posttoday

คิดให้ดีก่อนแชร์เรื่องเด็กหาย"เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข"

16 กรกฎาคม 2557

ในโลกออนไลน์มันมีคนพิเรนทร์อยู่จริง พวกชอบจับแพะชนแกะ ใช้เฟซบุ๊กเครื่องมือทำลายล้างศัตรูผล ฉะนั้นอย่าผลีผลามรีบเชื่อ รีบแชร์

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล / ภาพ...กฤษณ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร

"ผมเคยไม่เชื่อในพลังของโซเชียลเน็ตเวิร์ก"

เป็นคำสารภาพของ เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา

รู้กันว่าชายหนุ่มร่างบึกบึน แววตาเด็ดเดี่ยวคนนี้ นิยมใช้วิธีสืบสวนหาเบาะแสเด็กหาย ด้วยการลงพื้นที่จริงมากกว่า

แต่หลังจากที่เพจ ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา มีผู้ติดตามมากกว่า 228,366 คน ต่างกดไลค์ด้วยความสนใจ กดแชร์ด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือ ความปรารถนาดีเหล่านั้นได้กลายเป็นพลังสำคัญในการพาเด็กคืนกลับบ้านจนประสบความสำเร็จรายแล้วรายเล่า

วันนี้ ความคิดของเขาจึงเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง...

จริงหรือไม่ที่ระยะหลังสังคมเริ่มตื่นตัวเรื่องคนหายมากขึ้น เพราะโซเชียลเน็ตเวิร์ก

เอาเข้าจริง คนเริ่มตื่นตัวในโซเชียลเน็ตเวิร์กเมื่อปีที่แล้วนี้เอง ตื่นตัวในที่นี้หมายถึงติดตามกันเยอะ สนใจเยอะ มีส่วนร่วมเยอะ เคสแรกที่ถือได้ว่าดึงคนเข้ามาสนใจได้อย่างล้นหลามคือเด็กหายที่ชื่อน้องหญิง เนื่องจากน้องหญิงเป็นเด็กหน้าตาน่ารัก ต้องบอกว่าคนในโลกอินเตอร์เน็ตไม่ได้แชร์รูปเด็กหายทุกคนนะ บุคลิกภาพ สรีระ หน้าตาก็เป็นส่วนสำคัญ คนชอบแชร์รูปเด็กหน้าตาดี เพราะเวลาเข้ามาอยู่ในเฟซบุ๊กตัวเองแล้วมันไม่น่ากลัวจนเกินไป คนมักจะสงสารเด็กหน้าตาน่ารักมากกว่า นี่คือเรื่องจริง 

เมื่อก่อน ผมเคยไม่เชื่อมั่นในพลังของโซเชียลเน็ตเวิร์กว่าจะช่วยตามหาเด็กหายได้ เพราะช่วงแรกๆแฟนเพจอยู่ที่ประมาณหมื่นต้นๆ แล้วปริมาณการแชร์ต่ำมาก มันน้อยเสียจนไม่เกิดการมีส่วนร่วม เลยรู้สึกว่ามันไม่เกิดประโยชน์ ไม่เห็นมีใครเข้ามาอ่าน ไม่เห็นมีใครแชร์ข้อมูลเราเลย แต่พอวันนึงมันสะสมมาเรื่อยๆเป็นเหมือนก้อนหิมะถูกซัดมาจากยอดเขา แรกๆเล็กนิดเดียวพอสะสมจนเป็นก้อนใหญ่เมื่อถึงจุดหนึ่งมันลงมาตูมเลย นั่นคือช่วงที่เริ่มมีคนส่งข้อมูล ส่งเบาะแสเรื่องน้องหญิงเข้ามากันเยอะมากจนกลายเป็นปรากฎการณ์ ความคิดผมก็เปลี่ยนไป เริ่มคัดกรองแฟนเพจที่มีคุณภาพ

นอกจากจะกดไลค์ กดแชร์ เรายังสามารถดึงทุน ดึงทรัพยากรของเขามาช่วยได้ บางคนเป็นนักข่าว ตำรวจ ดารา นี่เจ้าของโรงพิมพ์ก็เพิ่งช่วยพิมพ์ใบปิดประกาศให้ 2 หมื่นใบ บางคนสกรีนเสื้อยืดให้ 300 ตัว ถึงขั้นเอาภาพเด็กหายขึ้นดิจิตัลบิลบอร์ดตามสี่แยกไฟแดง ดังนั้นคุณูปการของโซเชียลเน็ตเวิร์มันไปไกลกว่าการกดไลค์ กดแชร์แล้ว มันดึงเอาทุนของแต่ละคนเข้ามาช่วยในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก

แฟนเพจของศูนย์ข้อมูลคนหายมีใครบ้าง

กลุ่มหลักๆของเราเลยคือครอบครัว คนมีลูกที่กังวลว่าลูกจะหาย กลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้กับลูกตัวเอง ดังนั้นเขาก็จะเข้ามาดูบทเรียน อุทาหรณ์ วิธีการ ดูคนร้ายว่ามีพฤติการณ์อย่างไร เพื่อเตรียมตัวรับมือเฝ้าระวัง  ผมสังเกตว่ามีแต่คนที่มีคุณภาพจริงๆ ไม่ได้มีแต่พวกเข้ามาด่าเอามันอย่างเดียว

ยกตัวอย่างคอนเทนท์ที่เราเพิ่งเขียนเรื่องโครงสร้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ดูแลติดตามคดีเด็กหาย เขียนยาวมาก คนกดไลค์หนึ่งแสน แชร์สามหมื่น พออ่านดูคอมเมนต์ มีการแสดงความเห็นกันเยอะ เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้รู้ว่าทุกคนอ่านจริง สนใจเรื่องนี้จริงๆจังๆ ไม่เหมือนเพจอื่นที่พบว่ามีแต่คนเข้ามาด่าตำรวจ

มีการผลิตคอนเทนท์ หรือเขียนสเตตัสอย่างไรให้คนสนใจเข้ามาอ่าน มาแชร์

ผมตั้งกฎเหล็กส่วนตัวไว้เลยว่าทุกวันต้องมีประเด็นที่จะโพสต์ เพราะกลัวว่าถ้าเพจเงียบ คนดูน้อยลงเรื่อยๆ มันจะค่อยๆตายไป

ช่วงที่เป็นแอดมินแรกๆ แต่ละวันต้องคิดนานมากว่าจะโพสต์เรื่องอะไร บางทีใช้เวลาครึ่งวันในการนั่งคิดคอนเทนต์ว่าจะเขียนอะไรลงไป คนถึงจะมาติดตามเพจเราและเกิดการแชร์ต่อ ผมตั้งข้อสังเกตว่าโทนในโลกออนไลน์ คนมักไม่ชอบเรื่องเครียดๆ ก็เลยสลับเขียนทั้งเรื่องราวการลงพื้นที่ค้นหาเด็กหาย ภาพถ่ายสวยๆขณะทำงาน เกร็ดสาระน่ารู้ ถอดบทเรียนจากคดีต่างๆ เขียนออกมาให้มันเข้าใจง่ายที่สุด เสียดายที่เราต้องลงพื้นที่ตลอด ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ก็คิดกันบนรถ  คิดเสร็จก็เขียนใส่ไอแพด แล้วโพสต์เลย ถ้ามีเวลามากกว่านี้อาจจะทำได้มากกว่านี้ ไม่มีเวลาไปทำอินโฟกราฟฟิกสวยๆเหมือนเพจอื่น

สมัยก่อน เวลาเราลงพื้นที่ กลับมาก็ต้องเอาภาพลงคอมพิวเตอร์ เขียนข่าว ส่งเป็นจดหมายข่าวทางอีเมลให้นักข่าว นักข่าวเอาลงหนังสือพิมพ์  แต่เดี๋ยวนี้ไม่หมู ยากขึ้น เพราะกลายเป็นว่าชาวบ้านทุกคนก็เป็นแหล่งข่าวได้ ถ่ายคลิปมาเองเลย แถมภาพสวยคมชัดด้วยนะ (หัวเราะ) ใครมีปัญหา ชาวบ้านยกมือถือถ่ายก็กลายเป็นข่าวทันที แต่ถึงแม้จะยากขึ้น ข้อดีก็คือมันทำให้เราเกาะแสได้ง่ายขึ้น เช่น มีข่าวเรื่องเด็กขอทาน หรือเด็กหาย เราก็เขียนคอนเทนท์ล้อไปกับกระแสข่าว หรือถ้ามันเป็นเรื่องที่อยู่ในกระแสสังคมขณะนั้น นักข่าวก็จะเข้ามาเราได้โดยง่าย

