posttoday

เจาะลึกอาชีพ"ขอทาน"งานง่าย-รายได้งาม

10 กรกฎาคม 2557

บางคนตกงานเร่ร่อน บ้างยากจนข้นแค้น หลายคนติดค่านิยมผิดๆว่างานง่าย-รายได้ดี ทำให้"ขอทาน"ยังคงเกลื่อนเมือง

โดย....อินทรชัย พาณิชกุล

"ขอทาน" แม้จะเป็นอาชีพที่ผิดกฎหมาย ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม แต่ดูเหมือนว่ายังไม่มีแนวทางที่จะสามารถจัดการปัญหาได้อย่างจริงจัง หนำซ้ำยังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ

วิธนะพัฒน์ รัตนาวลีพงษ์ หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา ยอมรับว่าขบวนการขอทานในเมืองไทยทุกวันนี้มีความซับซ้อนและหลากหลายมาก

โดยได้แบ่งกลุ่มขอทานเป็น 6 ประเภท ดังนี้

กลุ่มขอทานจากประเทศกัมพูชา ซึ่งมีมากถึง 90 % ของทั้งหมดส่วนใหญ่อพยพมาเป็นครอบครัว ทั้งผู้เฒ่าคนแก่ วัยกลางคน จนถึงลูกเล็กเด็กแดง

"มีตั้งแต่คนแก่ทั้งหญิงชาย แม่อุ้มลูกน้อยวัยแรกเกิด รวมถึงเด็กๆนั่งพนมมือขอเงินตามสะพานลอย สวนสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า ป้ายรถประจำทาง รวมถึงตามท้องถนน เมื่อเห็นว่ารายได้ดี ตำรวจไม่จับ จึงกลายเป็นค่านิยมให้คนอื่นๆชักชวนกันมาบ้าง" 

กลุ่มเด็กขายดอกไม้จากพม่า สังเกตง่ายๆว่าเป็นเด็กหน้าตาคล้ายแขกมุสลิม เดินเร่ขายดอกไม้ตามร้านอาหาร ร้านเหล้าตอนกลางคืน พวกนี้ส่วนใหญ่มาจากชายแดนตะวันตก อ.แม่สอด จ.ตาก

"โดยเฉพาะชุมชนอิสลามบำรุง อ.แม่สอด พบว่ามีคนที่เข้ามาประกอบอาชีพขอทานเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบเด็กถูกขายและให้เช่ามาเพื่อขอทาน โดยนายหน้าจะเสนอขอเช่าเด็กคนหนึ่ง โดยจะจ่ายให้พ่อแม่เด็กในราคา 1,500-3,000 บาทต่อเดือน ภายใต้ระยะเวลา 6 เดือน ปรากฏว่ามีหลายครอบครัวได้เงินไม่ครบ ไม่ให้เด็กคุยโทรศัพท์กับผู้ปกครองปรากฏว่าเงินก็ได้ไม่ครบ ในที่สุดพอครบ 6 เดือนก็ไม่ได้กลับบ้าน หายสาบสูญไปเลย"

กลุ่มขอทานเด็กไทย พวกนี้จะใส่ชุดนักเรียนถือกล้องรับบริจาคเขียนภาษาไทยว่า "ค่าศึกษาเล่าเรียน" บ้างเร่ขายปากกา ที่นิยมมากที่สุดขณะนี้คือเป่าแคน ทั้งที่บ้างคนเป่าไม่เป็นเลยด้วยซ้ำ เพื่อหลีกเลี่ยงเจ้าหน้าที่

กลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ จากข้อมูลของมูลนิธิกระจกเงาระบุว่าส่วนใหญ่มาจากแถบอีสาน หลายคนเป็นชาวนาชาวไร่ หมดหน้านา ก็เดินเข้ากรุงมุ่งขอทาน เนื่องจากรายได้ดี และเชื่อว่าไม่ผิดกฎหมาย ชุมชนที่ได้ชื่อว่ามีขอทานมากที่สุดคือ ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์

