posttoday

สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง"รศ.นราพร จันทร์โอชา"

24 สิงหาคม 2557

รศ.นราพร จันทร์โอชา ขวัญกำลังใจที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ พล.อ.ประยุทธ์

โดย...วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย

หลังจากมีความชัดเจนแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทย ผู้คนในสังคมต่างก็ให้ความสนใจอย่างมากมายกับศรีภรรยาของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ว่ากันว่าเป็นขวัญใจและผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จทั้งหลายทั้งปวงของ พล.อ.ประยุทธ์ เธอคือ รศ.นราพร จันทร์โอชา อาจารย์สอนภาษาอังกฤษแห่งสถาบันภาษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.นราพร มีชื่อเล่นว่า น้อง เกิดในสกุล โรจนจันทร์ เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2497 ขณะที่คุณพ่อซึ่งเป็นนายตำรวจรับราชการอยู่ที่ จ.นราธิวาส จึงได้ชื่อเป็นมงคลว่า นราพร มีพี่สาวที่เรียนหนังสือมาด้วยกันเหมือนฝาแฝดชื่อหมู หรือ สุวรรณา โรจนจันทร์

สองศรีพี่น้องหมูกับน้อง จบการศึกษาชั้นต้นจากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ รุ่นเดียวกันกับเบญจมาศ รุจิรวงศ์ อดีตนายกสมาคมศิษย์เก่าเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ในพระบรมราชินูปถัมภ์ มีเพื่อนร่วมรุ่นที่สนิทชอบพอกันคือ ประยูรศรี กตัญญุตานนท์ ภรณี พูลสวัสดิ์ พญ.ภูษณี ธนะธนิต พญ.ศันสนีย์ วงศ์ไวศยวรรณ และ พญ.อัญชลี เครือตราชู เป็นศิษย์เซนต์โยเซฟคอนเวนต์รุ่นพี่ของ พจมาน ดามาพงศ์ ชินวัตร และสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

ในวัยเด็กแม้บิดาจะต้องรับราชการอยู่ต่างจังหวัด แต่หมูและน้องก็ได้รับการเอาใจใส่ดูแลอย่างดีจากคุณแม่ซึ่งได้ทำหน้าที่ขับรถรับส่งลูกสาวสองคนไปโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ ชนิดที่ทุกความเคลื่อนไหวของลูกจะต้องอยู่ในสายตาของแม่ตลอด จนเป็นที่คุ้นชินของเพื่อนร่วมรุ่นและนักเรียนรุ่นพี่รุ่นน้องในโรงเรียนตลอดมา

หลังจากจบการศึกษาจากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์แล้ว น้องสอบเข้าศึกษาต่อที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเลือกเรียนวิชาเอกเรื่องการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ส่วนหมูผู้พี่สาวสอบเข้าต่อที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ น้องก็ไปเรียนต่อระดับปริญญาโทด้านภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยมหิดล แล้วจึงเข้ารับราชการเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ ที่สถาบันภาษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนหมูหรือ สุวรรณา ผู้เป็นพี่สาว เมื่อจบนิเทศศาสตร์แล้วก็เข้าทำงานที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ขณะที่รับราชการอยู่สถาบันภาษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น้องได้ชื่อว่าเป็นอาจารย์ที่ขยันทำงาน เป็นคนฉลาด คนเก่ง คนตรง และมีความชัดเจนในการทำงานและการใช้ชีวิตในฐานะอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ เป็นผู้มีจิตใจโอบอ้อมอารี หากทราบว่าผู้ใต้บังคับบัญชา หรือเพื่อนร่วมงานได้รับความเดือดร้อนก็จะยื่นมือให้ความช่วยเหลือโดยไม่เกี่ยงงอน แต่ความที่เป็นคนดีและมีลักษณะนิสัยที่ตรงไปตรงมา ทำให้อาจารย์น้องวางตัวอย่างมีระยะห่างจากคนที่ตนเองพิจารณาแล้วว่าไม่อยากจะเข้าไปเกี่ยวข้อง ทำให้คนที่ไม่รู้จักอาจารย์น้องอย่างจริงจังก็จะรู้สึกว่า แม้อาจารย์จะเป็นคนดีมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่ก็เป็นบุคคลที่ยากจะเข้าถึงเช่นกัน