พฤติกรรมการกดไลค์ กดแชร์ หรือคอมเมนต์ ผลลัพธ์แต่ละอย่างแตกต่างกันไหม

เวลาเราจับกระแสคนในเพจว่าเรื่องไหนชอบหรือไม่ชอบ สามารถดูจากยอดไลค์ได้ ส่วนการแชร์ เขาคงเห็นว่ามีประโยชน์จึงแชร์ต่อ แต่ถ้าไลค์ด้วยแชร์ด้วย มัน Advance แล้ว แสดงว่ามีประโยชน์จริงๆ ยิ่งคอมเมนต์ด้วย แสดงว่าเขาอ่านด้วยความสนใจ และมีความคิดเห็นต่อมัน

ทุกวันนี้มีคนร้องเรียนเข้ามาทางเพจศูนย์ข้อมูลคนหายเยอะไหม

มีเข้ามาทุกวัน (ตอบเร็ว) ต้องตอบคำถามวันละไม่ต่ำกว่า 50 คำถาม (หัวเราะ) พี่คะเจอเด็กคนนี้รึยัง ประกาศนี้แชร์ได้หรือเปล่า พี่คะไปตามเด็กคนนี้ให้หน่อย เพราะเดี๋ยวนี้เวลาเสิร์ชคำว่า ‘เด็กหาย’ ‘คนหาย’ ‘แจ้งข้อมูลคนหาย’ มันยิงตรงมาที่เพจเราเลย กลายเป็นศูนย์กลางของครอบครัวคนหายเข้ามาแจ้งที่นี่ เวลาคนเจอประกาศเด็กหายก็จะส่งมาให้ที่นี่ตรวจสอบ เนื่องจากเราต้องเช็คข้อมูลก่อนว่าเด็กคนไหนหาย คนไหนได้กลับบ้านแล้ว เชื่อไหมว่าต้องมานั่งแก้ข่าวบ่อยมาก เพราะบางเด็กบางคนได้กลับบ้านไป 4 ปีแล้ว แต่ยังมีประกาศอยู่เลย

ดีใจที่คนเชื่อถือ เพราะเราได้สร้างมาตรฐานว่าจะไม่แชร์ข่าวมั่ว  เรายินดีที่เป็นศูนย์กลางในการตรวจสอบข้อเท็จจริง จริงๆแล้วภาพเด็กหายที่เราแชร์ในโลกออนไลน์ เป็นแค่ 30 % ของการทำงานนะ อีก 70 % เราเน้นใช้วิธีสืบสวน ลงพื้นที่ หาเบาะแส ดังนั้นโซเชียลเน็ตเวิร์กไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของเรื่องเด็กหาย เราเลือกการประกาศตามหาเด็กหายเป็นวิธีสุดท้าย แต่ใช้การสืบสวนข่าวก่อน ถ้าจนมุม สุดทางจริงๆ เราค่อยประกาศขอรับเบาะแส

เคสไหนที่ถือว่าประสบความสำเร็จจากโซเชียลเน็ตเวิร์ก

เคสล่าสุด เด็กอายุ 6 ขวบถูกลักพาตัวหายไปจากโคราช เราทำประกาศในเฟซบุ๊ก คนก็แชร์เป็นหมื่นๆ เพียงแค่ 2 วันเท่านั้นก็มีตำรวจโทรมาว่าช่วยเหลือเด็กไว้ได้แล้ว

