posttoday

ความหวังชาวน้ำโขงชะลอสัญญาซื้อไฟ"ไซยะบุรี"

25 มิถุนายน 2557

ถ้าศาลมีคำสั่งให้ระงับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า สถาบันการเงินก็อาจจะระงับสินเชื่อ สุดท้ายเขื่อนไซยะบุรีก็จะสร้างต่อไม่ได้

เรื่อง...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน / ภาพ...ภาสกร จำลองราช

หยาดเหงื่อยแห่งความอุตสาหะหล่นเม็ดแล้วเม็ดเล่าสู่ดิน การดิ้นรนเพื่อพิทักษ์สิทธิของชาวบ้านแม่น้ำโขงตลอด 3 ปีที่ผ่านมา สูญเปล่าหรือ? ...เปล่าเลย

แม้จะไม่ทั้งหมด หากแต่ 1 ใน 3 ประเด็นที่ชาวบ้านยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดก็ได้รับการตอบสนองแล้วเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา

ราวกับน้ำอมฤตพลิกฟื้นหัวใจที่เหือดแห้ง

หลายชั่วอายุคนของชาวลุ่มน้ำโขง ตั้งแต่ จีน ลาว พม่า ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ได้หลอมรวมเข้ากับแม่น้ำสายนี้เป็นหนึ่งเดียว ทั้งดำรงอยู่ การยังชีพ ชุมชน ประเพณี วัฒนธรรม อย่างไม่อาจแยกออกจากกัน

มาตรว่าความปกติคือความสุข ชาวลุ่มน้ำโขงมิอาจทัดทานความทุกข์ที่กำลังก่อตัวขึ้น

80 กม. จากหลวงพระบางไปทางทิศเหนือ หรือ 200 กม. จาก อ.เชียงคาน จ.เลย ลึกเข้าไปในประเทศลาว คือที่ตั้งของโครงการ “เขื่อนไซยะบุรี” นักสิ่งแวดล้อมเรียกขานพิกัดนี้ว่า “จุดพิฆาตลำน้ำโขง”

ด้วยอนาคตอันใกล้จะปรากฏปราการคอนกรีตสูงทะมึน 48 เมตร ทอดตัวยาว 800 เมตร กั้นขวางทางไหลของลำน้ำ ซึ่งเป็นจุดที่มีปลาอพยพ 850 ชนิดเวียนแหวกว่าย เป็นจุดกำเนิดกรวดแม่น้ำ ผลกระทบเกิดขึ้นกับระบบนิเวศทะเลสาบชนิดที่ไม่อาจหวนคืนความสมบูรณ์กลับมาได้อีก

ปัจจุบันเขื่อนไซยะบุรีก่อสร้างบนพื้นดินไปแล้ว 25-30% ยังไม่ลงในลำน้ำ แต่หากสร้างเสร็จ นักวิชาการประเมินว่า ไม่ต่ำกว่า 70 ล้านชีวิตที่ดำเนินอยู่ตามครรลองจะระทม โดยเขื่อนแห่งนี้มี “บริษัทสัญชาติไทย” เป็นผู้ก่อสร้าง และเงินทุนมาจากสินเชื่อ 6 สถาบันการเงินใน “ประเทศไทย” อีกเช่นกัน

เมื่อเขื่อนสร้างเสร็จจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 1,285 เมกะวัตต์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะตัวแทนประเทศไทยทำสัญญาซื้อไฟฟ้า 95% หรือประมาณ 1,220 เมกะวัตต์ ทว่าปริมาณไฟฟ้าจำนวนนี้กลับน้อยกว่า 2% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย เกิดเป็นคำถามพุ่งเป้าถึงความคุ้มค่า

ปี 2554 ตัวแทนเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบ ตัดสินใจยื่นฟ้อง กฟผ. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน และคณะรัฐมนตรี ต่อศาลปกครอง ใน 3 ประเด็น

1.ให้ยกเลิกมติ กพช.ที่อนุญาตให้ กฟผ.ซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีได้ 2.ให้ยกเลิกสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ.และบริษัท ไซยะบุรี เพาเวอร์ เพราะไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญในประเด็นสิทธิชุมชน และ กฟผ.ยังฝ่าฝืนข้อตกลงแม่น้ำโขงที่ต้องแจ้งให้ประเทศสมาชิกทราบก่อนการดำเนินการ 3.ให้ผู้ถูกฟ้องเปิดเผยข้อมูล รับฟังความคิดเห็น ประเมินผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมถึงดำเนินการตามสิทธิชุมชน

“ถ้าศาลมีคำสั่งให้ระงับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า สถาบันการเงินก็อาจจะระงับสินเชื่อ สุดท้ายเขื่อนไซยะบุรีก็จะสร้างต่อไม่ได้” ชาวบ้านพื้นที่ริมโขงมีความหวัง

ทว่าศาลปกครอง “ไม่รับฟ้อง” กระทั่งเดือน ม.ค. 2555 ชาวบ้านจึงอุทธรณ์คำสั่งอีกครั้ง

วันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่ง “แก้คำสั่ง” ศาลปกครองชั้นต้นเป็น “รับคำฟ้อง” ในประเด็นที่ 3 ส่วนอีก 2 ประเด็นให้เป็นไปตามคำสั่งเดิม โดยศาลระบุว่า ชาวบ้านไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงและไม่ใช่คู่สัญญาซื้อขายไฟฟ้า ส่วนมติ กพช.เป็นมติภายในที่ยังไม่มีผลทางกฎหมายกระทบสิทธิภายนอก

“เป็นที่น่าพอใจมาก” ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความชาวบ้านลุ่มแม่น้ำโขง รู้สึกเช่นนั้น เธอเชื่อว่าการที่ศาลรับคำฟ้องจะทำให้ชาวบ้านได้รับการคุ้มครอง และถึงแม้ว่าจะฟ้องเพิกถอนสัญญาไม่ได้ แต่ 5 หน่วยงานที่ถูกฟ้อง ก็ต้องกลับไปทำกระบวนการให้ถูกต้อง

“หลังจากนี้จะยื่นขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ชะลอกิจการที่เกี่ยวข้องกับการซื้อไฟฟ้าระหว่าง กฟผ.กับบริษัทไซยะบุรี เพาเวอร์ ออกไปจนกว่าศาลจะมีคำสั่งชี้ขาดต่อไป” ส.รัตนมณี กล่าว

ตามใจ ไค้ยะวงศ์ ชาวลาวที่เดินทางมาติดตามคดี บอกว่า ชาวลาวทุกคนทราบดีถึงผลกระทบ แต่ไม่สามารถคัดค้านได้เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านการปกครอง ส่วนตัวคิดว่าประเทศไทยมุ่งแต่เอาเปรียบตักตวงผลประโยชน์โดยไม่เคยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ยืนยันว่าชาวลาวส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับเขื่อน

บรรยายภาพ : ชาวบ้านริมน้ำโขงทำพิธีสู่ขวัญปลาก่อนเข้าฟังคำสั่งศาลปกครองสูงสุด