posttoday

12ปีในรั้วสี่เสาฯ"พ.ต.วิวัฒน์"ครูเปียโน พล.อ.เปรม

13 กรกฎาคม 2557

ผู้อยู่เบื้องหลังที่ทำให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มีความสุขจากเสียงดนตรี คงต้องยกให้กับ พ.ต.วิวัฒน์ คมศิลป์

เรื่อง : ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม / ภาพ : ภัทรชัย ปรีชาพานิช

ผู้อยู่เบื้องหลังที่ทำให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี มีความสุขจากเสียงดนตรี คงต้องยกให้กับ พ.ต.วิวัฒน์ คมศิลป์ หรือ “ครูเป๊ก” นายทหารหนุ่มวัย 39 จากกองดุริยางค์ทหารบก

พ.ต.วิวัฒน์ เข้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ไปสอนเปียโนให้ป๋าเปรมตั้งแต่ปี 2545 หรือ 12 ปีก่อนเมื่อครั้งเจ้าตัวยังเป็นสิบเอก อายุเพียงแค่ 27 ปี จนทำให้ป๋าเปรมบรรลุฝันในอดีต เล่นเปียโนได้ และยังประพันธ์เพลงในช่วงเวลาสิบปีกว่าได้มากถึง 157 เพลง

ปัจจุบัน “ครูเป๊ก” เป็นหัวหน้าหมวดดนตรีสากล วงออร์เคสตรา กองดุริยางค์ทหารบก ภารกิจนำวงไปบรรเลงงานต่างๆ ของหน่วยทหาร นอกจากเป็น “ครูเปียโนป๋า” แล้วยังถือว่าเป็นหนึ่งในคนสนิทที่ป๋าเปรมให้ความเป็นกันเองดั่งลูกหลาน

ก่อนหน้านี้ พล.อ.เปรม ให้สัมภาษณ์พิเศษโพสต์ทูเดย์ถึงแรงดลใจถึงการเล่นดนตรี ครั้งนั้น พล.อ.เปรม เปิดตัว “ครูเป๊ก” พร้อมกับชื่นชมว่า “ถ้าไม่ได้เป๊ก ป๋าก็คงเล่นเปียโนไม่ได้ถึงวันนี้”

ย้อนกลับไปเมื่อ 2545 พล.อ.เปรม อยากทำฝันตัวเองให้เป็นจริงอีกครั้งด้วยการฝึกเปียโนให้ได้ หลังจากล้มความคิดไปในช่วงปี 2530 ปลายสมัยเป็นนายกรัฐมนตรี ที่พยายามฮึดสู้ซื้อเปียโนมาเล่นเองและจ้างครูฝึกแต่ก็ไม่สำเร็จ จน 15 ปีต่อมา พล.อ.เปรม ในวัย 82 มีตำแหน่งเป็นประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ สามารถเล่นเปียโนได้ไพเราะ ยังแต่งเพลงได้มากมาย และแสดงคอนเสิร์ตกุศลอีกหลายครั้ง

เกร็งที่ได้ใกล้ชิดประธานองคมนตรี

ที่มาครั้งนั้นเริ่มจาก พล.อ.เปรม มีโอกาสได้ฟังดนตรีบรรเลงที่กองดุริยางค์ทหารบกจัดต้อนรับให้หลังจาก “ป๋าเปรม” ได้ให้ทุนไปสร้างห้องบันทึกเสียงเพื่อใช้ประโยชน์ด้านดนตรี พล.อ.เปรม เอ่ยปากกับผู้บังคับบัญชาว่า สนใจเรื่องการเล่นเปียโน จึงอยากให้กองดุริยางค์ทหารบกหาคนไปช่วยให้คำแนะนำที่บ้าน จึงเป็นที่มาให้ ส.อ.วิวัฒน์ ได้เข้าไปใกล้ชิด สอนเปียโนป๋าเปรมร่วม 12 ปีจนถึงปัจจุบัน

“ผมเรียนดนตรีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากนั้นก็มาเป็นนักเรียนนายสิบดุริยางค์ทหารบก บรรจุเป็นสิบเอก แล้วก็มารับใช้ตั้งแต่ป๋าเลย เพราะตอนนั้นเขาแจ้งว่าอยากได้เด็กที่เคยไปเรียนดนตรี มีเทคนิคอะไรใหม่ๆ พอที่จะไปให้คำแนะนำท่าน และก็ต้องมีความรู้เรื่องการแต่งเพลง ก็อาจมีผมคนเดียวในกองดุริยางค์ทหารบก เพราะที่เหลือก็เป็นนายทหารที่อายุมากพอสมควร”พ.ต.วิวัฒน์ ย้อนความรู้สึกเมื่อ 12ปีก่อน

“วันแรกยอมรับว่าตื่นเต้นมากที่จะได้เข้าไปแนะนำเรื่องดนตรีให้กับท่าน เพราะผมไม่เคยเจอท่าน ได้ยินแต่ข่าวตอนที่ท่านเป็นนายกฯ ปี 2523 ตอนนั้นผม 5 ขวบ ป๋าก็เป็นนายกฯ แล้ว คิดในใจว่า ถ้าเข้ามาแล้ว ท่านจะดุไหม ตรงกันข้ามพอผมเข้าบ้านสี่เสาฯ ท่านก็ให้ความเป็นกันเอง ท่านบอกให้เรียกป๋านะลูก เพราะตอนแรกผมเรียกท่าน”

ปกติแล้วในแต่ละเดือน พ.ต.วิวัฒน์ จะเข้ามาสอนสัปดาห์ละสองครั้ง ทุกวันพุธและวันอาทิตย์ เฉลี่ยเดือนละแปดครั้ง

“ป๋าจะซ้อมดนตรีวันละชั่วโมง ท่านจะทำสองอย่าง เล่นดนตรีกับฟังเพลงนานๆ หลังจากนั้นท่านจะเดินออกกำลังกายตอนห้าโมงเย็น บางครั้งท่านก็จะมาซ้อมดนตรีเป็นวงจากกองดุริยางค์ทหารบก มีกีตาร์ กลอง เบสเล่นด้วยกัน เพราะเรามีคอนเสิร์ตประจำทุกปี แต่หลายปีมานี้ สถานการณ์บ้านเมืองตึงเครียด พล.อ.เปรม หยุดเล่นดนตรีนานเป็นเดือนเหมือนกัน”

ครูเป๊ก เล่าว่า ครั้งแรกที่เข้าพบป๋า ท่านบอกว่าไม่อยากเรียนโน้ตสากล อยากเล่นเพลงได้เร็ว ไม่ต้องการเล่นให้เก่ง เพียงขอให้เล่นได้ จึงเริ่มแนะนำตั้งแต่การนั่งที่เก้าอี้เปียโน การวางมือในตำแหน่งต่างๆ เช่น ทั้งมือซ้ายและมือขวา และพื้นฐานทางด้านเทคนิคการบรรเลงเพลงเปียโน

การสอนในช่วงแรก ส.อ.วิวัฒน์ ขณะนั้นรู้สึกเกร็งพอสมควร เพราะเป็นนายทหารคนเล็กๆ ที่มีโอกาสมารับใช้ถึงระดับประธานองคมนตรี แต่ความเป็นกันเองของ พล.อ.เปรม ช่วยให้ ส.อ.วิวัฒน์ ลดความประหม่าลง

“การฝึกครั้งแรก ผมแนะนำให้ป๋าเล่นในแบบ Block Chord เพราะง่ายในการแยกความรู้สึกเมื่อจะเล่นพร้อมกันทั้งสองมือ แต่ป๋าเลือกที่จะเล่นในแบบ Broken Chord ซึ่งถือว่ายากพอสมควรสำหรับผู้เริ่มเล่นใหม่ ต่อมาผมก็ให้ป๋าฝึกซ้อมเอง ก็ได้แนะนำให้ป๋าซ้อมเป็นท่อนบ้าง ทีละประโยคเพลงบ้าง แล้วค่อยเล่นรวมกันทั้งเพลง จากนั้นสองสัปดาห์ผ่านไป ผมก็มาที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ เพื่อแนะนำวิชาดนตรีตามปกติ ปรากฏว่าป๋าได้ประพันธ์ขึ้นมาใหม่ในแบบบรรเลงเปียโนพร้อมกันสองมือให้ผมได้ฟัง ป๋าเล่นได้คล่องแคล่วและไพเราะจนผมรู้สึกเซอร์ไพรส์มาก และขออนุญาตบันทึกเสียงและเก็บภาพนั้นไว้”

“จากตรงนี้ทำให้ผมคิดอะไรได้หลายอย่างเกี่ยวกับเหตุผลที่ท่านเล่นเปียโนได้ดี ทั้งที่ผมไม่ได้สอนอะไรท่านมาก นั่นเพราะป๋ามีความสามารถและพรสวรรค์ส่วนตัวเองจริงๆ”

ความสามารถในการเล่นเปียโนที่ พล.อ.เปรม เรียนรู้จากครูเป๊กอย่างรวดเร็ว ทำให้ครูเป๊กถึงกับอึ้ง จนต้องถาม พล.อ.เปรม ฝึกซ้อมอย่างไร บ่อยแค่ไหน ถึงได้มีพัฒนาการที่ก้าวกระโดด

“ป๋าตอบว่า ก็ไม่ได้ซ้อมอะไรมากหรอกเป๊ก ซ้อมแค่สองสามวันเอง วันละไม่ถึงชั่วโมง ป๋าไม่ค่อยมีเวลามาก เข้าไปในห้องดนตรีก็กดๆ ไปตามที่เป๊กบอกนั่นแหละ แต่มือซ้ายนี่ยากจริงๆ มันต้องทำยังไงถึงจะเล่นได้ง่ายๆ ผมก็ได้ตอบไปว่า ต้องซ้อมบ่อยๆ ครับ ต้องอาศัยเวลาและความชำนาญในการแยกความรู้สึกของมือซ้ายและมือขวาด้วย ตอนนั้นป๋าก็เล่นได้ไพเราะและน่าฟังแล้ว เล่นอีกหลายๆ เพลงก็จะชำนาญขึ้น ผมพูดเสร็จ ป๋าก็เฉยๆ ไม่ทำท่าดีใจกับคำชมของผม” พ.ต.วิวัฒน์ ถ่ายทอดให้ฟัง

12ปีในรั้วสี่เสาฯ"พ.ต.วิวัฒน์"ครูเปียโน พล.อ.เปรม

ป๋าแต่งเพลงจาก Story และจินตนาการ

หลังจาก พล.อ.เปรม เล่นเปียโนได้เดือนกว่า ก็ขอให้ช่วยสอนแต่งเพลง กระนั้นครูเป๊กออกตัวว่าไม่ถนัดมากเรื่องการประพันธ์เพลง แต่ก็รับปากที่จะสอนทฤษฎีเบื้องต้น เริ่มด้วยคีย์ ซี เมเจอร์ เพราะเป็นพื้นฐาน ผ่านไปไม่กี่วัน พล.อ.เปรม โทรศัพท์เรียกมาให้ฟังเพลงแรกที่แต่งขึ้น ชื่อเพลง ใต้แสงจันทร์ สำหรับ ส.อ.วิวัฒน์ รับรู้ได้ทันทีว่า พล.อ.เปรม มีความสุขมากกับเพลงที่ท่านประพันธ์ขึ้น

“ผมถามป๋าว่า ทำไมแต่งเพลงได้รวดเร็วและออกมาดีอย่างนี้ ทั้งที่ผมไม่ได้แนะนำอะไรมากนอกจากพื้นฐานทฤษฎีเบื้องต้น ป๋าเล่าให้ฟังว่า หลังจากเดินออกกำลังกายเสร็จแล้วในวันนั้นก็มานั่งที่เก้าอี้แล้ว ตอนนั้นเกิดจินตนาการเสียง ทำนองเพลงขึ้นมา จึงเดินมาที่ห้องดนตรี แล้วลองกดคีย์เปียโนไล่เรียงตามเสียงที่ได้ยิน จากนั้นก็โทรเรียกมาดูว่า พอจะเป็นเพลงได้ไหม นั่นคงเพราะแรงบันดาลใจของป๋าที่อยากเขียนเพลง”

พล.อ.เปรม แต่งเพลงแรกเมื่ออายุ 82 จากวันนี้รวม 12 ปี รวมทั้งหมด 157 เพลงที่ได้ประพันธ์ขึ้น เป็นบทเพลงที่ทรงคุณค่า ตามหลักสากลนิยม ผลงานเพลงทั้งหมด ครูเป๊กบอกว่ามาจากประสบการณ์ของป๋าที่มีความชื่นชอบทางดนตรี และได้ชมการแสดงดนตรีและร้องเพลงมาตั้งแต่เยาว์วัย ทำให้มีเรื่องราวที่จะนำมาเขียนเป็นบทเพลงได้มากมายอย่างที่เราเห็น

“ป๋าแต่งเพลงเหมือนกับการเขียนหนังสือที่บรรยายออกมาเป็นเรื่องราวต่างๆ ท่านเขียนเพลงนี้จบ พรุ่งนี้ก็เขียนอีกเพลง อีกสองวันต่อมาก็เขียนอีก บางเพลงใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง เหมือนกับป๋ามีเรื่องราวและทำนองเพลงอยู่ในจินตนาการแล้ว เมื่อจะแต่งเพลงก็แค่คิดถึงแล้วใช้จินตนาการไล่เรียงเสียง แนวทำนองบนคีย์เปียโน”