เรื่องมีอยู่ว่าพลเมืองดีคนหนึ่งเป็นแฟนเพจของเราอยู่ที่ขอนแก่น ขี่มอเตอร์ไซค์ไปเจอเด็กคนหนึ่งหน้าเหมือนกับที่ประกาศเด็กหาย จึงเดินไปเรียกชื่อเด็ก "เมฆ" ปรากฎว่าเด็กหันมา เขาก็เลยมั่นใจไปเรียกตำรวจ แต่พอตำรวจเข้าไปถาม คนร้ายกลับปฏิเสธบอกว่าเป็นพ่อลูกกัน แถมบอกว่าเด็กชื่อหมอกไม่ได้ชื่อเมฆ ขณะที่มือโอบเด็กไว้ เด็กก็เงียบเพราะความกลัว ทำให้ตำรวจไม่เชื่อ โชคดีที่พลเมืองดีคนนั้นไม่ยอม มั่นใจว่าต้องใช่แน่ๆ จึงขี่มอเตอร์ไซค์กลับบ้านไปเอาโน๊ตบุ๊กเปิดเพจเฟซบุ๊กของศูนย์ข้อมูลคนหายมายืนยัน สุดท้ายช่วยเด็กไว้ได้

การแชร์ประกาศตามหาเด็กหาย เราอาจคิดว่าแชร์แล้วเราไม่เจอเด็กหรอก แต่มันมีคนเจออยู่ มันจะต้องมีคนนึงที่เจอ คนนึงที่เห็น คนนึงที่เดินผ่าน หรือเด็กอาจมาอยู่ข้างบ้านเรา เดินผ่านหน้าบ้านเรา นี่คือผลพวงจากการที่คนช่วยกันแชร์ข้อมูล

แล้วข้อเสียจากการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กล่ะ

มันเป็นดาบสองคม คนมักคิดว่าต้องทำทุกอย่างก่อนในการตามหาเด็กหาย แต่เราย้ำแล้วว่าการประกาศภาพเด็กหายในโซเชียลมันแค่ 30 % เพราะว่ามันมีวิธีอื่นในการตามหาเด็กหาย มีการสืบสวน มีคำกล่าวที่ว่า "เด็กหายจากสิ่งไหนต้องตามจากสิ่งนั้น"  

ยกอย่างเช่น น้องสาวของนักร้องอาร์สยามที่เพิ่งเป็นข่าว ทีมงานได้รับการแชร์มาเยอะเลย เราก็ประสานไปปรากฎว่าเด็กยังมีการใช้โทรศัพท์มือถือติดต่อครอบครัวอยู่ ฟังแล้วเคสแบบนี้เราจะไม่ประกาศเลย แต่จะใช้วิธีสืบสวนจากโทรศัพท์ เช็คการโทรเข้าโทรออกมันจะทำให้เจอเด็ก โดยไม่มีใครรู้ว่าเด็กหาย เด็กก็จะสามารถกลับคืนสู่สังคมได้ปกติ คุณรู้ไหม ตอนที่น้องสาวของนักร้องอาร์สยามได้กลับบ้าน ลองไปดูคอมเมนต์ได้ โอโห ด่ากันเละ ด่าเด็กว่ามองว่าสมัครใจหนีไปเอง ตำหนิติเตียน

สิ่งที่ผมกำลังจะบอกคือโลกออนไลน์มันควบคุมการกระจายไม่ได้ คุณอย่าคิดว่าหลังจากกด Enter พอออกไป แล้วคุณกด delete แล้วมันจะหายไป ไม่จริง เพราะในโลกออนไลน์ คนชอบทำซ้ำ copy ภาพ แล้ว save as แล้วโพสต์ใหม่ เด็กบางคนหายออกจากบ้าน กลับมา 4 ปีแล้ว ภาพยังถูกแชร์อยู่เลย

ผมเคยได้รับโทรศัพท์จากแม่ของเด็กคนหนึ่งที่หายไปและได้กลับบ้านแล้ว ปรากฎว่าเด็กไม่กล้าไปโรงเรียน กลัวเพื่อนล้อ เพราะเสิร์ชในกูเกิ้ลยังเจอชื่อตัวเอง เจอภาพใบประกาศเด็กหายที่เป็นหน้าตัวเอง ต้องเปลี่ยนชื่อ ย้ายโรงเรียน มันมีปัญหาแบบนี้อยู่จริง แต่คนไม่รู้ไม่เห็น ผลกระทบมันยาวนานอย่างคาดไม่ถึงเลย

