posttoday

สำนักพุทธฯขอล้างพระชั่วสกัดเหลือบสงฆ์

25 สิงหาคม 2557

เราฝังใจมานานกับผ้าเหลือง จนมีคำพูดกันว่า ‘ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์’ คือปล่อยๆ ไปตามสบาย แต่สำหรับเราถือว่าถ้าพระชั่ว เราก็ต้องจัดการ

โดย...สุภชาติ เล็บนาค

หากจำกันได้ เรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งการตั้งแต่ตอนเข้ารับตำแหน่งแรกๆ คือ การจัดระเบียบพระสงฆ์และพุทธศาสนา ให้เป็นสถาบันที่ได้รับการเคารพสักการะจากพุทธศาสนิกชนอย่างแท้จริง หลังจากนั้นก็ลงนามแต่งตั้ง คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาพระพุทธศาสนา โดยให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้า คสช. เป็นประธาน

โพสต์ทูเดย์นัดคุยกับ นพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และเลขานุการคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาพุทธศาสนา ถึงแนวทางการเรียกคืนศรัทธาพุทธศาสนาให้กลับมาเป็นเสาหลักอีกครั้ง

นพรัตน์ เล่าให้ฟังว่า คณะกรรมการชุดดังกล่าวจะทำงานจัดระเบียบพุทธศาสนา 3 ด้าน คือ 1.กฎหมาย 2.ตัวบุคคล คือ พระ และ 3.ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

“เราเสนอ คสช.ไปทั้ง 3 ประเด็น เรื่องกฎหมายจะเริ่มจากการให้แต่ละหน่วยงานไปดูเลยว่ามีอะไรที่ต้องขันนอตบ้าง เช่น แถวท่าพระจันทร์ที่มีขายพระเครื่องวางบนทางเท้าผิดกฎหมายของ กทม.อยู่แล้ว กทม.ก็ต้องไปจับ หรือพระเสพยาบ้า ดูหนังลามก อันนี้ตำรวจก็ต้องทำหน้าที่” ผู้อำนวยการสำนักพุทธฯ เล่าให้ฟัง

หลักการสำคัญนอกเหนือจากนั้น จะอยู่ภายใต้ร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนา โดยมีเนื้อหาสำคัญในการดูแลสถาบันสงฆ์ เพิ่มเติมจากกฎหมายปัจจุบันอย่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ที่ให้อำนาจพระสงฆ์ในการกำกับดูแลและปกครองกันเองโดยใช้พระธรรมวินัยเป็นหลักเกณฑ์เท่านั้น

“หากมีการกระทำผิดที่พระวินัยตรวจสอบไม่ได้ เช่น ถ้าจะพิสูจน์ว่าพระมีเพศสัมพันธ์แล้วมีเด็กขึ้นมา ก็ต้องใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ตรวจสอบ และต้องมีกฎหมายกำกับเพราะถือว่าทำให้เสื่อมเสีย เรื่องการปกครองก็เหมือนกัน พ.ร.บ.สงฆ์ระบุให้เจ้าอาวาสต้องดูแลพระ แต่ถามว่าถ้าดูแลบกพร่อง|จะต้องลงโทษหรือไม่ เพราะ พ.ร.บ.สงฆ์มีแต่ลงโทษทางวินัย ซึ่งมากสุดก็คือการให้สึก แต่สังคมบอกรับไม่ได้ ต้องเพิ่มโทษอาญาเพื่อให้เกิดความเกรงกลัว”นพรัตน์ เล่าให้ฟัง

ขณะเดียวกันจะครอบคลุมไปถึงประเด็นอย่างการคัดเลือกคนเข้ามาบวช เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่ทำให้สถาบันสงฆ์เสื่อมเสีย โดยต้องตรวจสอบอย่างละเอียดว่าเป็นคนติดยาเสพติด เบี่ยงเบนทางเพศ หรือมีปัญหาทางจิตหรือไม่ ซึ่งหากเข้าเงื่อนไขเหล่านี้พระอุปัชฌาย์ก็จะต้องรับผิดชอบ

