posttoday

ท้าพิสูจน์...แก้จราจรเอาจริงหรือไฟไหม้ฟาง

27 สิงหาคม 2557

นับเป็นการระดมทุกมาตรการเพื่อให้ท้องถนนในกรุงเทพมหานครคล่องตัวจากวิกฤตจราจรตามนโยบายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

นับเป็นการระดมทุกมาตรการเพื่อให้ท้องถนนในกรุงเทพมหานครคล่องตัวจากวิกฤตจราจรตามนโยบายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

กองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยเฉพาะตำรวจจราจรทั้งท้องที่ 88 สน. และกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) ต่างลงพื้นที่ตาม “นโยบาย” ที่ผู้บังคับบัญชาต่างช่วยคิด ไล่ตั้งแต่มาตรการจัดระเบียบจราจร 5 จอม 1.จอมปาด 2.จอมล้ำ 3.จอมขวาง 4.จอมย้อน 5.จอมปลอม หรือการจับคนเล่นไลน์ระหว่างจอดรถ การขอความร่วมมือกับห้างสรรพสินค้า โรงเรียน ตลาดสด ในการแก้ปัญหาจราจร ฯลฯ

มีคำถามว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเอาจริงกับมาตรการเหล่านี้ได้นานแค่ไหน เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่ขึงขังจริงจัง หลายโครงการเคยนำมาใช้แต่ก็เงียบหายเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เมื่อตำรวจไม่บังคับใช้กฎหมายปัญหาจราจรจึงไม่ทุเลาลง ทั้งนี้ขอยกตัวอย่างโครงการต่างๆ ของตำรวจจราจรในนครบาลที่ว่าดี แต่สุดท้ายก็เงียบหายไป

1.ยกรถไม่ล็อกล้อ เป็นแนวคิดของ พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ที่รับผิดชอบงานจราจร ด้วยแนวคิดที่รถติดอย่างหนักตลอดถนน 10 สายหลัก และสาเหตุมาจากการจอดรถบนถนนทำให้กีดขวางการจราจร โดยตำรวจจะเข้าไปยกรถออกทันทีแทนการล็อกล้ออย่างที่เคยปฏิบัติมา ผู้ที่ทำผิดคือเจ้าของรถต้องจ่ายค่าปรับรวมค่าฝากรถที่ตำรวจต้องนำไปไว้ตามโรงพักเฉลี่ยวันละนับพันบาท ดีเดย์วันทำการเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2556 แต่สุดท้ายผ่านพ้นไปได้เพียงแค่เดือนเดียว ก็ไร้การบังคับใช้กฎหมายของตำรวจอย่างแข็งขัน ผู้ขับขี่ก็ยังนำรถมาจอดไว้ตามปกติเหมือนเดิม และล่าสุดก็นำนโยบายล็อกล้อมาใช้เช่นเดิม ยกรถก็เงียบหายไป

2.ห้ามตั้งด่านตรวจกลางวัน ห้ามตั้งด่านซ้ำซ้อนในพื้นที่เดียวกันเป็นแนวทางการปฏิบัติจาก พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อไม่ให้เกิดการติดขัดบนท้องถนนกรุงเทพฯ ซึ่งในช่วงแรกที่ประกาศใช้นโยบายช่วงกลางปี 2556 ก็เป็นการยึดถือปฏิบัติได้ดีจากตำรวจจราจร แต่เมื่อนานวันเข้าก็ยังคงมีการตั้งด่านตรวจกลางวันเหมือนเช่นเคย โดยเฉพาะย่านบางนา วิภาวดีรังสิต รวมถึงพื้นที่รอยต่อของกรุงเทพฯ และบางครั้งยังมีการตั้งด่านกลางเมือง อย่างย่านห้วยขวาง เป็นต้น

3.จอดแล้วจรหน้าโรงเรียน เริ่มแนวคิดตั้งแต่ปี 2555 และนำมาปฏิบัติปี 2556 ทำต่อเนื่องมาตลอดโดยเฉพาะช่วงที่มีการเปิดภาคเรียน มุ่งเน้นผู้ปกครองที่มารับส่งบุตรหลานแล้วจอดแช่บริเวณหน้าโรงเรียนต่างๆ ส่งผลให้การจราจรติดขัด มุ่งเน้นถึงขั้นต้องจับปรับกันเลยทีเดียว แต่ก็เป็นเพียงแค่ช่วงเดือนแรกที่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง สุดท้ายผู้ปกครองก็ยังใช้วิธีการเดิม คือ จอดแช่รับส่งบุตรหลานตามปกติ ไร้การบังคับใช้กฎหมายอย่างแข็งขัน

4.จับปรับจริงหน้าห้างสรรพสินค้า แนวคิดจาก พล.ต.ท.เรืองศักดิ์ จริตเอก ผู้ช่วย ผบ.ตร. รับผิดชอบงานด้านจราจร ต้นปี 2557 มุ่งเน้นกลุ่มรถโดยสารประจำทางเป็นหลัก หากขับมารับส่งผู้โดยสารนอกจุดจอดคือป้ายรถประจำทาง เช่น ไม่จอดส่งในเลนซ้ายสุดถูกจับและปรับทันที เพื่อแก้ปัญหารถชะลอตัวติดขัดเมื่อรถประจำทางต้องส่งผู้โดยสาร แต่สุดท้ายโครงการนี้ก็เงียบหายไปเช่นกัน

5.แท็กซี่ไม่รับจับทันที เริ่มปลายปี 2557 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ฮือฮาอย่างมากกับโครงการนี้ของจราจรนครบาล เพื่อแก้ปัญหาแท็กซี่เลือกผู้โดยสาร ไม่รับผู้โดยสาร โดยหากประชาชนถูกปฏิเสธสามารถแจ้งตำรวจที่อยู่ใกล้เคียง หรือจดเลขทะเบียนรถของแท็กซี่คันนั้นร้องเรียนกับ บก.จร.เพื่อเอาผิดได้ แต่สุดท้ายเมื่อไร้การบังคับใช้กฎหมายจากตำรวจ คนขับแท็กซี่บางส่วนก็ยังเลือกผู้โดยสารตามปกติ โดยไม่เกรงกลัวความผิดที่ตำรวจใช้ปฏิบัติ

ตัวอย่างทั้ง 5 โครงการข้างต้น เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้นจากไอเดียของผู้บังคับบัญชา ซึ่งแต่ละอย่างนับเป็นความคิดที่ดี แต่เมื่อผู้ปฏิบัติคือตำรวจชั้นผู้น้อยขาดการคุมเข้มที่จะบังคับใช้อย่างจริงจัง จึงต้องมาดูอีกครั้ง หลายโครงการของตำรวจนครบาลด้านงานจราจร ทั้ง “5 จอม” รวมถึง “5 จริง” และ “ตำรวจจราจรยิ้ม” จะนำพาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบนท้องถนนกรุงเทพฯ หรือไม่ หรือจะหายเข้ากลีบเมฆเฉกเช่นอีกหลายโครงการของตำรวจจราจรเหมือนที่ผ่านมา