อีกเรื่องคือในโลกออนไลน์มันจะทำให้เราเจอมิจฉาชีพเยอะ ถ้าเป็นครอบครัวที่โพสต์ประกาศเอง ให้เบอร์ติดต่อเรียบร้อย ท่านจะได้เจอกับเบาะแสลวง เชื่อถือไม่ได้ ไม่กลั่นกรอง ไม่แน่ใจ หรือไม่ก็เจอหมอดู เคสเด็กหายทั้งหมดที่ประกาศโดยเราจะไม่มีการให้เบอร์ครอบครัวเลย จะให้เบอร์ติดต่อเจ้าหน้าที่แทน คุณโทรมาคุณเจอทีมงานเราก่อน ถ้าคุณเจอมิจฉาชีพ คุณเจอเราแน่

คิดให้ดีก่อนแชร์เรื่องเด็กหาย"เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข"

กรณีข่าวร้ายของเด็กหญิงวัย 13 บนรถไฟได้บทเรียนอะไรจากเคสนี้บ้าง

ลึกๆแล้วเราน่าทำอะไรได้ดีกว่านี้ (ถอนหายใจยาว)

วันนั้นเป็นเช้าวันอาทิตย์ ญาติคนหนึ่งของเด็กโทรหาผม เล่าเรื่องว่าน้องหายบนขบวนรถไฟให้ฟัง เราทำงานมานาน ฟังแล้ววิเคราะห์เลยว่าเด็กอายุ 13 หายตัวไปด้วยเรื่องอะไรได้บ้าง เรื่องทางเพศ เรื่องสมัครใจ ผมวางธงไว้ 2 เรื่อง หนึ่ง เด็กสมัครใจไปเอง สอง ญาติมองว่าอาจเกิดเหตุร้ายบนขบวนรถไฟ เนื่องจากเห็นพนักงานคนหนึ่งกินเบียร์จนมึนเมาแล้วคุยกับเด็กก่อนเข้านอน ผมจึงประสานไปยังรองผู้ว่าการรถไฟทันที ส่งข้อมูลผ่านทางไลน์

บทเรียนทุกครั้งต้องแลกมาด้วยชีวิต ผมยอมรับว่าเราก็พลาด ไม่ได้แอ็คชั่นเต็มที่ เพราะว่ายังไปมองเรื่องเด็กสมัครใจ โดยไม่คิดว่ามันจะเกิดเรื่องร้ายโหดเหี้ยมได้ถึงขนาดนี้ มีคนถามว่าทำไมเพจไม่มีการประกาศเรื่องน้องคนนี้เลย ผมตอบว่าทีแรกยังวิเคราะห์ว่าเด็กสมัครใจหนีเอง เราก็หวังตามหลักฐานจากการใช้โทรศัพท์ ขณะเดียวกัน ถ้าเหตุร้ายเกิดขึ้นบนรถไฟจริง ประกาศไปก็ไม่มีประโยชน์แล้ว เพราะค้นหาจนทั่วแล้วไม่พบเด็กอยู่บนรถ ตรวจจากกล้องวงจรปิดทุกสถานีก็ไม่เจอ ผู้ต้องสงสัยทุกคนก็ถูกตำรวจสอบสวนอยู่ ประกาศไปก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะข้อมูลทุกอย่างมีการดำเนินการแล้ว ไม่จำเป็นต้องหาเบาะแสอีก

ผมเข้าใจเจ้าหน้าที่ตำรวจนะว่าทำไมถึงไม่ไปค้นหาศพตอนในคืนนั้น จากประสบการณ์ในการทำงาน หนึ่ง เวลาหาศพ เขาไม่ไปตอนกลางคืน เพราะมันหาได้ไม่ทั่วบริเวณ ยกตัวอย่างตอนหาศพน้องการ์ตูน มันหาไม่เจอตอนกลางคืน แต่ตอนกลางวันโล่งเลย เห็นชัดขึ้น และที่สำคัญ พยานหลักฐานมันไม่เสียหาย คนที่อยู่ในที่เกิดเหตุซึ่งไม่ใช่ตำรวจ การไปจับศพ พลิกศพ ไปถ่ายรูป ไปเหยียบย่ำที่เกิดเหตุ ทำให้พยานหลักฐานเสียหายหมด