ส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น กลุ่มคนที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์เพื่อสร้างวัตถุมงคล หาประโยชน์ร่วมกับพระ หรือแสวงหาผลประโยชน์จากวัดไปใช้ส่วนตัว และถวายของฟุ่มเฟือย เช่น ทรัพย์สินมีค่า รถยนต์ราคาแพง ก็จะมีกฎหมายครอบคลุมเผื่อเอาผิดเช่นเดียวกัน รวมถึงจะมีการระบุให้วัดต้องทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อให้สังคมร่วมกันตรวจสอบ

นอกจากนี้ เป้าหมายสำคัญที่นพรัตน์คาดหวัง คือ การดำรงไว้ซึ่งความเป็นสถาบันหลักของชาติ ไม่ให้ต้องเสื่อมโทรมไปมากกว่านี้ โดยต้องระบุไว้ให้ชัดเช่นกันว่า สถาบันศาสนาก็ควรจะต้องมีกฎหมายคุ้มครอง ไม่ให้เกิดกระบวนการบ่อนทำลายเช่นกัน

“สถาบันพระมหากษัตริย์มีกฎหมายว่าไม่ให้ล่วงเกิน สถาบันชาติเราก็ยกไว้ แต่สถาบันศาสนาขณะนี้ไม่มี ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องออกกฎหมายว่า หากใครลบหลู่ดูหมิ่นหรือทำให้เสื่อมเสีย ก็ควรจะต้องมีโทษทางอาญา เช่น ไปด่าพระพุทธเจ้า โจมตีพระพุทธเจ้า บอกว่าคำสอนพระพุทธเจ้า ศีล 5 ใช้ไม่ได้ เป็นเรื่องโกหกหลอกลวง ก็ต้องมีกระบวนการฟ้องร้องและมีโทษอาญา”นพรัตน์ ระบุ

“จริงๆ ระเบียบบังคับพระรูปนึงมีอยู่แค่ 6 ด้าน คือ 1.การปกครอง 2.การบังคับเรื่องระเบียบทางวินัย เช่น พระ เณร ต้องได้รับการศึกษา 3.เรื่องการเผยแผ่ศาสนา ก็ต้องดูว่าคุณสอนบิดเบือนไหม 4.การศึกษาสงเคราะห์ 5.เรื่องการสาธารณูปการ เรื่องการก่อสร้าง เดี๋ยวนี้สร้างอะไรก็ใหญ่ที่สุดในโลก หรือสร้างแล้วทิ้งค้างไว้ ต้องมีระเบียบเข้าไปกำกับ ไม่ใช่วัดป่าบุกรุกป่าสงวนได้ และ 6.การสาธารณสงเคราะห์ ช่วยเหลือสังคม”นพรัตน์ อธิบาย

“แต่ปัญหาที่เกิดขณะนี้เนื่องจาก 1.ความไม่ทันสมัยของกฎของพระเอง ทำให้สืบสวนล่าช้า หรือ 2.ความจงใจช่วยเหลือปกปิดกัน แล้วไม่มีการลงโทษ และไม่มีใครฟ้องร้อง แต่หลังจากนี้ประชาชนทั่วไปฟ้องร้องได้หมด”ผู้อำนวยการสำนักพุทธฯ กล่าว

“ผมคุยกับมหาเถรสมาคมแล้ว บางท่านคิดว่าเราจะออกกฎหมายไปควบคุมท่าน ไม่ใช่ เราออกกฎหมายเพื่อไปสนับสนุนสิ่งที่ท่านทำไม่ได้ ถ้าท่านบริสุทธิ์ใจจริงก็ไม่เห็นต้องกลัว การทำแบบนี้ก็เพื่อป้องกันศาสนา ป้องกันตัวท่าน ซึ่งจะดีกว่าปล่อยให้ตรวจสอบไม่ได้”

“เราฝังใจมานานกับผ้าเหลือง จนมีคำพูดกันว่า ‘ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์’ คือปล่อยๆ ไปตามสบาย ซึ่งบางคนก็อาจจะเห็นว่าไม่เป็นไร แต่สำหรับเราแล้วไม่ใช่ เราถือว่าถ้าพระชั่ว เราก็ต้องจัดการ”

นอกจากนี้ นพรัตน์ ยังแสดงความกังวลว่า ในสังคมสมัยใหม่วัดที่เคยเป็นศูนย์กลางศรัทธาชุมชน และสร้างจากศรัทธาประชาชนรวมตัวกันขออนุญาตสร้าง บริจาคที่ดิน และอุปถัมภ์ให้วัดอยู่รอดได้ ขณะนี้แปรเปลี่ยนจนกลายเป็นธุรกิจหมดแล้ว

“เดี๋ยวนี้ใบอนุญาตยังไม่ทันออกก็ร้องเรียนว่าสำนักพุทธฯ ไม่ดูแล ไม่ให้เงิน ผมก็ต้องถามกลับว่าคุณมีอาชีพบวชเพื่อขอเงินเหรอ พระต้องออกไปเผยแผ่ศาสนา แล้วชุมชนสนับสนุน แต่วันนี้ยังไม่ทันทำอะไรขอเงินแล้ว พอไม่ได้เงินก็ทำเรื่องกราบบังคมทูลขอบ้าง ยังไม่รู้เลยว่าเป็นพระแล้วควรทำอะไร แบมืออย่างเดียว ยิ่งกว่าขอทานอีก”นพรัตน์ ระบุ

ส่วนวิธีทำให้คนรุ่นใหม่สนใจในพุทธศาสนามากขึ้นนั้น นพรัตน์ บอกว่า การสอนพุทธศาสนาจะต้องปฏิรูปโดยเน้นการสอนหลักการที่สามารถอธิบายเหตุผล สามารถอ้างอิงได้ มากกว่าจะเน้นหลักการที่ซับซ้อน

“ผมชื่นชมศาสนาอิสลามอย่างหนึ่ง คือ เขายึดติดในกฎข้อห้าม ซึ่งการปลูกฝังตั้งแต่เด็กจนโตทำให้เขาเป็นคนเคร่ง บางคนอาจจะมองว่างมงาย แต่ถ้าปฏิบัติได้ เขาก็เป็นคนดี มีคุณภาพ แต่เราอิสระมากเกินไป แล้วยังปากไม่ดีอีก ไปวิจารณ์การสวดมนต์ เอาไปด่ากัน อันที่จริงการสวดมนต์เป็นเพียงวิธีให้มีสมาธิ เมื่อคุณมีสมาธิก็มีสติในการคิดอะไรได้ แค่นี้คุณจะไปด่าทำไม”

โจทย์ที่คณะกรรมการชุดนี้ตั้งขึ้นหลังจากนี้ก็คือ จะทำอย่างไรให้วัดกลับมาเป็นศูนย์กลางของชุมชนอีกครั้ง โดยอาจไม่ต้องเป็นโรงเรียน หรือเป็นโรงพยาบาลเหมือนเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว แต่ก็ต้องมีความสำคัญพอที่จะเกี่ยวข้องกับชีวิตคนอยู่บ้าง

“พระต้องเปลี่ยนบทบาท แทนที่จะนั่งอยู่ในวัดเฉยๆ ก็ต้องเป็นพระธรรมทูตสัญจร ออกไปเยี่ยมชาวบ้านเพื่อสร้างแรงจูงใจ มิชชันนารีทำแบบนี้ เราก็ควรจะทำบ้าง ถ้าให้วัดปิดหมด คุณเอาไว้ทำอะไร ถ้าปิดวัดก็ไม่มีความสำคัญอีกแล้ว”นพรัตน์ กล่าว