทิ วิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นินนาท ชลิตานนท์ ปลัด กทม. วันชัย รุจนวงศ์ อธิบดีอัยการต่างประเทศ ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สุทธิพล ทวีชัยการ ว่าที่กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน สรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช.

ขณะที่อดีตข้าราชการทหารและตำรวจนั้นเป็นอีกวิชาชีพหนึ่งที่ลงสมัคร สปช. แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ปรากฏความเชื่อมโยงถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชัดเจนมากเท่าไหร่ ไม่ว่า พล.ท.ฐิติวัจน์ กำลังเอก บุตรชาย พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก อดีตผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ อดีตรองผู้บัญชาการทหารบก พล.ต.วีระศักดิ์ นาทะศิริ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยและอดีต รมช.กลาโหม ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พล.อ.วุฒินันท์ ลีลายุทธ ผู้บัญชาการสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย พล.อ.สุภกิจ นุตสถิตย์ ที่ปรึกษาพิเศษกองบัญชาการกองทัพไทย

พล.อ.จิตตสักก์ เจริญสมบัติ อดีตโฆษกกระทรวงกลาโหม พล.อ.ภาษิต สนธิขันธ์ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) พล.ท.สุจินดา สุทธิพงศ์ อดีต สว.และตุลาการศาลทหาร พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป อดีตนายทหารคนสนิทของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ เจ้ากรมพระธรรมนูญ เข้าสรรหาด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม พล.ต.ท.อนันต์ ภิรมย์แก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ช่วยราชการ บช.น. พ.ต.ต.กฤษณพงค์ พูตระกูล ประธานบริหารหลักสูตรอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม

กทม.-การศึกษามากสุด

ภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. เปิดเผยว่าผู้สมัครสปช.ที่มีจำนวนมากที่สุดคือด้านการศึกษา 619 คน รองลงมาเป็นด้านอื่นๆ575 คน และด้านสังคม 567 คนตามลำดับ ส่วนด้านสื่อสารมวลชนมีผู้สมัครน้อยที่สุด171 คน สำหรับการสมัคร สปช.ระดับจังหวัดนั้น กทม.เป็นจังหวัดที่มีผู้สมัครมากที่สุด 113 คน กาฬสินธุ์ 79 คนอุบลราชธานี 71 คน สงขลา 66 คน มหาสารคาม 63 คน โดยระยองเป็นจังหวัดที่มีผู้เสนอชื่อน้อยที่สุด13 คน

ขั้นตอนต่อจากนี้ กกต.จะเร่งตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 12 ก.ย. จากนั้นจะส่งให้คณะกรรมการสรรหาจังหวัดคัดเลือกให้เหลือจังหวัดละ 5 คน และคณะกรรมการสรรหา 11 ด้านคัดเลือกให้เหลือด้านละ 50 คนต่อไป