กลุ่มมิจฉาชีพ มีทั้งคนไทยและต่างด้าว พวกนี้มีทั้งขบวนการค้ามนุษย์ที่มีการใช้แรงงานเด็กมานั่งขอทาน ทั้งแกล้งพิการ แขนขาขาด ตาบอด หรือแต่งกายเป็นพระภิกษุ แม่ชี เจ้าหน้าที่มูลนิธิต่างๆ

กลุ่มวณิพก บางคนมีบัตรผู้พิการจริง มีฝีไม้ลายมือ มีความสามารถในเชิงดนตรี  ตรวจสอบได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่นๆ

"เด็กจะหาเงินได้มากกว่าผู้ใหญ่ เพราะคนให้จะรู้สึกสงสาร น่าเอ็นดู ทำให้เดี๋ยวนี้วิธีการขอทานมีพัฒนาการในรูปแบบใหม่ๆ เช่น ใส่ชุดนักเรียน เป่าแคน ลงทุนในสินค้าต้นทุนต่ำ เช่น ลูกอม ทิชชู่ พวงกุญแจ ปากกา ดอกไม้ หรือกล่องรับบริจาค ดูน่ารักน่าเอ็นดู คนส่วนมากให้เงินเพราะเชื่อว่าทำบุญให้เด็กได้ไปเรียนหนังสือ ไปช่วยพ่อแม่"

เจาะลึกอาชีพ"ขอทาน"งานง่าย-รายได้งาม

แน่นอนว่า "ทำเลทอง ย่านทำเงิน" ของเหล่าบรรดาผู้ประกอบอาชีพขอทาน หนีไม่พ้นสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน

โดยเฉพาะกรุงเทพฯและปริมณฑล มักจะปักหลักหากินตามหน้าห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ และตลาดนัด

ส่วนในต่างจังหวัดมักจะกระจายไปตามหัวเมืองใหญ่ๆ ภาคเหนือที่ จ.เชียงใหม่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ภาคอีสาน อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น ภาคตะวันออก ตลาดโรงเกลือ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว สถานที่ท่องเที่ยวตากอากาศอย่างเมืองพัทยา จ.ชลบุรี อ.หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ ภาคใต้ที่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

"เคยคุยกับเด็กอายุ 12 ปีคนหนึ่งที่นั่งขอทานอยู่แถวสี่แยกอโศก ถนนสุขุมวิท ซึ่งมีชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก เขาบอกว่าได้เงินวันละไม่ต่ำกว่า 500 - มากกว่า 3,000 บาท บางคนมีไอโฟนด้วย ส่วนขอทานผู้ใหญ่ ที่ผ่านมาเคยเจอเคสภรรยาจูงสามีตาบอดไปเร่ขอเงินแถวแหลมฉบัง รายได้วันละ 3,000-4,500 บาท ถึงขนาดเช่ารีสอร์ทดีๆนอนเลย อีกเคสถือชายวัยกลางคนใส่เชิ้ตผูกไทด์เหมือนนักธุรกิจ ยืนถือป้ายขอยืมเงินในเน็ต ทราบว่ามีคนโอนเข้าไปเป็นแสนบาท แต่เขาก็ยังถือป้ายไม่เลิก เคสนี้จับไม่ได้เพราะไม่มีใครเป็นเจ้าทุกข์ หรือล่าสุด เคสขอทานบรรดาศักดิ์ที่องค์พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม มีคนแจ้งว่าขับรถเก๋งมาแล้วเปลี่ยนเป็นนั่งวีลแชร์ขอเงินชาวบ้าน"

พฤติการณ์ที่เข้าข่ายผิดพรบ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 คือกลุ่มแก๊งค์ที่หาผลประโยชน์จากเด็ก  โดยจะมีการไปซื้อหรือเช่าเด็กมาจากพ่อแม่ในประเทศเพื่อนบ้าน  ทั้งจ่ายเงินเป็นรายวันหรือรายเดือน  ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะของการส่งเงินกลับไปเป็นเดือนๆ  รวมทั้งคนที่มาทำอาชีพนี้ที่มีญาติกันติดต่อเพื่อนำเด็กเข้ามาหาประโยชน์ ซึ่งรูปแบบวิธีการทำกันเหมือนแก๊งค์ พักอาศัยอยู่ที่เดียวกัน บางส่วนจะมีผู้พาตัวมาและให้ที่พักพิงด้วย

หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน ยืนยันว่ายังไม่พบว่ามีแก๊งค์รถตู้ลักพาตัวเด็กไปตัดแขนตัดขา แล้วบังคับให้ขอทานดังที่ปรากฏเป็นข่าวลืออย่างแน่นอน

"กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องขอทานคือ พรบ.ควบคุมขอทาน พ.ศ.2484 ห้ามมิให้ผู้ใดทำการขอทาน หรือเรี่ยไรเงิน ไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเด็ก ผิดกฎหมายหมด หากเป็นคนไทยในทางปฏิบัติ ตำรวจมักจะใช้วิธีตักเตือน ขับไล่ออกจากสถานที่ ไม่ก็ประสานให้ศูนย์ช่วยเหลือสังคม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้าดำเนินการช่วยเหลือ ส่วนหากพบว่าเป็นคนต่างด้าว ก็จะผลักดันกลับประเทศ ยกเว้นกรณีที่เข้าข่ายพรบ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มีการหลอกลวง บังคับขู่เข็ญ ทำร้ายเด็ก ก็จะดำเนินคดีตามกฎหมาย"

อย่างไรก็ตาม วิธีหยุดยั้ง "ขอทานเด็ก" อันถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการค้ามนุษย์คือ หยุดให้เงินขอทานในทุกกรณี

"คนไทยขี้สงสาร และมองว่าการให้เงินขอทานเป็นการทำบุญ แต่ร้อยทั้งร้อย เด็กแทบไม่ได้ใช้ประโยชน์จากเงินนั้นเลย กลับตกไปอยู่กับนายหน้าที่พาเด็กมานั่งขอทาน หรือพ่อแม่ที่ติดยา ติดเหล้า การพนัน ใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย เงินหมดก็ให้เด็กไปหาเงินใหม่ ในที่สุดเด็กเหล่านี้ก็ทำอะไรไม่เป็นนอกจากแบมือขอเงิน แล้วเมื่อถึงวัยหนึ่งขอทานไม่ได้แล้ว ก็ไม่สามารถประกอบอาชีพอื่นได้อีก เสี่ยงต่อการถูกล่อลวงไปค้าประเวณี และถูกผลักเข้าสู่วังวนอาชญากรรม"

หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน แนะนำทิ้งท้ายว่าควรเปลี่ยนจากการให้เงินมาเป็นการยื่นมือเข้าช่วยเหลือเด็กเหล่านั้น ด้วยการแจ้งเบาะแสแก่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดังนี้

1.แจ้ง ชื่อ-นามสกุล เบอร์โทร.ติดต่อของผู้แจ้ง 2.ระบุให้ชัดว่าพบเด็กในพื้นที่ไหน จำนวนกี่คน 3.เวลาที่พบประมาณกี่โมง และเป็นการพบครั้งแรกหรือพบเห็นบ่อยครั้ง 4.เพศและอายุของเด็ก 5.กวาดตาสังเกตดูว่าเด็กมีบาดแผลจากการถูกทำร้าย หรือมีท่าทีหวาดกลัวหรือเปล่า 6.มีคนควบคุมเด็กอยู่บริเวณนั้นบ้างไหม 7.ถ้าสามารถถ่ายรูปได้ ขอให้ถ่ายเพื่อประกอบการแจ้งเบาะแส 8.แจ้งเบาะแสได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม (OSCC) สายด่วน 1300

ช่วยกันหยุดยั้งปัญหาขอทานด้วยการเลิกให้เงิน

เจาะลึกอาชีพ"ขอทาน"งานง่าย-รายได้งาม