ระหว่างที่สอนภาษาอังกฤษที่สถาบันภาษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์น้องก็มีโอกาสได้พบและรู้จักกับนายทหารหนุ่มโสด รูปหล่อ ฉลาด นิสัยดี จากกรมทหารบกที่ 21 รักษาพระองค์ หรือที่รู้จักกันในนามทหารเสือพระราชินี ชื่อ พ.ต.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาเรียนภาษาอังกฤษหลักสูตรระยะสั้นที่สถาบันภาษา ความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งสองพัฒนาจนกลายเป็นความรัก ความปรารถนาที่จะครองคู่ร่วมกัน ในที่สุดทั้งคู่ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมรสจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2527

พล.อ.ประยุทธ์ และ รศ.นราพร มีธิดาฝาแฝดสองคนคือ น.ส.ธัญญา จันทร์โอชา และ น.ส.นิฏฐา จันทร์โอชา ทั้งคู่ได้เอาใจใส่เลี้ยงดูธิดาทั้งสองคนมาเป็นอย่างดี แม้ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้เป็นพ่อจะต้องไปรับราชการเรื่องการทหารและความมั่นคงของชาติอยู่ในสนามรบ แต่ก็ไม่เคยมีความวิตกกังวลเรื่องการดูแลบุตรสาวทั้งสองแม้แต่น้อย เพราะอาจารย์น้องผู้เป็นแม่ได้ทำหน้าที่ดูแลเอาใจใส่อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับความเจริญก้าวหน้าในชีวิตราชการ จากผู้บังคับกองพันเป็นผู้บังคับการกรม จากนั้นก็ย้ายไปอยู่ที่กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 และเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 อาจารย์น้องก็มีความเจริญก้าวหน้าทางราชการเช่นเดียวกัน นอกจากจะได้รับทุนให้ไปฝึกอบรมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ที่มหาวิทยาลัยเอดินเบอระ เมืองสกอตแลนด์ ประเทศอังกฤษ แล้ว อาจารย์น้องยังเคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมครูผู้สอนภาษาอังกฤษแห่งประเทศไทย และหากอาจารย์น้องไม่ลาออกจากราชการมาเสียก่อน ก็คงจะได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันภาษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างแน่นอน

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารบก สืบต่อจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในปี 2553 แล้ว อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้แต่งตั้งให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2553 จนถึงวันที่ 22 ธ.ค. 2554 และเป็นหนึ่งในคณะดำเนินคดีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา ปี 2554 อาจารย์น้องได้ลาออกจากราชการที่สถาบันภาษา เพื่อทำหน้าที่ของนายกสมาคมแม่บ้านทหารบก ในการดูแลสวัสดิการและขวัญกำลังใจของทหารใน ทบ.อย่างเต็มที่ นอกจากนี้อาจารย์น้องยังอุทิศเวลาไปช่วยมูลนิธิคนตาบอดและมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมของโรงเรียนวังไกลกังวลด้วย

การทำงานของอาจารย์น้องทำด้วยความเต็มใจ ด้วยความรัก และความทุ่มเทกับงานเพื่อให้ได้ผลเต็มที่ ทำงานอย่างเงียบๆ ไม่ชอบเป็นข่าว ไม่อยากเด่นอยากดัง เป็นแม่บ้านที่ชาญฉลาดคอยส่งเสริมการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีในทุกเรื่อง มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินรอยตามแนวพระราชดำริในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง การส่งเสริมศิลปาชีพและโครงการพระราชดำริที่แก้ไขปัญหาให้กับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ยึดมั่นในหลักการความซื่อสัตย์สุจริตและจงรักภักดี

ทั้งหมดนี้คือตัวตนของ รศ.นราพร จันทร์โอชา ขวัญกำลังใจที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนายทหารผู้มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำประโยชน์กับชาติบ้านเมือง ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา