posttoday

เสาข้าใครอย่าแตะ!เรื่อง(ไม่)เล็กสะท้อนระเบียบสังคม

23 กรกฎาคม 2557

คนไทยบางคนยังใช้ไม่เป็นในแง่สิ่งของสาธารณะ เพราะเอาความเคยชิน ง่ายๆ หยวนๆ มาใช้ ทำให้เราเห็นภาพคนละเมิดสิทธิคนอื่นเสมอ

โดย...นรินทร์ ใจหวัง

"บิ๊บๆๆๆๆๆ...." เสียงดังเป็นสัญญาณว่าประตูรถไฟฟ้ากำลังจะปิดและเคลื่อนออกไปจากสถานี

คุณเร่งฝีเท้า.... ก้าวเข้ามาในรถทันก่อนที่ประตูจะปิดลง เสียงประตูล็อก รถเริ่มเคลื่อนออก แรงกระตุกเบาๆทำให้คุณมองหาที่จับยึดเพื่อไม่ให้เซจนล้ม คุณมองไปที่เสาราวจับกลางรถเบื้องหน้า หวังจะใช้มือจับไว้ระหว่างที่รถวิ่ง แต่อนิจจาเสานั้นถูกใครคนหนึ่งกอดรัดยึดครองอยู่ประดุจพกเสาแท่งนี้มาเองจากบ้าน....

นอกจากเรื่องการแทรกคิวเพื่อแย่งขึ้นรถแล้ว พฤติกรรมโดยสารรถไฟฟ้าอีกพฤติกรรมหนึ่ง ที่ชาวเครือข่ายสังคมออนไลน์ร่วมรณรงค์ต่อต้านกันมาอย่างต่อเนื่องจนถึงขั้นเปิดเพจเฟซบุ๊กถ่ายภาพมาประจานให้เห็นกันจะๆ ก็คือ พฤติกรรมการยึดครอง "เสาราวจับ" บนรถไฟฟ้า ที่มีผู้โดยสารหลายคน มักจะเข้ายึดเสานั้นไว้ใช้ส่วนตัวเพียงลำพังด้วยการพิง ,กอด ราวกับเป็นสิ่งของส่วนตัว โดยไม่แคร์สายตาคนอื่นที่พยายามยืนทรงตัวระหว่างรถวิ่งโดยไม่ให้ล้มเพราะไร้ที่จับ

ทำอะไรตามใจคือไทยแท้

ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข อาจารย์ภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เรื่อง"เสา"บนรถไฟฟ้าเป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่สะท้อนรากเหง้าของคนไทย คือ ช้าๆ ง่ายๆ หยวนๆ ได้หมดทุกอย่าง เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันจนทำให้คนไทยไม่มีระเบียบวินัย เพราะเรามองว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ยอมกันได้ จนกลายเป็นความเคยชิน ทำให้หลายคนกล้าที่จะละเมิดในสิทธิของคนอื่นโดยไม่ทันรู้ตัว

เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาสร้างความสะดวกสบาย แต่ความคิดและความประพฤติยังขัดกันอยู่ ทำให้เกิดพฤติกรรมละเมิดสิทธิคนอื่นในสังคมสารพัด

ดร.ปนัดดา ยกตัวอย่างว่า รถไฟฟ้าบีทีเอสซึ่งเป็นเทคโนโลยีระบบรางสาธารณะสมัยใหม่ แต่คนไทยบางคนยังใช้ไม่เป็นในแง่สิ่งของสาธารณะ เพราะเอาความเคยชิน ง่ายๆ หยวนๆ มาใช้ ทำให้เราเห็นภาพคนละเมิดสิทธิคนอื่น เช่น ไม่ต่อแถวขึ้นรถ ไม่แบ่งปันที่นั่งให้แก่คนที่มีความจำเป็น หรือแม้แต่ยืนพิงเสาไม่ให้คนอื่นจับด้วย แต่ในทางกลับกันเรามักไม่พบปัญหาการแย่งกันขึ้นเครื่องบินมากนัก เพราะนั่นคือตัวอย่างของการใช้ชีวิตที่ถูกต้องล้อไปกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยอาจจะเกิดขึ้นจากคนไทยมีการปรับตัวแล้ว จากการเลียนแบบชาติพัฒนาแล้ว

อาจารย์ภาควิชาจิตวิทยาย้ำว่าถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะต้องปรับปรุงความคิดจิตสาธารณะอย่างจริงๆจังๆเสียที

"อาจารย์เองยอมรับว่ายังเคยทำพฤติกรรมแบบนี้เหมือนกัน มันเป็นความเคยชิน เราเหนื่อย ของเยอะ อะไรก็แล้วแต่ที่เราจะหามาอ้าง แต่เมื่อเราเก็บเอามาทบทวน เราจะเห็นว่าจริงด้วยมันเป็นพฤติกรรมที่แย่มากๆ เราได้ละเมิดสิทธิของคนอื่นไปแล้ว