ครั้งหนึ่ง พล.อ.เปรม เคยเล่าให้ครูเป๊กฟังถึงความผูกพันทางเสียงดนตรีตั้งแต่เด็กๆ ว่า ชอบร้องเพลงตั้งแต่อายุ 13 ปี ตั้งแต่อยู่สงขลาจนจบ ม.8 ที่กรุงเทพฯ พอไปเป็นนักเรียนนายร้อย ต้องหยุดร้องเพลง เปลี่ยนเป็นแบกปืนแทน ในช่วงเกิดสงครามอินโดจีน เรียนยังไม่ทันจบก็ต้องออกไปเป็นผู้บังคับหมวด และร่วมรบสงครามอินโดจีน หลังจากจบสงครามอินโดจีน พักได้ 6 เดือน เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้องออกสนามอีก 4 ปี กลับมาเป็นผู้บังคับกองร้อย ก็มีโอกาสร้องเพลงบ้าง

“ตอนนั้นไม่มีไมโครโฟน ไม่มีนักดนตรี ย้ายไปอยู่อุตรดิตถ์ก็มีแต่ม้า ได้เลื่อนเป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า เวลามีงาน มีลูกน้อง ก็แย่งกันร้องให้ฟัง นานๆ ขอเขาร้องบ้าง พอเลื่อนตำแหน่งเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 และแม่ทัพภาคที่ 2 ก็ไม่มีโอกาสที่ขับร้อง เพราะงานเยอะมาก แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ จะเสด็จทรงงาน และเยี่ยมราษฎรทุกปี โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขับร้องเพลงถวายเวลาเสวย จึงได้มีโอกาสแสดงฝีมือต่อมาเมื่อย้ายเข้ากรุงเทพฯ เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก มีเวลาพอสมควร”

12ปีในรั้วสี่เสาฯ"พ.ต.วิวัฒน์"ครูเปียโน พล.อ.เปรม

พ.ต.วิวัฒน์ บอกว่า ป๋าเปรมเป็นคนที่มีสัมผัสด้านดนตรีที่ยอดเยี่ยม เพราะท่านรักเพลงและชื่นชอบดนตรีด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์อีกอย่าง คือ ความรักชาติ ป๋าเปรมถึงได้ตั้งชื่องานคอนเสิร์ตและอัลบั้มทุกชุดว่า “รักเพลง รักแผ่นดิน” ส่วนเพลงที่ป๋าเปรมแต่งแบ่งออกเป็นสี่กลุ่ม เพลงเกี่ยวกับความรัก เพลงเกี่ยวกับสถาบัน เพลงไทยเดิม เพลงมาร์ชปลุกใจ เกี่ยวกับชาติบ้านเมือง ซึ่งท่านจะไม่เขียนตำหนิใคร จะเขียนเป็นกลางๆ นำพระราชดำรัสเป็นการเตือนสติทุกคน

“บทเพลงของท่านเป็นเพลงรักโรแมนติก ธรรมชาติ และกลิ่นอายฝรั่ง ออกแนวคลาสสิก ท่านชอบแนท คิง โคล เซอร์ คลิฟฟ์ ริชาร์ด เช่นเพลง When the girl in your arms ท่านก็แปลงมาเป็นเพลงของท่าน เธอในอ้อมแขน แต่ส่วนมากเพลงของท่านยังเป็นเพลงธรรมชาติ แมกไม้ สายลม แสงแดด สองเรา บางเพลงที่ท่านแต่งมีซีนของเลิฟซีนนิดๆ เช่น เพลงใต้แสงจันทร์ เนื้อหาบอกว่า โอบกอดเธอ ฉันเพ้อรำพัน ใต้เงาแสงจันทร์ เล้าโลมลูบไล้ สองเรา เคล้าดวงใจ ป๋ายังชอบฟังเพลงของพลพล ท่านเคยร้องเพลงคนไม่สำคัญ ของสุเมธแอนด์เดอะปั๋งด้วย”

ความประทับใจที่นายทหารหนุ่มผู้นี้มีต่อ พล.อ.เปรม ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา คือ ป๋าเปรมให้ความรู้สึกเหมือนเป็นลูกหลานคนหนึ่ง “บางทีเราเป็นข้าราชการมาจากนายสิบ พูดตรงๆ เราห่างจากท่านเยอะ แต่เวลาเราเข้ามา ท่านก็ให้ความเป็นกันเอง ก็มีความประทับใจในส่วนนั้น และความเป็นศิลปินของท่าน ก็มีอารมณ์ความรู้สึกในฐานะนักดนตรี”

ในอนาคตจะเป็นอย่างไร พ.ต.วิวัฒน์ ทิ้งท้ายว่า อยู่ที่ท่านตัดสินใจ ถ้าท่านไม่สนุกกับการเล่นเปียโนแล้ว ก็แล้วแต่ท่านพิจารณาว่าจะให้ผมมาให้คำแนะนำเหมือนเดิมหรือไม่