posttoday

ไพรินทร์ ชูโชติถาวร"เติมน้ำมัน...ไม่ได้น้ำก็ว่าปตท."

23 กรกฎาคม 2557

อันนี้เป็นการตัดพ้อด้วยเหตุและผล ถ้าไม่เอามาพูดกันก็นั่งด่า ปตท. เติมน้ำมันไม่ได้น้ำก็ว่า ปตท.

โดย...ทีมข่าวเศรษฐกิจภาครัฐ โพสต์ทูเดย์

จากสถานการณ์ข่าวสาร โดยเฉพาะในโลกโซเชียลมีเดียต้องยอมรับบริษัท ปตท.ถูกโจมตีอย่างหนักว่าเอาเปรียบคนไทย ทำให้ ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้บริหารผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. ต้องเดินสายชี้แจง ล่าสุด ไพรินทร์ให้สัมภาษณ์ “โพสต์ทูเดย์” มีเนื้อหา ดังนี้

เขากล่าวหาว่า ปตท.ผูกขาดน้ำมันและโรงกลั่น

ไพรินทร์ : ถามว่า ปตท.จะขายปลีกน้ำมันในสัดส่วน 80-90% ได้หรือไม่ ก็ตอบว่าได้ แต่เราไม่ทำ เพราะเราอยากให้มีการแข่งขัน อย่างบริษัท เชลล์ ที่ไม่มีโรงกลั่น เขาก็ซื้อน้ำมันจาก ปตท.แล้วขายแข่งกับ ปตท. ผมไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าบอกว่า ปตท.ผูกขาด ต้องพูดด้วยเหตุผล อย่าเอาความรู้สึกมาพูด

ถ้าสังเกตให้ดี บริษัท เชฟรอน เขาขุดตั้งแต่ในอ่าว มีโรงกลั่นเอสพีอาร์ซี และเชฟรอนก็ขายน้ำมันผ่านปั๊มคาลเท็กซ์ เชฟรอนทำทุกอย่างแข่งกับเรา กำไรเขาเยอะ ซึ่งเขาก็เงียบๆ แต่คนกลับมาด่า ปตท.ว่าผูกขาด ถ้าสร้างบริษัทน้ำมันแห่งชาติมาอีกคนได้หรือไม่ ก็ตอบว่าถ้าคิดว่าดีก็ตั้งไป แต่สำหรับ ปตท.ไม่มีปัญหา

ส่วนเรื่องโรงกลั่นที่ 80% เป็นของ ปตท. ผมก็บอกว่าจริง แต่ข้อเท็จจริง คือ ปตท.ไม่เคยสร้างโรงกลั่นแม้แต่โรงเดียวตั้งแต่มี ปตท. แต่ ปตท.ถูกขอให้ไปซื้อโรงกลั่นทั้งที่เจ๊งสนิท ล้มละลาย หรือมีหนี้เป็นหมื่นล้านบาท และเมื่อเราเข้าไปจัดการตอนนี้โรงกลั่นหลายแห่งก็เป็นผู้เป็นคนขึ้นมาแล้ว และ ปตท.ก็พูดมาหลายรัฐบาลแล้วว่า บางจากกับเอสพีอาร์ซี เราอยากออก แต่บางแห่งก็ฟอร์มไปเรื่อยๆ ฟุตเวิร์ก และถ้าจะติดก็ติดที่กระทรวง ไม่ได้ติดผม ผมบอก ผมพร้อม

ปตท.ได้กำไรเพราะอ้างอิงราคาน้ำมันสิงคโปร์

ไพรินทร์ : ทำไมไม่อ้างอิงราคาเมืองไทย ผมก็ถามว่า แล้วใครจะไปรู้ราคาเมืองไทย แถบเอเชียก็อ้างอิงราคาน้ำมันที่สิงคโปร์ทั้งนั้น เพราะมันจะมีบริษัทข้อมูลที่ไปสืบข้อมูลซื้อขายน้ำมันของบริษัทต่างๆ แล้วนำมาหารยาวจนได้ราคาเฉลี่ยอ้างอิง ซึ่งโปร่งใส และราคาที่อ้างอิงก็เป็นราคาที่ไทยนำมาคำนวณภาษีหน้าโรงกลั่น