คนไทยต้องรับการปรับปรุงอย่างจริงจัง เพราะเราไม่ค่อยมีสำนึกต่อส่วนรวม เพราะเราชอบช่างเถอะ เอาน่า นิดหน่อยเอง ไหนจะเรื่องไม่เดินข้ามทางม้าลาย สูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ หรือแม้แต่การใช้รถใช้ถนนก็ยังขับแซงซ้ายแซงขวาก็มีให้เห็นกันมาตั้งนาน การพัฒนาเรื่องส่วนรวมในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเราต้องทำแค่ตอนขึ้นเครื่องบิน หรือนั่งรถไฟฟ้าเท่านั้นนะคะ ต่อให้คุณขึ้นรถเมล์สาย8 ถึงมันจะแย่มากๆ คุณก็ไม่มีสิทธิไปแซงคนอื่นขึ้นรถเหมือนกัน"

เสาข้าใครอย่าแตะ!เรื่อง(ไม่)เล็กสะท้อนระเบียบสังคม

"สังคมออนไลน์"กลไกกระตุ้นความเปลี่ยนแปลง

ดร.ปนัดดามองว่า การเข้ามาของเทคโนโลยีโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดการสะท้อนพฤติกรรมทางสังคมเหล่านี้ออกมาอย่างรวดเร็ว และเมื่อเกิดการตีแผ่ คนได้เรียนรู้ด้วยตัวเองก็อาจจะทำให้คนเห็นความสำคัญของการใช้ของส่วนรวมมากขึ้น

"เทคโนโลยีด้านการสื่อสารอย่าง เฟชบุ๊ก สื่อออนไลน์ เรามีพวกนี้เป็นตัวประจาน เป็นกลไกลหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  แต่ก่อนอะไรๆ ก็ดูเป็นเรื่องส่วนตัวไปหมด แต่ตอนนี้เป็นกลายเป็นเรื่องสาธารณะไปแล้ว บางทีเราทำผิดเราโดนถ่ายรูป ถ่ายวิดิโอ โดยที่เราก็ไม่รู้ตัว ดังนั้นเราต้องมองและหันหลังมาทบทวน ไม่งั้นประเทศเราจะย่ำอยู่กับที่

เยอรมัน ญี่ปุ่นประเทศที่พัฒนาแล้วเขามีสิทธิเสรีสูงก็จริง แต่เขาเคยไม่หยวน หรือละเลยต่อคนที่เห็นแก่ตัว เขาใส่ใจมัน ประณาม เหยียดหยาม หากพบเห็นคนทำผิด เขาเริ่มกันตั้งแต่เด็กๆ เราคงเคยเห็นที่ฝรั่งเขาโวยวายไม่ยอมนั่นนี่ แต่เรากลับมองว่าเป็นเรื่องเล็กๆ"

เปลี่ยนอุปกรณ์สู้มนุษย์เห็นแก่ตัว

หลังจากซุ่มดูพฤติกรรมผู้โดยสารมานาน รถไฟฟ้าบีทีเอสก็ผุดรถขบวนใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงเสาราวจับใหม่ จากเดินที่เป็นเสาเดี่ยวๆ ตลอดทั้งแท่ง ให้กลายเสาที่แยกแขนงเป็นสามราวจับในช่วงกลางของเสา เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้ผู้โดยสารสามารถจับได้มากขึ้น

ดร.อาณัติ อาภาภิรม ประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดการ รถไฟฟ้าบีทีเอส บอกว่า รถไฟฟ้าบีทีเอสเห็นถึงความไม่สะดวกของผู้โดยสารที่มีจำนวนมาก ซึ่งบางคนไม่สามารถเข้าถึงราวจับได้ ในรถคันใหม่ทุกขบวนจึงปรับให้มีราวที่เพิ่มแขนงเพื่อความสะดวกของผู้โดยสารที่มากขึ้น

"เราเล็งเห็นถึงปัญหาผู้โดยสารยืนพิงเสา จึงปรับให้เป็นแบบ3 ง่ามก็คงจะพิงกันยากขึ้น ยอมรับว่าในแบบเก่าอาจจะไม่อำนวยความสะดวกมากนัก เพราะผู้โดยสารเยอะ บางคนเข้าไม่ถึง ที่ผ่านมาไม่ได้มีการรณรงค์เรื่องการพิงเสา แต่เน้นเรื่องการยืนพิงประตูมากกว่า เพราะมันอันตรายมาก หลายคนชอบพิงประตู เช่นเดียวกับเรื่องการจับราวบันได คือเน้นเรื่องอันตรายเป็นอันดับหนึ่ง

ส่วนที่ประกาศก็จะเป็นกรณีที่ผู้โดยสารยืนขวางประตู ห้ามรับประทานอาหารในรถ  ประกาศสถานีต่อไปคืออะไร แค่นี้ผู้โดยสารก็จะบ่นรำคาญแล้ว ในเรื่องมารยาทบนเช่นเรื่องยืนพิงเสา เรารับทราบนะครับ หากมันมากขึ้นเรื่อยๆ เราคงต้องหารือกันอีกทีว่าจะทำอย่างไรต่อ"

เสาข้าใครอย่าแตะ!เรื่อง(ไม่)เล็กสะท้อนระเบียบสังคม

มีกี่ง่ามพฤติกรรมก็ยังเหมือนเดิม?

ถึงแม้จะมีการเพิ่มราวจับให้มีจำนวนง่ามจับที่มากขึ้นก็ตาม แต่ผู้โดยสารบางคนก็ยังมีพฤติกรรมเหมือนเดิม เคยทำอย่างไรก็ทำเหมือนเก่า 

"เสานี้ไม่ว่าง เสาหน้านะน้อง" เพจเฟซบุ๊กกระแทกใจคนนั่งรถไฟฟ้าที่มีคนกดไลค์เพจร่วมแสน คงเป็นหลักฐานที่ดีว่า ไม่ว่าจะมีราวจับกี่ง่าม "ฉันก็ยังพิงได้อยู่ดี" แฟนเพจจำนวนมากต่างร่วมถ่ายภาพ มาโพสต์แฉเพื่อนร่วมทางที่เห็นแก่ตัวกันอย่างสนุก บวกกับอารมณ์ขันของแอดมินที่เขียนบรรยายใต้ภาพ ทำให้เพจนี้มีความฮาปนกับคำเสียดสีสังคมได้เป็นอย่างสนุก

"ทุกรูปแบบการพิง การแนบ เรามองว่ามันคือศิลปะ!!!" คือนิยามที่ทางเพจต้องการเสนอ แต่ภาพที่ฟ้องมันชัดว่าคนที่เบียดเบียนผู้อื่นในที่สาธารณะนอกจากไม่มีศิลปะแล้ว ยังสร้างความเดือดร้อนให้แก่ส่วนรวมด้วย

และบรรทัดต่อจากนี้คือตัวอย่างความคิดเห็นที่แฟนเพจ "เสานี้ไม่ว่าง เสาหน้านะน้อง" พูดถึงภาพการยึดครองเสาของเพื่อนร่วมทางในอริยาบทต่างๆ รวมทั้งการทำผิดระเบียบอื่นๆ เช่นรับประทานอาหาร น้ำดื่ม

"เราว่า เรื่องนี้มันเป็นจิตสำนึกส่วนรวมนะ แต่ก่อนอื่น บอกเค้าก็ดีนะคะ ว่าขอโทษนะคะ ขอจับเสาหน่อยค่ะ คนเยอะมาก (ทำเสียงดังๆนะ) เราทำประจำ เค้าก็ขยับแบบหน้าม้านๆ เอาความไม่พอใจกลบความอาย แล้วเราคิดว่าเค้าจะจำไปจนตาย เพราะการอับอายในที่สาธารณะมันจะช่วยดัดสันดานคนอะ"

"เมื่อวานก็พึ่งจะเจอมา ผู้หญิงใส่ชุดข้าราชการสีกากี ขนาดเอานิ้วมือดันหลังนางยังทำเฉย คือประมาณว่ากรุจะพิง เมิงจะทำไม อะไรประมาณนี้ เบื่อกับมนุษย์ป้าพวกนี้จริงๆ"

"ผมเคยยืนจับเสา แล้วมีผู้หญิงมาพิงเสา แล้วก้นที่เธอพิงมาโดนมือผม จากนั้น เธอหันมามองหน้าประมาณว่าผมโรคจิตมากกก แม่งซวยมาก"

"รบกวนอัพเดทการปฏิบัติตัวในการขึ้นรถไฟ หรือรถอะไรก็ได้ของสาธารณะด่วนค่ะ เค้าบอกห้ามพิง พี่เล่นเป็นหมีโคอาล่าเลย สะกดคำว่า ม-า-ร-ย-า-ท ไม่เป็นสินะ"

"เรื่องเครื่องดื่มนี่ ถ้าดื่มแล้วหกใส่คนอื่นก็เดือดร้อนค่ะ เคยเจอมาแล้ว ผู้ชายต่างชาติ เดาจากภาษาน่าจะจีน กินโค้กแบบขวดในบีทีเอส พอรถเบรก โค้กมันพุ่งออกจากขวด โดนหนูซึ่งใส่ชุดนักเรียน เสื้อเป็นสีขาว แถมไม่ขอโทษด้วยค่ะ ดังนั้นถ้าถามว่าทำใครเดือดร้อนมั้ย บอกได้เลยว่าทำ ต่อให้เป็นน้ำเปล่า แต่ถ้าหก มันก็เปียก ไม่มีใครรู้ว่ามันจะหกหรือไม่หก กฎเค้าก็ทั้งเขียนทั้งประกาศเสียงไว้"

ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก : เสานี้ไม่ว่าง เสาหน้าน้อง