posttoday

สธ.รวมศูนย์อำนาจอนาคต"การเมือง"สั่งได้

29 กรกฎาคม 2557

หากอำนาจทุกอย่างกลับไปอยู่กับ สธ. วันหนึ่งหากหัวอ่อนแอ การเมืองก็สั่งซ้ายหันขวาหันได้ มีการทุจริตได้

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

ท่ามกลางกระแสปฏิรูป ดูเหมือนว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะตอบสนองมากที่สุด หากพิจารณาแนวทางที่ สธ.นำเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว จะพบว่ามีลักษณะ  “รวมศูนย์อำนาจ”

แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับแนวทางการปฏิรูปของ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งมี นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เป็นเลขาธิการ ที่ให้น้ำหนักกับกลไกการ “รับฟังความคิดเห็น” และยึดหลักการ “กระจายอำนาจ” ลงสู่ประชาชนให้มากที่สุด

“หากอำนาจทุกอย่างกลับไปอยู่กับ สธ. คุณต้องไม่ลืมนะว่ามันถูกบริหารจัดการโดยข้าราชการหมด วันหนึ่งหากหัวอ่อนแอ การเมืองก็สั่งซ้ายหันขวาหันได้ มีการทุจริตได้”

นพ.อำพล บอกอีกว่า ขณะนี้ความคิดเรื่องรวมศูนย์อำนาจยังคงเป็นใหญ่ แต่ก็เป็นเรื่องดีที่ คสช.   มีแนวคิดการปฏิรูป เพราะฉะนั้นอาจจะไม่เห็นผล  ในทีเดียว แต่สุดท้ายการปรับตัวไปเรื่อยๆ

“ในที่สุดว่าไม่มีอะไรที่ดีไปกว่าการให้อำนาจประชาชนเป็นคนกำหนดนโยบายสุขภาพด้วยตัวเอง”

เรื่องของความ   ขัดแย้งระหว่าง สธ.กับองค์กรตระกูล ส. ที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนาน คุณหมอ อำพลมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา

“ในขณะที่ สธ. พูดแต่เรื่องเขตบริการสุขภาพ องค์กรตระกูล ส.ได้ทำหน้าที่ใหม่ คือ การทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด พร้อมกันนี้ยังได้จัดตั้งกองทุนอภิบาลระบบโดยเฉพาะ”

ตัวอย่างการดำเนินงานขององค์กรตระกูล ส.ในการกระจายอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานกองทุน สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ (สสส.) ที่ทำเรื่องลดอุบัติเหตุในชุมชน สช.เอาทุกภาคส่วนมาร่วมขับเคลื่อนสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพและ   มีกลไกจัดการแบบเครือข่าย

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้ซื้อบริการทุกหน่วยบริการ และทำเรื่องกองทุนสุขภาพประจำตำบล หรือสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ก็มีกองทุนอุดหนุนท้องถิ่น ในการให้บริการฉุกเฉิน รวมถึงมีค่าตอบแทน  ให้เจ้าหน้าที่ฉุกเฉิน

“แน่นอนว่าการดำเนินการเช่นนี้ต้องกระทบ สธ.ซึ่งเคยดูแลงบประมาณเอง อำนาจก็หายไป”

นพ.อำพล พูดชัดว่า จากที่ได้รวบรวมข้อมูลและ ข้อเสนอต่างๆ พบว่าบทบาทของ สธ.หลังจากนี้ คือ ต้องคิดและทำให้น้อยลงให้มากที่สุด โดยเฉพาะในส่วนของการบริการ ที่สำคัญต้องปรับทัศนคติใหม่ให้คนอื่นมาร่วมกันทำเยอะๆ

“แนวทางที่เหมาะสม คือ สธ.ต้องกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น แล้วปรับเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ประสาน หรือเป็นเพียงพี่เลี้ยงเท่านั้น”

สำหรับการบริหารจัดการระบบประกันสุขภาพ ถ้วนหน้า ซึ่งมีความขัดแย้งกันระหว่าง สธ.กับ สปสช. นพ.อำพล บอกว่า ไม่คิดว่าระบบประกันสุขภาพจะใช้เงินเยอะเกินไปจนทำให้โรงพยาบาลหรือระบบล้มละลาย

“พอเปลี่ยนจากงบประมาณประจำก้อนใหญ่ มาเป็นเหมาจ่ายรายหัว แน่นอนว่าตัวเลขมันเยอะ ก็ต้องถามว่าเยอะแล้วยังไง สธ.จะกลับมาดูแลเองหรอ”

คุณหมออำพล อธิบายว่า ระบบประกันสุขภาพเกิดขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ได้เพื่อสงเคราะห์คนมีรายได้น้อย ระบบนี้คนจนคนรวยมีสิทธิเท่ากัน คุณรวย คุณก็มีสิทธิใช้บริการ ก็ได้เงินต่อหัวเท่ากัน ส่วนถ้าโรงพยาบาลไหนขาดทุนก็ต้องไปดูว่ามันขาดทุนเพราะอะไร ตรงนี้ในฐานะหน่วยบริการก็ต้องมีวิธีบริหาร

“เหมือนรถเมล์ฟรี ไม่ได้บอกว่าคนรวยขึ้นไม่ได้ แต่ถ้ามีฐานะเขาก็ไม่ใช้บริการ เพราะฉะนั้นเงินต่อหัวเขาก็จะถูกเอาไปให้คนอื่นด้วยซ้ำ”

“ระบบของ สปสช.หรือองค์กรตระกูล ส.อื่นๆ มันมีคนที่เกี่ยวข้อง มีสำนักงบประมาณ มีตัวแทนวิชาชีพ มีภาคประชาชน เข้ามาเป็นคนร่วมกำหนด มีการคานอำนาจเกิดขึ้น ถ้าเรามองระบบแบบนี้ ผมเชื่อว่าประชาชนจะพอใจการถ่วงดุล มากกว่าจะให้ข้าราชการบริหารเพียงกลุ่มเดียว”