ขอคำแนะนำหน่อยว่ามีวิธีการแชร์ข้อมูลเด็กหายในโซเชียลอย่างไรให้ได้ประโยชน์จริงๆ

ผมอยากให้คนได้คิด วิเคราะห์ แยกแยะ บางคนคนเลือกที่จะเชื่อข้อมูลใดข้อมูลหนึ่งในทันที เช่น แก๊งค์รถตู้ลักพาตัวเด็กไปฆ่า แหวกศพเอาอวัยวะไปขาย ภาพที่แชร์มาเป็นภาพผู้หญิงนอนเปลือยกายอยู่ในกะละมัง ตับไตไส้พุงกองออกมาข้างนอก แล้วบอกว่าเป็นแก๊งค์รถตู้ที่ภาคอีสานลักพาตัวเด็กผู้หญิงไปฆ่าเพื่อเอาอวัยวะไปขาย บางทีมันไม่เมคเซนส์เลยว่ามันจะเป็นไปได้ บางคนกดแชร์ทันที น่ากลัวมาก แถมพอเราไปบอกข้อเท็จจริง ก็อ้างว่าก็เตือนภัยไว้ก็ดีแล้วไม่ใช่เหรอ ถามว่าสังคมเราต้องการแบบนี้เหรอ เราจะสร้างความกลัวเพื่อให้คนไม่กล้า หรือสร้างความตระหนักด้วยความรู้ คนถึงจะปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง ป้องกันได้ถูกวิธี เวลาเราตรวจสอบแก๊งค์รถตู้แล้วบอกว่าไม่มี โดนด่าตลอด อ้างว่าเขาเตือนภัยก็ดีแล้ว จะได้ระมัดระวังไม่ดีเหรอ คุณรู้ไหมว่าพ่อแม่ผู้ปกครองเครียดกันมาก ไม่กล้าพาลูกออกไปไหน แม้กระทั่งพาไปหน้าบ้าน แบบนี้แสดงว่าวิตกจริต สังคมป่วยแล้ว

ในโลกออนไลน์มันมีคนพิเรนทร์อยู่จริง พวกชอบจับแพะชนแกะ ใช้เฟซบุ๊กเครื่องมือทำลายล้างศัตรู เอาภาพคนร้ายคดีไหนมาไม่รู้บอกว่าโจรลักพาตัวเด็ก ดังนั้นอยากให้ทุกคนพยายามดูที่มาของข่าว ที่มาของข้อมูลว่าน่าเชื่อถือไหม ดูเหตุดูผล อย่าผลีผลามรีบเชื่อ รีบแชร์

วางแนวการทำงานของศูนย์ข้อมูลคนหายในอนาคตไว้อย่างไร

เราตามหาคนหาย โดยการใช้เครื่องมือทางสังคม ต้องดูว่าสังคมขณะนั้นกำลังใช้เครื่องมืออะไรอยู่ สิบปีที่แล้ว คนเสพหนังสือพิมพ์กับทีวี ภาพเด็กหายจึงไปอยู่ในหนังสือพิมพ์กับทีวี วันนึงสังคมใช้อีเมล ภาพเด็กหายจึงไปอยู่ในฟอร์เวิร์ดเมล วันนึงใช้ไฮไฟว์ เราก็มีไฮไฟว์ วันนี้ใช้เฟซบุ๊ก เราก็ใช้เฟซบุ๊ก ใช้ไลน์ ตอนนี้เรามีกรุ๊ปไลน์ประสานงานกับนักข่าวประมาณ 80 คน ประสานงานกันได้สะดวกรวดเร็ว นี่ก็เป็นอีกยุทธวิธีหนึ่งในการทำงาน

วันข้างหน้า สังคมใช้อะไร เราก็จะใช้สิ่งนั้น ไม่ว่าจะเทคโนโลยีจะพัฒนาไปแค่ไหน เราจะเอาตัวไปผูกติดอยู่ตรงนั้น เพื่อให้การติดตามหาเด็กหายได้ใช้เครื่องมือนั้นด้วย

คิดให้ดีก่อนแชร์เรื่องเด็กหาย"เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข"