posttoday

ส่องห้องเย็นดองบิ๊กขรก.

30 มิถุนายน 2557

กลายเป็นประวัติศาสตร์ใหม่กับการแต่งตั้งโยกย้ายบิ๊กข้าราชการจนทำให้การจัดห้องรับรองอยู่ในสภาพแออัด

โดย...เลอลักษณ์  จันทร์เทพ

“ยุคทหารครองเมือง” อะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะระยะเวลาเพียงแค่เดือนเศษ ที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(คสช.)เข้ามามีอำนาจ ได้สร้างประวัติศาสตร์ใหม่กับการแต่งตั้งโยกย้ายบิ๊กข้าราชการ ที่มีเบื้องลึกเบื้องหลังหรือผลงานปรากฎให้เห็นว่าเป็นเครือข่ายระบอบทักษิณ หรือ ทำงานไม่เข้าตา ให้เข้ามานั่งตบยุงในตำแหน่ง "ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการ" จนทำให้การจัดห้องรับรองอยู่ในสภาพแออัด

บรรดาบิ๊กข้าราชการ ที่ต้องมาประจำห้องเย็นสำนักนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. รองหัวหน้า คสช.และในฐานะหัวหน้าฝ่ายกิจการพิเศษ มีอำนาจหน้าที่เป็น ผู้ดูแลหน่วยงาน ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี

ชูเกียรติ รัตนชัยชาญ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

อรรถพล ใหญ่สว่าง อดีต อัยการสูงสุด

ธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ

สุรชัย ศรีสารคาม อดีตปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

สุวิจักขณ์ นาควัชระชัย อดีตตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

ศรีรัตน์ รัษฐปานะ อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์

ปรีชา กันธิยะ อดีตปลัดกระทรวงวัฒนธรรม

สุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน

ทศพร ศิริสัมพันธ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา

อภิชาติ จีระวุฒิ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.)  สั่งย้าย โชติ ตราชู อดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ สมชัย ศิริวัฒนโชค อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม มาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยิ่งทำให้ต้องจัดหาห้องหับเพิ่มเติมให้บุคคลทั้งสอง

เมื่อรายชื่อบิ๊กข้าราชการที่ถูกย้ายเข้ามาในสำนักนายกรัฐมนตรีมีจำนวนมาก ประกอบกับพื้นที่ตัวอาคารภายในทำเนียบรัฐบาลมีอย่างจำกัด จะมีพื้นที่ไหนบ้าง ให้บิ๊กข้าราชการเหล่านี้ได้เข้ามานั่งทำงาน

ส่องห้องเย็นดองบิ๊กขรก.

เรณู ตังคจิวางกูร รองเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลฝ่ายอาคารสถานที่ภายในทำเนียบรัฐบาลทั้งหมด กล่าวยอมรับว่า นับเป็นครั้งแรกที่มีการแต่งตั้งโยกย้ายที่ปรึกษาฝ่ายข้าราชการประจำเข้ามาทำงานภายในทำเนียบรัฐบาลเป็นจำนวนมากจนไม่มีห้องทำงานต้อนรับได้เพียงพอต่อตำแหน่ง ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระดมเจ้าหน้าที่ไปสำรวจอาคารสถานที่ภายในทำเนียบรัฐบาลทั้งหมด ว่ามีห้องทำงาน หรือห้องประชุมใดว่างเหลืออยู่บ้าง

เพราะตึกบัญชาการ 2 จำนวน 5 ชั้น ที่เคยเป็นสถานที่รับรองตำแหน่งที่ปรึกษาไม่เพียงพอต่อจำนวนข้าราชการ และแม้ตึกบัญชาการ 1 จำนวน 5 ชั้นจะว่างอยู่หลายห้อง แต่ต้องกันสำรองไว้สำหรับคณะรัฐมนตรี(ครม.)ชุดใหม่กับทีมงานเท่านั้น ตอนนี้เราสำรวจทุกตึกทุกอาคาร ว่ามีห้องทำงานตึกใดชั้นใดเหลืออยู่กี่ห้องบ้าง แต่มั่นใจว่าจะหาห้องว่างได้เพียงพอ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ทำงานกันเต็มที่

สภาพความพร้อมภายในทำเนียบรัฐบาลขณะนี้มีการซ่อมแซมปรับปรุงอาคารหลายแห่ง เช่น อาคารใหม่ของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.)หรือ ตึก 44 เดิม ต้องปรับปรุงเพื่อใช้เป็นสมาร์ทออฟฟิศ ด้วยระบบสำนักงานอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะใช้เวลาอีกหลายเดือนจึงจะแล้วเสร็จ ขณะที่ทางเจ้าหน้าที่สำนักงาน สลน.จึงย้ายไปทำงานภายในตึกแดง ซึ่งเดิมเป็นอาคารสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.)เดิมที่ตอนนี้ได้ย้ายออกไปแล้ว ขณะที่ตึกผู้แทนการค้าไทยเดิมสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ถูกใช้เป็นสำนักงาน สลน.เช่นกัน

สำหรับตึกบัญชาการ 2 ที่มี 5 ชั้น ที่ใช้เป็นอาคารรับรองฝ่ายข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำ บริเวณชั้น 5 ขณะนี้มี 3 ห้องทำงานขนาดใหญ่ 3 ห้องกับ ห้องประชุม 1 ห้อง ซึ่งห้องดังกล่าวเดิมก่อนรัฐประหาร เคยเป็นห้องทำงานของ พล.ต.อ. เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) นายโอฬาร ไชยประวัติประธานผู้แทนการค้าไทย และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เป็นต้น

หรือ บริเวณชั้น 4 ของตึกบัญชาการ 2 มีห้องทำงาน 5 ห้อง ซึ่งชั้นดังกล่าวเคยเป็นห้องทำงานของ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา และ นายจาตุรงค์ ปัญญาดิลก ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกเด้งจากตำแหน่งปลัดสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

ขณะที่บริเวณชั้น 3 มีห้องทำงานเพียง 1 ห้องซึ่งก่อนรัฐประหารเดิม พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยร่วมขับไล่เผด็จการ (นปช.) เคยใช้เป็นห้องทำงานบัญชาการแกนนำ นปช.และรับเรื่องราวร้องเรียนจากคนเสื้อแดง

ทั้งนี้สำนักนายกรัฐมนตรี ถือเป็นส่วนราชการของรัฐบาลไทย มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการทั่วไปของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี รับผิดชอบการบริหารราชการทั่วไป เสนอแนะนโยบายและวางแผนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และความมั่นคง และราชการเกี่ยวกับงบประมาณ ระบบราชการ การบริหารงานบุคคล กฎหมายและการพัฒนากฎหมาย การติดตามและประเมินผลการปฏิบัติราชการ การปฏิบัติภารกิจพิเศษ และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักนายกรัฐมนตรี หรือส่วนราชการที่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือที่มิได้อยู่ภายในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงใดโดยเฉพาะ

หากพินิจในรายละเอียดอำนาจหน้าที่ ดูเหมือนว่าจะเป็นตำแหน่งสำคัญที่มีบทบาทพอสมควรที่จะสามารถช่วยขับเคลื่อนประเทศในภาวะคับขันแบบนี้ได้เป็นอย่างดี แต่ในทางกลับกันเป็นที่รู้กันดีว่าบุคคลที่ถูกย้ายเข้ามาในสังกัดนี้จะไม่ได้รับมอบหมายให้ดูแลงานใดงานหนึ่งหนึ่งเป็นรูปธรรม ได้แต่นั่งนับวันรอเปลี่ยนผ่านทางอำนาจเท่านั้นเอง

ส่องห้องเย็นดองบิ๊กขรก.

 

ส่องห้องเย็นดองบิ๊กขรก.