อีกอย่างโรงกลั่นไทยออยล์ที่ว่าใหญ่ หรือเราบอกว่าเรามีโรงกลั่นยักษ์ 6 โรง แต่เจอโรงกลั่นสิงคโปร์เราเล็กจ้อยไปเลย และโรงกลั่นของเขามีประสิทธิภาพสูงมาก ถ้าจะบีบโรงกลั่นไทยให้มีประสิทธิภาพสูง ก็ต้องใช้ราคาหน้าโรงกลั่นของเขา และหลายที่ไม่เฉพาะรัฐบาลไทย ที่อ้างอิงสิงคโปร์

ปตท.เอาเปรียบ เก็บค่าขนส่งน้ำมัน ทั้งๆ ที่กลั่นน้ำมันในไทย

ไพรินทร์ : ที่เถียงกันว่า ทำไมต้องมีค่าการกลั่น ค่าการตลาดมากไป ทำไมบวกค่าขนส่ง ซึ่งผมอยากบอกว่าที่เราเถียงกัน มันมีส่วนต่างแค่ 1.40 บาท/ลิตร ซึ่งถ้าเขาบอกว่าคนไทยเสียประโยชน์ แต่ทำไมไม่พูดถึงตัวปูนซีเมนต์ ทำไมปูนในประเทศแพงกว่าปูนต่างประเทศ น้ำตาลทรายขาว ทำไมเอ็นจีโอไม่พูดถึงบ้าง มาจ้ำจี้จ้ำไชกับส่วนต่างที่ 1.40 บาท/ลิตร

ทำไม ปตท.เอาก๊าซมาใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไม่เสียภาษี

ไพรินทร์ : ตอนที่เราเจอก๊าซในอ่าว ผมคิดว่าผู้ที่วางแผนประเทศตอนนั้นเป็นคนที่เก่งฉลาดและรักชาติ เราพบว่าเป็นก๊าซที่นำไปทำปิโตรเคมีได้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5-8 จึงได้เขียนว่าให้นำก๊าซมาใช้เพื่อประโยชน์ของคนไทย และสร้างอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จึงเป็นที่มาแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีการสร้างโรงแยกก๊าซ และตั้งโรงงานปิโตรเคมี และถ้าดูให้ดีจะเห็นว่ามีหลายอุตสาหกรรมเกิดตามมาภายหลัง

เราไม่เคยไปซื้อปิโตรเคมีที่เซเว่นฯ แต่ของที่ซื้อทั้งหมดมาจากปิโตรเคมี และสร้างอุตสาหกรรมต่อเนื่องเป็นมูลค่าหลายล้านล้านบาท แต่วิธีเก็บภาษีมันต่างกัน จึงไม่ควรเอาแอปเปิ้ลไปเทียบกับส้ม

คนไทยควรได้ใช้ก๊าซหุงต้มราคาถูก

ไพรินทร์ : ตอนปี 2547 ซึ่งเป็นรัฐบาลไหนใครๆ ก็รู้ เขาไปกำหนดว่าราคามันต้อง 333 เหรียญสหรัฐ/ตัน แต่ประชานิยมไปที่ไหนมันก็พังที่นั่น ในขณะที่ราคาตลาดขึ้นไปเรื่อยๆ ไปถึง 900-1,000 เหรียญสหรัฐ/ตัน แต่กลับกดราคาไว้ที่ 333 เหรียญสหรัฐ/ตัน สิ่งที่เกิด คือ จากที่เคยผลิตก๊าซใช้พอและส่งออกได้ แต่ต่อมาต้องมีการนำเข้า โดยเซ็กเตอร์ที่โตมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปี 2556 คือ การใช้แอลพีจีในภาคขนส่งที่โตมาก และเป็นไปได้อย่างไรที่ปี 2556 การใช้ก๊าซภาคครัวเรือนลด แต่ภาคขนส่งเพิ่ม ซึ่งการประจานความเลวร้ายในระบบ เป็นผลจากการบิดเบือนและประชานิยม

ถ้าไม่ส่งเสริมรถแอลพีจีแล้วทำไม ปตท.มีปั๊มแอลพีจี

ไพรินทร์ : ตรงนี้มันมีเกรย์มาร์เก็ตอยู่ ผมเคยเข้าปั๊มแอลพีจีขนส่งแห่งหนึ่งแถววิภาวดีราคาหน้าปั๊มอยู่ที่ 12.99 บาท/ลิตร แล้วไปดูปั๊มแอลพีจีที่ประชาชื่นราคาอยู่ที่ 13.09 บาท/ลิตร ถามว่าทำไมราคาถึงไม่เท่ากัน ในขณะที่ราคาแอลพีจีขนส่งรัฐบาลกำหนดไว้ที่ 21.38 บาท/กิโลกรัม หรือ 11.55 บาท/ลิตร ซึ่งในราคานี้รัฐให้ค่าการตลาดอยู่แล้ว 1.76 บาท/ลิตร แต่ถ้าขายกันที่ 12.99 และ 13.09 บาท/ลิตร ค่าการตลาดมันเพิ่มเป็น 3.20-3.30 บาท/ลิตร ค่าการตลาดส่วนเกินตรงนี้สูงถึง 5,000-6,000 ล้านบาท ทำไมเซ็กเตอร์รถยนต์ที่เราไม่สนับสนุนจึงมีการใช้แอลพีจี 1.8 ล้านตัน/ปี และเงิน 5,000-6,000 ล้านบาท ที่หายไปไหนไม่รู้ นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำไมมีคนมาด่าผม มาต่อต้านผม ว่าอย่าขึ้นราคาแอลพีจี เพราะวันนี้มีตลาดสีเทาที่ใหญ่มาก ผู้ค้ารายใหญ่ๆ ก็มีแค่ 3-4 ราย

เอ็นจีโอบอกว่า ปตท.ผูกขาดท่อก๊าซ

ไพรินทร์ : เรื่องท่อ 4,500 กิโลเมตร ที่เขาบอกว่า ปตท.ผูกขาด ผมบอกเลยว่า เรื่องวางท่อไม่ได้มี ปตท.วางท่อคนเดียว บริษัทอื่นๆ ก็ทำ ไปขอใบอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เขาก็ให้ทำ แต่ที่ ปตท.มีท่อมาก เพราะเวลาเรามีแผนพีดีพี มีโรงไฟฟ้าตั้งที่ไหน เขาจะให้ ปตท.ทำท่อ ซึ่ง ปตท.จะใส่เงินลงไป แต่ได้ค่าผ่านท่อ และ กกพ.ก็กำหนดค่าผ่านท่อ ซึ่งเรื่องท่อก๊าซคนสติดีๆ เขาไม่ค่อยทำ เพราะแค่วางท่อ 200 กิโลเมตร จะต้องเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวามีอุปสรรคไปหมด แต่ ปตท.ในฐานะที่เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ เราก็ต้องทำหน้าที่นี้อยู่ ก็เลยกลายเป็นว่า ปตท.ผูกขาด แล้วจะให้ทำอย่างไร ในเมื่อรัฐบาลบอกให้ ปตท.ทำ

และเมื่อถึงจุดหนึ่ง กกพ.จะออกกฎเรื่องการให้บุคคลที่สามมาใช้ แต่คาดว่าจะไม่ใช่ใครมาใช้ เพราะในอ่าวก็มีไม่กี่เจ้าที่เอาก๊าซมาใส่ท่อ ส่วนโรงไฟฟ้าที่อยู่ปลายท่อ ถ้ารัฐบาลไม่อนุญาตให้คนมาตั้งโรงไฟฟ้าปลายทาง จะมีคนมาซื้อไฟฟ้าหรือไม่ โรงไฟฟ้าบางโรงถามว่าจะไปซื้อก๊าซเองได้ไหม ผมก็ตอบว่าได้ แต่ถ้าซื้อไม่ได้แล้วไฟดับ ชาวบ้านเดือดร้อน อย่ามาชี้นิ้ว ปตท.

หลักคิดการปฏิรูปพลังงาน ปตท.เป็นอย่างไร

ไพรินทร์ : การปฏิรูปพลังงาน คือ การทำให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม แต่ไม่ได้หมายความว่าราคาพลังงานต้องถูกๆ ความเป็นธรรม คือ ทางสายกลางให้คนส่วนใหญ่อยู่ร่วมกันได้ ทางสายกลางคือให้กลไกตลาดทำงาน การปฏิรูปจริงๆ คือ ปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน แต่ต้องดูแลผู้ด้อยโอกาส นี่คือสิ่งที่เราบอกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่ไม่ได้บอกว่าอะไรควรถูกลงเท่าไหร่ ซึ่ง คสช.ก็รับฟัง ส่วน คสช.จะตัดสินอย่างไรเป็นเรื่อง คสช. ยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ถ้า คสช.เข้าใจผม มันจะมีการเปลี่ยนแปลงในระบบพลังงานที่รัฐบาลประชานิยมไม่กล้า

และถ้าพูดถึงเรื่องการดูแลประชาชน ผมอยากแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ ประชาชน กับผู้บริโภคพลังงาน ซึ่งประชาชน 64 ล้านคน ที่อยู่ในบ้าน 23 ล้านหลัง ที่ยากจน 7 ล้านครัวเรือน มีการดูแลให้ใช้ก๊าซแอลพีจีราคาถูก และก๊าซที่เราขายเพื่อผลิตไฟฟ้าเป็นก๊าซที่ถูกที่สุด ไม่มี|ที่ไหนถูกกว่านี้อีกแล้ว แต่ถ้าเป็นผู้บริโภค บ้านเรารถใช้ดีเซลมากกว่าเบนซิน 2.1 เท่า เพราะมีการบิดเบือนภาษี และเวลาบิดเบือนภาษี ผลกระทบเยอะ นี่คือปัญหา ที่อยู่ๆ ก็ประชานิยมแล้วได้คะแนนเสียงไป ซึ่งไม่ถูก

ส่วนที่บอกว่า ปตท.ได้กำไรแสนล้านบาทเพราะขายน้ำมัน ความจริง ปตท.ขายน้ำมันได้แค่ 7,000 ล้านบาท/ปี ได้ค่าผ่านท่อและมีกำไรจากก๊าซ 1.8 หมื่นล้านบาท แต่การไฟฟ้าฯ 3 แห่ง ที่รับก๊าซไปจาก ปตท.ไปผลิตไฟฟ้าและขายต่อ มีกำไรรวมกัน 7 หมื่นล้านบาท ถ้าจะลดค่าไฟฟ้าก็น่าจะรู้ว่าไปลดที่ไหน

อันนี้เป็นการตัดพ้อด้วยเหตุและผล ถ้าไม่เอามาพูดกันก็นั่งด่า ปตท. เติมน้ำมันไม่ได้น้ำก็ว่า ปตท. ซึ่งกำไรปีที่แล้ว ปตท.ส่งเข้ารัฐ 6 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเราเอาไปลงทุน เพราะถ้าจะให้กระทรวงพลังงานที่ได้งบปีละ 2,000 ล้านบาท จะไปซื้อแหล่งก๊าซ ขุดเจาะสำรวจ วางท่อ เขาทำไม่ได้ และที่บอก ปตท.กำไรมากไป ถามว่ากำไรน้อยกว่านี้ได้ไหม ตอบว่าทำได้ แต่ถามว่าใครจะลงทุนที่จะสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน