posttoday

ผ่าปม รธน.ชั่วคราว

04 กรกฎาคม 2557

เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นสำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่มีวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช. เป็นฝ่ายคุมทีมการยกร่าง

โดย...เลอลักษณ์ จันทรเทพ

เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นสำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่มีวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นฝ่ายคุมทีมการยกร่าง ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวจะนำมาบังคับใช้ไปจนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรในปี 2558 โดยตราบทบัญญัติไว้ประมาณ 4445 มาตรา

นอกจากกำหนดให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 200 คน และสภาปฏิรูปแห่งชาติจำนวน 250 คน ตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้วนั้น ยังมีประเด็นที่ คสช.พิจารณาปรับแก้ไข เช่น

จะทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่สภาปฏิรูปประเทศพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ กล่าวคือ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านขั้นตอนการลงมติจากสภาปฏิรูปประเทศแล้ว จะให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย หรือเมื่อผ่านจากสภาปฏิรูปประเทศแล้วให้ส่งไปให้ประชาชนลงประชามติก่อน หากผ่านแล้วค่อยทูลเกล้าฯ ถวาย

การให้อำนาจ คสช. และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากการแต่งตั้งของหัวหน้าคณะ คสช. มีอำนาจในการปลดรัฐมนตรีในคณะรัฐบาล คสช.ได้หรือไม่

นายกรัฐมนตรีที่จะตั้งขึ้น จะต้องแถลงนโยบายต่อที่ประชุม สนช. ก่อนเข้าทำหน้าที่หรือไม่ หรือได้รับการโปรดเกล้าฯ แล้วก็ให้ทำหน้าที่ได้เลยไม่ต้องแถลงนโยบาย

ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวจะให้มีศาลรัฐธรรมนูญต่อไปหรือไม่ และจะให้ทำหน้าที่อะไร ในช่วงที่รัฐธรรมนูญฉบับถาวรยังไม่เกิดขึ้น

สำหรับประเด็นนี้ ที่ประชุม คสช.เห็นควรให้ศาล รธน.คงสภาพไว้ต่อไป และไม่มีการสั่งให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันยุติการปฏิบัติหน้าที่ เพียงแต่อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญก็จะถูกจำกัดเหลือแค่หน้าที่หลัก คือให้วินิจฉัยคำร้องว่าเรื่องไหนขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เท่านั้น เพราะอำนาจส่วนอื่นๆ ที่เคยมีอยู่ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ถูกยกเลิกไปหมดแล้ว

จะให้คงองค์กรตามรัฐธรรมนูญ 2 แห่ง คือ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ไว้หรือไม่

รัฐธรรมนูญชั่วคราว สิทธิของสื่อ จะเขียนไว้อย่างไร เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อไว้

การให้อำนาจ คสช. มีอำนาจเท่ารัฐบาล หรือเหนือรัฐบาล โดยให้คณะรัฐประหารสามารถควบคุมการบริหารงานรัฐบาลได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการเขียนแบบนี้ทุกครั้ง ยกเว้นรัฐธรรมนูญชั่วคราวของ คมช. ในปี 2549 ครั้งนี้ก็เชื่อว่า คสช.คงต้องการให้มีการคงอำนาจส่วนนี้ไว้ด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกันจะมีบทบัญญัติที่กำหนดไม่ให้เอาผิด คสช.ไว้ด้วย กล่าวคือ บรรดาการกระทำทั้งหลายที่ คสช.ได้กระทำในการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ตลอดจนการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจาก คสช. หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำความผิดนั้นพ้นจากการรับผิดโดยสิ้นเชิง

โดยจะอยู่ใน 2 มาตราสุดท้ายของ 45 มาตราดังกล่าว คือ มาตราที่ 44 จะเขียนไว้ว่า ให้คำสั่งหรือประกาศต่างๆ ของ คสช.ที่ออกมาทุกฉบับ ให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญหมดทุกอย่าง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในภายหลัง โดยเฉพาะเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย