posttoday

ภารกิจคืนความยุติธรรมให้กับ"แพะ"

07 กรกฎาคม 2557

รู้จัก"ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม" กัดไม่ปล่อย ตื้อไม่เลิก ทวงคืนความเป็นธรรมให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล

ที่ผ่านมาเกิดกรณีการจับกุมผู้ต้องหาผิดตัว หรือ "แพะ" ปรากฏเป็นข่าวโด่งดังสะท้านสังคมไทยอยู่บ่อยครั้ง

เหยื่อบริสุทธิ์รายแล้วรายเล่าที่ถูกสังเวยในความผิดที่ตนเองมิได้ก่อ นอกจากจะสูญเสียอิสรภาพ ยังต้องถูกตราหน้าจากสังคมทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงอีกด้วย

วันนี้ ชื่อของ "ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม" กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก

ในฐานะคนกลุ่มเล็กๆที่กล้าออกมาต่อสู้เพื่อทวงคืนความถูกต้องให้แก่ประชาชนที่ไม่ได้รับความป็นธรรม

วัดได้จากผลงานชิ้นสำคัญ อาทิ การรื้อฟื้นคดีผู้ช่วยพยาบาลสาว รพ.กรุงเทพ สาขาเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ที่ถูกระบุว่าผูกคอฆ่าตัวตาย ทว่าภายหลังได้มีการรวบรวมหลักฐานและพยานใหม่ นำไปสู่การจับกุมคนร้ายตัวจริงได้ คดีช่วยเหลือสองหนุ่มชาวนครพนมที่ตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ายาเสพติด หลังถูกยัดยาบ้าจำนวน 198 เม็ดพร้อมโทรศัพท์มือถือ 9 เครื่องไว้ในรถขยะเข้าไปในเรือนจำจ.นครพนม การช่วยเหลือหนุ่มรายหนึ่งที่ถูกตำรวจและเจ้าหน้าที่ปปส.ยัดยาบ้า 7,000 เม็ด จนถูกจำคุกนานเกือบ 2 ปีให้ได้รับอิสรภาพ พร้อมทั้งยังได้รับเงินเยียวยาจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ไม่นับคดีอื่นๆอีกมากมายที่ไม่เป็นข่าว

อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เปิดเผยถึงแรงบันดาลใจในการก่อตั้งชมรมว่ามาจากประสบการณ์อันเลวร้ายในอดีตที่เคยถูกกลั่นแกล้งรังแกอย่างไม่เป็นธรรม 

ก่อนหน้านี้ อัจฉริยะเป็นวิศวกรโยธาประกอบอาชีพทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง อยู่มาวันหนึ่งเขาถูกลูกค้าโกงเงิน 2 ล้านบาท จึงตัดสินใจยกเลิกงาน เก็บข้าวของกลับบ้าน แต่กลับโดนหมายเรียกในคดีข้อหาบุกรุกทำให้เสียทรัพย์

"งงมาก โดนได้ยังไง พอไปถามพนักงานสอบสวนกลับถูกตะคอก"กูบอกว่ามึงผิดไง ไปสู้เอาที่ชั้นศาลโน่น" คดีใช้เวลารวดเร็วมากเพียง 37 วันในการส่งสำนวนฟ้อง ผมรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม"

เขาใช้เวลานานสองปีเต็มในการสู้คดี ธุรกิจล้มละลาย ลูกๆต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน แม้ในที่สุดศาลตัดสินยกฟ้อง แต่ยังถูกกลั่นแกล้งด้วยการไม่ลบประวัติอาชญากร ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ เขาตัดสินใจพาลูกเมียไปนั่งประท้วงหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จนตกเป็นข่าวหน้าหนึ่งเมื่อปี 2553

"ระหว่างการต่อสู้คดี ผมต้องวิ่งรอกขึ้นโรงพักขึ้นศาลนับครั้งไม่ถ้วน เห็นชาวบ้านตาดำๆตกเป็นเหยื่อ ต้องเที่ยวไปหยิบยืมเงิน บางคนเอาบ้าน เอาที่ดินไปจำนอง บางคนทรัพย์สินแทบหมดตัว เพื่อนำเงินมาสู้คดี จำนวนไม่น้อยโดนทนายโจรหลอก เสียทั้งเงิน แถมยังต้องติดคุก ผมเลยสาบานว่าจากนี้เป็นต้นไปจะช่วยเหลือชาวบ้านให้ได้รับความยุติธรรม"

ภารกิจคืนความยุติธรรมให้กับ"แพะ"

ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมก่อตั้งในปี 2554 จุดมุ่งหมายสำคัญคือการให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายแก่ประชาชนที่ถูกกลั่นแกล้ง ไม่ได้รับความเป็นธรรม อันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐ

โดยเฉพาะคนจน คนตัวเล็กตัวน้อยด้อยโอกาสในสังคมที่ไม่มีเงินประกันตัว ไม่มีเงินว่าจ้างทนายความมาสู้คดี

"เราเน้นทำคดีเรื่องแพะเป็นหลัก เพราะเป็นภัยร้ายแรงมากของกระบวนการยุติธรรมเมืองไทย เชื่อไหมว่าทุกวันนี้มีแพะถูกตัดสินจำคุกอยู่ในเรือนจำทั่วประเทศมากกว่า 8,000 รายในความผิดที่ตัวเองไม่ได้ก่อ

สาเหตุหลักมาจากกระบวนการชั้นต้นของพนักงานสอบสวน หรือตำรวจที่เร่งรัดในการปิดคดี โดยอาจมีหลักฐานและพยานประกอบไม่กี่อย่าง แต่ใช้อำนาจจับกุมคนมารีดเค้น บางรายอาจถูกซ้อมบังคับให้รับสารภาพ ก่อนส่งสำนวนให้อัยการเป็นผู้สั่งฟ้อง สุดท้ายศาลก็ตรวจดูหลักฐาน และประจักษ์พยาน แล้วจึงพิจารณาตัดสินคดี

นอกจากนี้อาจเกิดความไม่รู้ของผู้ต้องหาด้วย คนจนส่วนใหญ่ผู้ต้องหามักถูกข่มขู่ให้กลัว ถึงแม้ไม่ผิด แต่อ่านหนังสือไม่ออกถูกหลอกให้เซ็นชื่อก็มีเยอะ หลายคนไม่รู้สิทธิที่จะปฏิเสธการให้การ สิทธิ์ในการขอพบทนาย อีกอย่างเวลาคนจนไปขึ้นศาล ไม่สามารถหาทนายดีๆได้ เพราะไม่มีเงินจ้างทนายเก่งๆ ต้องไปใช้ทนายขอแรง ซึ่งหลายคนขาดประสบการณ์ แถมไม่ลงพื้นที่จริง ทำให้เสียเปรียบมาก กว่า 90 % มักแพ้คดี บางคนเจอทนายโจร หลอกเอาเงิน แล้วทิ้งคดีก็มีเยอะ"

ภายใต้เงินสนับสนุนและการช่วยเหลือจากผู้หลักผู้ใหญ่ที่ให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ประกอบด้วยนักการเมือง ผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ-ทหารชั้นผู้ใหญ่ เจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจ นักธุรกิจ ทนายความ ล้วนไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อเสียงเรียงนาม 

"ผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่านนี้ถ้าเอ่ยชื่อมา ทุกคนรู้จักกันทั้งประเทศ คนดีๆทั้งนั้น นอกจากนี้เราใช้วิธีรับทำคดีจากคนรวย เงินที่ได้มาก็เอามาช่วยคนจนนี่แหละ เพราะค่าใช้จ่ายอย่างค่าเดินทาง ค่ารถ ค่าเครื่องบิน ค่าที่พัก ค่ากิน ค่าจิปาถะในการสู้คดี เขาดูแลหมด ส่วนคนจนไม่ต้องพูดถึง อย่าว่าแต่ช่วยเขา บางทีก็ต้องให้เงินใช้ด้วยซ้ำ"

นอกเหนือจากคดีอาชญากรรมที่ถูกส่งเรื่องเข้ามาเป็นส่วนใหญ่ผ่านทางจดหมาย โทรศัพท์ แม้กระทั่งเพจเฟซบุ๊กชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม www.facebook.com/Helpcrimevictimclub ยังมีคดีประเภทฉ้อโกง ภาษี ที่ดิน มรดก จนถึงไกล่เกลี่ยปัญหาข้อพิพาทในครอบครัวด้วย

"คดีที่ไม่ค่อยอยากรับทำคือคดีเกี่ยวกับยาเสพติด เสี่ยงมาก มันก้ำกึ่ง เราต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ที่ผ่านมามีร้องเรียนเข้ามากว่า 100 คดี แต่พบว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จริงๆแค่ 2 ราย"

เขายอมรับว่าไม่เคยโดนข่มขู่ ไม่เคยถูกคุกคามทำร้าย ทั้งยังได้รับความร่วมมือจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นอย่างดี

"ผมไม่เคยกลัว ถ้าทำดี ช่วยเหลือประชาชน แล้วกลัวถูกฟ้อง กลัวโดนข่มขู่ ถ้ายังถูกลงโทษ ต่อไปก็ไม่มีใครกล้าทำความดีกันแล้ว"

ขณะเดียวกันพื้นที่ข่าวก็มีความสำคัญไม่น้อยที่ทำให้คดีได้รับความสนใจจากสังคม

"เมื่อก่อนต้องง้อนักข่าว เวลาจะต้องพาเหยื่อไปตั้งโต๊ะแถลง แต่เดี๋ยวนี้มีสื่อออนไลน์ช่วยได้เยอะมาก บางคดีที่เรากำลังทำอยู่ในความสนใจของประชาชน เขาก็แชร์ต่อกันไป ขณะเดียวกันเราได้รับความอนุเคราะห์จากรายการสถานีประชาชน ทางไทยพีบีเอส รายการปากโป้ง ทางช่อง 7 ในหลายๆครั้ง รวมถึงรายการสืบจากข่าว ทางคลื่นวิทยุ 100.5 เอฟเอ็ม"

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชื่อชั้นบารมีของชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมยังถือได้ว่า"โนเนม" ทว่าเครดิตที่สั่งสมมาทีละน้อยจากผลงานในช่วงสามปีผ่านมา ทำให้เริ่มเป็นที่รู้จักของประชาชน แต่ละวันมีคนเข้ามาขอความช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก

"ความภูมิใจสูงสุดคือได้ช่วยเหลือเหยื่อให้ได้รับอิสรภาพ พ้นมลทินจากความผิดที่เขาไม่ได้กระทำ ผมทำงานตรงนี้ได้เจอความโหดร้ายทุกรูปแบบ บางคนชีวิตพังพินาศกว่าผมหลายเท่า สิ่งเหล่านี้มันทำให้เราฮึด ทำให้ต้องทำงานหนักมากขึ้นเป็นทวีคูณชนิดว่าไม่มีวันหยุดกันเลย เพื่อแข่งกับเวลา เพราะเวลาที่เขารอเรานั้นมีค่ามาก ทุกนาทีเหมือนตกนรกทั้งเป็น"

กล่าวกันว่าเรื่อง"แพะ"เป็นปัญหาที่มิอาจป้องกันล่วงหน้าได้ ไม่มีใครรู้ว่าความซวยจะมาเยือนเมื่อไหร่ บางคนอยู่บ้านเฉยๆกลับถูกบุกเข้าไปตรวจค้นและยัดยาเสพติด บางคนจอดรถเติมน้ำมันอยู่ดีๆ ขับรถออกไปเจอด่านแล้วตรวจพบว่ามียาบ้าซุกซ่อน โดยมือที่มองไม่เห็น

ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม บอกว่าอย่านิ่งเฉย หากรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ต้องลุกขึ้นสู้ทุกวิถีทาง เพื่อทวงความยุติธรรม ทวงคืนศักดิ์ศรีกลับคืนมาให้ได้ 

"ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม ถ้าเรารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม อย่านิ่งเฉย การนิ่งเฉยไม่ทำอะไรเท่ากับเรากำลังรอความตาย ต้องสู้ทุกรูปแบบ ทางไหนก็ต้องทำ อย่าหวังพึ่งศาล ถ้าจะให้ดีสุดต้องอยู่ในชั้นสอบสวน ตราบใดที่เรื่องยังไม่ขึ้นสู่ชั้นศาล สู้ได้แน่นอน เราช่วยได้เป็นร้อยๆคดีแล้ว

ผมศึกษากฎหมายทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะค้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต สอบถามจากผู้รู้ นั่งอ่านตำรากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคดี จ้างนักสืบเอกชน บางครั้งก็ต้องนำทีมกฎหมายลงพื้นที่จริง เพื่อเสาะแสวงหาหลักฐาน คุยกับพยาน ถ่ายวิดีโอเก็บไว้ ทำทุกทางเพื่อแสวงหาข้อมูลข้อเท็จจริงที่จะช่วยลูกความให้หลุดพ้นข้อกล่าวหาได้"

ทั้งหมดนี้คือ วีรกรรมของกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่งที่ยื่นมือช่วยเหลือประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ถูกกลั่นแกล้งไม่ได้รับความเป็นธรรม ให้กลับมามีชีวิต มีศักดิ์ศรีอีกครั้ง

ภารกิจคืนความยุติธรรมให้กับ"แพะ"